Style

TABLOID TODAY: แทบลอยด์คือสื่อแบบไหน ? และแทบลอยด์ฉบับใดที่ผู้ชายไม่ควรพลาด ?

By: anonymK July 5, 2018

ทุกเช้าระหว่างเดินทาง ขณะที่นิ้วเราขยับปัด feed ยิก ๆ บนสมาร์ตโฟน เชื่อว่าสุภาพบุรุษในมหานครใหญ่อย่างเราคงต้องเหลือมืออีกข้างเอาไว้รับหนังสือพิมพ์ฉบับฟรีก๊อปปี้ที่มีคนยืนแจกตามรถไฟฟ้าหรือสะพานลอยเพื่ออ่านรับข้อมูลเพิ่มอย่างแน่นอน

แต่รู้หรือเปล่าว่าแต่ละฉบับที่เราหยิบติดมือมานั้นมีใครบ้างอยู่เบื้องหลัง ? หรือนำเสนอเรื่องราวแนวไหนกันบ้าง ? ทำไมบางทีวันนี้เดินมาแล้วเจอแต่บางครั้งกลับไม่เจอซะอย่างนั้น

ในฐานะที่ UNLOCKMEN เป็น Online Publisher ที่สนใจติดตามการนำเสนอข้อมูลดี ๆ เหมือนกัน เราจึงอยากส่งต่อเรื่องเล่าของ Publisher แขนงอื่นกันบ้าง และวันนี้ขอเริ่มที่ TABLOID ที่ใกล้ชิดกันผู้ชายอย่างเรากันก่อน

WHAT’S TABLIOD ?

ฟรีก๊อปปี้อาจจะมีมากมายหลายฉบับ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะใช้คำว่า “แท็บลอยด์” หนุ่ม ๆ อย่าเผลอไปเรียกรวมกัน เพราะคำว่าแท็บลอยด์เขาเอาไว้ใช้เรียกหนังสือพิมพ์ขนาดย่อมที่มีจำนวนหน้าน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ปกติทั่วไป

หากเราลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่าจุดแตกต่างระหว่างแท็บลอยด์กับฟรีก๊อปปี้ประเภทอื่นมีอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่การนำเสนอเนื้อหาที่เป็นเรื่องข่าวมากกว่าไลฟ์สไตล์ ความถี่ของการออกแต่ละฉบับที่มีมากกว่าเมื่อเทียบกับฟรีก๊อปปี้ประเภทอื่น (ถ้าไม่นับโปรโมชั่น) ที่สำคัญคือช่วงเวลาแจกมักแจกช่วงเช้า ดังนั้น อย่าไปหวังเห็นมันตอนเย็นเพราะเขาไม่แจกกันช่วงนั้น

อ่านแท็บลอยด์ฉบับไหนดี ?

ในขณะที่นิตยสารเริ่มล้มหายตายจากไปจากแผง แต่สำหรับปีนี้ถือว่าแท็บลอยด์สวนกระแสมีมากขึ้น เพราะจากที่เราพบตอนนี้มีถึง 3 หัวหลัก ๆ ที่ออกมาแจกให้เห็นเป็นประจำ ลองมาเช็กกันดูว่าคุณได้มันครบถ้วนทุกฉบับไหม

M2F

ฉบับนี้พวกเราน่าจะได้เห็นถี่ที่สุดเมื่อเทียบกับทุกฉบับเพราะแจกฟรีแบบ Daily ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ตามชื่อที่ M = Monday, 2 = to และ F = Friday ดังนั้น M2F จึงย่อมาจาก Monday to Friday ที่หมายถึงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่เขาแจก

การออกแบบของ M2F มีกลิ่นอายของความเป็นหนังสือพิมพ์อยู่มากเพราะเป็นแท็บลอยด์ที่เกิดจากคนในวงการหนังสือพิมพ์เจ้าดัง บางกอก โพสต์ เป็นคนทำขึ้น

หัวข้อด้านบนจึงแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ ทั้ง WORLD BANGKOK THAILAND ฯลฯ แพตเทิร์นที่เปิดจากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายจึงเริ่มจากข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง เรื่องย่อละคร ดวงชะตารายวัน ไปจนถึงการปิดจบด้วยข่าวกีฬา

เราไม่ได้ดักแก่นะแต่ถ้าหนุ่มคนไหนเคยนิยมจิบกาแฟเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับไหนก็ตามในช่วงเช้าสมัยไม่มีอินเตอร์เน็ตคงเห็นแพตเทิร์นนี้กันจนชินแน่นอน

ถ้าใครอยากติดตามเรื่องทั่วไปให้ครอบจักรวาลเน้นหยิบฉบับนี้ไปก็ถือว่าไม่ผิดหวัง แม้ว่าจะไม่ดีเทลลึกเท่ากับฉบับซื้อแต่ก็เหมาะไว้กวาดสรุปรวมทุกข่าวสารเพื่อไปตามเสิร์ชรายละเอียดทีหลังได้

สถานที่ชวนหยิบ : ตามสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์และสะพานลอยย่านชุมชนคนพลุกพล่าน

หยิบไม่ทัน : M2F online

 

BLT Bangkok

มาต่อที่หัวนี้กันบ้าง BLT Bangkok ที่ย่อมาจาก Best Living Taste Bangkok เนื่องจาก BLT ขายความเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าหัวอื่นเลยไม่ขอแข่งเรื่องความเร็ว อินดี้แจกเฉพาะทุกวันพฤหัสบดีเท่านั้น หลายคนที่เปิดอ่านจนชื่นชอบแต่ยังไม่รู้ว่าเป็นบริษัทไหนลุกมาทำ เราบอกให้กระจ่างตรงนี้ว่าเขาคือสื่อลูกของ “สปริงนิวส์” อีกที

จุดเด่นของแท็บลอยด์ฉบับนี้อยู่ที่มี 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เผื่อกรณีใครอยากหยิบให้เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนชาวต่างชาติอ่านด้วยเล่มนี้จัดว่าเหมาะ ที่สำคัญจุดเด่นที่เขาต้องการขายไลฟ์สไตล์แบบลึก ๆ ทำให้นำเสนอเรื่องสถิติน่าสนใจหลายเรื่องอย่างละเอียดยิบ จากนั้นนำไปออกแบบเป็น Infographic ให้สวยงามเข้าใจง่ายนี่ก็เป็นอีกลักษณะเฉพาะที่เพียงแค่มองปราดเดียวก็รู้ได้ทันที

สถานที่ชวนหยิบ : ตามสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์และสะพานลอยย่านชุมชนคนพลุกพล่าน

หยิบไม่ทัน : BLT Bangkok Online

 

Rabbit Today – เพื่อนซี้ใหม่ของคนเมือง

แท็บลอยด์น้องใหม่ใสกิ๊งที่เคยได้ BNK48 มาขึ้นปกจนหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ผสมด้วยความโดดเด่นเรื่องการออกแบบที่สวยงาม ตัวหนังสือไม่แน่นมากนัก จึงจัดว่าเข้าใกล้ความเป็นนิตยสารกว่าฉบับอื่นและได้รับความสนใจในกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคนค่อนข้างมากกว่า

Rabbit today มีบริษัท One World Media ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ แจกกันตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์เช่นเดียวกับ M2F ใครสนใจอยากเปลี่ยนมู้ดการอ่านให้เบาขึ้นไม่เน้นข่าวหนักจ๋า เล่มนี้ก็จัดเป็นเล่มที่เหมาะจะเลือก

สถานที่ชวนหยิบ : ตามสถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์และสะพานลอยย่านชุมชนคนพลุกพล่าน

หยิบไม่ทัน : Rabbit Today Online

 

หนังสือพิมพ์ฟรี ไม่ฟรีจริง

แน่นอนว่าการพิมพ์มันมีค่าต้นทุนในการผลิต และหนังสือพิมพ์เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำขึ้นแบบการกุศล แม้เราไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน เราจะได้จ่ายมันในรูปแบบอื่นแทน นั่นคือโดนการบังคับเสพโฆษณาในรูปแบบโฆษณาที่เขาพิมพ์แทรกมาตามกรอบหน้าต่าง ๆ หรือโปรยหัวมาตั้งแต่หน้าแรกให้เราเห็น

จริง ๆ ก็ไม่ต่างจากบรรดาโฆษณา Youtube 3 วินาทีที่เราสามารถกด skip มันได้นั่นแหละ ไม่ต้องดูให้จบแค่ดูให้เกิด awareness การมีอยู่ของแบรนด์นั้นก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วเพราะเจ้าของแบรนด์เขานับการมองเห็นจากยอดพิมพ์ ยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งเข้าถึงลูกค้าได้มาก

อย่างไรก็ตาม การอ่านแต่ละครั้งของเรายังเป็นกำไรเสมอตราบเท่าที่ยังมีวิจารณญาณในการพิจารณาสื่อที่เสพ ดังนั้น หนุ่ม ๆ อ่านแล้วก็อย่าให้กิเลสมันครอบงำใจมากเกินไป อดทนไว้ ถ้าเราไม่เสียเงินให้หนังสือพิมพ์ฉบับละ 20 บาท ก็อย่าไปเสียรู้จ่ายเงินให้ของด้านในที่เขาโฆษณาในราคาที่มากกว่ากันหลายร้อยเท่าโดยไม่พิจารณากำลังเงินในกระเป๋าหรือความจำเป็น

ทั้งหมดคือเรื่องราวสั้น ๆ ของ Tabloid เป็นอีกหนึ่ง Publishing ที่น่าสนใจสำหรับหนุ่มกรุงที่ UNLOCKMEN อยากให้คุณได้รู้มากกว่าเดิม เผื่อว่าใครที่ติดตามบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแท็บลอยด์เหล่านี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิมจะได้เข้าใจคาแรคเตอร์ของแท็บลอยด์แต่ละฉบับเพิ่มขึ้นและทดลองอ่านกัน

ที่สำคัญช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้าถ้าเราไม่ได้อยากให้การจราจรบนฟุตปาธหรือบนสถานีติดขัด แค่เดินมุ่งตรงไปที่ฉบับที่เราอยากอ่านแล้วเดินต่อไปก็เป็นหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่ช่วยเราได้

แต่หนุ่มคนไหนไปทำงานสายเป็นประจำอยากไปให้เช้ากว่าเดิม เราเสนอวิธีเปลี่ยนบรรยากาศมาลองตั้งมิชชั่นพิเศษสนุก ๆ อย่างการเก็บแท็บลอยด์ให้ครบทุกเล่มมาลองอ่านก็ถือว่าน่าสนใจเหมือนกัน จะได้ไม่ตกทั้งข่าวและโบนัสตอนประเมินพนักงานดีเด่นไม่หลุดมือ

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line