World

THE PROFILES: LONE WOLF หรือหมาป่าเดียวดายอาจเป็นแค่หมาป่าจนตรอกที่ไปไม่รอดในสังคม

By: TOIISAN February 18, 2020

การหลบไปทำอะไรตามลำพังบางครั้งบางคราวเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอยากกินข้าวคนเดียว อยากนั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ หรือต่อกันพลา เพราะเราต่างต้องการเวลาส่วนตัวกันทั้งนั้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การกระทำบางสิ่งด้วยตัวคนเดียวส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้อื่น เมื่อนั้นโลกจะเรียกคุณว่า ‘lone wolf’

ปัจจุบันเรามักพบเจอกับความรุนแรงและการก่อการร้ายในสังคมอยู่บ่อยครั้ง บ้างอาจเป็นทีมหรือลัทธิความเชื่อสุดโต่งก็ร่วมกันวางแผนก่อเหตุสะเทือนขวัญและก็มีหลายครั้งที่เหตุร้ายเกิดขึ้นจากฝีมือคนคนเดียว ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ UNLOCKMEN เริ่มขุดคุ้ยถึงที่มาของคำว่า ‘lone wolf’ ที่เห็นบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อหาคำตอบว่าหมาป่าเดียวดายที่ถูกสังคมถีบออกมามีเรื่องราวและความเป็นมาอย่างไร

 

หมาป่าเดียวดายส่วนใหญ่บาดเจ็บจากสังคม

ความหมายแรกเริ่มของคำว่า ‘lone wolf’ หรือ ‘หมาป่าเดียวดาย’ ไม่ได้ถูกมองแง่ลบเหมือนปัจจุบัน แต่เป็นคำจำกัดความสำหรับเรียก ‘คนที่ชอบทำอะไรคนเดียว’ ไม่ว่าจะกินข้าวคนเดียว ไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียวก็สามารถเรียกว่า lone wolf  ได้ทั้งนั้น 

เมื่อลองสืบหาต้นตอของคำคำนี้จริง ๆ พบว่า lone wolf อ้างอิงมาจากลักษณะนิสัยของหมาป่าที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนไม่ต่างจากมนุษย์ และเกือบทุกกลุ่มก็มักมีหมาป่าบางตัวที่ถูกขับออกจากฝูง ทำให้นิสัยของหมาป่าเดียวดายส่วนใหญ่ที่ถูกขับ มักชอบลงมือทำอะไรเสี่ยง ๆ เพราะไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าเทียบกับคนสามารถเห็นได้ชัดกับกรณีคนผิวสีอยู่ท่ามกลางคนขาวทำให้คนผิวสีที่เป็นส่วนน้อยรู้สึกแปลกแยก จึงทำให้ความหมายของ lone wolf ออกไปในเชิงลบมากกว่าบวก 

ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปคำว่าหมาป่าเดียวดายไม่ได้แปลว่าคนที่ชอบทำอะไรคนเดียวอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การก่อการร้ายแบบลุยเดี่ยว’ ให้ความหมายเชิงลบดำมืด โดย lone wolf สามารถเป็นใครก็ได้ในสังคม ดำเนินชีวิตปะปนกับคนทั่วไปตามปกติ ไม่เกี่ยงเพศ ไม่มีอายุมาเกี่ยวข้อง ประกอบอาชีพอะไรก็ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ใครคนนั้นตัดสินใจลุกออกมาก่อความรุนแรงต่อสังคมเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าประโยชน์นั้นมีเพื่อทรัพย์สิน หรือแค่ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตัว จากการก่อความรุนแรงที่ลงมือแค่ตัวคนเดียว ไม่ขึ้นตรงต่อลัทธิหรือองค์กรใด เราจะเรียกเขาหรือเธอคนนั้นว่า lone wolf 

แล้วถ้าสมาชิก IS หรือกลุ่มลัทธินีโอนาซีคนหนึ่งออกมาวางระเบิดสถานที่ราชการจะเรียกเขาว่าอะไร ? สื่อทั่วโลกไม่เรียกคนทำตามคำสั่งขององค์กรแม้จะทำภารกิจคนเดียวว่า lone wolf ต่อให้ผู้ก่อเหตุจะเห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงแบบเต็มใจก็ตาม แต่เรียกว่า ‘sleeper cell’ แทน เพราะคำว่าหมาป่าเดียวดายใช้กับคนที่ทำทุกอย่างคนเดียวตั้งแต่การวางแผน เลือกจุดก่อเหตุ ไปจนถึงการกราดยิงหรือวางระเบิดที่ทำให้มีคนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ 

เมื่อหมาป่าเดียวดายลุกขึ้นมาก่อเหตุสร้างความรุนแรงในสังคม ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความสงสัยใคร่รู้ถึงสาเหตุของการก่อเหตุว่ามีต้นตอจากอะไร ผลการศึกษาจากงานวิจัยทางการแพทย์ประกอบกับข้อมูลสถิติของเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายมาสอบสวน (กรณีจับตายจะสืบจากคนใกล้ตัว) เผยอีกมุมที่น่าสนใจว่าถึงโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิประหลาด กระทั่งความศรัทธาแน่วแน่ในศาสนาจะมีน้ำหนักให้คนเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนตัวเองเป็นหมาป่าเดียวดาย แต่ต้นเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความทรงจำแย่ ๆ ของตัวเอง 

‘lone wolf ส่วนใหญ่มักอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแย่ ๆ เขาหรือเธออาจถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม คล้ายกับหมาป่าจนตรอกที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ก่อให้เกิดความคับแค้นใจจนต้องหาทางแสดงออกในรูปแบบความรุนแรง’ 

อย่างไรก็ตามเหตุผลอันน่าเศร้านี้ไม่สามารถใช้กับ lone wolf ทุกคน เพราะบางคนที่ไม่ได้มีความคับแค้นใจต่อสังคมก็สามารถคว้าปืนออกมายิงประชาชนกลางถนนตัวคนเดียวได้โดยมีต้นตอมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การนิยมชมชอบความรุนแรง การคลั่งไคล้อาวุธปืนเป็นส่วนตัว มีพฤติกรรมเลียนแบบจากการเสพสื่อใต้ดินโดยขาดคำแนะนำที่เหมาะสมเพราะชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน (เหตุการณ์ 911) เผยแพร่รายงานให้ชาวโลกเห็นว่ารูปแบบการก่อการร้ายด้วยคนคนเดียวยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเหตุการณ์ปี 2009 มีเด็กหนุ่มชาวไนจีเรียซุกระเบิดขึ้นเครื่องบินไปยังสหรัฐฯ แต่โชคดีที่สถานการณ์คลี่คลายโดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเพราะลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องสามารถจับตัวเด็กหนุ่มผู้ก่อเหตุได้ทันก่อนกดระเบิด 

หลังจากเด็กหนุ่มถูกจับกุมตัว เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ สืบหาสาเหตุว่าทำไมชายไนจีเรียคนนี้ถึงคิดพกระเบิดขึ้นเครื่องมายังสหรัฐฯ จากการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเขาทำไปเพราะความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากชายผู้นี้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ชายคนนี้ยืนยันหนักแน่นว่าเขาวางแผนทั้งหมดคนเดียว สำนักข่าวหลายเจ้าจึงตีข่าวว่าเขาเป็น lone wolf มากกว่า sleeper cell หรืออีกเหตุการณ์ของชายผิวขาวที่ลงทุนเดินทางจากบัลติมอร์ไปยังนิวยอร์กเพื่อสังหารชายผิวสีโดยเฉพาะ ต่อมา NYPD ได้จับกุมเขาพร้อมตั้งข้อหาก่อเหตุครั้งนี้ว่าเขาเป็นหมาป่าเดียวดายเช่นกัน

นอกจากนี้ทางฝั่งยุโรปก็เกิดเหตุร้ายด้วยฝีมือของคนคนเดียวอยู่บ่อยครั้ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ในเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ผู้คนกำลังร่วมเฉลิมฉลองวันชาติแต่กลับมีคนขับรถบรรทุกพุ่งชนชาวบ้านที่ออกมาร่วมเฉลิมฉลองวันสำคัญ หรือเหตุยิงกันกลางสนามบินนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ตประเทศเยอรมนีปี 2011 เมื่อชายชาวแอลเบเนียนคว้าปืนพก 9 มม. ยิงเข้าศีรษะของชาวอเมริกันจนเสียชีวิตคาที่ 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 3 ราย

ขนาดประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาผู้นำโลกเสรี รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีความพร้อมเรื่องการป้องกันภัยก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาก่อการร้ายได้ครอบคลุม คงไม่ต้องพูดถึงประเทศเล็ก ๆ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยที่ไม่ได้มีองค์กรจริงจังเพื่อตั้งรับเหล่า lone wolf ที่ออกมาก่อเหตุ ทั้งที่นี่คือภัยเงียบควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไม่น้อยกว่ากลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ที่ทำงานกันเป็นทีมเลย 

 

ผู้ก่อการร้ายไม่ควรได้รับการจดจำจากชาวโลก

lone wolf ที่ตัดสินใจก่อเหตุด้วยตัวเองไม่ว่าจะมีเหตุผลเรื่องสีผิว ศาสนา การเมือง การถูกเอาเปรียบ ไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งในสังคม หรือความเกลียดชังส่วนตัว เมื่อพวกเขาก่อเหตุสำเร็จ คนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจเขาอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน สื่อต่างจับจ้อง ระหว่างพิจารณาคดีก็มีนักข่าวจำนวนมากมารอถ่ายรูป และการถูกตีข่าวพร้อมชื่อ-นามสกุล รวมถึงใบหน้าของตัวเองจะทำให้หมาป่าเดียวดายรู้สึกถึงพอใจกับการตกเป็นที่สนใจ 

ปี 2019 นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ Jacinda Ardern ได้ขึ้นปราศรัยกลางรัฐสภา หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงกลางที่สาธารณะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั่วโลกต่างจับตามองเหตุการณ์นี้ สื่อหลายสำนักอยากรู้ว่าเป็นฝีมือใคร คนก่อเหตุชื่ออะไร มีแรงจูงใจใดบ้างทำให้เขาบุกเข้าไปสังหารคนบริสุทธิ์ แต่นายกรัฐมนตรีกลับกล่าวถึงผู้ก่อเหตุว่าเป็นเพียงชายชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี ที่จะถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายและอื่น ๆ ชายคนนี้ต้องการหลายสิ่งจากการกราดยิง หนึ่งในนั้นคือชื่อเสียงแม้จะเป็นด้านลบก็ตาม และโลกจะไม่มีวันได้ยินเธอเอ่ยถึงชื่อของพวกเขา ผู้ก่อการร้ายจะเป็นเพียงบุคคลไร้ชื่อ พวกเราชาวนิวซีแลนด์จะไม่มีวันมอบทุกสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายต้องการแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ ‘ชื่อเสียง’ ก็ตาม 

ก่อนที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์จะออกมาพูดว่าจะไม่เอ่ยชื่อของผู้ก่อการร้าย สื่อต่างประเทศคุณภาพทั้งหลายก็พร้อมใจเรียกผู้ก่อเหตุว่า lone wolf แทนการเอ่ยชื่อนามสกุลของผู้ก่อการร้ายกันอยู่แล้ว เพราะการให้ค่าคนทำผิดถือเป็นดาบสองคมและทำร้ายจิตใจเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอย่างไม่น่าให้อภัย

WELLINGTON, NEW ZEALAND – MARCH 15: Prime Minister Jacinda Ardern speaks to media during a press conference at Parliament on March 15, 2019 in Wellington, New Zealand. One person is in custody and police are searching for another gunmen following several shootings at mosques in Christchurch. Police have not confirmed the number of casualties or fatalities. All schools and businesses are in lock down as police continue to search for other gunmen. (Photo by Hagen Hopkins/Getty Images)

การกระทำของเธอได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก ผู้คนตระหนักว่าการใส่ใจเหล่าผู้ก่อการร้ายและประวัติของหมาป่าเดียวดายมากเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเพราะอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย หากใครสักคนพกอาวุธออกไปทำร้ายผู้คน สื่อและแสงสปอตไลต์ฉายมายังคนที่ไม่เคยมีตัวตนมาก่อน ถ้าผู้คนยังให้ความสนใจกับกลุ่มคนเหล่านี้ สุดท้ายการก่อเหตุร้ายอาจไม่มีวันหายไปจากสังคมโลก…นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ UNLOCKMEN ไม่เอ่ยชื่อกรณีตัวอย่างของเหล่า lone wolf ผู้จนตรอกเลยสักคน 

 

SOURCE: 1 / 2 / 3

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line