Business

UNLOCK CORP: เมืองของเรา เมืองเพื่อใคร? ส่องริเน็น AP THAILAND ที่รับต้นฉบับความยั่งยืนจากญี่ปุ่น

By: anonymK September 28, 2019

คุณเบื่อไหม เมื่อพูดถึงความยั่งยืน?

คุณเบื่อเพราะคิดว่ามันเป็นคำพูดสวย ๆ คำนึงเพื่อใช้ขายของอะไรสักอย่าง

แต่เพราะคุณมัวแต่เบื่อ เยาวชนอย่าง Greta Thunberg ถึงลุกขึ้นมาเริ่มพูดว่าคุณควรจะสนใจมันได้แล้วนะ คุณอย่ามัวเอาแต่พูดว่าใส่ใจห่าเหวอะไรในโลกใบนี้ คุณต้องทำอะไรสักอย่างกับมันสักที ไม่ใช่เอาแต่ฝากความหวังให้คนรุ่นหลังโดยไม่แม้แต่จะพยายามทำอะไรสักอย่าง

ความเดือดดาลของเด็กสาวคนนึงที่พูดประโยคตีแสกหน้าในเวทีการประชุมสหประชาชาติต้นอาทิตย์ทำให้เราเริ่มคิดถึงเรื่อง Core Corporate หรือ Core Business ที่อยู่รอบตัวคนเมืองอย่างพวกเราในไทย มีใครบ้างที่คิดถึงเรื่องความยั่งยืน มีใครบ้างที่เขาคิดถึงคุณภาพชีวิต

ถึงเราจะพูดว่าคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน แต่อย่าเหมาเอาว่าเราจะพูดถึงองค์กรการกุศลเด็ดขาด การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมันไม่ใช่ให้ควักเนื้อทางธุรกิจ เรื่องนี้ต้องเคลียร์ให้ขาดจากกัน เพราะการทำแบบนั้นมันไม่ได้ยั่งยืน ไม่มีคนซื้อพวกเขาจะเอารายได้จากไหนมาพัฒนาให้นิเวศสมดุล? ทุกอย่างล้วนต้องลงทุนทั้งนั้น

เอาเป็นว่าเราจะไปอ่าน Vision ไม่ใช่ตัวเลข และบอกก่อนว่า คอนเทนต์นี้ไม่ได้มีไว้เพื่อขาย แต่เอาไว้เป็นกรณีศึกษา หลังจากที่เรามีโอกาสได้รับฟังและรู้เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของการสร้างโครงการใหม่ ๆ กับเบื้องหลังปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเท่านั้น

ครั้งนี้ UNLOCKMEN เลยเริ่มคิดถึงที่แรกอย่างคอนโดก่อน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองที่เราอยู่มันต้องเริ่มจากรากที่เรานอน เราจึงเลือกพูดถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เขากล่าวกันว่าจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เราเป็นประเภทแรก

คำว่าดีมาจากไหน คำว่าดี ดีอย่างไร ?

เราขอเริ่มต้นเจาะริเน็นจากที่ AP THAILAND เป็นที่แรก เพราะเรารู้มาว่าเขาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับมิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดการทำอสังหาฯ แบบญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบของการสร้างคอนโด และได้ไปร่วมทริป AP Open House 2019 ที่ญี่ปุ่นเพื่อฟังและเห็นภาพเบื้องหลัง

RINEN OF AP THAILAND

ที่ญี่ปุ่นจะมีคำนึงที่เขาเรียกว่า “ริเน็น” แปลว่า “ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ” ซึ่งแต่ละแห่งก็จะยึดถือไว้ต่างกัน มันก็คือ Core หรือ Spirit ของธุรกิจนั้น สำหรับ AP THAILAND เขาก็ใช้ริเน็นที่ชื่อว่า “Grow มาสเตอร์แพลนแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับการสมดุลของระบบนิเวศระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับเมือง

 

“ยั่งยืนจากแนวคิดและการลงมือ” พิมพ์เขียวจากญี่ปุ่นที่ AP นำมาใช้

ถ้าเราเปรียบเทียบว่าเมืองอย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นที่ผู้คนอยู่อาศัยเยอะคล้ายคนสูบบุหรี่ มลพิษเยอะก็เลยปอดไม่สวยเหมือนชานเมืองที่ธรรมชาติยังครบ ๆ คงไม่เกินจริงนัก แต่ทำแบบไหนเมืองที่ปอดกำลังช้ำอยู่จะมีนิเวศที่สมดุลได้บ้าง AP เขาพาเราไปดู 2 เมืองต้นแบบที่น่าสนใจ และเราต้องยอมรับว่าด้วยแนวคิดนี้ หากมันถูกต่อจุดไปเรื่อย ๆ จนสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือเมืองไหน ๆ การพัฒนาอสังหาฯ รูปแบบนี้จะสร้างเมืองในฝันให้ลูกหลานได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเราได้ไปลองย่ำเท้าบนสองเมืองที่ใช้คอนเซ็ปต์การออกแบบอย่างยั่งยืนนั้นแล้ว ในรูปแบบรูปธรรมไม่ใช่แค่ไอเดียสวยหรูแต่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในการดูแลของ MEC

สำนักงานใหญ่ MEC บริเวณรอบอาคารออกแบบโดยคำนึงถึงปรัชญา Biodiversity

สำหรับตัวอย่างสถานที่ 2 แห่งที่ MEC พัฒนาโครงการในญี่ปุ่นที่เราไปเยี่ยมชม ได้แก่ DIMARUYU DISTRICT กับ IZUMI PARK TOWN ทั้ง 2 แห่งนี้ใช้แนวคิดการพัฒนาแบบ BIODIVERSITY คือการให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมืองจึงไม่ได้มีแค่เมือง แต่ยังมีสีเขียวและมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมากมายที่เขาให้ความสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่หนอนและไส้เดือนในดิน!

ความแตกต่างของ 2 เมืองนี้ เมืองหนึ่งคือย่านเมืองที่ไม่ได้ออกแบบพื้นที่ 100% มาตั้งแต่ต้น แต่ออกแบบเป็นบางส่วน บางบริเวณเท่านั้น ส่วนอีกเมืองคือเมืองที่ระเบิดภูเขาสร้างใหม่ นับหนึ่งวางระบบแผนผังอย่างเป็นระเบียบ

DAIMARUYU DISTRICT: ไดมารูยู ใครที่ไปที่นี่ก็รู้กันดีว่าที่นี่เป็นย่านเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญของญี่ปุ่นในตอนนี้ แต่ก่อนย่านไดมารูยูเป็นที่ทำงานเงียบ ๆ ไม่ใช้ย่านเศรษฐกิจที่คนออกมาจับจ่ายซื้อของ แต่หลังจากการพัฒนาพื้นที่โดย MEC (บริษัทในเครือ มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาฯ TOP3 ของญี่ปุ่น) ที่นี่ก็มีชีวิตชีวา กลายเป็นเมืองที่คึกคัก มีพื้นที่กิจกรรม ที่ช้อปปิ้ง และการท่องเที่ยว แต่ที่น่าสนใจคือการพัฒนาความเจริญพื้นที่เหล่านี้ควบคู่มากับการคิดเรื่องความสมดุลของระบบนิเวศ เช่น โครงการที่พักอาศัยที่อยู่ใน Daimaruyu District จะปลูกพันธ์ุไม้สำหรับเป็นจุดพักบินของนก อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ถ้านกจะบินในเมืองยาว ๆ นกก็สามารถร่อนพักตามพื้นที่อาคารต่าง ๆ ที่เตรียมปลูกต้นไม้เหล่านี้ไว้ได้

The Parkhouse คือโครงการที่อยู่อาศัยที่มิตซูบิชิ เอสเตท เป็นผู้ออกแบบและพัฒนา โดยตั้งใจสร้างระบบ Biodiversity เพื่อให้นก ผีเสื้อ สามารถบินเดินทางไปมาระหว่างแต่ละแห่งได้

The Café by Aman in Tokyo ร้านคาเฟ่ที่ออกแบบให้เห็นทิวทัศน์รอบข้างที่เขียวขจี เหมือน Forest Park in the city

เหตุผลที่เขาลงรายละเอียดลึกไปถึงพรรณไม้ หญ้า ผืนดิน นก หนอน ระบบนิเวศต่าง ๆ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพราะคุณภาพชีวิตของเราไม่ได้อยู่ที่ “คน” เพียงอย่างเดียว ตราบใดที่คุณภาพชีวิตของระบบนิเวศอื่น ๆ ดีด้วย ความอุดมสมบูรณ์นี้แหละคือบ่อเกิดของความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนนั้นหลังจากสร้างเสร็จทุกคนที่อยู่ในบริเวณเดียวกันยังออกกฎเพื่อทำความเข้าใจและช่วยกันดูแล หวงแหนพื้นที่ที่ตนอยู่ด้วย

IZUMI PARK TOWN : อิซูมิ ปาร์คทาวน์ เมืองที่เกิดขึ้นโดยออกแบบและดูแลโดยเอกชนทั้งหมด (MEC) ห่างจากสถานีเซนไดประมาณ 50 นาที สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 ต้องบอกว่าที่นี่คือเมืองแห่งอุดมคติอย่างแท้จริง เพราะเขาออกแบบผังเมืองทุกส่วน ครอบคลุมทุกกิจกรรม เรียกได้ว่าเป็นเมืองใหม่ที่ควบคุมไลฟ์สไตล์และพื้นที่ให้อยู่อย่างเป็นระเบียบ ทำให้เมืองทั้งเมืองมีคุณภาพตั้งแต่จุดเริ่มต้นการออกแบบ แบ่งเป็น 4 โซน ดังนี้

  1. พื้นที่สำหรับอยู่อาศัย – ออกแบบถนนตามฟังก์ชันการใช้งานให้ความคดเคี้ยวน้อย และปรับสี่แยกเปลี่ยนเป็นสามแยกเพื่อลดอุบัติเหตุ เพื่อให้คนในเมืองอยู่ได้อย่างปลอดภัย รั้วที่อยู่อาศัยทำจากรั้วต้นไม้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดธรรมชาติ สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการสร้างกิจกรรมกับคนในเมือง
  2. พื้นที่เมือง สร้างเป็นโรงเรียน ที่สังสรรค์ ที่ช้อปปิ้ง
  3. พื้นที่การพักผ่อน สำหรับการออกกำลังกายหรือสร้างกิจกรรมสันทนาการ เช่น สนามกอล์ฟ สนามเทนนิส และสนามขี่ม้า เป็นต้น
  4. แหล่งธุรกิจสำคัญของเมืองที่รวมถึงเขตโรงงาน เขตสำนักงานต่าง ๆ เช่น การแบ่งเขตอุตสาหกรรมหนักและเบา

การออกแบบถนนเน้นเป็นสามแยก เพื่อลดอุบัติเหตุ

จากพิมพ์เขียวที่ญี่ปุ่นจะไปอยู่ที่ไหนในเมืองไทย? หลายคนคงสงสัยว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นหรือยัง ทาง AP THAILAND เขาเผยว่าลงมือทำโปรเจ็กต์ที่ใช้แนวคิด BIODIVERSITY แล้ว คือ ‘LIFE สาทร เซียร์รา’ โครงการระดับไฮเอนด์ที่ลงทุนโครงการด้วยมูลค่าสูงถึง 6,300 ล้านบาท เพื่อสร้างนิเวศที่สมดุลลงตัวทั้งความเจริญ ธรรมชาติ และผู้คน ให้ค่อย ๆ ขยายและเติบโตไปพร้อมกัน

ใครที่อยากรู้รายละเอียดว่าเขาจัดสรรพื้นที่ใน LIFE โดยใช้ BIODIVERSITY จะเป็นอย่างไร เราสรุปรายละเอียดคร่าว ๆ ไว้เป็น Bullet ด้านล่าง แต่ใครที่อยากเห็นภาพก็ลองกดเข้าไปลองดูกันได้ที่นี่

  • พื้นที่ทั้งหมดโครงการขนาด 8 ไร่
  •  สร้างอาคารที่พักสูง 40 ชั้น จำนวน 1,971 ยูนิต
  • ใช้นวัตกรรมในการออกแบบ คือระบบ AI BIM เพื่อศึกษาแดด ลม พรรณไม้ ในการก่อสร้างเพื่อสร้างความยั่งยืน ให้ได้คุณภาพ
  • มี Forrest Park in The City หรือคอนเซ็ปต์การสร้างป่าในเมือง พื้นที่รอบข้างจึงเชื่อมต่อกันหมด ระหว่างมนุษย์ เมือง แมลง สถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม
    การออกแบบภูมิทัศน์เหมือนหุบเขาต้นไม้ไล่ระดับ

ทั้งหมดนี้คุณสามารถใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ความจริงเราเองก็มองว่าบางอย่างประเทศไทยเราคงไม่สามารถนำสูตรสำเร็จจากญี่ปุ่นมาใช้ได้ 100% เพราะนอกจากความพร้อมของพื้นที่แล้ว ปัจจัยอื่น ๆ อย่างความพร้อมของคน วินัย หรือขอบเขตกฎหมายที่จำกัดก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยั่งยืนอยู่

แต่การที่ธุรกิจหันมาโฟกัสสิ่งนี้มากขึ้นถึงขนาดนำมาเป็นปรัชญา เตรียมพร้อมในวันที่ยังไม่พร้อม เพื่อให้ผู้คนค่อย ๆ ค่อย ๆ ซึมซับ ก็ยังดีกว่าการรอความพร้อมที่ไม่มีวันมาถึง “รากของอนาคต” อยู่ที่การเตรียมตัวและไม่ใช่การโหมโยนอารมณ์ใส่โดยไม่ลงมือ

UNLOCKMEN คิดว่าการเลือกคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิทธิ์ของทุกคน ถ้า “ริเน็น” ธุรกิจของ AP THAILAND ที่เราเผยแพร่จะสามารถนำไปประยุกต์หรือต่อยอดการใช้ชีวิตของทุกคน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเพื่อโลกใบนี้ได้ก็จะยินดีอย่างยิ่ง

ครั้งหน้าจะมีธุรกิจไหนที่มี Core Corporate น่าสนใจ หรือมีเบื้องหลังความคิดดี ๆ ให้แบ่งปัน เราจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่ออย่างแน่นอน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line