Business

UNLOCK CORP: ‘TESCO LOTUS’ ค้าปลีกยักษ์ใหญ่กับดีล 2 แสนล้านที่สอนให้รู้ว่า ตอนเจ๊งจงขายของดี!

By: anonymK January 3, 2020

ช่วงก่อนปีใหม่ เราแวะไป Tesco Lotus สาขาประจำแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงว่า พื้นที่ที่เคยไปซื้อของตอนนี้เหลือแค่ 1 ใน 3 ของพื้นที่เดิม เพราะแบ่งเช่าให้กับ Decathlon, ร้าน Mr. D.I.Y และร้านค้าอื่น ๆ จนไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า ตอนนี้พื้นที่เช่าเริ่มจะมากกว่าพื้นที่ขายของของ Tesco Lotus เสียอีก

หลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ? เพราะเท่าที่จำได้ Hypermarket แห่งนี้ขายดีรายได้ติดอันดับ Top 5 ค้าปลีกไทยมาตลอดแท้ ๆ

ยิ่งตอนได้ยินข่าวว่ากำลังเปิดดีลจะขายกิจการมูลค่าแสนล้านอีก คนก็เริ่มมาจับตามองมันมากขึ้น เราเลยคิดว่าตอนนี้ถึงเวลามาเจาะดู Corporate และสรุปข้อมูลมาแบ่งปันให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า อะไรกันแน่คือเหตุผลที่ทำให้ Tesco Lotus อาจจะยอมเทหมดตัก และมีแนวโน้มขายกิจการ

 

HYPERMARKET คืออะไร ?​

เริ่มจากประเภทของธุรกิจประเภทนี้ก่อนแล้วกัน ใครที่อ่านแล้วเพิ่งเจอคำว่า Hypermarket อาจจะสงสัยว่ารูปแบบธุรกิจมันต่างจากพวก Supermarket ทั่วไปตรงไหน จริง ๆ แล้วถ้าสังเกตดี ๆ มันไม่เหมือนหรอก มองง่าย ๆ ว่า

Hypermarket คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขนาดใหญ่กว่าธรรมดา เน้นขายสินค้าประเภท Fast Moving Consumer Goods คือขายถูกและหมุนเวียนเร็ว

พอไปที่นั่นทีไรจึงไม่แปลกที่เอะอะลดกระจาย เดี๋ยวลด ๆ ทั้งหมดก็เพื่อหมุนของให้ออกไปไว ๆ นั่นแหละ แถมขนาดของร้านประเภทนี้ก็จะใหญ่กว่า SuperMarket จนมองว่าคล้ายห้างแยกขนาดย่อมก็ว่าได้

กลับมาที่ไทม์ไลน์ของ Lotus เดิมที ตัว Lotus มีเจ้าของเป็นคนไทย เปิดโดยเจ้าสัวธนินทร์ เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในปี 1994 และใช้ชื่อตอนนั้นว่า Lotus Supercenter (ชื่อแรกของ Tesco Lotus) ตั้งสาขาแรกอยู่ที่ Seacon Square บนถนนศรีนครินทร์ ต่อมาก็เริ่มขยายตัวมาเรื่อย ๆ กระทั่งเจอพิษเศรษฐกิจปี 2540 จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เจ้าสัวธนินทร์ต้องทยอยตัดใจขาย Hypermarket ถึง 2 แห่งในมือ คือ Lotus และ Macro เพื่อสร้างสภาพคล่อง

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาช้อนซื้อ Lotus ในวันนั้น กระทั่งดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ Tesco กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษที่อยู่ในข่าว ซึ่งตอนนี้เป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีเจ้าของเป็นช่าวต่างชาติแห่งเดียวในบ้านเรา ส่วนที่เหลือ ไม่ว่าจะคาร์ฟู หรือ Big C ที่เคยถือโดยต่างชาติตอนนี้ก็เปลี่ยนถ่ายไปมาจนอยู่ในมือเจ้าสัวไทยชื่อดังหลายคนหมดแล้ว

ใครที่เคยฟังสัมภาษณ์ของเจ้าสัวเวลาพูดถึงการขาย Lotus Supercenter วันนั้นกับวิกฤตต้มยำกุ้งจะรู้เลยว่าแม่ทัพใหญ่ CP คนนี้รักธุรกิจของ Lotus และมันเป็นการขายธุรกิจที่ยังเห็นกำไรเหนาะ ๆ แต่ก็จำเป็นต้องขายเพื่อให้ผ่านวิกฤต ถือเป็นบทเรียนการทำ Corporate ที่เด็ดขาดและเฉียบขาด จนไม่แปลกใจว่าทำไมธุรกิจ CP จึงยังอยู่บนบัลลังก์เมืองไทยมาตลอดหลายปี

“ตอนวิกฤตเนี่ยต้องจำไว้ เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้หรอก เราต้องทิ้งบางอย่าง ดูว่าอันไหนสำคัญเราต้องรักษาไว้ แล้วก็สำคัญทั้งนั้นนะถึงจะขายได้ด้วยเหมือนกัน ตอนวิกฤตถ้าไม่สำคัญ ไม่ดี ก็ขายไม่ได้ด้วย

ขาย Lotus ออก เพราะ Lotus เนี่ยคนเห็นว่าตัวนี้ดีมาก คนที่ซื้อ อังกฤษมาซื้อยังพูดตรง ๆ กับผมว่า อันนี้คุณยังทำเหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก ราคาเราว่าเท่าไหร่เขาก็ไม่ต่อรองเลยนะ ซื้อ แล้วยังเหลืออีก 15% ให้เราอีก ผมพอใจแล้วว่า คนอังกฤษนี่คบได้ทีเดียว”

 

2541 Tesco Lotus ในมือ ‘Tesco’

เมื่อย้ายมือจาก CP มาเป็นนักลงทุนต่างประเทศแล้ว การบริหารงานในมือกลุ่มธุรกิจ Tesco ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มูลค่าจากวันที่ซื้อวันแรกในระดับหมื่นล้าน วันนี้ปั้นมาได้ถึง 2 แสนล้านแล้ว และมีคนให้ความสนใจธุรกิจนี้มากมาย เพราะธุรกิจ Tesco Lotus ในไทยมีคุณสมบัติที่ทำให้นักลงทุนมองเข้ามาแล้วตาลุกวาวจากเหตุผลเหล่านี้

  1. จำนวนสาขามากถึงเกือบ 2,000 สาขา รวมทั้ง 6 รูปแบบ ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต, เอ็กซ์ตร้า, ดีพาร์ตเม้นต์สโตร์, ตลาด (ร้านขนาดกลาง), เอ็กซ์เพรซ (ร้านขนาดเล็ก) และร้านสะดวกซื้อชื่อร้าน 365
  2. เป็นเจ้าของธุรกิจที่พื้นที่เช่าขายเกิน 2 ล้านตารางเมตร
  3. จัดตั้งกองทุนอสังหาฯ เป็นของตัวเอง TLGF (Tesco Lotus Retail Growth) รวมแล้วมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
  4. มีระบบ DATA ของผู้บริโภคที่เข้าถึงได้จากข้อมูล Club Card ที่มีสมาชิกกว่า 11 ล้านคน

นอกจากนี้ ด้วยนโยบายรับฟังและปรับกลยุทธ์เรื่อยมาเพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจในต่างแดนให้มากที่สุด ล่าสุดปี 2561 Tesco Lotus ก็ประกาศแต่งตั้งคนไทยคนแรก “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ที่เคยร่วมงานด้านบริหารกับ Tesco ตั้งแต่ปี 2539 มาดำรงตำแหน่ง CEO แทน CEO คนเดิมที่เป็นชาวต่างชาติ

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย / Image by tescolotus.com

ตอนนั้นคนก็มองกันว่าห้างบัวเขียวที่อยู่ในมือ CEO คนไทย แถมกำลังจะขยายสาขาอีก 750 สาขาในปี 2562 น่าจะมีข่าวดีและรุ่งเรือง จนกระทั่งปลายปีที่มีข่าวเปิดดีล หลายคนไม่ได้ติดตามแวดวงธุรกิจก็งงตาแตกว่า ทำไมอยู่ดี ๆ นักลงทุนถึงพิจารณาจะขายมัน

เรื่องนี้ความจริงมันมีมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014

 

Tesco’s CRISIS กับข่าวฉาวแจ้งกำไรเกินจริงปี 2014

ถ้าส่องผลประกอบการตามหน้าข่าวเศรษฐกิจในบ้านเราต่อเนื่องจะเห็นว่าตัวเลขการค้าของ Tesco Lotus ไทยมีกำไรเพิ่มขึ้นและขยายตัวทุกปี ติด Top 5 ค้าปลีกเสมอ แถมช่วงหลัง ๆ เป็นรองแค่เซเว่นของเครือ CP เท่านั้น ที่สำคัญ Tesco Lotus สาขาเอเชียที่เหลืออยู่ 2 แห่ง คือไทยและมาเลเซีย คิดสัดส่วนการทำกำไรแล้วเป็น 1 ใน 5 จากทั่วโลก (เยอะมาก) แต่ถ้ามองภาพรวมของกลุ่ม Tesco ในทวีปอื่น รายได้ถือว่าวิ่งสวนทางกับฝั่งเรามากพอสมควร

ผลมันมาจากที่กลุ่ม Tesco พยายามขยายกิจการเข้าทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออกแต่เจาะเข้าไม่ได้ (ยกเว้นบ้านเรา) ยอดขายและกำไรก็หดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2007-2009

กระทั่งปี 2014 สำนักงานปราบปรามการทุจริต (Serious Fraud Office : SFO) ดันไปเจอการทำบัญชีเท็จของ Tesco ที่แจ้งผลกำไรเกินจริง 263 ล้านปอนด์ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนกันยายนปี 2014 เข้า งานนี้ธุรกิจเลยขาพับแทบทันที แต่ยังไม่ถึงกับสิ้นท่า เพราะผลสุดท้าย บทลงโทษจบลงด้วยการประณีประนอมที่ทำให้บริษัท Tesco Stores Limited ไม่โดนดำเนินคดี แต่…สาหัส เพราะ

  1. ต้องให้ความร่วมมือในการสืบสวนและปรับเปลี่ยนธุรกิจตามเงื่อนไขที่กำหนด
  2. ต้องจ่ายค่าชดเชยทั้งหมด 85 ล้านปอนด์ให้ผู้ถือหุ้น
  3. ต้องจ่ายค่าปรับ 129 ล้านปอนด์

หมายเหตุ: สำหรับคนที่คิดว่าการตกแต่งบัญชีเกินจริงมันมีผลเสียอย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องทุจริตที่มีผู้เสียหาย อารมณ์ไม่ต่างจากการปั่นหุ้นนั่นแหละ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นนักลงทุน เห็นตัวเลขสวย ๆ ทำไมเราจะไม่อยากช้อนซื้อ ทำไมราคาหุ้นจะไม่ขึ้น ผลกระทบหลายอย่างที่ตามมามันจึงเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคดี ๆ นี่เอง

จากเหตุการณ์วิกฤตเพราะ SFO ในปีนั้นทำให้ผลกำไรในไทยร่วงลงมาเล็กน้อย ทั้งยังมีข่าวว่ากลุ่ม Tesco อาจจะพิจารณาขายกิจการในไทย โดยมีเจ้าสัวธนินทร์เจ้าของเก่าได้ติดต่อขอซื้อไปแล้ว แต่นั่นก็เป็นข่าวปลอม สุดท้ายเจ้าสัวเป็นคนออกมาบอกเองว่าไม่เคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่คนไหนของ Tesco และที่สำคัญ Tesco เวลานั้น ก็แกร่งจนไม่จำเป็นต้องออกมาขายกิจการ เพราะธุรกิจยังมีกำไรดีและมีคนอื่นพร้อมเสนอเงินกู้ให้กลุ่ม Tesco

แต่เสือไม่เคยสิ้นลาย เมื่อธุรกิจมีทางไป เขาก็พูดทิ้งท้ายไว้ใจความว่าถ้าเขามาขายให้ผมก็ยินดี

 

ปี 2019 เพิ่ม LOTUS EXPRESS อีก 750 สาขาแล้วก็บู้ม เป็นโกโก้ครันช์

5 ปีต่อมา ปลายปี 2019 ขณะที่ห้างบัวเขียวยังทำกิจการอยู่และเดินหน้าขยายสาขาอีก 750 แห่ง จู่ ๆ ก็มีข่าวสะเทือนวงการค้าปลีกอีกหน ว่ากลุ่ม Tesco พิจารณาขายอีกแล้วเพื่อหดขนาดธุรกิจลง อาจจะถึงขั้นตัดสินใจยกเลิกกิจการในเอเชียไปเลย และจะหันไปโฟกัสธุรกิจในบ้านที่ประเทศอังกฤษให้แข็งแรงแทน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนอีกหนที่หลายคนส่องว่าสรุปจะขายหรือไม่ขาย ข่าวจาก Bloomberg สายวงในธุรกิจก็ยันมาว่ามี 3 เจ้าเข้ามาขายขนมจีบให้ Tesco แล้ว ได้แก่ กลุ่ม CP นำทัพโดยเจ้าสัวธนินทร์, กลุ่มช้างของเจ้าสัวเจริญ และกลุ่มเซ็นทรัลของ ตระกูลจิราธิวัฒน์

ตามรายงานระบุว่าทั้ง CP และเซ็นทรัล กำลังระดมเงินให้พร้อมสำหรับการประมูล ส่วนช้างที่เลียบ ๆ เคียง ๆ ยังไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด งานนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นข่าวหลอกเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้วหรือเป็นข่าวจริงที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ค้าปลีกบ้านเรา คงต้องดูว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นในช่วงสิ้นเดือนมกรานี้ ตามที่ Bloomberg แจ้งว่าจะมีการประมูลไหม

อย่างไรก็ตามบางกระแสก็บอกว่าอาจจะมีตัวเต็งจากต่างประเทศเข้ามาเอี่ยวด้วยก็ได้ หรือหลายสื่อในแวดวงต่างให้ความสนใจออกมาวิเคราะห์ว่า ถ้าใครได้ไปแล้วเราที่เป็นผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ที่แน่ ๆ อย่างหนึ่งคือพอเป็นเจ้าใหญ่ อัตราการต่อรองของผู้บริโภคก็ต่ำลง คล้ายเป็นการค้าผูกขาดแล้ว กระทบเป็นห่วงโซ่สัมพันธ์กับค่าครองชีพของเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำหรือปลายน้ำ

 

ขายวันที่ยังดี ๆ หลักการที่ยังใช้ได้เสมอไม่ว่าเจ้าของจะเป็นไทยหรือเทศ

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นหลักการดำเนินธุรกิจของ Tesco ในมือเจ้าของเดิมหรือเจ้าของใหม่ ไทยหรือเทศ สังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีแนวคิดการรับมือกับวิกฤตที่ไม่ต่างกัน

พวกเขาไม่ได้เลือกขายธุรกิจแกน ๆ ที่ไปต่อไม่ได้ แต่เลือกขายธุรกิจในวันที่มันยังดี ๆ มีมูลค่าเยอะ ตัดใจขายก่อนเพื่อนำเงินที่ได้ไปสร้างสภาพคล่อง คงไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากถือสินทรัพย์ที่หมดอนาคต เช่นเดียวกับบทเรียนที่เจ้าสัวธนินทร์พูดในงาน ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

“เป็นบทเรียนว่าเวลาจะทำอะไร ต้องทำอะไรที่โลกยอมรับ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ไม่ฉะนั้นวิกฤตแล้ว ให้เขาฟรียังไม่เอาเลย อย่าว่าแต่ขาย”

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line