Business

UNLOCK CORP: ความล้มเหลวสม่ำเสมอสร้างหนึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืน

By: anonymK November 11, 2019

ผ่านมาเป็นเดือนแล้ว ประโยคจากช่วงเสี้ยวของการสนทนาของเรากับรุ่นพี่ที่รู้สึกชื่นชมยังทำงานอยู่ในหัวของเราไม่หยุด

“ผมไม่ได้เก่งกว่า ไม่ได้ทำอะไรต่างจากคนอื่น แต่คนอื่นเขาไม่ทำกันต่างหาก”

นี่คือคำตอบที่พูดออกมาจากปากเขาง่าย ๆ ไม่ได้เข้าใจยากเย็นอะไร แต่แค่ประโยคเดียวมันมีพลังมากเสียจนเข้าใจว่า เบื้องหลังการเติบโตและความสำเร็จที่เขาสร้าง เกิดจากการให้คุณค่ากับส่ิงที่ไม่มีใครมองเห็นรีเทิร์นกลับมา และการมีเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า “ความล้มเหลว” โดยไม่รังเกียจมัน

บทความนี้ไม่ขอเปิดเผยเจ้าของแรงบันดาลใจ แต่อยากนำแกนที่เขาใช้มาอธิบายควบคู่กับ case study ขององค์กรที่มีหัวใจเดียวกัน องค์กรที่ “อุปสรรค” ไม่เคยทำให้พวกเขาต้องคว้าความน้ำเหลวจากสิ่งที่ตั้งใจ

Keyman ที่เชื่อสิ่งที่ทำ มากกว่าความล้มเหลว

องค์กรที่แข็งแรงสร้างขึ้นจากเสาหลักที่แข็งแรง แม้เงินจะสำคัญมากในยุคนี้ แต่ถ้าลองไปนั่งสังเกตให้ดี สิ่งที่ทำให้องค์กรทุกวันนี้ยังเหลือพนักงานหน้าเดิมที่พร้อมจะทำงานให้ ต่อให้เงินเดือนจะขึ้นเท่าเศษผงพนักงานก็ยังภักดี เรื่องนั้นมักมาจากศรัทธาที่ซ่อนอยู่ขององค์กร

วันนี้ศรัทธากำลังเป็นของที่คุณหาซื้อไม่ได้ ศรัทธาคือสิ่งที่ทำให้สตาร์ตอัปหน้าใหม่กล้าสู้องค์กรบิ๊ก ๆ ทุนหนา พวกเขาไม่ได้มีเงินเยอะ แต่ผู้นำและคีย์แมนขององค์กรเขามีพลังเยอะ มีวิสัยทัศน์ชัดที่รู้ว่าองค์กรจะโตได้อย่างไร และมีพลังใจที่แข็งแรงมากพอจะส่งต่อภาพความสำเร็จที่ยังไม่เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันและก้าวเดินไปพร้อมกัน

“เขารู้ว่าเขากำลังทำเพื่ออะไร และทำให้ทีมรู้ว่ากำลังทำเพื่ออะไร”

 

จำนวนครั้งไม่เคยสูญเปล่า

ระยะทางพิสูจน์อะไรหลายอย่าง แม้วันนี้เราจะมีเครื่องไม้เครื่องมือหลายตัวช่วยให้เติบโตได้เร็วขึ้น แต่คนและองค์กรที่ประสบความสำเร็จไม่ได้พึ่งเครื่องมือทั้งหมด ไม่อาศัยโชค แต่ใช้ความสม่ำเสมอสร้างมันขึ้นมา

ยกตัวอย่างสิ่งที่เราได้ยินมาจากพอตแคสต์การลงทุนที่เปิดฟังวันนี้ เมื่อคุณเบส กิตติศักดิ์ โภคา จากเพจลงทุนศาสตร์ หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงินการลงทุนพูดถึงสิ่งที่เขาทำ เขาบอกว่าอินฟลูเอนเซอร์หลายคนที่มีโอกาสพูดคุยด้วยรวมถึงตัวเขาเอง ไม่มีทางรู้หรอกว่าคอนเทนต์ไหนที่เขียนออกไปจะกลายเป็นไวรัล แต่ความสม่ำเสมอจะสร้างตัวเลขน่าจะเป็นให้เกิดขึ้นเสมอ ถ้าเขาเขียนมันมากพอ

“ลงทุนศาสตร์” คือเพจการลงทุนที่เจ้าของเพจจบด้านเภสัชศาสตร์ ไม่เคยลงทุน แต่ใช้เวลาศึกษา อ่านหนังสือนับ 100 เล่ม และเขียนเพื่อแชร์เรื่องราวการลงทุนที่เขาสนใจส่งต่อเป็นเรื่องเล่าง่าย ๆ จนวันนี้เขากลายเป็นกูรูที่มีคนติดตามถึงเก้าหมื่นคน

อะไรที่ทำให้หมอยา กลายเป็นหมอการเงินที่คนเชื่อถือเขามากขนาดนั้น ? เหตุผลมันอยู่ที่จำนวนและความมุ่งมั่น เขาอธิบายกระบวนการทำงานของเขากับความไวรัลไว้ว่า มันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มีความน่าจะเป็นในนั้นที่เขาเชื่อ เขากล่าวว่าถ้าโอกาสคือ 1 ใน 100 แล้วเขาเขียนไป 100 ครั้ง เขาจะพบกับความสำเร็จที่มันจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ในนั้นอย่างน้อย 1 ครั้ง

มันอาจจะเกิดขึ้นครั้งแรกจากจำนวน 100 ครั้ง เราอาจต้องทนกับความล้มเหลวอีก 99 ครั้งจนกว่าจะเจอโอกาสดี ๆ ครั้งต่อไป แต่มันยังคุ้มที่ทำให้เขาทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่หยุด

แนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับนักวิจัยและสตาร์ตอัปหน้าใหม่ พวกเขาต้องเผชิญกับความล้มเหลว แต่สมมติฐานกับการทดลองที่เพิ่มขึ้นมันแปลว่าเขาได้เข้าใกล้หนทางความสำเร็จเพิ่มขึ้นแล้วเช่นกัน

 

เรียนรู้จากความผิดพลาดและสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่า

บางคนชอบแย้งด้วยเหตุผลกำปั้นทุบดินว่าก็ทำแบบเดิมมาซ้ำ ๆ นะ แต่ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นเลย อันนั้นต้องหันไปดูว่าทุกครั้งที่เราทำ เราพยายามทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยไหม ทุกองค์กรถ้าจะโตได้ต้องรู้จักเรียนรู้ข้อผิดพลาดเพื่อพัฒนาตัวเอง และหาทางจัดการกับปัญหาเก่า ๆ ที่เกิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ถ้ามัวแต่อิงว่าความคิดของตัวเองดีแล้วโดยไม่หาหนทางจัดการ ต่อให้เป็นโปรเจกต์ดีแค่ไหน สุดท้ายมันอาจจะเจอกับความวินาศได้

“อ่านหนังสือเล่มเดิมตอบจบก็เหมือนเดิม แต่ถ้าพลิกมุมมองระหว่างอ่านได้ ถึงจบแบบเดิมก็ไม่มีวันเหมือนเดิม”

เรายกตัวอย่างหนึ่งองค์กรที่คนไทยน่าจะรู้จักทุกคนอย่างมูลนิธิกระจกเงา หลายคนเคยเข้าร่วมโครงการแบ่งปันของเขาจากการส่งของไปบริจาคแล้ว แต่เคยรู้ไหมว่า 11 ปีที่แล้วตอนเริ่มต้นโครงการมันล้มเหลวมากก่อน

คุณสฤษดิ์ ถิรชาญชัย เจ้าของโครงการแบ่งปัน แชร์เรื่องราวนี้ไว้ใน Talk of the Cloud 04 : Motivators for Sustainability ว่าตอนที่เขารับบริจาคของ ความตั้งใจดีนั้นทำให้เขาต้องเจอปัญหา เพราะของที่รับมาจากทุกสารทิศ ทั้งหมด 100% ใช้ได้สัก 30% เป็นขยะไปเสีย 70% จนจากที่จะช่วยผู้ประสบภัยเขาต้องกลายเป็นคนประสบภัยเสียเอง

Credit: เพจโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิกระจกเงา

หลังจากนั้นเขาจึงเรียนรู้การทำ CSR เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ใช้วิธีคัดแยกและหาเส้นทางส่งต่อข้าวของทั้งหมดให้ไปต่อได้อย่างถูกต้อง แถมยังสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้โดยทำเป็น Charity Shop ให้ผู้มีรายได้น้อยมาเลือกซื้อได้ในราคาย่อมเยา ผู้ซื้อยังได้รับการปันผลจากเงินที่จ่ายอีก 5% ด้วย ซื้อแล้วของไปถึงมือและส่งเสริมการออมไปในตัว จนวันนี้กระจกเงากลายเป็นองค์กรที่ใช้แนวคิดแบบ Zero Waste สร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างน่าชื่นชม

ทั้งหมดนี้เป็น 3 ปัจจัยของการสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ที่ระดับบุคคลก็เอาไปใช้สำหรับพัฒนาตนเองได้ ถึงเวลาหันมาสำรวจตัวเองแล้วว่า อะไรที่เราทำอยู่ตอนนี้ เหมาะจะเป็นสิ่งที่เราควรจะทำต่อไปไหม ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ดีหรือเปล่า ถ้ายังหนักแน่นในคำตอบ “อุปสรรค” จะเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่เราที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป…ยินดีด้วย ความสำเร็จที่คุณรอมันอยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line