DESIGN

THE SUBCULTURE : TEMPORARY WEST ศิลปะข้างถนนสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชน

By: JEDDY November 19, 2021

Street Art ผลงานศิลปะข้างถนนที่หลายคนอาจจะมีมุมมองด้านลบกับมัน รู้สึกกับมันเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความเลอะเทอะให้กับสังคม แต่แท้จริงแล้วผลงาน Street Art เช่นในสายของ Graffiti กลับมีความหมายหลาย ๆ อย่างซ่อนอยู่ในผลงานศิลปะข้างถนนเหล่านั้น มีทั้งความฝัน แรงบันดาลใจที่ใส่ลงไปในกระป๋องสเปรย์และถูกถ่ายถอดออกมาลงบนผืนกำแพงในที่รกร้าง และลวดลายเหล่านั้นมันมีส่วนช่วยให้พื้นที่ต่าง ๆ ในสังคมมีความหมายมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

Temporary West คือหนึ่งในกลุ่มที่สร้างสรรค์ผลงาน Street Art ที่เริ่มต้นจากความชอบจนต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุมชนทั่วไป รวมไปถึงในพื้นที่บ้านเกิด จนได้รับการยอมรับจากสังคม พวกเขามารวมตัวกันได้อย่างไร? อะไรคือเป้าหมายในการสร้างผลงานศิลปะที่ไร้ขอบเขต? มาทำความรู้จักพวกเขาไปพร้อม ๆ กันครับ


TEMPORARY WEST การรวมตัวของเพื่อน

“พวกเราเป็นกลุ่มเพื่อนที่ชวน ๆ กันมาทำงานครับ มารวมตัวกันช่วงทำโปรเจกต์ Art Town ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่มันไม่สนุกถ้าทำคนเดียว ก็เลยชวน ๆ เพื่อนกันมารวมตัวกัน พอรวมกันเยอะๆ มันรู้สึกคลิกกัน ก็เลยตัดสินใจรวมกันเป็นกลุ่ม หลังจากนั้นก็ทำกันมาเรื่อย ๆ เลยครับ”

“ส่วนชื่อกลุ่มได้มาจากในกรุ๊ปไลน์ครับ ที่ตั้งว่า ‘Temporary West’ เพราะว่าเราได้ไปทำกิจกรรมกันที่ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจังหวัดมันที่นับเป็นภาคตะวันตกของประเทศไทย กลุ่มเราตอนนั้นก็เหมือนกลุ่มชั่วคราวก็เลยตั้งเป็น ‘Temporary’ แล้วเราก็เรียกกันยาวมาจนถึงทุกวันนี้ครับ”

“พวกเราเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่ม Street Artist Crews เป็นกลุ่มที่รวมกัน 9 คน เพื่อมาทำ Street Art โดยเฉพาะเลย แต่ละคนก็จะมีงานด้านอื่นด้วย เช่นทำแคนวาส เขียนภาพทั่วไป แต่ว่าสิ่งที่เราชูว่าเป็นจุดเด่นคือการโฟกัสกับ Street Artist ศิลปะข้างถนน การลงสีกำแพงข้างถนน เราสนุกกับการเขียนข้างถนนมากกว่าแคนวาสแล้วไปลงในแกลเลอรี่ แต่ว่าไม่ใช่เราไม่ทำงานแบบนั้นนะครับ มันแค่เป็นส่วนหนึ่งเฉย ๆ แต่เมนของเราเป็นงานกำแพงซะส่วนใหญ่

“พวกเราส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียนอาร์ตครับ มีเรียนคณะวิจิตรศิลป์ที่ลาดกระบัง เรียนมัณฑนศิลป์ที่ศิลปากร เรียนฟิล์ม ต่างคนก็มารวมตัวกัน”

“ในช่วงแรกที่ทำงานกันก็ทำมั่ว ๆ นิดนึงครับ เพราะเหมือนเราแค่เพิ่งเริ่มกันซะส่วนใหญ่ ได้เริ่มทำงานด้วยกันก็เพียงพอแล้ว แต่ช่วงหลัง ๆ มันก็พัฒนาขึ้นมา เพราะเราก็เห็นรุ่นพี่หลาย ๆ กลุ่มที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วคิดว่าเราน่าจะไปได้เหมือนกัน แรงบันดาลใจอีกอย่างก็คือการที่เราได้ทำงานกับเพื่อน ๆ  ได้เติบโตไปด้วยกันก็พอใจแล้วครับ”


แรงบันดาลใจส่งต่อให้ชุมชน

“หัวใจสำคัญอันดับแรกคือเราจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครครับ มันเป็นบรรทัดฐานของกลุ่มเรา พอมันเป็นงาน Street Art, Graffiti มันก็จะมีหลากหลายแนว พวกเราจะออกไปทางทำงานเพื่อสังคม ส่วนใหญ่คือจะเอาศิลปะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชน ให้คนได้เห็นศิลปะมากขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น มันเป็นเป้าหมายที่เราตั้งไว้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้มันได้ประโยชน์กับคนอื่นด้วยครับ”

“จริง ๆ แล้วการทำ Street Art มันเริ่มจากความชอบก่อนแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ พอเราเริ่มมาทำก็เลยได้เห็นประโยชน์ของมัน อย่าง AKA. Y? เป็นคนประจวบแล้วขึ้นมาเรียนกรุงเทพ ทุกครั้งที่กลับมาบ้านมันก็จะเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป 5 ปี 10 ปี มันก็เหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนก็คือมันมีบ้านนกเยอะขึ้นที่มองเผิน ๆ มันก็เหมือนบ้านร้าง

เราก็รู้สึกว่า Street Art กับอะไรพวกนี้มันเข้ากันนะ เราก็เลยใช้พื้นที่ตรงนั้นทำงานกัน อย่างน้อยมันเป็นสีสันให้คนได้มาถ่ายรูปก็ยังดี บางจุดแทนที่มันจะเป็นมุมอับมืด ๆ เราก็เอางานเราไปลงไว้ตรงนั้น สิ่งที่ตามมาคือผู้คนที่เข้ามาสนใจ มาถ่ายรูป ทำให้คนรู้สึกว่าที่ตรงนั้นมันไม่ได้อันตรายขนาดนั้นครับ”

“งานของเราทำแล้วต้องเข้าถึงง่ายและมีประโยชน์ เพราะอาร์ตมันก็มีหลายแบบ เราว่างานที่เข้าถึงยากมันมีเยอะแล้ว เราก็อยากได้งานที่คนเข้าถึงกับเราได้จริง ๆ ถึงแม้ว่าศิลปะไม่ใช่ปัจจัย 4 แต่ศิลปะก็มันสะท้อนอะไรบางอย่างออกมาได้ เรียกร้องได้ คือแค่คนเห็นแล้วรู้สึกจรรโลงใจก็โอเคระดับหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นเราเลยอยากให้อาร์ตของเราได้ไปคอนเนคกับคนได้จริง ๆ ยิ่งถ้าเกิดมันสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนต่อ ๆ ไปได้ อันนั้นคือความสำเร็จของเราแล้ว”


คอนเซปต์งานสะท้อนตัวตนภายแนวคิด “ART TOWN”

“ส่วนใหญ่แล้วการนำเสนอคอนเซปต์งานก็เหมือนศิลปินทั่วไป อยากเล่า อยากทำอะไรก็ปลดปล่อยออกไป แต่ว่าเรายึดแค่ไม่อยากให้มันเลือกข้าง พูดอะไรก็ได้ แต่ให้พูดในเชิงกลาง ๆ ให้มันครบทุกด้าน มันคือแกนในการ Express ส่วนใครจะได้แรงบันดาลใจจากอะไร หรือจะวาดเป็นตัวอะไร เรารู้สึกว่ามันก็คือตัวตนของเขา การทำ Street Art มันเหมือนการสร้างคาแร็กเตอร์ของเราอีกตัวขึ้นมา ใครอินอะไรก็จะถ่ายทอดออกมาครับ”

“Art town เป็นเมืองที่เราเข้าไปแล้วสิ่งแรกที่เห็นคือต้องเป็นศิลปะ จริง ๆ มันอิงมาจากที่เราได้เห็นในต่างประเทศด้วย อย่างที่เมลเบิร์นเข้าจะมี ‘Street Art Lane’ คือเราชอบที่เข้าไปแล้วทำให้มันเปลี่ยนไปเลย ไม่ว่าข้างนอกจะดูหรู จะวุ่นวายอย่างไรก็ตาม แต่การเข้าไปตรงนั้นมันคือที่ของ Street Art มันเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องง่ายมาก อยู่ใกล้ตัวคนมาก มันก็จะมีความสวยงามด้านอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับคนที่เข้าไปเสพ เราอยากให้คนที่เข้ามาใน Art town เข้ามาแล้วรู้เลยว่านี่คือเมืองแห่งศิลปะ”


ART TOWN เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชน

“โปรเจกต์ Art Town ที่ทำที่อำเภอบางสะพาน จริง ๆ แล้วจุดประสงค์แรกคือเมืองมันไม่ค่อยเปลี่ยน แล้วเราเห็นว่าวงจรชีวิตมันสั้น สั้นในที่นี้คือบางคนเรียนจบมัธยมต้น หรือบางคนอาจจะไม่จบแล้วก็ไปมีลูกมีครอบครัวกันแล้ว แต่พอมาอยู่กรุงเทพมันมีอะไรให้ทำเยอะ เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้พื้นที่นั้นมันมีกิจกรรมมากขึ้น จะทำยังไงให้คนมาที่นี่เยอะขึ้น

เรามองว่าคนข้างนอกมีผลต่อการพัฒนาชุมชน เราเลยพยายามหาเอกลักษณ์ให้เมืองเพื่อดึงคนเข้ามา คนในพื้นที่ก็จะได้เรียนรู้จากคนข้างนอก ไอเดียในการใช้ชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น เขาจะได้เรียนรู้ว่าทำแบบนี้ได้ ทำอันนี้ได้ นี่คือสิ่งที่เราคิดและโชคดีมันดันไปตรงกับความคิดผู้ใหญ่หลายคน เขาก็อยากให้เมืองมันพัฒนาขึ้นเหมือนกัน มันก็เลยเกิดมาเป็น Art town เริ่มจากบ้านเราก่อน เป็นคนที่ไหนก็ควรเริ่มจากตรงนั้นก่อนครับ”

“สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดที่สุดเลยคือมีจุดถ่ายพรีเวดดิ้งครับ (หัวเราะ) แล้วก็มีพวกเด็ก ๆ เริ่มมาเช็คอินกัน สมมติเราลงไปเปลี่ยนงานหนึ่งครั้งเด็กในท้องที่ก็จะชวนกันมาถ่ายรูป พอถ่ายไปก็จะแท็กรูปกลับมาหาเรา

ตอนเราไปโรงเรียนประจำในพื้นที่ ได้ไปคุย ไปสอนเขา ก็จะมีเด็กบางคนที่ตามเราออกมาดูตอนเราทำงานกัน เขาก็เริ่มมีความคิดว่าอยากจะทำงานพวกนี้บ้าง เพราะตอนแรกเขาคิดว่างานพวกนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันอาจจะไม่ถึงกับเลี้ยงชีพได้ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่เขารู้สึกว่าได้ปล่อยพลังานออกมาที่ไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรไม่ดี นี่คือสิ่งที่เราเห็น แล้วคนในท้องที่เขาก็เริ่มจะสนใจอยากให้ตรงนั้นมี ตรงนี้มี ตลาดบางที่ถ้าเป็นในชุมชนเราก็จะทำให้ฟรีเลย เช่นตลาด อบต. เห็นได้ชัดเลยว่ากิจกรรมมันเกิดขึ้นเยอะในชุมชนจริง ๆ”

“พวกเรามองว่าทุกคนจะมีกิจกรรมเยอะขึ้น คนข้างในรู้สึกว่าเมืองมีสีสัน เพราะว่าต่างจังหวัดมันไม่มีคนเข้ามาทำกิจกรรมให้กับเขา เขาก็จะใช้ชีวิตแค่ทำงาน นอน ทำงานแล้วก็นอนไปเรื่อย ๆ แต่พอมันมีคนลงไปทำ พอพวกเราพ่นเสร็จมีคนมาถ่ายงานเรา มีคนมาขอถ่ายทำเบื้องหลังเรา เขาก็ตื่นเต้นเพราะเขารู้สึกได้มีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานของพวกเรา ยิ่

งพอเราบอกว่าเราเป็นคนพื้นที่นั้นเขายิ่งเชียร์เรา อารมณ์แบบซัพพอร์ตคนบ้านเดียวกัน พอเห็นชุมชนเป็นที่สนใจมากขึ้น เขาก็อยากจะช่วยกันผลักดันมากขึ้น แล้วก็มีคนที่เขาทำศิลปะจากที่ทำคนเดียวก็เริ่มรวมกลุ่ม ก็น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แค่มันมีการกระเตื้องขึ้นมาพวกเราก็ดีใจแล้วครับ”

“มันแฮปปี้นะ มันดีกว่าโดนด่า มันทำให้เราได้ใกล้ชิดกับคนท้องที่มากยิ่งขึ้น เพราะปกติเราจะขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพ บางทีเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนนอกไปนิดนึง แต่พอเราเข้าไปทำแล้วกลายเป็นว่าคนที่เราไม่เคยได้คุย ก็ได้คุย ได้รู้จักเขา ได้แลกเปลี่ยนอะไรกันมากขึ้น ได้ใกล้ชิดกับพวกเขามากขึ้น”


เปลี่ยนพื้นที่รกร้างด้วยการสร้างงานศิลปะ

“จุดแรกที่เราเริ่มทำมันเป็นตลาดเก่า คือเขาเคยมีแพลนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วว่าจะทำเป็นห้างสรรพสินค้า แต่ไม่ได้ทำเพราะคนข้างในไม่มีกำลังที่จะบริโภค พอเขาทำใหญ่ขึ้นมามันก็เจ๊ง แล้วก็ทิ้งเป็นอาคารไว้แบบนั้น มันก็เริ่มกลายเป็นที่ทิ้งขยะ

แต่พอเราลงไปสร้างงาน ปรากฎว่าจุดนั้นมันจะมีคนมาคอยทำความสะอาดให้เสมอ เพื่อทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้มีคนมาทำงาน และเขาก็อยากให้คนอื่นมาดูงานที่เราทำเหมือนกัน มันทำให้รู้ว่าคนในพื้นที่มีความจริงจังที่จะจัดการกับพื้นที่รกร้างตรงนั้น บางจุดที่เป็นสนามเด็กเล่นเก่า ที่มันพังแล้ว มันก็มีการรีโนเวทขึ้นมาใหม่ให้คนเข้ามาใช้ เรารู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจาก graffiti”

“อย่างตอนที่ไปทำงานที่บางสะพาน ตอนแรกมันเป็นพื้นที่ที่ซบเซา เป็นตลาดเก่า คนก็ไม่ค่อยจะเดินครับ พอกาลเวลาเปลี่ยนไปสถานที่นั้นก็กลายเป็นบ้านรกร้าง คนก็ยิ่งไม่ค่อยเข้าไปจับจ่ายใช้สอย พอเราเริ่มเอาศิลปะเข้าไป คนก็เริ่มกลับมา ร้านบางร้านก็กลับมาเปิดและมีรายได้จากตรงนั้น ก็เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่และอาจจะดึงดูดคนจากต่างพื้นที่ให้เข้ามาถ่ายรูป เที่ยวเล่นด้วย มันก็เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนนั้นด้วย”

“คนในชุมชนส่วนใหญ่จะแฮปปี้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาอาจจะไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนด้วย อย่างตอนไปทำงานชิ้นใหญ่ที่เคยทำคือของพี่ตูน (ก้าวคนละก้าว กรุงเทพ-บางสะพาน) ตอนนั้นคนในชุมชนรวมเงินกันมาให้เราทำเลย รู้สึกว่ามันสามารถทำให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ได้ แล้วก็เคยเจอคนแก่ เขาบอกว่าไม่คิดว่าเมืองไทยจะมีอะไรแบบนี้ เขาเคยเห็นแต่ในทีวี คนส่วนใหญ่ก็จะโอเคครับ”


การวางแผนและอุปกรณ์ในการทำงาน

“ถ้าเป็นโปรเจกต์ที่ซีเรียสหน่อย ก็อาจจะมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่แรก ต้องรวมกันสเก็ตภาพก่อนลงงานจริง แต่บางสถานที่ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้นก็แล้วแต่คนเลย สุดท้ายเราก็จะมีการจับฉลากแล้วมาเบลนด์อิน (ทำให้งานกลมกลืน) มาดูว่าทำอย่างไรให้งานมันเป็นชิ้นเดียวกลม ๆ บางทีเราก็จับฉลากเพื่อความง่าย วัดดวงกันด้วย ไม่รู้ว่าใครจะได้คู่กับใคร แล้วคนที่ได้จับคู่กันก็จะต้องคอยเบลนด์อินด้วยกัน เพื่อที่ทั้งงานจะได้เป็นชิ้นเดียวกัน”

“อุปกรณ์หลัก ๆ เลยคือ สีรองพื้น, สีทาบ้าน, สเปรย์, สีกลิ้ง, บางทีเจอกำแพงหยาบ ๆ อาจจะต้องทำให้กำแพงเรียบก่อน แล้วก็มีสีนอก สีไทย จะมีราคาต่างกัน การเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีงบเท่าไหร่ครับ”

“การเลือกโลเคชั่นจะมองพื้นที่ที่มันน่าสนใจ หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่น่ามอง เป็นที่ที่ให้เราได้ท้าทายตัวเอง มันจะไม่เหมือนแคนวาส รูปแบบมันแตกต่างกัน บางทีก็เจอพื้นที่หักมุม พื้นที่อยู่สูง มันทำให้เราคิดว่าจะเอาชิ้นงานไปไว้ตรงนั้นได้ไหม เราจะสร้างชิ้นงานให้ออกมาจากผนังนั้นได้ไหม มันก็จะมีอะไรหลาย ๆ อย่างให้ได้ศึกษา เราก็เลยจะเอามาทดลองกับงานของเราด้วย ก็จะต้องคิดนอกกรอบกันหน่อยครับ”

“บางทีเรามีสต็อกผลงานสเก็ตที่อยู่ในใจอยู่แล้ว เหลือแต่หากำแพงที่มันเหมาะกับผลงานชิ้นนี้ บางทีเจอโลเคชั่นที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนงานสเก็ต บางทีมันก็ควบคุมไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับยังไงให้เหมาะสมมากกว่าครับ”


STREET ART = ทำลายทรัพย์สิน?

“ทำงานแนว Street Art มันก็เป็นธรรมดาที่จะเจอคนที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง โดนไล่บ้างครับ เราทำได้แค่คอยอธิบายให้พวกเขาฟังว่างานที่เราทำมันคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร เราจะให้อะไรกับเขา สุดท้ายเราต้องหาตรงกลางระหว่างกันและกัน ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีครับ”

“อย่างเคสที่ดี ๆ ผมเคยไปทำโปรเจกต์ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี มันเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างดีกับทั้งเราเองแล้วก็ชุมชนด้วยครับ เราเข้าไปเจอกับคนในชุมชนก่อน เริ่มจากทำงานน้อยชิ้นให้เขาเห็นว่ามันคืออะไร พอชาวบ้านเริ่มเข้าใจ เริ่มค่อย ๆ รับ เราก็ค่อย ๆ ป้อน พอรับได้แล้วเราก็ยกทีมกันไปทำ แล้วตรงนั้นมันเหมือนได้กลายเป็นแลนด์มาร์คขึ้นมา เป็นประสบการณ์ที่ดี และชาวบ้านเขารู้สึกรักและหวงแหนงานที่เราทำด้วย ตัวเราเองก็ภูมิใจที่ได้ทำงานตรงนั้น”

“คือตามปกติพวกเราก็จะทำเรื่องขอพื้นที่ก่อน มาดูลาดเลาว่าทำได้ไหม เจตนาของเราคือจะมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ถึงแม้บางครั้งภาพที่แสดงออกจะเป็นแนวที่ดูรุนแรง แต่อย่างน้อยเราก็ทิ้งสกิลและเทคนิคบางอย่างเพื่อให้รุ่นน้องหรือคนที่เขาสนใจได้แรงบันดาลใจในการสร้างงานใหม่ต่อไป

ถ้าถามว่ามันทำลายทรัพย์สินไหม เราไม่ได้มองแบบนั้น เราคิดว่าเราออกไปสร้างสรรค์มากกว่า ส่วนใหญ่เราจะเลือกที่รกร้าง ที่ที่ทำงานแล้วสบายใจมากกว่า ทุกวันนี้เราก็ใช้ผลงานในการแสดงออกในสื่อโซเชียลมีเดียให้ได้เห็นกันอยู่แล้ว หรือ หาจุดสนใจดี ๆ ให้คนในย่านนั้นได้เห็นผลงานกันครับ”


มุมมองของชาวต่างชาติต่อ TEMPORARY WEST

“ชาวต่างชาติเขาเซอร์ไพรส์ แต่ไม่ใช่ที่เราพ่นสเปรย์นะครับ แต่เซอไพรส์ตรงที่เจอคนที่ทำเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกที่เคยเดินทางมาแล้วแต่ตอนแรกสังคมมันยังไม่ใหญ่ แต่กลับมาแล้วเจอสังคมที่ใหญ่ขึ้นก็ทำให้เขาได้เอนจอยมากขึ้น”

“ด้วยความที่มันเป็น Sub Culture ส่วนใหญ่เลยจะเป็นเพื่อนกันมากกว่า พอเจอกันแล้วรู้ว่าพ่นสเปรย์เหมือนกัน มันก็จะเหมือนคนคุยภาษาเดียวกัน เราก็มีโอกาสได้ไปร่วมงานกับชาวต่างชาติหลาย ๆ คน แต่เขาอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงขนาดนั้น เราเคยร่วมงานกับทั้งคนญี่ปุ่น คนเยอรมัน แล้วก็คนนิวซีแลนด์ด้วยครับ”


UNLOCK ชีวิตด้วย STREET ART

“การที่เราได้วาดคาแร็กเตอร์ของตัวเอง ได้เอาตัวตนของเราไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่าง ๆ มันก็เหมือนการได้ฝึกฝีมือด้วย ได้พัฒนาตัวเอง แล้วก็ทำให้พื้นที่ที่เราไปทำงานมันสวยมากขึ้น น่าสนใจมากขึ้น ไม่รกร้าง ไม่เงียบเหงาครับ มันปลดล็อกเราให้กล้าแสดงออกมากขึ้น อย่างน้อยมันปลดล็อกเรื่องสกิลของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานการใช้สเปรย์ พื้นฐานการใช้อุปกรณ์ การวางแผนการทำงาน คือมันได้รับการเรียนรู้และการเติบโตในสายศิลปะครับ”

“มันมีในแง่ของการปรับตัวเข้าหาสังคม เราจะเบลนด์ตัวเองให้เข้าไปอยู่กับสังคมได้อย่างไร ทำให้มันเกิดตรงกลางได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ชาวบ้านรับไหว แต่ก็ยังต้องไม่สูญเสียตัวตนจนทำให้เราวาดอะไรก็ไม่รู้ตามใจชาวบ้านเพียงอย่างเดียว มันก็เป็นสิ่งที่ปลดล็อกจากการมาทำงาน Street Art ครับ”

“การมาทำงานกับคนในพื้นที่ มันต้องเจอคนเยอะ เจอ Feedback หลายแบบมาก บางคนก็ไม่ชอบเพราะฮวงจุ้ยก็มี ก็ต้องปรับตามเขา มันทำให้เรารู้สึกว่าได้ออกจากเซฟโซน ได้ออกจากพื้นที่ของตัวเอง เราไม่ได้ทำงานอยู่แค่ในแคนวาสแล้ว พอออกมาจากพื้นที่เราก็ต้องมาดูเพิ่มว่าเราจะดีลกับชุมชนอย่างไร จะออกแบบอย่างไร รูปแบบบนกำแพงมันก็ไม่เหมือนกัน รู้สึกว่ามันเหมือนได้ใช้ร่างกายครบทุกด้านครับ”


STREET ART ให้อะไรกับสังคม?

“ในแง่หนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันได้ไปเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับสังคม ให้สิ่งที่พวกเขาไม่เคยได้เห็น ไม่คิดว่าจะมีคนมาทำ

อย่างเราเคยไปทำให้งานฟรีให้ เขาก็จะมาถามว่าใครออกค่าสีให้ แต่ส่วนใหญ่เขาก็บอกเหมือนกันว่าเขาไม่เคยเจอ Art แบบนี้ ส่วนใหญ่ Art มันจะต้องอยู่ในแกลเลอรี่ที่เขาเคยเจอ มันก็แปลกสำหรับพวกเขาที่อยู่ดี ๆ มีคนมาทำอะไรแบบนี้ให้”


เป้าหมายของ TEMPORARY WEST

“ถ้านอกจากการที่เราทำ Street art ไปจนอายุเยอะจนทำไม่ไหว เราก็เคยคุยกันเล่น ๆ ว่าอยากจะลองไปถึงระดับโลกดู ได้ไปเป็นตัวแทนประเทศ ทำงานกับทางกับต่างประเทศเยอะ ๆ เพราะว่าตอนเราเริ่มทำงานไปสักพัก พอเริ่มเจอทีมของชาติอื่น เราก็รู้สึกว่าแต่ละที่มันมีกลิ่นไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานก็ไม่เหมือนกัน มันสนุกมาเวลาเจอกับกลุ่มคนเหล่านี้ ได้แลกเปลี่ยนกัน มันเลยทำให้เราอยากไประดับโลกครับ”

คำว่าอย่าตัดสินใครแค่เพียงเปลือกหรือภายนอกน่าจะเป็นคำตอบให้กับกลุ่ม Temporary West ได้เป็นอย่างดี

เชื่อเหลือเกินว่างาน Street Art ของพวกเขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลาย ๆ คนที่ต้องการใช้ศิลปะในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแน่นอนครับ

ติตตามผลงานของทีม TemporaryWest ได้ที่ Facebook.com/temporarywest


 

Photographer : Krittapas Suttikittibuth

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line