Life

“ประเทศไทยต้องชนะ!”เมื่ออัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในอาเซียน

By: TOIISAN March 18, 2020

ในขณะที่เรานั่งทำงานไปตามปกติ มีคนร่วมประเทศจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกจบชีวิตของตัวเอง บางคนบอกว่าพวกเขาอ่อนแอ หลายคนมองว่าคนพวกนี้ไม่ได้สู้จนถึงที่สุด คำพูดและความคิดเหล่าทำให้ UNLOCKMEN เกิดคำถามว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือว่ามีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ทำให้คนไทยบางคนที่สู้จนสุดตัวแล้วแต่ก็ยังแพ้อยู่ดี?

สำนักข่าวญี่ปุ่น Nikkei Asian Review วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจไทยว่าระบบกำลังใกล้ตายทีละน้อย โดยการวิเคราะห์ครั้งนี้ไม่ได้พูดขึ้นลอย ๆ แต่วัดจากกราฟของธนาคารโลก การแถลงของ WHO ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ไทยที่ทำให้เราสามารถเห็นสภาพเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติได้ชัดเจน จนพบกับผลลัพธ์อันน่าเศร้าว่าคนไทยยากจนเยอะขึ้นจริง หลังจากทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองไทย 

Nikkei Asian Review

พวกเขาเล่าเรื่องได้น่าสนใจด้วยการเกริ่นว่า เดือนมีนาคมในจังหวัดนครปฐมมีพระสงฆ์สี่รูปกำลังสวดในงานศพของชายคนหนึ่ง เขาคนนั้นเป็นชายวัย 32 ปี ทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างและเลือกจบชีวิตภายในบ้านของตัวเอง น้องชายของผู้เสียชีวิตนามว่า ‘วีระพงษ์’ ไม่เข้าใจว่าทำไมพี่ชายเขาถึงตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง ก่อนหน้านี้พี่ชายไม่เคยแสดงออกว่าเศร้าโศกใด ๆ แต่มีปัญหาชีวิตอยู่เพียงเรื่องเดียวคือเรื่องธุรกิจก่อสร้างอาคารที่กำลังทรุดหนัก

ทีม Nikkei Asian Review เห็นข่าวของพี่ชายนายวีระพงษ์ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรายใหญ่ของประเทศระบุว่าชายคนนี้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะหนี้ก้อนใหญ่ และในวันต่อ ๆ ไป เราก็เห็นข่าวคนไทยฆ่าตัวตายอยู่เสมอ ชวนให้สงสัยว่า ทั้งที่ประเทศไทยถือเป็นเมืองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะอะไรอัตราการฆ่าตัวตายของชาวไทยถึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ?

ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน อัตราส่วนจำนวนคนจนในประเทศลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 (พ.ศ.2549) ลดไปถึง 25% แต่ต่อมาในปี 2015-2018 (พ.ศ.2558-2561) ธนาคารโลกเผยกราฟให้เห็นว่าคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% คิดเป็นรายคนพบว่าประเทศไทยมีคนจนจากเดิม 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 69.04 ล้านคน

ธนาคารโลกยังระบุอีกว่าช่วงปี 2007-2013 (พ.ศ.2550-2556) ค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้แรงงานมีเงินเหลือส่งกลับไปยังภูมิลำเนาแถมจำนวนคนจนยังลดลงเรื่อย ๆ แต่พอเข้าสู่ปี 2015-2017 (พ.ศ.2558-2560) เหตุใดไทยถึงมีจำนวนคนจนเยอะขึ้นทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินให้กับประชาชน แถมคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เคยประกาศกร้าวในปี 2017 ว่า 

“ปีหน้าคนจนจะหมดประเทศ” – สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ปัจจุบันรัฐบาลไทยใช้นโยบายแจกจ่ายเงินให้ประชาชนในชื่อนโยบาย ‘ชิม ช้อป ใช้’ ที่มีออกมาหลายซีรีส์ด้วยกัน แจกเงินให้กับผู้ถือบัตรคนจนกว่า 14 ล้านคน ซึ่งจำนวน 14 ล้าน แล้วทำไมการแจกเงินให้คนจนและบางคนที่ไม่ได้จนจริง ๆ ถึงไม่ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ?

ทีมวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และพบคำตอบน่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาลไทยว่า การแจกเงินให้คนจนแบบหว่านลงมาจากฟากฟ้า  Nikkei Asian Review เลือกใช้คำว่าหว่านเงินลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ (helicopter money) เพียงแค่มอบสวัสดิการให้กับประชาชนแบบชั่วคราว ปัญหาทั้งหมดจะตกไปยังคนรับเงินไม่สามารถเอาไปต่อยอดเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตัวเองได้ 

การแจกเงินให้คนจนไม่ใช่การแก้ปัญหาเชิงลึกเรื่องการอุปโภคบริโภค แม้จำนวนเงินที่แจกจ่ายออกไปจะกลับเข้าสู่ระบบกระตุ้นตัวเลข GDP แต่มันเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

การให้เงินจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจแท้จริง แต่กลับทำให้ระบบการเงินและการค้าล่มทั้งประเทศเสียมากกว่า เพราะยังมีประชาชนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เดือดร้อนไม่แพ้คนอื่น พวกเขาต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลงจนน่าใจหาย บางคนหาทางแก้ปัญหาไม่ได้จำต้องกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยมหาโหด พ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน นักธุรกิจ SME ต่างพากันถอดใจ ทำให้เราเห็นข่าวฆ่าตัวตายตามหน้าหนังสือพิมพ์

โรงงานในจังหวัดชลบุรีหลายแห่งต้องปิดตัวเพราะการส่งออกลดลง แรงงานจำนวนหลายพันคนต้องโดนให้ออกจากงานเนื่องจากค่าเงินแข็งตัว การโดนให้ออกจากงานกลางคันทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งกล่าวว่าเขาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าไฟได้และกลัวว่าจะถูกตัดไฟ

รวมถึงเจ้าของร้านเสื้อฮาวายร้านหนึ่งบอกกับทีมข่าวว่า ก่อนหน้านี้มีรายได้ 200,000 บาทต่อเดือน แต่เดือนที่แล้วยอดขายตกลงมาเหลือ 75,000 บาท แถมยังต้องแบ่งเงิน 31,400 บาทไปจ่ายค่าเช่าที่ขายของอีก ไม่แน่ว่าถ้ายังขายแบบนี้ต่อไปอนาคตเขาคงต้องปิดร้านเหมือนกัน

ถ้าพูดลอย ๆ ผู้อ่านบางคนอาจไม่ปักใจเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงมาก ทาง Nikkei Asian Review มีข้อมูลการเสียชีวิตเพราะพิษเศรษฐกิจของชนชั้นกลางและผู้ประกอบธุรกิจ SME อยู่ในมือเยอะพอสมควร

นอกจากกรณีของพี่ชายนายวีระพงษ์ในข้างต้น สำนักข่าวยังพูดถึงครอบครัวสี่คนเสียชีวิตอยู่ในรถยนต์พร้อมทิ้งข้อความไว้ว่าบ้านมีหนี้จากธุรกิจมากกว่า 10 ล้านบาท หรือกรณีการเสียชีวิตด้วยปัญหาการเงินของชายวัย 56 ปี ทำธุรกิจค้าพลาสติกในจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งหมดย้ำเตือนว่าระบบเศรษฐกิจมีผลต่อชีวิตคนในประเทศมากจริง ๆ 

สำนักข่าว Nikkei Asian Review ยังเห็นว่านอกจากรัฐบาลจะช่วยคนจนแล้วยังผลักดันโครงการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนระดับชาติ มอบอำนาจผู้ขาดทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มนายทุนเดียว คู่แข่งหรือนักลงทุนต่างชาติก็ย้ายโรงงานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงและค่าครองชีพถูกกว่า พร้อมกับดึงผลการจัดอันดับคนรวยที่สุดในประเทศไทยมายืนยันให้เห็นกันชัด ๆ ว่าคนที่ร่ำรวยขึ้นก็คือคนกลุ่มเดิม ๆ เป็นนายทุนคนเดิมที่รวยอยู่แล้ว แต่พวกเขากลับมีเงินเยอะมากขึ้นอีกจากการผูกขาดที่รัฐบาลมอบให้

เมื่อประเทศเต็มไปด้วยการผูกขาดของกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม ส่งผลให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจลดลง ค่าเงินบาทแข็งตัวจนทำให้ผลผลิตส่งออกเริ่มลดน้อยลงเพราะค่าเงินเราแข็งจนต่างชาติเบนไปหาประเทศอื่นแทน

รายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขปี 2019 (พ.ศ. 2562) เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเพียง 2.4% ถือว่าเป็นอัตราการโตช้าที่สุดในรอบห้าปีของประเทศ ในปีต่อไปอาจแย่ลงกว่าเดิมด้วยการเติบโตเพียงแค่ 1.5% แต่คนในแวดวงการเงินกล่าวว่าตัวเลขแท้จริงอาจเหลือเพียง 0.5% มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ 

พิษเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้อย่างถูกวิธีสะสมเป็นเวลาหลายปี รวมถึงความเครียดเรื่องการเมือง สังคม ปัญหาชีวิตส่วนตัวอย่างหนี้สินและการล้มละลาย มีการเก็บข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยปี 2018 (พ.ศ.2561) ถามประชาชนชาวไทยว่าคุณพอใจกับค่าครองชีพที่เป็นอยู่หรือไม่ ? มีเพียงร้อยละ 39 บอกว่าพึงพอใจ ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ปัจจัยหลายประการส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยพุ่งสูงจนชนะประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งด้วย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสน คิดง่าย ๆ ให้จับประชากรไทยทั้งหมดแบ่งเป็นกลุ่มละ 1 แสนคน ในจำนวนคนหนึ่งแสนจะมีคนฆ่าตัวตายจากความเครียดประมาณ 14 คน จนองค์กรอนามัยโลกหรือ WHO มองว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาคดีฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามในเวลานี้ความเครียดดูเหมือนจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประชาชนชาวไทยกับรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาแวดล้อมอื่นอย่างภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 และไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างไม่สามารถควบคุมได้ และหวังว่าความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด และการฆ่าตัวตายจากเศรษฐกิจพัง ๆ จะดีขึ้นในสักวัน 

 

SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line