GADGETs

ชั่วโมงบินแห่งความเที่ยงตรงของ TISSOT กับหน้าที่ OFFICIAL TIMEKEEPER ใน ASIAN GAMES 2018

By: PEERAWIT September 12, 2018

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับมหกรรมกีฬาสำหรับชาวเอเชีย 18th Asian Games Jakarta Palembang 2018 หรือ กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่กรุงจาการ์ตา และเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย ที่แข่งขันกันไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม – 2 กันยายนที่ผ่านมา ทีมงาน UNLOCKMEN ขอแสดงความชื่นชม และให้กำลังใจนักกีฬาทีมชาติไทย ที่สามารถช่วยกันคว้ามาได้ 11 เหรียญทอง 16 เหรียญเงิน 46 เหรียญทองแดง จบที่อันดับ 12 ของตารางเหรียญรางวัลรวม

ภาพจาก ADEK BERRY / AFP PHOTO

นอกจากผลงานของนักกีฬาไทยแล้ว ในเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดนี้ยังมีเรื่องที่น่ายินดีของชาวเอเชียด้วยกันก็คือ มีการทำลายสถิติโลกถึง 5 รายการ และทาบสถิติโลกอีก 1 รายการ โดยทีมยิงธนูจากเกาหลีใต้สามารถทำลายสถิติโลกได้ 2 อีเวนต์ ส่วนนักยิงเป้าบินทีมชาติไต้หวันก็สามารถทำลายสถิติโลกในประเภท Trap ทีมผสม ขณะที่ Yang K. จากไต้หวันก็ยิงได้ทาบสถิติโลกที่ 48 คะแนนในรอบชิงชนะเลิศ ประเภท Trap ชายเดี่ยว ด้าน Liu Xiang นักว่ายน้ำจากจีนก็ทำลายสถิติโลกในประเภทกรรเชียง 50 เมตรหญิง และ Sohrab Moradi นักยกเหล็กจากอิหร่านก็บันทึกสถิติโลกในการแข่งขันยกน้ำหนักได้อีกด้วย

 

Timing is Critical

ภาพจาก Allsport Co./Getty Images)

สถิติเหล่านี้ที่กล่าวไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือสกอร์ ต่างได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เห็นถึงขีดจำกัดสูงสุดของมนุษย์ที่มีต่อกิจกรรมทางกีฬาแต่ละประเภท แต่ละอีเวนต์ และแต่ละมหกรรมการแข่งขันบนโลกนี้ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่นักกีฬาแต่ละคนอยากจะฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อปลดล็อกศักยภาพของตัวเองออกมาให้ถึงที่สุดในการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้เหมือนรางวัลแห่งเกียรติยศที่นักสู้แต่ละคนได้ทุ่มเทเต็มสูบ เพราะฉะนั้นการบันทึกทุกตัวเลขในการแข่งขันจึงต้องแม่นยำให้ถึงที่สุด คงจะเป็นเรื่องน่าเสียใจมากสำหรับนักกีฬาและกองเชียร์ หากความคลาดเคลื่อนเรื่องสถิตินั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกตัวเลขที่มีความหมายเหล่านี้

ภาพจาก Allsport Co./Getty Images)

เพราะการจับเวลา และการบันทึกสกอร์ที่เที่ยงตรงแม่นยำเป็นสิ่งที่วงการกีฬาต้องการมากที่สุด มหกรรมการแข่งขันกีฬาจึงต้องการมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยดูแลในเรื่องนี้ การจะได้เป็น Official Timekeeper นั้นไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ  ต้องมีทั้งความพร้อมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่โชกโชนจากทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ จนได้รับความเชื่อถือ และแบรนด์ที่ได้รับหน้าที่นี้บ่อยจนเราคุ้นเคยก็คือ TISSOT (ทิสโซต์) แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ ที่โดดเด่นในเรื่องประวัติศาสตร์ ดีไซน์ นวัตกรรม และความคุ้มค่ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1853 ซึ่งในเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดนี้ก็ได้ทำหน้าที่ Official Timekeeper อีกครั้ง

 

Tissot and Sports

ภาพจาก Yifan Ding/Getty Images)

เรื่องราวของ Tissot กับวงการกีฬานั้นเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1938 ผ่านการเป็น Official Timekeeping มามากมายทั้งบาสเกตบอล NBA และรายการของ FIBA จักรยานทางไกลรายการใหญ่ที่สุดอย่าง Tour de France และรายการของ UCI World Cycling Championships ส่วนใครที่แฟนกีฬาความเร็วระดับโลกอย่างมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก MotoGP และ FIM World Superbike Championship ก็จะได้เห็นโลโก้ Tissot จนคุ้นตา ขณะที่อีเวนต์กีฬาอื่น ๆ ที่เด่น ๆ อย่าง รักบี้ 6 Nations Championship, TOP14 และ European Rugby Champions and Challenge Cups รวมถึงฟันดาบชิงแชมป์โลก, ฮอกกี่น้ำแข็ง และเทเบิลเทนนิสก็ยังใช้ระบบยับเวลา บันทึกสกอร์ และฐานข้อมูลจากแบรนด์นาฬิกาสวิสนี้

ภาพจาก Allsport Co./Getty Images)

ส่วนมหกรรมกีฬาระดับทวีปที่ Tissot เป็น Official Timekeeping ก็มีอย่าง Universiades หรือ กีฬามหาวิทยาลัยโลกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว ปี 2013, Pan American Games ที่ริโอ เด จาเนโร เมื่อปี 2007 และเอเชียนเกมส์ 1998, 2002, 2006, 2014 และ 2018 โดยในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 นี้  Tissot ใช้ทีมงาน 380 คน และอุปกรณ์หนักรวม 380 ตันในการดูแลกีฬา 40 ชนิด 460 อีเวนต์

 

Timekeeping Technology and Innovation

ภากจาก Yifan Ding/Getty Images)

การจับเวลา การบันทึกคะแนน และสถิติต่าง ๆ ในกีฬาสมัยใหม่นั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการวิเคราะห์ และวางแผนต่าง ๆ สำหรับโค้ช, นักกีฬา, ผู้บรรยาย และสื่อมวลชน ส่วนแฟนกีฬาเองก็ต้องได้รับอรรถรสสูงสุด การพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการรวบรวมตัวเลขและข้อมูลที่ซับซ้อน เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้อย่างทั่วถึงจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าผู้ชมจะชมเกมการแข่งขันผ่านทางหน้าจอทีวี หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ อยู่ในสเตเดียม หรือติดขอบลู่ ก็มีสิทธิที่จะได้รู้รายละเอียดทั้งเวลา สกอร์ และข้อมูลสถิติต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่ง Swatch GroupSwiss Timing และ Tissot ร่วมกันพัฒนาระบบนี้เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกคนในวงการกีฬา

Tissit T-Touch Expert Solar Asian Games 2018

Tissot Chrono XL Classic Asian Games 2018

ส่วนระบบการจับเวลาการแข่งขันของ Tissot นั้น มีคุณภาพทัดเทียมกับเรือนเวลาของ Tissot จึงเชื่อถือในความเที่ยงตรงแม่นยำได้เลย ด้วยมาตรฐานนาฬิกา Swiss Made ที่ผลิตออกมาจำหน่ายเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนาฬิกา และระบบจับเวลาการแข่งขันของ Tissot จึงได้รับความไว้วางใจ และด้วยความที่เป็นพาร์ตเนอร์กับวงการกีฬาที่หลากหลาย นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์แบรนด์นี้จึงได้ร่วมงานกับยอดนักกีฬาอย่าง Tony Parker นักบาสเกตบอลชื่อดังจากทีม Charlotte Hornets ในศึก NBA รวมถึงสองยอดนักบิดแห่งยุคอย่าง Marc Marquez และ Jorge Lorenzo 

 

Multi-Sport events

ภาพจาก Yifan Ding/Getty Images)

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการทำหน้าที่เป็น Official Timekeeping ก็คือการดูแลมหกรรมกีฬาที่มีหลายชนิด และหลายอีเวนต์ ซึ่งการจับเวลา รวบรวมสถิติเวลา และข้อมูลต่าง ๆ นั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปตามกติกา แค่คิดว่าทีมงานของ Tissot จะต้องเจอกับการทำหน้าที่ที่พลาดไม่ได้ในกีฬาอย่างกรีฑา, ว่ายน้ำ, มวยสากล, จักรยาน, ศิลปะการป้องกันตัว, เทเบิลเทนนิส, รักบี้ ฯลฯ พร้อมกันก็ท้าทายมาก ๆ แล้ว ยิ่งในเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดยิ่งเห็นได้ชัดด้วยตาตัวเองว่ามันไม่ง่ายเลย แต่พวกเขาก็เอาอยู่

การจับและบันทึกเวลารวมถึงข้อมูลการแข่งขัน 20-25 อีเวนต์พร้อม ๆ กันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง งานกีฬาสเกลใหญ่แบบนี้ต้องใช้ทักษะ และการบริหารงานที่ดี รวมถึงการเตรียมตัวล่วงหน้าให้พร้อมที่สุด และเริ่มงานก่อนใคร

 

Preparation

ภาพจาก Lintao Zhang/Getty Images)

สำหรับเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย ทีมงาน Official Timekeeping ได้เข้าไปเริ่มงานก่อนการแข่งขันประมาณ 1 เดือน เริ่มจากการสำรวจสถานที่ และสนามแข่งขัน มีการวางแผนงานร่วมกับผู้จัดการแข่งขัน ต้องดูแลการขนส่งทีมงานและอุปกรณ์ให้ดี รวมถึงวางระบบเน็ตเวิร์กให้สมบูรณ์ สามารถจัดการกับข้อมูลได้จากทุกที่ แม้จะอยู่กันคนละสนามแข่งขัน

ภาพจาก Yifan Ding/Getty Images)

โดยในมหกรรมกีฬาสำหรับชาวเอเชียครั้งล่าสุด Tissot ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางเทคโนโลยี เพื่อให้ทีมงานได้ควบคุมระบบและมอนิเตอร์ทุกสนามได้จากส่วนกลาง แต่ก็ยังมีสิ่งที่ท้าทายมาก ๆ ก็คือการจัดการฐานข้อมูลที่หลากหลายของแต่ละชนิดกีฬา แม้ว่าบางอีเวนต์จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ความแตกต่างทางกติกาเพียงเล็กน้อยแต่ก่อให้เกิดความต่างของข้อมูลได้มากมาย จึงไม่มีวิธีการจัดการที่ตายตัว ยกตัวอย่างเช่น กีฬาอย่างบาสเกตบอลจะเน้นที่ข้อมูลเกี่ยวกับสกอร์ และเวลาการแข่งขัน ขณะที่กรีฑาประเภทลู่จะเน้นที่การจังเวลา และอันดับเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่ต่างกัน การประสานงานและการขนส่งก็ยิ่งมีความสำคัญไปใหญ่ 

ภาพจาก Robertus Pudyanto/Getty Images)

อย่างไรก็ตาม ในการบริหารจัดการในฐานะ Official Timekeeping ในมหกรรมกีฬาใหญ่ที่สุดของเอเชียจะมีความซับซ้อนและหลากหลายเช่นนี้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ปรัชญาเดียวกัน ก็คือการับประกันในความเที่ยงตรงแม่นยำทั้งการเรื่องเวลาและคะแนนการแข่งขันเพื่อให้นักกีฬาทุกคนไม่เสียหยาดเหงื่อฟรี ๆ  พวกเขาต่างเสียสละหลายสิ่งมากมายกว่าจะมาถึงเส้นชัย สมควรได้รับความชอบธรรมในการแข่งขันสูงสุด สิ่งที่เราเห็นบนลู่แค่ 10 วินาทีนั้นเต็มไปด้วยเบื้องหลังหลายเดือนหลายปี เพราะฉะนั้นความผิดพลาดของ Official Timekeeping ต้องมีค่าเป็น 0 เสมอ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือมาสู่เกมการแข่งขันของมนุษยชาติ รวมถึงจดบันทึกตัวเลขแห่งประวัติศาสตร์ในสนามแข่งขันบนโลกนี้  

เรามิอาจย้อนเวลาได้ แต่เราสามารถบันทึกมันไว้ได้ตลอดกาล…

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line