Life

THE REAL : “เจ-ณัฐพล สว่างตระกูล” แห่ง CASSETTE SHOP ผู้ปลุกชีพม้วนเทปให้กลับมาโลดแล่นในวงการดนตรีอีกครั้ง

By: JEDDY January 28, 2023

หากคุณนึกถึงยุค 90’s คุณจะนึกอะไรเป็นอย่างแรก เชื่อว่าสิ่งที่ป๊อปอัพขึ้นมาในหัวแบบไว ๆ มากที่สุดของใครหลาย ๆ คนน่าจะต้องเป็นเทปอย่างแน่นอน มันคือฟอร์แมตการฟังเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงนั้น แต่แล้วเมื่อการเวลาเปลี่ยนไปเข้าสู่ช่วงยุค 2000’s ความสำคัญของเทปก็ค่อย ๆ หดหายไป จนในที่สุดมันก็ได้ตายไปจากอุตสาหกรรมดนตรี

แต่แล้วในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา กระแสของเทปก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง มีทั้งศิลปินอิสระและศิลปินมีสังกัดต่างผลิตเทปกันออกมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายคนเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเด็กรุ่นใหม่ที่แทบไม่คุ้นเคยกับมันเลย และชายผู้อยู่เบื้องหลังผู้ปลุกกระแสเทปให้กลับมา ก็มีนามว่า “เจ-ณัฐพล สว่างตระกูล”

เจ คือเจ้าของร้าน Cassette Shop ย่านประดิพัทธ์ ผู้เคยสะสมไว้หลายพันม้วน มีไลฟ์สไตล์ที่ไปไหนมาไหนต้องพกวอล์กแมน, หูฟัง, พร้อมเทปคู่ใจ 5-6 ม้วนอยู่เสมอ แถมยังเคยซื้อเทปด้วยการจ่ายเงินมากถึง 10,000 บาทภายในครั้งเดียวอีกด้วย จนสุดท้ายเขาก็ได้เปลี่ยนแพชชั่นให้กลายเป็นธุรกิจ และจากธุรกิจก็กลายเป็นการปลุกวัฒนธรรมยุค 90’s ให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เรามาทำความรู้จักเรื่องราวของเขาให้มากขึ้นกันดีกว่าครับ


สัมผัสเทปม้วนแรกของคุณพ่อ

ชีวิตวัยเด็กของทุก ๆ คนก็มักจะสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้ทุกเรื่องราวจากคนในครอบครัว ไม่ต่างจากเจที่มีความทรงจำการสัมผัสเทปม้วนแรกมาจากคุณพ่อ

“จุดเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก ๆ เลยครับ ผมโตมากับเทปเลย เกิดมาก็เห็นเครื่องเล่นเทปเลย คลุกคลีกับมันมาจนถึงมหาวิทยาลัย เราเป็นลูกคนเล็ก มีพี่ 3 คน อยู่กับคุณพ่อด้วย แล้วพวกเขาจะมีเทปของตัวเองอยู่แล้ว เราก็เลยได้ฟังเพลงหลากหลายแนว

ส่วนครั้งแรกที่หยิบมาฟังเอง จำความได้ตอนประมาณ 4-5 ขวบ เราใส่เทปในเครื่องเล่นเทปในรถของคุณพ่อ จำได้ว่าม้วนที่มีความหลังของผมคือ ปานศักดิ์ (ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล) อัลบั้ม ‘ไปทะเล’ มันเป็นอัลบั้มที่คุณพ่อชอบด้วยครับ

ส่วนม้วนแรกที่ซื้อจะเป็นไมโคร ชุดเอี่ยมอ่องอรทัย ซึ่งมันก็หายไปแล้วแหล่ะ ตอนนั้นเราเห็นจากทีวีช่วง 5-6 ขวบ จำได้ว่าซื้อตรงแผงเทปหน้าเซเว่นแถวบ้าน ไปรบเร้าพ่อให้ซื้อให้ เริ่มชุดแรกก็เพลงร็อกเลยครับ ฮ่า ๆๆๆ”


เทปมีขายทุกที่

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ประหลาดใจ แต่เด็กรุ่นเก่ามองเป็นเรื่องปกติ นั่นคือร้านขายเทป ที่สมัยก่อนมันมีแทบจะทุกซอก ทุกซอย ทุกตลาด หาง่ายไม่ต่างจากร้านขายของชำ มันบ่งบอกว่าเทปยุคนั้นขายดีขนาดไหน ซึ่งเจเองก็มีประสบการณ์สนุก ๆ ในช่วงนั้นมาเล่าให้ฟังเช่นกัน

“สมัยก่อนก็ตลกดี จริง ๆ เทปมันมีขายทั่วไปเลย ไปหน้าปากซอยก็หาซื้อได้เลย ส่วนผมจะเป็นซื้อตรงเซเว่นปากซอยแถวพระประแดง มันมีทั้งเทปปกติกับเทปผี คือช่วงม.ปลาย เราเริ่มหาเทปฝรั่งฟัง ตอนนั้นราคามันแพง ร้อยกว่าบาท เราก็ไปถามร้านปากซอยว่ามีวง X-Japan ไหม เขาก็บอกว่าไม่มีของแท้นะ มีแต่เทปผี แล้วเขาก็ยกแผงที่ซ่อนไว้ข้างใต้ออกมา วันนั้นได้มา 3 ม้วนคือ X-Japan, Blur และ Nirvana

พอหลัง ๆ ช่วงจริงจังกับการฟังเพลงฝรั่ง เราก็จะเข้าไปที่สยาม ไปซื้อที่ Tower Records เป็นร้านที่เราไปบ่อยที่สุด มันฟังฟรีได้ก่อน เคยเจอพี่เอ๋ Ebola เขาเคยเอาเทปวงสายเดธเมทัลกับแบล็กเมทัลมาป้ายยาผม พอตอนนั้นวง Ebola ออกทีวี เราก็จำได้ว่าพี่คนนี้ที่เอาเทปเมทัลมาขายเรานี่หว่า”


พฤติกรรมเฉพาะตัวของคนเล่นเทป

เด็กยุคเทปนอกจากการหยิบจับมาฟังแล้ว มันย่อมจะต้องมีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่มาคู่กันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตะเกียบหมุนเพื่อกรอเทป, การนำเทปยานไปแช่ตู้เย็นเพื่อให้สามารถกลับมาฟังได้ หรือการเอาเทปไปอัดเพลงจากวิทยุเป็นต้น ส่วนเจเองก็มีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่เราอาจจะไม่เคยทราบมาก่อน ดังนี้

“ผมก็มีนะครับกับประสบการณ์ลักษณะนี้ หนักสุดคือตอนได้ม้วนเทปของวง The Offspring มา ฟังบ่อยจนยานไปหมดแล้ว เทปยับด้วยจะทำไงดีวะ ผมก็เลยไปเอาเตารีดมารีดแต่ใช้ผ้ารอง ต้องทำมันให้เรียบให้ได้ พอมาฟังมันก็จะมีช่วงเสียงหายไปบ้าง แต่มันก็ยังฟังได้อยู่ เป็นวิธีที่คิดขึ้นเองเพราะไม่รู้จะทำยังไงดีในตอนนั้นครับ

แล้วก็เคยเอาเทปของพี่สาวไปอัดเพลงทับจากวิทยุ โดนด่ากันไป ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แลกเทปกับเพื่อนฟังกัน ตอนทำต้องอย่าให้เจ้าของเทปเขาจับได้นะครับ ฮ่า ๆๆๆ”

อีกสิ่งหนึ่งที่คนเล่นเทปชอบทำกันคือการแลกเปลี่ยนเทปกันฟัง รวมถึงอัดมาเป็นเพลย์ลิสต์ส่วนตัวเพื่อแชร์ให้เพื่อน ๆ

“ของผมช่วงที่เราฟังเพลงหนักจะเป็นช่วงม.ปลาย เราจะมีกลุ่มเพื่อนที่ฟังสายเดียวกัน หรือมีหมิ่นเหม่ฟังคล้าย ๆ กันบ้าง ผมกับแก๊งค์เพื่อนชอบทำมิกซ์เทปกันมาก ๆ คนนู้นมีเมทัล คนนู้นมีแร็ป มีบอยแบนด์ ก็เอามาแลกกันฟัง เอามาวิจารณ์กัน มีคอมเมนต์เรื่องการเรียงเพลงด้วย แบบทำไมเพลงต่อจาก X-Japan เป็น Radiohead วะ อะไรแบบนี้

มันเป็นการช่วยให้รู้จักวงเพิ่มด้วยนะครับ ตอนนั้นเราเปิดรับมาก ฟังได้ทุกแนว แนวไหนแปลก ๆ ต้องขอลองฟังหน่อย คือเราตอนนั้นเป็นเนิร์ดดนตรีด้วย จะคุยแต่เรื่องดนตรีทั้งวัน เป็นช่วงเวลาที่ฟังเพลงสนุกจริง ๆ ครับ

แล้วซื้อเทปมาก็จะดูทุกอย่างในปกเทปเลย เรามองในแง่ของความคุ้มค่าตอนได้เทปมา มันทำให้เรารู้จักวงอื่นจากเครดิตที่ศิลปินใส่ไว้ ผมรู้จัก ‘ริก วชิรปิรัน’ ตอนที่เขายังไม่เป็นศิลปินก็จากปกเทป บางทีก็มีเขียนว่าคนนี้ยืมกีตาร์มาจากใคร มีเขียนแซวกันด้วยครับ”


พราว เทปที่นักสะสมต้องมี

และประสบการณ์เลือกซื้อเพราะหน้าปก

ในยุคที่เรายังไม่สามารถทดลองฟังเพลงได้จากอินเตอร์เนต สิ่งที่ทำให้ใครหลายคนตัดสินใจซื้อเทปโดยมากก็มาจากการชมจากทีวี ฟังจากวิทยุ หรือถ้าเป็นวงที่เฉพาะทางหน่อยก็ต้องอาศัยอ่านรีวิวจากนิตยสารเอา หรือบางทีก็ต้องเสี่ยงโชคเลือกจากปกเทปแทน จะดีไม่ดีต้องมาลุ้นเอาตอนเปิดฟัง

“ผมมีตัดสินใจซื้อเทปจากปกด้วย วงนั้นก็คือพราวครับ ตอนนี้มันก็ฮิตในหมู่คนสะสมเทป แต่ตอนนั้นวงอยู่ค่ายอีสเทิร์นสกาย เป็นค่ายอินดี้ ตรงกับช่วงอัลเทอร์เนทีฟบูม ตอนนั้นเราตั้งเป้าว่าอาทิตย์นึงจะซื้อเทปซัก 2 ม้วน ก็ไปเจอปกเทปนี้มันโดดเด่นมาก เป็นสีเหลือง มีหน้าคน ก็มานั่งฟังที่บ้าน จนมาเจอเพลง ‘เธอคือความฝัน’ ทำไมมันเพราะขนาดนี้ จนผ่าน 2-3 วันไปเจอเพื่อนที่ฟังเหมือนกัน ก็มาคุยกันว่าเออเพลงนี้มันเพราะมากเลยนะ จนสุดท้ายตอนนั้นวงก็ดัง มันมาเพราะปากต่อปากด้วยครับ

“ผมเคยเจอคนมีประสบการณ์เหมือนผมที่ซื้อพราวเพราะปกเทปหลายคนมากเลยนะ และเพลง “เธอคือความฝัน” มันก็ดึงดูดทุกคนจริง ๆ เลยรู้สึกว่าอัลบั้มนี้คลาสสิคมากในการเลือกซื้อเทปจากปกครับ ตอนนี้เทปพราวมันเป็นของสะสมที่ทุกคนต้องมีครับ”

มีช่วงหนึ่งมีคนตั้งกระทู้เลยว่าทำไมเทปพราวแพง บางคนบอกว่ามีเพลงดังแต่เพลงเดียวเอง แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เพราะมันเพราะทุกเพลง มีเพลงที่ลึกมากคือ ‘เส้นทาง’ ทำให้หลัง ๆ ผมฟังแต่เพลง Side-B มากกว่าด้วยครับ

“เธอคือความฝัน” มันเป็นเพลงที่ดังหลายรอบมาก เช่นไปประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ‘Only God Forgives’ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘Happy Birthday’ กับ ‘อัลเทอร์มาจีบ’ “


เมื่อเทปหายไป

เมื่อเทปได้หายหน้าหายตาไปจากสารระบบ แน่นอนว่าคนอย่างเจจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะทางด้านความรู้สึก

“รู้สึกเคว้ง ๆ เลย ตอนนั้นเราก็ยังไม่ค่อยมีเงินเยอะ พอเป็นซีดีมันก็แพงกว่าเยอะ ก็เดือดร้อนเหมือนกัน ตอน Coldplay ออกอัลบั้ม ‘A Rush of Blood to the Head’ หาซื้อเทปยากมาก ตอนนั้นผมเรียนธรรมศาสตร์รังสิต ต้องนั่งรถมาร้านน้องท่าพระจันทร์เพื่อซื้อ พอเทปมันหายไปหมด ผมก็ต้องยอมรับมัน จนกระทั่งมายุคดาวน์โหลด

จริง ๆ แล้วมันคือเรื่องขนาดการพกพากับเครื่องเล่นวอล์กแมน ผมเคยมีเครื่องเล่นซีดีพกพานะ แต่มันใหญ่ ชอบสะดุด พกไม่ค่อยสะดวก หลัง ๆ มาพอเราเริ่มเนิร์ด ๆ เรื่องเสียง ผมก็ชอบเสน่ห์เสียงเทปมากกว่าเสียงอื่น ๆ เรารู้สึกว่ามันเจ๋งบนความไม่สมบูรณ์นั่นแหล่ะครับ

ผมมีความคิดว่าเทปมันจะกลับมาอีกรอบอยู่ตลอดเวลา ตอนแรกที่เริ่มกลับมาสะสมเทปเมื่อเกือบ ๆ 10 ปีก่อน ผมไปไล่กว้านซื้อในตลาดนัด พอเก็บไปซักระยะ เราก็เริ่มสะสมอย่างเช่น แผ่นเสียง มันทำให้เรารู้สึกว่าไวนิลกลับมาได้ เทปก็ต้องได้เหมือนกัน เราก็เลยไปศึกษาวิธีการเกิดใหม่ของแผ่นเสียงครับ”


เปิดร้านขายเทปในยุคที่เทปตาย

ธุรกิจที่เคยได้รับความนิยมในอดีต แต่ในปัจจุบันมันได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ถ้าเป็นคนปกติทั่วไปก็คงไม่มีใครยอมลงไปเสี่ยงอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่กับเจผู้ที่แพชชั่นบอกกับตัวเองดัง ๆ ว่า ‘มึงทำได้ มึงรอดแน่นอน!’

“ตอนนั้นผมสะสมเทปเยอะมาก ๆ เป็นหลายพันม้วน ก็มีรุ่นพี่คนนึงเป็นเหมือนอาจารย์เลยครับคนนี้ เขาสอนธุรกิจการสะสม การเทรดดิ้ง ไม่ใช่แค่การขายเพื่อได้เงินกลับมาอย่างเดียว มันเป็นการเทรดเพื่อได้สิ่งที่ดีกว่า อย่างเช่นคุณเคยได้เทปพราวที่ปกไม่สวย แต่วันหนึ่งคุณขายออกไป แล้วซักวันหนึ่งตัวปกสวย ๆ ก็จะกลับมาหาคุณเองจากคนอื่น  ทฤษฎีนี้พอผมเปิดร้านแล้วลองทำดูมันก็เป็นไปได้จริง ๆ 

แต่ช่วงแรกขายในอินเตอร์เนตก่อน ขายไป 2-3 เดือนก็เลยมาเปิดร้าน ความคิดผมคือต้องการเปิดเป็นร้านแบบนี้เลย ไม่ใช่แบบแผงเทปทั่ว ๆ ไป

ตอนแรกคนรอบตัวกับครอบครัวก็ไม่เข้าใจ ไม่มีใครมั่นใจว่ามันจะไปได้ เพราะมันดูได้กำไรน้อย มันจะอยู่ได้จริง ๆ หรอ แต่ผมมองว่ามันได้ แล้วพอผมได้ไปศึกษาแก่นของการสะสมจริง ๆ มันคือการให้มูลค่ากับของสิ่งนั้น บอกเล่าทุกคน ในสิ่งที่คุณคิดให้กับทุกคนได้ทราบ 

เราเป็นคนที่ชอบอธิบายอยู่แล้ว ชอบเขียนคอนเทนต์ ชอบบอกความคิดของเราให้คนอื่นฟังว่าคืออะไร ผมก็เลยคิดว่าสกิลตรงนี้ของเรามันก็น่าจะมีประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเอง สินค้าที่มันอยู่เฉย ๆ ไม่มีคนพูดถึงก็คงไม่ได้มีมูลค่าอะไร แต่พอคนพูดถึงเรื่อย ๆ มันก็กลายเป็นของมีมูลค่าขึ้นมา ถึงจะเป็นกระแสในแง่ลบก็ตาม” 


คืนชีพเทป

การเปิดร้านขายเทปอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายไปเลย หากเทียบกับการผลิตเทปใหม่ออกมาขาย มันเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความกล้าบวกกับความบ้าในการเข้าไปคุยกับศิลปิน เพื่อบิวด์ให้เขาสนุกไปกับเรา และพร้อมที่จะให้ผลิตเทปออกมาวางจำหน่าย

“อย่างแรกเลยผมคิดสูตรขึ้นมาว่าจะต้องทำเทปใหม่ขึ้นมาให้ได้ มันเป็นเรื่องยากที่สุดในตอนที่ทุกคนคิดว่าเทปมันได้ตายไปแล้ว ผมก็เลยทุ่มทั้งชีวิตกับเงินเก็บไปทำเทปใหม่ ผมไปคุยกับพี่เล็ก วงพราว กับพี่ทวน Day Tripper (Tuan Army) ถามพี่เขาว่าเอาด้วยไหม พอเขานั่งฟังก็รู้สึกว่าเออมันส์ดี ลองดูขำ ๆ ก็เลยลุยกัน

แล้วเทปนี้ก็เลยเป็นต้นแบบไว้ให้ผมไปคุยกับศิลปินคนอื่น ๆ เราวางโครงสร้างไว้เลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่เซตแรกที่ออกมาคือเจ๊ง เรารู้เลยว่าต้องเจ๊ง แต่มันก็กลายเป็นตัวเดโม่ที่เราไว้ให้ศิลปินคนอื่นดู

แล้วโรงงานที่ผมเลือกคือดีที่สุดในโลก ทำที่เดียวกับเทปของ Taylor Swift กับ The White Stripes และทุกอย่างที่ทำออกมาต้องฉีกจากเดิม ๆ เราตั้งใจให้ออกมาเป็นแบบนั้นเลย หลังจากนั้นเราก็ไปคุยกับวงรัสมี อีสานโซล กับวงอภิรมย์ แล้วก็ไล่ ๆ ไปศิลปินคนอื่น

คือตอนนี้ในไทยไม่มีเครื่องทำเทปแล้ว ต้องไปที่ต่างประเทศเท่านั้นครับ มันมีหลายประเทศนะครับ แต่ที่แคนาดาดีที่สุดเลยครับ”

มีวิธีคุยกับศิลปินคนอื่น ๆ อย่างไรให้เขาสนใจ?

“เราก็เริ่มหยิบตัวอย่างเทปไปให้ฟังก่อน เราก็คุยกับเขาเสนอให้ออกเทปมาคู่กับซีดีและแผ่นเสียง เราก็คุยทุกอย่างแม้กระทั่งตัวเลขเลย ทำยังไงไม่ให้เจ๊ง ตอนแรกเราวางการทำธุรกิจไว้แบบพรีออเดอร์ เพราะว่าเราศึกษาส่วนนี้มา เราก็มองว่ามันทำได้ ดูตัวเลขก่อนได้ แต่ยังไงก็ไม่เจ๊ง 

ช่วงแรก ๆ ศิลปินก็จะเริ่มจากความมันส์ก่อน หลังจากนั้นก็ทำตามกันมาเรื่อย ๆ เพราะมันมีให้เห็นมาตลอด แต่ก็โดนปฏิเสธบ้างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราก็มองว่าเขาอาจจะยังไม่เข้าใจตรงนี้มากกว่า ช่วงเทปกลับมาพีค ๆ จะคุยยากกว่า เพราะบางคนมองว่ามันเป็นกระแส เป็นการปั่นราคาบ้าง อะไรประมาณนี้ครับ”


เทปในมุมมองของเด็กรุ่นใหม่

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือมุมองต่อเทปของบรรดาเด็กรุ่นใหม่ที่โตไม่ทันยุครุ่งเรืองสุดขีด อะไรทำให้เด็ก ๆ ตัดสินใจเลือกซื้อเทป ลองมาดูคำตอบกันครับ

“มันมีศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ทำเทปออกมา เด็กที่เป็นแฟนเพลงก็เลยเริ่มสนใจจากตรงนั้น แล้วก็เรื่องของการพกพาด้วยที่ผมบอกไว้ว่ามันสะดวก พกไปอวดเพื่อนได้ มันก็เลยโตคู่กับวอล์กแมนด้วย เพื่อน ๆ ที่เห็นก็ตื่นเต้นกัน เพราะมันเป็นของคลาสสิคในยุคนี้ไปแล้ว

แล้วมันก็เป็นการเผยแพร่ปากต่อปากด้วย แล้วก็มีสื่อ มีภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็นเครื่องเล่นเทป พวกเราดูก็จะรู้สึกคิดถึง ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็จะต้องข้อสงสัยจนต้องไปหาคำตอบว่ามันคืออะไรวะ

ส่วนมุมมองเด็กรุ่นใหม่มองต่างจากรุ่นเรา ยุคเรา 80% คือคนฟังเพลง อีก 20% คือคนสะสม ส่วนรุ่นใหม่คนสะสม 80% ฟังเพลง 20% เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้สะสมของกันเร็ว มันเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ รู้สึกว่าเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ได้

ส่วนวอล์กแมนกับเครื่องเล่นเทปแบบใหญ่รุ่นใหม่ ๆ มีผลิตออกมาบ้าง จะไม่ใช่ของแบรนด์โดยตรง ส่วนรุ่นเก่า ๆ ก็มีทีมช่างที่ซ่อมแซมออกมาขายใหม่ อย่างที่เราก็มีเซอร์วิสตรงนี้ให้เหมือนกัน แต่คุณภาพวอล์กแมนที่ไม่ใช่แบรนด์จะแตกต่างจากรุ่นท็อป ๆ มาก ถ้าพวกรุ่นดี ๆ ใครได้ฟังน่าจะลืม Youtube หรือ Spotify ได้เลย”

“เคยมีเด็กบางคนส่งข้อความมาบอกว่า ‘ขอบคุณมากนะครับ ผมฟังเทปแล้วดีกว่ายูทูปเยอะเลย’ เราก็รู้สึกดีใจที่เขาเข้าใจในสิ่งที่เรารู้สึก โดยที่ไม่ต้องบอกเลยครับ”


แนวโน้มธุรกิจเทปในปัจจุบัน

แม้ว่ากระแสของเทปอาจจะดรอปลงไปบ้างจากช่วง 2-3 ปีก่อน แต่ที่น่าดีใจเลยคือเทปไม่น่าจะตายไปจากอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราเหมือนครั้งก่อนอีกแล้ว

“มันโตขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะมีช่วงขึ้นลงตามปกติ Stable ตอนนี้มันโตประมาณหนึ่ง แต่เมื่อ 2 ปีก่อนมันโตไวมาก ผมตอบคำถามลูกค้าทั้งคืนเลย ตอนนั้นมันตรงกับช่วงโควิดรอบแรกด้วย ตอนนี้มันยังอยู่แบบเรื่อย ๆ ไม่ได้ตาย แต่ผมคิดว่าเทปจะไม่กลับไปตายเหมือนเมื่อก่อนแล้วครับ”

มีเทปม้วนไหนของศิลปินยุคใหม่ที่หายากบ้าง?

“ก่อนหน้านี้จะเป็นเขียนไขและวานิช มันหมดไปตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกที่ขายเลย อภิรมย์คนก็หาเยอะ อิงค์ วรันธร หรือ Blackbeans คนถามเยอะมาก แต่ทั้งหมดนี้คือหมดตั้งแต่พรีออเดอร์เลยครับ ตอนเปิดไม่ยอมจองกัน ฮ่า ๆๆๆ ส่วน Bodyslam ขายได้มากสุดที่ 2,000 กว่าม้วน เดือดมากครับอันนั้น”


การดูแลรักษาเทป

“เก็บไว้ให้พ้นความร้อน เอาให้ไม่โดนแดดก็พอ เก็บได้ปกติเลย ดูเรื่องเครื่องเสียงด้วยว่าลูกยางโอเคไหม ถ้าลูกยางไม่ดีมันจะกินเทปเรา หลัก ๆ ก็มีแค่นี้ครับ ดูแลรักษาง่าย”


ความสำคัญของเทปที่มีต่อเจ

“ผมรักการฟังเพลงจากเทปมากนะ ผมรู้สึกว่ามันเป็นการใช้ความรักในการดำเนินชีวิต จนกลายมาเป็นธุรกิจ สร้างงาน ขับเคลื่อนชีวิตเราได้ ผมมองว่านี่แหล่ะความสำคัญของเทปในชีวิตของผม มันเป็นพลังที่พาเราเดินมาจนวันนี้ได้ เราเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมายืนจุดนี้ได้ครับ

ผมเรียนออกแบบมา แล้วอยากเป็นคนอยากออกแบบปกเทปมาก จนวันหนึ่งเราก็ได้ทำ ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้เหมือนกันครับ”

“แล้วผมเคยทำเทปให้โมเดิร์นด็อก อัลบั้มทินนองนอย มันทำให้ผมเข้าโรงพยาบาลเลยนะ ทางวงติดต่อมาแจ้งว่าอยากทำเทปกับเรา แล้วเขาเป็นวงโปรดของเรา แถมเป็นอัลบั้มโปรดของเราอีก มันทำให้ผมช็อกไปเลย วางหูเสร็จผมเป็นแพนิกเข้าโรงพยาบาลเลย ตัวสั่นไปหมด มันตื่นเต้นมาก ๆ ฟินกับการได้ทำชุดนี้มาก มันดีต่อใจในการทำ ถ้ามีใครบอกว่าผม Success ยัง ผมตอบได้เลยว่าเรียบร้อยแล้ว จากเทปม้วนนี้เลยครับ”


ข้อคิดทิ้งท้าย

สำหรับคนที่มีแพชชั่นแต่ยังไม่กล้าพอที่จะทำตามที่หัวใจตัวเองเรียกร้อง ลองมาฟังข้อคิดดี ๆ กันครับ

“ผมเข้าใจว่าความกลัวมันคืออะไร เช่นเรื่องการอยู่ได้หรือไม่ได้ เรื่องตัวเลข เป็นต้น แต่ผมก็อยากจะบอกว่าจุดที่ข้ามไปให้ได้คือความอดทน ผมก็เริ่มมาไม่ได้สวยงาม ผมก็เจ๊งมาก่อน แต่ผมมีความอดทน มีความเชื่อ่ว่าถ้าเราคิดดีทำดี มองคุณภาพของงานก่อน มันก็จะมีซักทางให้คุณไปได้เสมอ แต่ต้องมีความรู้ประกอบกับแพชชั่นด้วยครับ”


สำหรับใครที่สนใจอยากไปเยี่ยมชม Cassette Shop สามารถวอล์กอินไปที่ซอยประดิพัทธ์ 19 เข้าไปไม่เกิน 200 เมตรอยู่ด้านซ้ายมือ ด้านล่างมีร้านกาแฟบริการ แถมบรรยากาศยังดีมาก ๆ

ติดตาม Cassette Shop ได้ทาง Facebook และ Instagram

ทาง Unlockmen ต้องขอขอบคุณคุณเจ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองใหม่ ๆ ต่อธุรกิจเทปในปัจจุบันด้วยครับ

Photographer : Krittapas Suttikittibut

 

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line