Business

UNLOCK CORP: ‘โชคดีที่เรียนไม่เก่ง’ หลักบริหารความสำเร็จของ ‘ฟาร์มโชคชัย’ ในมือ ‘โชค บูลกุล’

By: anonymK December 27, 2019

อาจเพราะช่วงนี้ได้ยินชื่อของ “โชค บูลกุล” บ่อยในโซเชียล ไม่ว่าด้วยความบังเอิญ หรือ AI จัดสรร ทำให้พอวันนี้จะเขียนเรื่อง Unlock Corp เราก็คิดถึงธุรกิจของเขาขึ้นมาทันที เพราะเรื่องราวการบริหารกับเหตุการณ์ที่เขาต้องเจอจัดว่าเป็นวิกฤตที่หลายคนยังคงจดจำได้และฮาร์ดคอร์ทีเดียว

Image: Farmchokchai Facebook

ธุรกิจของฟาร์มโชคชัยเป็น Case Study ที่น่าสนใจ ยิ่งวันที่อยู่ในมือของ “โชค บูลกุล” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องยอมรับว่าหลายเรื่องน่าทึ่งและไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาแบบเดียวกับเขา ใช้วิธีปลดหนี้ 500 ล้านจากการแบ่งขายธุรกิจบางส่วนที่เป็นหน้าเป็นตาในวันนั้น กรีดหัวใจและความเชื่อมั่นจากคนในและคนนอกที่มองมา เวลานั้นคงไม่มีใครคิดว่าฟาร์มโชคชัยที่กำลังดิ่ง ๆ จะฟื้นกลับมาหน้าตาหล่อเหลา มีเงินสดไหลเวียนธุรกิจได้ในระดับพันล้านเหมือนวันนี้

 

2537 ฟาร์มโชคชัยไม่ใช่เจ้าของแบรนด์นมสดที่ชื่อ​ฟาร์มโชคชัย

 

ดร. โชคชัย บูลกุล คือผู้บุกเบิกฟาร์มโชคชัย เขาเครซี่คาวบอยและฝันอยากเป็นสัตวบาลมาแต่ไหนแต่ไรจนวันหนึ่งลุกมาทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ทำเกษตรผสมผสานในโคราชบนเนื้อที่ขนาด 250 ไร่ จากอดีตจนถึงตอนนี้ถ้าถามหาเรื่อง “ตำนานคาวบอย” ในประเทศไทย ชื่อของเขายังคงเป็นชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึง

ส่วน “โชค บูลกุล” ผู้บริหารคนปัจจุบันเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเขา สายเลือดของการเป็นสัตวบาลที่ยังเข้มข้นทำให้เขาเลือกเรียนด้านปศุสัตว์ ไม่ได้เรียนด้านการบริหารธุรกิจ แต่เพราะความแตกต่างนี้นี่แหละที่ทำให้มุมมองการทำธุรกิจและแก้ปัญหาของเขาแตกต่างจากคนอื่น รวมทั้งเทคนิคที่เรามองว่ามันคือหัวใจสำคัญของการทำงานสไตล์เขาที่มักให้สัมภาษณ์ทุกสื่อจนเป็นคำติดปากว่า “ผมเรียนไม่เก่ง” ความไม่เก่งจึงเป็นกุญแจไขหลาย ๆ ปัญหาที่เขาพบเจอได้พอดี

นี่คือเส้นทางการเติบโตของธุรกิจฟาร์มโชคชัยก่อนวันที่เขาจะเดินทางกลับมารับตำแหน่ง ไล่เรียงจะรู้ว่าเจอหลุมเจอตอเป็นระยะ จนต้องปรับไปนับไม่ถ้วนในรอบ 30 ปี ก่อนเปลี่ยนมือในปีที่ 37

  • 2500: โชคชัย บูลกุล (พ่อ) ก่อตั้งฟาร์มโชคชัย
  • 2508: ก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างในนาม บริษัทโชคชัยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทโชคชัยเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด
  • 2512: บุกเบิกกิจการฟาร์มโคเนื้อ
  • 2514: ก่อตั้งภัตตาคาร ‘โชคชัยสเต็กเฮ้าส์’
  • 2519: พบวิกฤตการส่งออกจากหลายปัจจัยจึงผันจากกิจการโคเนื้อเข้าสู่ธุรกิจ “โคนม” แทน
  • 2528: สร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและแบรนด์นมสดตรา “ฟาร์มโชคชัย”
  • 2535-2539: พบวิกฤตการตลาดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมปี 2535 จนก่อหน้ีสินกว่า 500 ล้านบาท จึงต้องตัดขายธุรกิจนมพร้อมดื่นตราฟาร์มโชคชัยไปในปี 2537 แต่ธุรกิจหลักอย่างฟาร์มโคนมยังคงอยู่ เวลานี้ “โชค บูลกุล” ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศได้เข้ามารับตำแหน่งและปฏิรูประบบการจัดการ

ถ้าลองนึกตามว่าปีที่โชคกลับมา บ้านเป็นหนี้ไปแล้ว 500 ล้าน การจัดการเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายของบัณฑิตจบใหม่เลย เพราะชีวิตเริ่มจากติดลบ วันนั้นเขาและผู้ใหญ่จึงร่วมกันตัดสินใจขายธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่ใช้ชื่อ “ฟาร์มโชคชัย” ออกไป ถึงตอนนั้นถ้าเทียบกับตลาดนมสดพร้อมดื่ม ชื่อของนมแบรนด์ฟาร์มโชคชัยอาจจะไม่ได้เป็นลำดับแรก ๆ ในใจผู้บริโภคชาวไทย แต่มันก็เป็นซิกเนเจอร์แบรนด์ที่ทำให้คนจำฟาร์มโชคชัยได้

การขายสิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ เพื่อกอบกู้ธุรกิจ เพื่อปลดหนี้ แทนการตัดสินใจทู่ซี้กู้ยืมเงินมาเพื่อขยายธุรกิจ และเริ่มปฏิรูประบบการทำงานในสไตล์ตัวเองโดยใช้ความเข้าใจและมองมันอย่างรอบด้าน ไม่ได้บริหารเฉพาะด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียวแต่เห็นภาพรวมด้านอื่น ๆ ก่อให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืน

Image: Farmchokchai Facebook

วันนี้ฟาร์มโชคชัยมากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า มีสินค้าแบรนด์ใหม่ชื่อ Umm…Milk รวมทั้งมีที่พักภายในให้คนสามารถเข้ามาได้ตลอด ครบวงจร เรียกชื่อเสียงให้กลับมาโด่งดังได้อีกครั้ง

 

รูปแบบการบริหารจากคนเรียน “ไม่เก่ง”

“ผมโชคดีที่ผมไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง เพราะฉะนั้นเลยไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรเลยสักอย่าง ทุกอย่างเกิดจากการสังเกตและประเมินผลด้วยประสบการณ์และสติปัญญา ได้เปรียบตรงที่เรามองโลกเป็น 360 องศา”

มองธุรกิจแบบ 360 องศา เห็นเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องเงินทอง นี่คือข้อได้เปรียบที่ทำให้โชคสามารถเรียกศรัทธาจากพนักงานเดิมและคนทั่วไปได้เมื่อหพบกับสภาพวิกฤต เขายังคงเป็นนักบริหารที่ไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ประสบการณ์สอนและสติปัญญาสอนว่าเขาจะไม่ใช้ความอินดี้กับการบริหารเช่นกัน

Image: Farmchokchai Facebook

เรื่องแรกคือจิตสำนึกการทำธุรกิจ ด้วยความที่เขาไม่ใช่นักบริหารที่คิดถึงผลกำไรเป็นที่ตั้ง แต่คิดยาวไปถึงจิตสำนึกและการรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ ฟาร์มเลี้ยงวัว สำหรับคนอื่นอาจจะหมายถึงการทำปศุสัตว์ธรรมชาติที่สร้างแหล่งอาหาร อยู่ร่วมกับธรรมชาติมันก็เป็นเรื่องดี แต่ในสายตาของโชค เขามองว่าตัวเองคือหนึ่งในตัวการของการปล่อยคาร์บอนฯ วัวกินอะไรเข้าไปก็ปล่อยคาร์บอนฯออกมา เขาจึงพาเกษตรกรไปปลูกต้นไม้ในฟาร์มจนเกิดเป็นพื้นที่ป่าและการปลูกป่าหลายพันไร่ในฟาร์มตั้งใจมีเพื่อชดเชยออกซิเจนนั้น

จริง ๆ แล้วทุกคนจะต้องกลับไปรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองกระทำ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องปลูกป่าเหมือนที่ผมทำ

นอกจากจิตสำนึกเรื่องความรับผิดชอบจะออกมาในรูปแบบป่าแล้ว โชคยังแทรกมันไว้ในธุรกิจของตัวเองเพื่อให้คนที่มาเยี่ยมชม “ฟาร์มโชคชัย” ซึมซับมันกลับไปด้วย เขาออกแบบ Compasionate Tour ให้คนใกล้ชิดกับสัตว์ เรียนรู้อารมณ์ของม้าและสุนัขที่มีในฟาร์ม ว่าแบบไหนคือสิ่งที่สัตว์เหล่านี้ชอบ อาการแบบไหนคือไม่ชอบ คนจะได้เข้าใจสัตว์ในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตจิตใจ รับมันได้ในวันที่พวกมันไม่น่ารัก และสิ่งนี้จะกลายเป็นพื้นฐานที่ปลูกฝังการรู้จักรับฟังผู้อื่น

ถัดมาคือรูปแบบการแก้ปัญหา วิธีที่เขาทำคือการเรื่องง่ายให้ง่าย และเรื่องยากให้ง่าย เพราะเขาพบว่าการสื่อสารคือปัญหาสำคัญที่ทำให้องค์กรไม่เดินหน้า ดังนั้น “การคิดอย่างเด็กแต่ทำงานอย่างมืออาชีพ” จึงสำคัญกว่า “การคิดอย่างผู้ใหญ่ เล่นใหญ่ซับซ้อนแต่เวลาปฏิบัติกลับไม่เป็นชิ้นเป็นอัน”

“บางเรื่องคนฉลาดมาก คุยเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องไม่ได้มีอะไร แต่ว่าต้องคุยให้มันใหญ่ เราต้องโน้มน้าวให้เขาเห็นว่ามันง่ายและมีโอกาสที่จะทำได้ ไม่ใช่ไปแสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนฉลาดกว่า”

ประการสุดท้ายคือการบริหารจิตใจพนักงาน แม้เขาจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสั่งการ แต่การให้คุณค่ากับคนและออกแบบระบบที่เกื้อกูลตรวจสอบการทำงานคือความฉลาดแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นวัตกรรมของระบบที่เราพูดถึงคือการทำโรงงานแบบเปิด เป็นกระจกใสให้คนสามารถมองเห็นพนักงานที่ทำงานด้านล่างได้และพนักงานก็มองเห็นคนที่มาดูงานด้านบน

โรงงานแบบกระจก ทำให้เห็นทุกกระบวนการผลิตของ Umm…milk / Image: Farmchokchai Facebook

โชคบอกว่าเขาไม่ได้ต้องการให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นเพียงลูกจ้าง แต่ทุกคนที่เข้ามาในฟาร์มจะรับรู้ตัวตนและคุณค่าของพนักงาน ผ่านการมองเห็นการทำงานของพวกเขา ขณะเดียวกันยังได้ประโยชน์อีกต่อ เพราะผู้มาเยี่ยมชมเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือน QC ที่ดีให้กับพนักงานด้วย

ความสำเร็จคืออะไร ? เมื่อความยั่งยืนไม่มีวันหยุด

สิ่งสุดท้ายที่เรายิ่งหลงใหลวิธีบริหารของเขาเพิ่มขึ้นและอยากส่งไปให้ถึงคนที่กำลังทำธุรกิจวันนี้คือเรื่องความสำเร็จและความยั่งยืน ในโลกการค้า คนใช้ 2 คำนี้เป็นคำติดปากไม่ต่างจากพูดคำว่า “สวัสดี” แต่ไม่บ่อยที่เราจะได้ยินคนที่พูดถึงมันตามความเป็นจริงอย่างเข้าใจ ว่าธุรกิจมีเงินพันล้านไม่ได้แปลว่า “ประสบความสำเร็จ” ธุรกิจครบวงจรวางระบบอย่างดีก็ไม่ได้แปลว่า “ยั่งยืน”

“การเป็นนายไม่ใช่การประสบความสำเร็จ ตราบใดที่ทุกอย่างยังหมุนไป มันยังมีโอกาสเสี่ยงที่มันจะพังจะล้ม มันจะเจ๊งเมื่อไหร่ก็ได้ อะไรที่เป็น 100% มันไม่ได้แน่นอน”

บทสัมภาษณ์ที่เขาให้มุมมองไว้ในรายการ Perspective ทำให้เห็นว่าผู้ชายคนนี้เข้าใจชีวิตและปรัชญาการใช้ชีวิตได้ดีกว่าทฤษฎี เขาอธิบายความเชื่อนี้ว่า แม้ระบบการทำงานทั้งหลายที่วางวันนี้จะใช้งานได้ดี แต่อย่าไปมองว่าเป็นการทำทีเดียวแล้วจบไป เพราะอาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง ใน “ฟาร์มโชคชัย” จึงมีโปรเจกต์แบบ On Going ไม่มีวันหยุดและไม่มีจุดสิ้นสุดเพื่อพัฒนาปรับปรุงงานให้ดีอยู่เสมอ ผู้บริหารที่รู้ทันเรื่องนี้จะดูแลธุรกิจได้ดีกว่า แนวคิดนี้เราสามารถไปปรับใช้ได้ทั้งในเชิงปรัชญาการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ เพราะไม่มีอะไรที่อยู่คงทนถาวร แต่เราต่างหากจะยอมรับมันและพร้อมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไหม

ทำไมเราต้องเก่งตัวเลขและการบริหารเพื่อทำธุรกิจ ?

นี่คือคำตอบไม่สำเร็จรูป และเป็นอีกเส้นทางที่คนเรียนไม่เก่งทำธุรกิจ แต่คนเก่งอาจทำไม่ได้ สไตล์ฟาร์มโชคชัยในมือของ ‘โชค บูลกุล’

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line