Life

THE REAL : LUJU TATTOOER ผู้ถ่ายทอดงานศิลปะบนผิวหนังที่ใช้ความชอบมากกว่าความหมาย

By: JEDDY December 9, 2021

ศิลปะนอกจากจะถ่ายทอดออกมาจากปลายพู่กัน, ดินสอ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ได้แล้ว การใช้เข็มก็สามารถถ่ายทอดความงดงามออกมาได้เช่นกัน ซึ่งทุกคนต่างคุ้นเคยกับวิธีนี้กันเป็นอย่างดีและรู้จักกันในชื่อของ “งานสัก” แต่การถ่ายทอดมีความแตกต่างจากวิธีอื่น ๆ เพราะมีผิวหนังบนร่างกายของมนุษย์เป็นภาชนะในการรองรับ

“ภาณุพงศ์ ลู” ใช้นามปากกาในการสักว่า “LUJU.TATTOOER” (LUJU มาจากคำว่า “ลู” = นามสกุล, “จู” = จูเนียร์ เพราะเป็นน้องคนเล็ก) จบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือหนึ่งในบุคคลที่นิยมชมชอบถ่ายทอดงานศิลปะที่ตัวเองหลงใหลลงบนผิวหนังด้วยสไตล์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจกับการหยิบจับเอารูปของพืช, โครงกระดูก และสัตว์ ให้กลายมาเป็นงานสัก ทำให้ใครหลาย ๆ คนยอมควักเงินเพื่อจารึกรอยลงบนร่างกายของตัวเอง มาทำความรู้จัก LUJU ไปพร้อม ๆ กันเลยครับ


จุดเริ่มต้นการเป็นช่างสัก

“เป็นคนชอบงานสักมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วครับ ชอบรอยสักที่มันดูเล็ก ๆ เพราะตอนแรกเห็นรอยสักใหญ่ ๆ เต็มหลังแล้วรู้สึกกลัว แต่มาเริ่มสนใจอยากเป็นช่างสักจริง ๆ คือตอนเรียนอยู่ปี 2 เป็นช่วงกำลังหางานพิเศษทำแล้วบังเอิญไปเห็นพวกช่างสักทำให้เรารู้สึกสนใจ ก็เลยตัดสินใจไปซื้ออุปกรณ์มาลองสักดูครับ”

“ตอนแรกก็เริ่มฝึกจากสักลงบนหนังเทียม ต่อมาก็ได้มีโอกาสลองบนร่างกายของเพื่อน ใช้เวลาฝึกอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ตอนนั้นงานยังออกมาไม่ค่อยดีมาก เราแค่ลองเฉย ๆ ครับ”

“แล้วที่ผมหลงใหลงานสักผมว่าหนึ่งเลยคือผมชอบสีดำ เราก็รู้สึกว่าถ้าสีดำมันมาอยู่บนร่างกายเรามันคงเท่ดีนะ หรือว่าร่างกายเวลาขยับแล้วรอยสักมันเปลี่ยนไปตามร่างกาย ผมน่าจะชอบมันตรงนั้นครับ”


จากความผิดพลาดสู่ความชำนาญ

“สักช่วงแรก ๆ คือเครียดเลยครับ (หัวเราะ) เพราะมันจะมีงานที่ผิดพลาดด้วย แต่ผมโชคดีตรงที่งานที่มีปัญหามันเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเรา และเขาก็เข้าใจว่าเราเพิ่งเริ่ม ก็สามารถคุยกันได้ว่าถ้าแผลที่สักหายดีก็ค่อยเข้ามาแก้ใหม่ ส่วนตัวเราเองก็ต้องใจเย็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยครับ”

“ตอนแรกเลยผมเริ่มฝึกเองครับ แต่ว่าผมปรึกษากับรุ่นพี่ที่ชื่อฟ้าด้วย ผมปรึกษาเขาตลอด เขาสอนผมด้วย แต่ที่เหลือก็คือเราปฏิบัติเอง เรียนรู้เองไปด้วย”

“ทุกวันนี้วิธีฝึกฝน ผมจะเอาเฉพาะรูปถ่ายที่เป็นรูปถ่ายจริง ๆ หรือว่าเราเดินไปเจอ เราก็จะถ่ายรูปเก็บเป็นสต๊อก จะไม่ใช้รูปที่เป็นรูปวาด เพราะผมกลัวจะติดเรฟแล้วดึงมันมาใช้มากเกินไป ก็จะกลายเป็นว่าผมไปลอกงานของเขา เพราะว่าผมก็เคยตอนเด็ก ๆ หรือตอนมหาวิทยาลัยก็เคยทำแบบนั้นมาก่อน ก็เลยไม่อยากทำแบบนั้นอีกครับ”

“ผมน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีครับกว่าจะเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ เมื่อก่อนสักอยู่ที่บ้านเช่านักศึกษา ตอนนั้นอยู่กับเพื่อนมหาวิทยาลัยแล้วก็ใช้พื้นที่ข้างล่างเปิดเป็นร้าน แต่ก็จะมีช่วงหนึ่งที่ทำงานอยู่กับร้านรุ่นพี่ด้วยครับ”

“ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ก็น่าจะอายุประมาณ 23-27 ปีครับ มีทั้งชายและหญิงอยู่ในกรุงเทพ อาชีพก็หลากหลาย มีทุตั้งแต่หมอผ่าตัดยันนักศึกษาเลยครับ”


เอกลักษณ์และความหมายงานสักของ LUJU.TATTOOER

พวกรูปสัตว์หรือพืช คือผมโตมากับอะไรที่มันเฉพาะมาก ๆ อยู่แล้วครับ ผมโตมากับบ่อปูที่สมุทรปราการผมจะอยู่กับพวกสิงสาราสัตว์ตั้งแต่เด็ก ๆ  ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนเลยครับ ส่วนเรื่อง Anatomy ผมชอบตั้งแต่เข้าไปฝึกวาดรูปตอนมัธยม เราวาดรูปพวก Portrait หุ่นนิ่งหรือคน เราเห็นกล้ามเนื้อกับกระดูกรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ มันมีรอยโค้ง มีรอยเว้า มันสวยงามครับ แล้วตอนเรียนผมได้ Research เกี่ยวกับเรื่องผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การบำบัด บังเอิญเราไปเจอว่าเรื่องโครงกระดูกมันเป็นภาพแทนของชีวิต มันค่อนข้างน่าสนใจสำหรับผมครับ”

“แต่ตอนแรก ๆ ผมยังไม่ได้เจอเอกลักษณ์เลยนะครับ ผมพยายามหามันไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่าเหนื่อยแล้ว หาเท่าไรก็ขายงานไม่ออก แต่มาเจอช่วงทำ Thesis  ที่ทำมาเป็นหนังสือการออกแบบลายสักชื่อว่า Fusion of Living Creatures ก็คือเกี่ยวกับแมลงและพืชพันธุ์หายากมาผสมผสานกันให้เป็นลายสัก แต่ตอนนั้นเราพักจากการสักไปเลยนะครับ เราก็มานั่งวาดรูปเล่น ๆ แต่มันกลับรู้สึกว่ามันสวยดีนะไอกระดูกกับดอกไม้เนี่ย เลยลองขายดู สรุปว่าขายได้ แล้วก็ยาวเลย คนก็ทักมาถึงกระดูกกับต้นไม้เยอะเลยครับ แล้วเอกลักษณ์อีกอย่างมันคือลอยสักที่เล่นกับสรีระร่างกายมนุษย์ ผมจะชอบมากในการให้มันเลาะไปตามกล้ามเนื้อหรือไหลขึ้นมาจากแขนขึ้นมาหัวไหล่ครับ จะเป็นพวก Free form มากกว่าหรือจะเป็นพวกธรรมชาติกับสัตว์ก็จะชอบมาก แล้วกระดูก พืช สัตว์ มันเหมือนเป็นวัฏจักร เป็นธรรมชาติของโลกนี้อยู่แล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย พวกนี้มันสอดคล้องกับเรื่องนี้อยู่แล่วครับ”

“ส่วนพวกความหมายผมไม่ได้นึกถึงมันมากครับ แต่ผมนึกถึงอัตลักษณ์กับโครงสร้างของมันมากกว่า มันมีเสน่ห์ของมันตรงไหน บางอันมีเกสรที่สวยมาก ผมจะมองเป็นเรื่องของความสวยงามมากกว่าความหมายของมัน”

“ความหมายมันขึ้นอยู่กับมุมมองกับประสบการณ์ของคน ๆ นั้นมากกว่าครับ”


ผลงาน UNLOCK ตัวเองและความแตกต่างของการสักในแต่ละงาน

“งานที่ยากและ Unlock ตัวเองที่สุดจะเป็นรูปพระแม่มารีครับ ใช้สีเยอะเลย แบบเยอะจริง ๆ คือตอนนั้นเราก็ไม่มั่นใจเลยว่าตัวเราเองจะทำได้ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายมันก็ทำออกมาเสร็จ แล้วลอกออกมางานดูสวย สีสันยังสดอยู่ ก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราก็ทำได้นี่หว่า แต่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่ทำบ่อยครับ เพราะมันค่อนข้างเหนื่อยเลย (หัวเราะ) คือผมไม่ได้ชอบสีมากขนาดนั้นเพราะว่าผมขี้เกียจเปลี่ยนสีบ่อย ขี้เกียจล้างสีครับ (หัวเราะ) ผมก็เลยไม่ค่อยชอบทำงานสี ก็เลยจะรู้สึกว่าสีจะเป็นงานที่ยากกว่าครับ”

“ส่วนงานที่ใช้เวลานานที่สุด ผมเคยสักตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงห้าทุ่มเลยครับ มันเป็นงานเส้นตรง แต่ว่ามันมีลายอื่นด้วย ส่วนที่เหลืองานอื่น ๆ มันเป็นสีหรือรายละเอียดเยอะ ๆ ก็จะแบ่งเป็นสองวัน ซึ่งไม่ได้หนักมาก เราควบคุมได้ รอบละ 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้าอันที่เป็นรอบเดียวจบก็คงงานเส้นตรงครับ”

“งานที่ไวที่สุดจะเป็นพวกงานเล็ก ๆ แบบ Text หรือตัวอักษรครับ สมมติตัว A ตัวเดียว ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีก็เสร็จ ไม่น่าเกินนี้”

“ส่วนสรีระที่สักยากที่สุดผมจะมองว่าเป็นช่วงของหลัง เพราะว่ามันเมื่อยตอนแขนเรายกด้วย หรือช่วงลำตัวเราจะรู้สึกว่ามันลำบากนิดนึง ถ้าเอาที่ติดยากก็นิ้วหรือข้อกระดูกนี่แหละครับ”


อุปกรณ์การสักและการรักษาความสะอาด

“อย่างแรกคือเรา Setup แล้วก็แรปพวกอุปกรณ์สักทุกอย่าง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อเตรียมไว้ แล้วก็รอลูกค้ามา พอมาถึงให้เราคุยแบบกัน ลองแปะแบบ ดราฟท์แบบแล้วค่อยเริ่มสัก”

“อุปกรณ์อย่างแรกก็คือเครื่องสักครับ ที่เหลือก็จะเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดทั้งหลาย เช่น น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ สบู่สำหรับสัก แล้วก็พวกสีต่าง ๆ เข็มหลาย ๆ เบอร์ จริง ๆ ก็แล้วแต่คนทำงานนะครับ ถ้าเรารู้ว่าตัวเองทำงานแบบไหนได้ ชอบแบบไหน เราก็จะมีเข็มที่มันเป็นเบอร์เฉพาะของเราอยู่แล้ว เราก็จะซื้อแต่เบอร์นั้นครับ”

“ผมจะมีตู้ฆ่าเชื้อที่เอาไว้สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะ เวลาทำงานเสร็จก็จะเอาเครื่องสัก สีบ้างบางครั้ง เราจะใช้พลาสติกแรปเอาไว้ไปฆ่าเชื้อ ทุกอย่างที่มันดูจะสกปรกหรือมือเราไปโดนก็จะเอาไปฆ่าเชื้อทั้งหมด พอทำงานเสร็จก็เอาไปฆ่าเชื้อด้วยแอลกออฮอล์ด้วยปืนฆ่าเชื้อครับ”


รอยสักบนร่างกายตัวเอง

“ตอนนี้มีประมาณ 14-15 จุด มันจะเป็นลายเล็ก ๆ มากกว่าแล้วก็โยน ๆ ไปตามผิว ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่ ๆ แล้วรอยสักของผมอย่างแรกมันเอาไว้เตือนใจถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นครับ เช่น ตอนนั้นเรารู้สึกเราอยากสักเก้าอี้เพราะเรารู้สึกชอบมัน ง่าย ๆ แบบนั้น ผมรู้สึกแบบนั้นไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องมีความหมายอะไรลึกซึ้งขนาดนั้นหรอก”

“ผมเคยสักตัวเองด้วยนะครับมันจะอยู่บริเวณตรงขา แล้วก็มีตรงแขนนิดหน่อยด้วยครับ แล้วการเป็นช่างสักกับการถูกสักผมว่าความรู้สึกมันก็ต่างกัน ผมรู้สึกการไปถูกสักมันสนุกดี มันมีการพูดคุยกับช่างสักด้วยครับ”

 


การดูแลรอยสัก

“อย่างแรกเลยคือความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลครับ หลีกเลี่ยงการเอานิ้วมือไปสัมผัสกับรอยสัก ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือเป็นประจำทุกวันจะดีมาก เพราะว่าเราควรเอาคราบเลือดออกทุกครั้งเวลาเลือดมันดันขึ้นมา ทายาสมานแผลด้วย ผมแนะนำเป็นยาที่ชื่อว่า Bepanthen ครับ ส่วนที่เหลือจะชอบอันไหนก็แล้วแต่เลยครับ”


มุมมองต่อคนแอนตี้รอยสัก

“จริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยได้สนใจว่าถ้าเขาไม่ชอบแล้วเขาจะรู้สึกยังไงกับเราครับ ผมก็อาจจะสนใจแค่ตัวเองมากกว่าว่าเราชอบไหม แค่นั้นเองครับ”


เป้าหมายของ LUJU ในตอนนี้

“ถ้าอีก 5-6 ปี คงจะเป็นการไปต่างประเทศครับ ผมอยากไปลองอะไรใหม่ ๆ น่าสนุกดี เที่ยวด้วย ทำงานด้วย แต่ถ้าตอนนี้ก็คงเรื่อย ๆ มากกว่า ผมว่าผมสนุกกับการทำอยู่ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ผมอยากไปอยู่ลอนดอนด้วยครับ”


ฝากร้านและช่องทางการติดตาม

“IG : lj.tattooer ครับผม เป็นช่องทางเดียวเท่านั้นครับ ฝากติดตามด้วยครับ”

“ส่วนถ้าจะจองคิวสักสามารถจองได้ที่ไลน์แอด @lujutattooer  ครับ มีเขียนไว้อยู่แล้วในหน้าไอจีด้วย ผมจะไม่รับ Walk-in ไม่ค่อยตอบ DM ด้วยครับ เพราะ DM มันชอบไม่ข้อความขึ้นครับ”


ใครกำลังมองหารอยสักสวย ๆ แบบที่มีความเป็นมินิมัล ผลงานของ “LUJU.TATTOOER” ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนใครที่ยังคงลังเลกลัวมีปัญหากับทางบ้าน เราก็อยากจะบอกแบบพี่ตูนว่า “ชีวิตของเราใช้ซะ!”

Photographer : Krittapas Suttikittibuth

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line