Life

The Talk #LifeLongLearning : ปริญญา เวลา อายุ ไม่ใช่ตัวบอกวันหมดอายุของการเรียนรู้

By: anonymK April 4, 2019

เราเคยชินกับการเรียนในระบบ และอยู่กับไม้บรรทัดทางสังคมที่บอกว่า “ปริญญา” เป็นเครื่องยืนยันความรู้ “เวลา” เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาที่ทำให้เหนือกว่า ส่วน “ร่างกาย” ที่โรยรา สมองที่เริ่มล้าจากเลขอายุที่เพิ่มขึ้น คือเครื่องบอกความทรงภูมินั้น

แต่โลกกว้างใบนี้ยังคงมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่รู้ ชีวิตไม่ได้จบแค่ห้องเรียนและออฟฟิศที่เราต้องอยู่กับมันทุกวัน แค่ก้าวออกจากสถานที่เดิมระหว่างทางที่พบเจออาจจะเป็นห้องเรียนอีกห้องที่เรามองไม่เห็นหรือไม่เคยสังเกต เมื่อตัวเราเข้าใจเรื่องนี้ดี และมีกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้ และเก่งเรื่องพัฒนาศักยภาพอย่าง SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน จัดทอล์กเกี่ยวกับประเด็นนี้ UNLOCKMEN จึงไม่พลาดไปร่วมฟัง The Talk#LifeLongLearning หัวข้อ #TestofLife: ‘เรียนรู้’ สู่การสร้างทางเลือกชีวิตที่ไม่ยึดติดกรอบ ที่จัดขึ้นที่ The Garage ในวันที่ 27 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

สปีกเกอร์ 5 ท่านที่ได้รับเชิญมาพูดคุย มาจากต่างวัย ต่างสาขาอาชีพ ได้แก่ คุณพี – ดร. รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล (ที่ปรึกษาแก้ปัญหาการเงิน เจ้าของเพจ “มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่”) คุณพลอย – พลอยไพลิน ตั้งประภาพร (นักแสดงและเจ้าของเพจพลอยเรียนจบแล้วทำอะไรต่อ?) คุณจุ้ย – ศุ บุญเลี้ยง (ศิลปินและนักเขียน) คุณหนึ่ง – จักรวาล เสาธงยุติธรรม (นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ดนตรี) และ คุณเอ๋ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (ครีเอทีฟและนักเขียนนามปากกา “นิ้วกลม) พกประสบการณ์ส่วนตัวด้านการเรียนรู้จากหลากมุมมองมาแบ่งปัน หลายประเด็นที่เราฟังมามีพลังงานเกินกว่าจะเก็บไว้ เราจึงขอนำบางส่วนมาแบ่งปันให้ทุกคนได้รับแรงบันดาลใจไปพร้อมกับเรา

#TestofLife:’เรียนรู้’ สู่การสร้างทางเลือกชีวิตที่ไม่ยึดติดกรอบ
จุ้ย – ศุ บุญเลี้ยง

“ข้อมูลไม่ใช่ความรู้ ความรู้ไม่ใช่ปัญญา การมีปัญหา แต่ไม่มีทักษะ ก็ไม่สามารถนำเอาความรู้มาทำประโยชน์ได้”

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าแค่มีส่วนใดส่วนหนึ่งในนี้แล้วจะสร้างประโยชน์จากมันได้ แต่ความจริง “การรับรู้” เฉพาะข้อมูลดิบโดยไม่นำไปสังเคราะห์และวิเคราะห์ต่ออาจจะไม่ช่วยอะไรเลย หรือต่อให้ทำตามกระบวนการทั้งหมดนั้นแล้วแต่ยังไม่มีทักษะที่จะจัดการกับสิ่งนั้นแปลว่าเราทำอะไรต่อจากสิ่งที่รู้ไม่ได้เลย การเรียนรู้จึงไม่ควรหยุดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น

WAY OF LEARNING: วิธีเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดมี 2 ทาง ได้แก่ การเรียนรู้จากคนอื่น เช่น การไปพูดคุยกับผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ และสองคือการพึ่งพาตัวเอง นำตัวเองมาเป็นเครื่องมือที่นำความรู้ที่ได้รับนั้นมาพัฒนา

หนึ่ง – จักรวาล เสาธงยุติธรรม

“ผมคิดว่าชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะเป็นได้ วงการดนตรีนั้นแย่ลงเรื่อยๆ หลังการมีดิจิทัลเข้ามาดิสรัปวิธีการนำเสนอเพลงในรูปแบบต่าง ๆ ผมก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะเอาชนะมันโดยการฉีกแนวเพลงไปเรื่อย ๆ โดยการทดลองและลองไปเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูกเพื่อจะผลิตสิ่งใหม่ ๆ ออกมา”

ใครที่รู้ประวัติของพี่หนึ่ง – จักรวาล กันอยู่แล้วก็คงพอรู้กันดีว่าก่อนจะมาโด่งดังจาก The Mask Singer เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ทำงานกับศิลปินมากหน้าหลายตา แต่ทุกก้าวที่เติบโตและพาเขาก้าวมาถึงวันนี้ได้มาจากการขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมส่วนตัวของเขาทั้งสิ้น แม้พรสวรรค์คือภาพภายนอกที่คนอื่นเห็นและพยายามเลียนแบบ แต่พี่หนึ่งยืนยันว่าเขายังคงเป็นนักเรียนชั้นดี ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศหรือพบเสียงดนตรีอื่น ๆ เขาจะตั้งคำถามและท้าทายโจทย์ยากเหล่านั้น มันจึงกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่านักดนตรีคนอื่นเสมอ

WAY OF LEARNING: การเรียนรู้ต้องเริ่มจากความมุ่งมั่นและความพยายาม นักดนตรีไม่ได้มีดีที่อุปกรณ์แต่มาจากความพยายามและนำอุปสรรคมาผลิตสิ่งใหม่

เอ๋ – คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

“ผมทนเรียนสถาปัตย์ ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ ทำให้รู้ว่าทักษะการคิดนั้นสำคัญมาก คิดแล้วก็ลงมือทำและตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา เพื่อเราจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดถ้าเราลงมือทำจะประสบความสำเร็จไหม”

นามปากกา “นิ้วกลม” เป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์โลกโซเชียลที่มีคนติดตามมากมาย แต่เบื้องหลังการเป็นนักเขียนที่เรากล้าพูดว่าผลงานคุณภาพและเป็นมืออาชีพในวันนี้ เขาเรียนจบมาจากสายที่ตัวเองไม่ได้อยากเรียนมาก่อน

WAY OF LEARNING: การเรียนรู้สำหรับผมนั้นมีสองทาง คือ ทางหลัก กับ ข้างทาง ผมคิดว่าข้างทางนั้นก็สำคัญไม่แพ้ทางหลัก ถึงแม้ว่าผมจะเรียนทางด้านสถาปัตย์มา แต่งานอดิเรกของผมคือการอ่านหนังสือและการเข้าห้องสมุดบ่อยๆ นั้นทำให้รู้ตัวว่ารักตัวหนังสือและอยากลองเขียนหนังสือขึ้นมาจริงๆ และผมก็ทำมันสำเร็จ

พลอย – พลอยไพลิน ตั้งประภาพร

“ไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองมาก่อนเลย จนกระทั่งเรียนจบถึงได้มาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘พลอยเรียนจบแล้วทำอะไรต่อ?’ แต่เมื่อเรายังอยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่เราจึงยังไม่สามารถหาคำตอบสำหรับคำถามนี้ได้ จนมาเป็นเหตุให้อยากลองทำอะไรใหม่ๆ นอกกรอบเพื่อหาสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่”

น้องใหม่วัยใส นักแสดงและเจ้าของเพจพลอยเรียนจบแล้วทำอะไรต่อ?’ คือตัวแทนของพวกเราหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าอยากจะทำอะไรหลังจากเรียนจบ การออกเดินทางเรียนรู้อะไรหลังเรียนจบจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราสามารถค้นหาตัวเองได้ (ปริญญาไม่ได้บอกว่าเราจะเกิดแพสชั่นหรืออยากทำอะไรต่อไปในอนาคต

WAY OF LEARNING: การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้รอบตัวจริง ๆ เพราะจากการที่ได้ออกไปสัมผัสโลกไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือฟังทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำมาปรับใช้กับตัวเองให้เหมาะสมได้จริง ๆ

ดร. รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

“เชื่อว่า การเรียนรู้ เกิดจากความเชื่อ และต้องรู้จักพลิกแพลงหาช่องว่าง เติมเต็มด้วยตนเอง โดยการดูจาก คนอื่น รู้จักหาพ่อแบบแม่แบบ”

ประสบการณ์ของคนที่ล้ม โดนผลกระทบสารพัดในด้านลบแต่หยิบ Mindset นั้นมาปรับเพื่อฝ่าฟัน เรียนรู้และพลิกแพลงจากอุปสรรค เป็นสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน วันนี้โลกไม่ต้องการ perfectionist เราดำเนินชีวิตแบบเป็นแพทเทิร์นไม่ได้ ดังนั้น อุปสรรคเลยเข้ามาสอนให้เราสร้างสรรค์เพื่อฝ่าฟันสถานการณ์นี้ อีกทั้งการมีหลักเพื่อเรียนรู้ด้วยการนำสิ่งที่คนอื่นทำมาเป็นต้นแบบก็เพิ่มพูนความคิดให้เราได้

WAY OF LEARNING: ผมมีคติประจำใจ คือ การทำก่อนแล้วค่อยถาม เลิกตั้งคำถามกับตัวเองว่าในการใช้ชีวิตว่าจะต้องพึ่งใครเพราะจริงๆ แล้วตัวเราสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่จำเป้นต้องพึ่งใคร สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องหาสูตรสำเร็จให้ชีวิตโดยการเลิกตั้งคำถามเพราะถ้าเราสงสัยในตัวเองเราก็จะไม่กล้าลงมือทำ รอลองให้รู้ก่อนและถ้ามันทำไม่ได้จริงๆ ก็ให้หาทางออกอื่น

นี่คือตัวอย่างของการเรียนรู้ที่ไม่มีวันหมดอายุ หากใครที่อยู่ในโลกที่ดิสรัปต์แล้วอยากหาความรู้เพิ่มเติม แต่ยังไม่รู้หลักสูตรว่าควรเลือกเรียนอะไร สามารถเฟ้นหาหลักสูตรที่ต้องการได้จาก SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ได้ เพราะตอนนี้เขาจัดให้หลักสูตรให้คุ้มยิ่งขึ้น ราคา 10,000 บาทต่อปี

ใครที่สนใจรายละเอียดการเรียนนอกกรอบสามารถเข้าไปติดตามต่อได้ที่ YournextU

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line