CARS

THE REAL : “B.P. GARAGE” กับภารกิจ BACK TO THE FUTURE สร้างรถ VOLKSWAGEN VINTAGE ให้กลายเป็นเครื่องยนต์ EV ไม่ต้องง้อน้ำมัน

By: JEDDY September 10, 2022

ปัจจุบันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคการใช้รถยนต์ EV หรือรถพลังงานไฟฟ้ากันทั่วโลก สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สืบเนื่องมาจากการลดมลภาวะที่เป็นภัยต่อโลก รวมไปถึงค่าน้ำมันที่แสนแพง เติมแต่ละทีก็ต้องเหงื่อตก เพราะเงินในบัญชีกระเด็นหายไปจำนวนไม่น้อย ทำให้ทุกวันนี้เราได้เห็นแบรนด์รถยนต์ต่าง ๆ ผลิตรถไฟฟ้าออกมาตอบโจทย์ดังกล่าวกันถ้วนหน้า ซึ่งส่วนมากก็คือโมเดลตัวใหม่ทั้งนั้น

โอเค หากคุณเป็นคนขับรถยนต์เพื่อใช้งานตามปกติก็คงเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่ถ้าคุณเป็นผู้นิยมชมชอบรถวินเทจด้วย แถมให้ความสนใจระบบ EV ด้วยจะทำอย่างไร? ปัญหาดังกล่าวมีทางออกแน่นอน โดยเฉพาะสายรถ Volkswagen สุดคลาสสิค ที่วันนี้สามารถทำให้มันกลายเป็นรถพลังงานไฟฟ้าได้แล้วด้วยฝีมือคนไทยโดย B.P. GARAGE มาทำความรู้จักความสุดยอดกับคุณต้น เจ้าของอู่แห่งนี้กันครับ


เติบโตมาพร้อม VOLKSWAGEN

B.P. GARAGE ย่านพุทธมณฑลสาย 4 คืออู่ที่ดูแลเซอร์วิสให้กับรถ Volkswagen ที่ดูแลโดยคุณต้น ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี แต่ความผูกพันธ์กับความคลาสสิคของรถยนต์แบรนด์นี้มันเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก 

“Volkswagen มันเป็นรถที่ทำแล้วมีความเป็นสไตล์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งเติมแต่ง ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้มันไม่เหมือนใคร แต่อาจจะดีกว่าใครแบบนี้ แล้วมันเป็นรถที่ Maintenance น้อยนะ เพราะส่วนหลัก ๆ คือเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เป็นรถที่ใช้งานได้จริง ๆ

แต่พอเวลาผ่าน ยุคมันเปลี่ยน ก็อาจจะมีแอร์เพิ่มเติม อาจจะมีปัญหาบ้างนิดหน่อย แต่เขาก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นตามยุคสมัยได้”

คุณต้นเริ่มเล่าเรื่องในสิ่งที่ทำให้ตกหลุมรัก Volkswagen อย่างออกรส แสดงออกให้เห็นถึงความชื่นชอบที่ล้นเอ่อได้เป็นอย่างดี ก่อนจะเสริมถึงความเป็นมาของ B.P. Garage ให้ฟังคร่าว ๆ ว่า

“เบื้องต้นผมเองเรียนจบมาก็มาทำงานทางอู่เลย เพราะเรามีใจรักอยู่แล้ว ส่วน Volkswagen เป็นรถที่ผมใช้มาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม เป็นรถที่บ้านใช้อยู่แล้ว ผมมีพื้นฐานงานช่างจากที่คุณพ่อที่เป็นช่างอยู่แล้ว ก็มีความผูกพันมาเรื่อย ๆ เลยครับ

ส่วนตัวก็ชอบที่จะทำรถ Volkswagen ชอบที่จะแต่ง ที่จะดัดแปลงในสมัยที่ยังเรียนอยู่ ก็ต่อยอดมาเรื่อย ๆ พัฒนาตัวเองมาจนได้มาเป็นอู่ ปี 2540 ต้น ๆ ตอนผมเปิดอู่ครั้งแรก เราอยู่ริมถนนพระราม 2 มันก็เกิดโปรไฟล์ที่ว่ามีรถโฟล์ก จอดริมถนนเยอะเลย เมื่อก่อนเราก็ซื้อรถมาเก็บด้วย ซ่อมด้วย จุดนั้นคือจุดเริ่มต้นของ B.P. Garage ครับ”


ที่มาที่ไปของ VOLKSWAGEN ในไทย

หลังจากที่ได้ทราบถึงความหลงใหลต่อ Volkswagen ของคุณต้นแล้ว ทำให้เราเกิดความสงสัยขึ้นมาอยู่อย่างหนึ่งว่า เจ้ารถจากประเทศเยอรมนีเริ่มเข้ามาที่ไทยตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่

“รถที่นำเข้ามาขายในไทยแรก ๆ น่าจะช่วง 1950 ปลาย ๆ จนถึงตอนนี้ก็น่าจะ 50-60 ปีได้ จริง ๆ มันแล้วถูกนำเข้ามาใช้ในราชการยุคนั้นเป็นส่วนใหญ่ และระบบการขนส่งก็ใช้กันเยอะ ไม่ว่าจะข้าราชการทหาร ครู แพทย์ ก็ใช้ จากนั้นมีดีลเลอร์เอามาขายให้สำหรับประชาชนทั่วไป มันก็เลยกลายเป็นที่แพร่หลายมาตลอดเวลา ในยุคหนึ่งมันเป็นรถที่ Maintenance น้อยกว่ารถอื่น

และผมคิดก็ว่าด้วยเสน่ห์ของ Body รถ และถึงแม้รถจะอายุเยอะ แต่มันความสวยงามอยู่ตลอด ทั้งรูปร่างหน้าตา ความแปลก หรือสิ่งที่จูงใจ มันมีหลายจุดในตัวความเป็น Volkswagen เอง และรถก็มีหลายประเภทให้ใช้ มีทั้งรถตู้ รถเต่า ทั้งแวนครับ”


ภารกิจท้าทาย กับการกลายร่าง

VOLKSWAGEN ให้กลายเป็น EV

มาถึงประเด็นหลักของเราในบทสนทนาครั้งนี้ นั่นคือการทำให้รถสายวินเทจอย่าง Volkswagen กลายเป็นรถเครื่องยนต์ EV ตามยุคตามสมัย อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของรถให้มากขึ้น แต่ลดปัญหาจุกจิกลงตามไปด้วย

“เรื่องการเปลี่ยนให้ Volkswagen มาเป็น EV 100% จุดเริ่มมาจากผมกับรุ่นน้องมีความรู้สึกว่าเราทำรถแบรนด์นี้อยู่แล้ว และรถบางคันของบางครอบครัว ที่เป็นรถคันแรกของบ้าน แต่พอจะจับมาซ่อมบำรุง มันก็อาจจะทำแล้วไม่ค่อยได้ใช้ จะมาขับอีกครั้งหนึ่งก็กลัวแบตหมด พอจะสตาร์ทไปวิ่งก็กลัวเดี๋ยวจะมีปัญหา เราก็เลยลองกลับมาทำการบ้านกัน มาลองคิดว่าถ้าเราชำนาญในเรื่องของตัวรถอยู่แล้ว บวกกับเรามีทีมงานที่ทำเรื่องซอฟต์แวร์ในการผลิตอุปกรณ์ เพื่อจะเป็น EV 

เราก็มารวมตัวกันหาข้อมูล จนเกิดเป็นรถ Volkswagen คันสีแดงคันนี้ คันแรกที่เป็น EV 100% แล้วมันก็ออกมาประสบความสำเร็จในทุก ๆ อย่าง ทั้งใช้งานจริง ทั้งเอาไปแข่งที่สนามบุรีรัมย์ ทั้งเซอร์กิต และ แดร็ก เราไปทดสอบมาหมดแล้วแม้กระทั่งขึ้น Dyno Test เราก็ทำมาแล้วเหมือนกัน มันตอบโจทย์แล้วครับ”

ใช้เวลา Research นานขนาดไหน?

“คันนี้ตั้งแต่เริ่มทำจนวันที่เราตอบได้ว่ามันสมบูรณ์แบบน่าจะมีเวลาสัก 1 ปี 1 ปีสำหรับการเป็นรถประจำบ้านเหมือนรถทั่วไป เรามองข้ามคำว่า Volkswagen คือรถที่ขับแล้วจะต้องเสียไปได้เลย มันกลายเป็นรถบ้านคันหนึ่งที่ไปไหนก็ได้ ขึ้นรถแค่เปิด On ระบบ และที่สำคัญก็คือไม่ต้องเติมน้ำมัน”


ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

เมื่อเป็นสิ่งใหม่ย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย ซึ่งทางคุณต้นก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากผลงานของตัวเอง และยืนยันว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีไม่เคยมีคำว่าท้อ แต่สนุกกับการบ้านที่มีมาให้ทำตลอด

“มันต้องจับเทคโนโลยีใหม่มา Adapt เข้ากับรถเรา ซึ่งบางอย่างที่เราคิดว่ารถเราโอเคอยู่แล้ว เช่น ระบบเบรกในความเป็นเครื่องยนต์ เราขับความเร็วเท่านี้เราคิดว่าระบบเบรกที่มันมีอยู่มันจะสามารถหยุดรถได้ตามที่เราคิดไว้ได้

แต่พอเป็น EV ด้วยสมรรถนะที่มันสูงขึ้น เราก็ต้องอัปเบรกให้มันดีขึ้นไปเพื่อตอบโจทย์ เช่น เพิ่ม Power Break ให้ดีขึ้น หรือ สามารถทำให้เบรกได้ดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเราเลยลองตั้งแต่ไม่ได้ทำอะไรเลยกับตัวรถ ใส่แค่มอเตอร์เข้าไป เป็นต้น

หลังจากนั้นเราก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เวลาลูกค้ามาทำรถกับเรา ถ้าจะเปลี่ยนเป็น EV เราจะต้องทำการทดสอบรถลูกค้าทุกคัน เพื่อที่เราจะแจ้งลูกค้าก่อนว่าเบรกสำหรับรถที่เป็นเครื่องเดิมน่ะ เบรกอยู่นะ แต่ถ้าเป็น EV มันอาจจะต้องเพิ่ม แต่ก็อยู่ที่ลูกค้าตัดสินใจ ว่าจะเพิ่มหรือไม่เพิ่มครับ”

รถคันนี้ทางคุณต้นได้ระบุว่าสามารถทำความเร็วได้สูงสุดในสนามบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เซอร์กิต 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วน Dyno Test ทำได้ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีแรงม้าที่เพิ่มขึ้นหากวัดจากเครื่องยนต์ 1,600 รวมไปถึงตัวไดฟ์เวอร์ชุดใหญ่ที่มีผลต่อความแรง และความเร็วเช่นกัน


ขั้นตอนแรกสำคัญที่สุด

ก้าวแรกนั้นสำคัญที่สุด ประโยคนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่ที่ B.P. Garage ด้วยเช่นกัน

“เวลาเอารถมาทำ ผมต้องทำแบบในแต่ละคันก่อนว่าจะติดตั้งอะไรอย่างไรตรงไหนบ้าง ขั้นตอนแรกต้องเขียน Dimension ของการติดตั้งอุปกรณ์ก่อน พอเราเขียนแบบเครื่องเสร็จก็ส่งให้ทีมงาน Software ดูว่า กล่องเท่านี้ บล็อกเท่านี้ ถ้าเราใส่อุปกรณ์เท่านี้จะได้ไหม ถ้าสองขั้นตอนนี้ผ่านแล้ว ขั้นตอนที่ 3 คือรอให้กล่องบรรจุอุปกรณ์มาถึงผม จากนั้นการติดตั้งจะไม่นาน สรุปแล้วประมาณ 2-3 เดือน

รถที่เราทำสุดท้ายมันต้องไป Test Drive ได้จริง เราไม่ใช่ทำรถเหยียบแล้วล้อเร่งแล้วส่งได้ เพราะลูกค้าเอารถมา เราต้องให้เขากลับไปเป็น Volkswagen EV ในแบบฉบับที่เป็นรถใช้งานจริง ไม่ใช่ว่าเอารถเก่าไปทำ EV แล้วเอาไปขับ ๆ แค่นั้น  เรามีจุดประสงค์คือการเอากลับไปให้ใช้งานได้จริง ตื่นเช้ามา On ระบบไปได้เลยครับ”

ระบบสำคัญสำหรับรถ Volkswagen ที่จะติดตั้ง EV คืออะไร?

“โดยพื้นฐานแล้ว EV มันมีระบบของมันอยู่แล้ว เป็น Package ของมันอยู่แล้ว ปัญหาสำคัญคือตัวรถมากกว่าว่าพร้อมจะไปเป็น EV มากน้อยแค่ไหนครับ”


ขั้นตอนการทำแบบละเอียด

“รถแต่ละคันที่มาติดตั้งกับเรา เราจะเอารถพื้นฐานไปชั่งน้ำหนักก่อน ล้อหน้ารวมกี่กิโลกรัม ล้อหลังรวมกี่กิโลกรัม ทั้งคันกี่กิโลกรัม เราจะจัดวางอุปกรณ์ที่เราจะออกแบบ ให้ไปลงน้ำหนักในจุดเดิมให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะไม่ทำให้การขับรถ สรีระรถ หรือ Feeling การขับเปลี่ยนแปลงไป แต่มันต้องมีแน่นอนที่น้ำหนักบวกขึ้นไป หรือเบากว่าเดิม เราจะพยายามทำให้ใกล้ของเดิมมากที่สุด อันนี้เรื่องน้ำหนักก่อน

ต่อไปเรื่องอุปกรณ์และแบบ ทุกคันต้องแปรผันตามความสวยงามด้วย รถตู้ก็แบบหนึ่ง รถเต่าก็อีกแบบหนึ่ง แวนก็อีกแบบหนึ่ง Volkswagen มันไม่มี Mass Product

จากนั้นเอาพวกนี้ลงกล่องที่เราดีไซน์ไว้ ทุกอย่างเวลาเขียนแบบก็ไม่ใช่ผมทำแบบเสร็จแล้วจบ ทางทีมงาน Software อาจจะบอกว่ากล่องมันเล็กไป ใหญ่ไป หรือหนาไป ผมเองก็ดูว่าจะต้องปรับตรงไหนอย่างไร ถึงบอกว่าขั้นตอน 1-2 ใช้เวลาพอสมควร พอตกผลึกเรื่องรูปลักษณ์ เรื่องอุปกรณ์แล้ว เขาก็เอาอุปกรณ์ Software กับ Hardware ที่ประกอบขึ้นมาใส่ ผมก็จะติดตั้งตามที่ผมออกแบบไว้”

แล้วขั้นตอนต่อไปมีอะไรบ้าง?

“หลังจากนั้นไม่น่าเกินเดือนหนึ่งรถก็จะวิ่งได้แล้ว แล้วมาประกอบทำแอร์ ทำไฟฟ้าที่ตัวรถ จากนั้นก็เชิญลูกค้ามาทดสอบจริงกับเรา 

รถของเราเป็นแอร์ Cool เราใช้ระบบอากาศหมด ตอนแรกเลยไม่มีใครเชื่อผม ว่าระบบที่ผมทำมันจะตอบโจทย์ได้จริง มอเตอร์ผมก็ไม่ได้ใช้เหมือนคนอื่น แต่ทุกอย่างมันทำด้วยคนไทย เราคิดไว้แล้ว ทำไว้แล้ว ตกผลึกแล้ว เราผ่านการทดสอบแล้วครับ

ส่วนตอนนี้มีรถเบนซ์เป็นหนึ่งการบ้านที่วางแผนไว้แล้วว่าจะต้องทำ มันมีเรื่องแปลกใหม่หลายอย่าง ด้วยดีไซน์รถโบราณ เราก็ต้องทำให้มันอยู่ในจุดที่มันควรจะเป็นให้ได้มากที่สุด เอาง่าย ๆ คือถ้าไม่เปิดอะไรเลยก็ยังดูเป็นรถรุ่นนั้นอยู่ แบบนั้นอยู่”


การขับขี่ที่สะดวกสบาย

และปลอดภัยมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

เป็นที่ทราบกันดีว่าบรรดารถวินเทจไม่ใช่แค่ Volkswagen จะมาพร้อมกับเกียร์มือและการเหยียบคลัตช์ ซึ่งอาจจะทำให้การขับขี่ไม่ได้สบายเหมือนกับรถเกียร์ออโต้ รวมไปถึงเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยคุ้นกับระบบ Manual แต่สำหรับรถ EV มันถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ให้การขับขี่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยเข้าไปด้วย

“เบื้องต้นก่อน แอร์เป็นแอร์ไฟฟ้าแล้ว หมดห่วงทั้งเรื่องร้อน, รถจอดไม่เย็น, รถวิ่งแอร์ถึงเย็น ปัญหาพวกนี้จะหมดไป และจุดสำคัญอีกเรื่องคือเกียร์ ซึ่งเกียร์เรายังเป็น Manual อยู่ก็จริง แต่การขับจะเปลี่ยนไป เช่น เวลาที่เราจะออกตัวเราอาจจะเริ่มที่เกียร์ 3 เลยก็ได้แล้วก็ใช้วิ่งยาว ๆ

แต่ทุกคันมันอยู่ที่คุณจะใช้รถแบบไหน บางคนชอบออกตัวเกียร์ 2 แล้วเปลี่ยนเป็น 4 เลยก็มี บางคนวิ่งระยะใกล้ ๆ ในเมืองก็ใส่ 3 อย่างเดียว เวลาจะเบรกไม่ต้องมีการเหยียบคลัตช์แล้ว เบรกเหมือนรถเกียร์ออโต้ หยุดรถก็เบรก จะไปต่อก็ยกเบรกเหยียบคันเร่ง

รถไฟฟ้าเวลาเราจอดหยุดนิ่ง มอเตอร์ของรถไฟฟ้ามันก็จะหยุด ไม่มีการหมุน 0 รอบ เหมือนเราเปิดวิทยุแล้วปิด Volume วิทยุเราทำงานอยู่แต่แค่ไม่มีเสียง เราเร่งเครื่องเมื่อไหร่มอเตอร์เราก็หมุนเมื่อนั้น แล้วเรามีระบบเซฟด้วยเวลาจอดเพื่อความปลอดภัย เราจะมีตัว Stop ที่กดแล้วเหยียบคันเร่งอย่างไรคันเร่งก็ไม่หมุน เราจะตัดระบบทำงานของมอเตอร์ออก ระบบเซฟของเรามีเยอะมาก”


การเปลี่ยนแปลงของตัวเครื่องยนต์

แต่ต้องคงความคลาสสิค

แน่นอนว่าการแปลงโฉมเป็นรถ EV จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงตัวเครื่องยนต์ แต่ภาพรวมคุณต้นได้ระบุว่าทุกอย่างส่วนมากยังให้ความรู้สึกดั้งเดิมเกือบทั้งหมด

“ผมยกตัวเครื่องยนต์ออก แต่สายไฟในเครื่องยนต์ผมจะเก็บไว้ไม่ได้ตัดทิ้ง แล้วก็ใส่มอเตอร์ไปแทนที่เครื่องยนต์ แล้วเราก็จัดระบบสายไฟของ EV เดินสายไฟบางส่วนใหม่บ้าง แต่ระบบไฟเป็นแบบ 12v ระบบพื้นฐานรถยนต์ ส่วนไฟหน้า ไฟท้าย ไฟหรี่ ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด การ On ระบบผมก็ทำให้กลับไป On ที่ Switch กุญแจเดิมนะ ไม่ได้เปลี่ยนเป็นปุ่มกด จะใช้กุญแจสตาร์ท บิดสตาร์ทเหมือนเดิม”

พยายามคงความ Classic ของ Volkswagen ให้ได้มากที่สุด?

“นี่แหละคือจุดประสงค์ของเรา คือเราพยายามทำให้มันดีขึ้น อย่างคันสีแดงนี้ ถ้าเราไม่ติดสติกเกอร์  แล้วเราปิดกระจกวิ่ง คนก็เข้าใจว่ามันเป็นรถธรรมดา ถ้าไม่มองนะว่าท่อไอเสียหายไปไหน”


ระยะทางและการชาร์จไฟ

Volkswagen EV ของ B.P, Garage ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สเปคด้วยกัน ได้แก่ 100 กิโลเมตร, 150 กิโลเมตร, 200 กิโลเมตร และ 300 กิโลเมตร ขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมของเจ้าของรถเป็นหลัก โดยราคาจติดตั้งจะเริ่มต้นที่ 400,000 บาท พร้อมทั้งรับประกันทั้งระบบ 5 ปี สามารถเช็คระยะได้ตามปกติ อีกทั้งยังมี Memory ในระบบ Software  เพื่อบันทึกประวัติการขับขี่ด้วยเช่นกัน ส่วนการดูแลก็เแทบไม่แตกต่างจากรถยนต์ปกติทั่วไป

ส่วนการชาร์จไฟ 0 – 100% ผ่าน Adaptor ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ตอบโจทย์คนใช้ชีวิตในเมือง และการเดินทางที่ไม่ไกลมาก แต่จริง ๆ แล้วสามารถเดินทางไกลได้ แต่ต้องวางแผนดูปั๊มน้ำมันที่มีจุดบริการชาร์จไฟให้ดีเท่านั้นเอง และที่สำคัญประหยัดเงินไปได้เยอะมาก

“ผมคำนวณคร่าว ๆ นะ ผมวิ่ง 1,000 กิโลเมตร มันจะประมาณ 4-500 บาท เคยทดสอบได้ประมาณนั้น มันน่าจะกิโลเมตรละบาทกว่า ๆ ประมาณ 0.50 บาทครับ”


ความปลอดภัยของรถ VOLKSWAGEN EV

แน่นอนเมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาย่อมมักมีคำถามตามมาถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ ซึ่งทางคุณต้นกล้าการันตีเลยว่ารถที่ออกไปจาก B.P. Garage ปลอดภัยมากเพราะผ่านการทดสอบแบบละเอียดทุกคัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นเป็นปกติที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะกลัวไฟช็อต ไฟไหม้ ซึ่งบางทีมันก็มีข่าวออกมา แต่ของเราเองผ่านการทดสอบมาแล้ว เราเอารถไปวิ่งให้มันร้อน ๆ ไปวิ่งให้มัน Over Spec เพื่อหาจุดที่ต้องป้องกัน

แต่ของเราเองมีระบบ Safety มากกว่า 20 จุด คืออะไรนิดหนึ่งก็จะตัดแม้กระทั่งเราขับเร็ว ๆ ความเร่งสูง ๆ ระบบเราจะตัดเลย รถจะเหมือนเครื่องดับ แต่ภายใน 10 วินาทีจะกลับมาต่อไปต่อได้ หรือมอเตอร์ร้อน อุณหภูมิสูงก็ตัด คือมันไม่ได้เสียหาย แต่เราไป Over ในสิ่งที่เขียนโปรแกรมมาเท่านั้นเอง”


แผนพัฒนาของ B.P. GARAGE

ปัจจุบันมีรถ Volkswagen ที่เข้ามาให้ทางคุณต้นวางระบบ EV มาแล้วถึง 3-4 คัน รวมถึงกำลังจะได้ทำรถเบนซ์รุ่นเก่าอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายเช่นกัน นั่นทำให้ที่ B.P. Garage ต้องวางแผนพัฒนาการทำงานไปด้วยเสมอ

“ตอนนี้เราจะพัฒนาเรื่องระบบต่าง ๆ ในตัว EV เราจะทำงานคู่ขนานไปกับรถ EV ที่ผลิตใหม่ คือเราจะทำอะไรก็ได้ที่เขามี เราจะทำให้มีเท่า ๆ กับเขาใน Version ของ Volkswagen แต่อย่างน้อยที่สุดระบบขับเคลื่อนเราไม่แพ้เขาแน่

เพราะผมเองก็ได้มีโอกาสไป Test Drive รถใหม่หลาย ๆ คัน เราไปดูว่าเวลาขับอัตราเร่งเขาเป็นอย่างไร ดูว่าความเร็ว 100 ของคนอื่นกับเรา 100 ความรู้สึกเป็นอย่างไร? อัตราเร่งเป็นแบบไหน ?แล้วก็เอาพวกนั้นมาพัฒนารถเราให้ใกล้เคียงความจริงที่สุด ให้สุดท้ายมันมาอยู่ในรถ Volkswagen อยู่ในรถที่เราต้องการปลุกชีพเขาขึ้นมา”


ความภูมิใจของ B.P. GARAGE

“ผมถือว่าภูมิใจนะ อย่างน้อยที่สุดตอนนี้คือมีเสียงตอบรับจากลูกหลานที่พ่อแม่มีรถ Volkswagen คันแรกแล้วจอดอยู่แต่ในบ้าน พวกเขามองว่าวันนี้จะเอารถไปทำให้กลับมาวิ่งได้เหมือนเมื่อก่อน แถมยังไม่ต้องกังวลว่าแบตจะหมด หรืออะไรจะเสีย พอมันเป็น EV มันคือรถใหม่ในบอดี้เดิม เราคืนชีพด้วยการเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนเครื่องในเข้าไปแทนครับ”


สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่มีรถ Volkswagen และสนใจอยากแปลงเป็นรถ EV สามารถติดตามได้ทาง แฟนเพจ BP Garage By Ton  และทางหมายเลขโทรศัพท์ 081-829-2995 คุณต้นยินดีให้คำปรึกษากับทุกคนครับ

ขอบคุณ คุณต้น และ B.P. Garage ที่เปิดโอกาสให้เราสัมผัสประสบการณ์ความคลาสสิคในรูปแบบรถ EV ด้วยครับ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์เพิ่มเติมของ คุณต้น B.P. Garage ได้ทางแฟนเพจ Unlockmen เร็ว ๆ นี้

Photographer : Krittapas Suttikittibut

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line