Business

ยกเลิก GSP แล้วมันอะไรกันนักกันหนา? สรุปมหกรรมเปิดฉากแบนจากสหรัฐฯ ทั่วโซเชียลไทย

By: anonymK October 28, 2019

ตอนนี้ข่าวเรื่องแบนอเมริกาว่อนโลกโซเชียล แต่หลายคนยังจับต้นชนปลายเรื่องนี้ไม่ค่อยถูกว่ามันมีที่มายังไง รู้แค่ว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาเซ็นระงับสิทธิ์ GSP สินค้าส่งออกจำนวน 571 รายการจากไทย

เรื่องนี้ทำให้หลายคนเริ่มออกมาแสดงวิสัยทัศน์แบนสินค้าอเมริกา เข้าทำนองแบนมาแบนกลับไม่โกง แต่เอาเข้าจริง เรารู้บ้างไหมว่าวันนี้สินค้าจากอเมริกามีอะไรบ้าง และการโดนระงับสิทธิ์ GSP ที่สหรัฐอเมริกาทำกับเรามันกระทบกับเราแค่ไหน เราควรง้อหรือเดินหน้าไปทางไหนดี วันนี้ UNLOCKMEN จะสรุปคร่าว ๆ ให้เข้าใจ

ทรัมป์ไม่เซ็น GSP ว่าแต่ GSP นี่มันอะไรนะ?

เรื่องนี้มันเริ่มต้นจาก GSP (Generalized System Preference) คือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ประเทศพัฒนาแล้วยกให้ประเทศกำลังพัฒนา ไม่ต้องเสียหรือลดหย่อนภาษีสินค้านำเข้าเวลาส่งไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ์ จะได้สามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ เช่น จีนมีกำลังการผลิตสูง ถ้าแข่งตามปกติและโดนภาษีนำเข้าด้วย ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อาจจะไม่สามารถแข่งขันได้เลย เป็นต้น

เขาให้ฟรีหรือเปล่า ? คำตอบคือ “เปล่า”

ถึงแม้ประเทศที่ให้สิทธิ์จะไม่เรียกร้องประโยชน์ในรูปแบบตัวเงิน แต่เขาก็มีเงื่อนไขสำหรับการมอบสิทธิ์ GSP ให้เราทำตาม สำหรับกรณีของสหรัฐฯ ที่กำลังเป็นคู่กรณีกับเราตอนนี้ก็วางเงื่อนไขแบบพอสังเขปไว้ตามด้านล่างมานานแล้ว

  • รายได้ประชากรต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,476 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี
  • ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
  • คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับดี
  • คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล (พยายามขจัดแรงงานเด็ก)
  • เงื่อนไขทางการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐฯ เป็นไปอย่างเท่าเทียม

แล้วถ้าทำตัวดีเขาจะให้ฟรีตลอดไปเลยไหม ?

คำตอบก็คือไม่เหมือนกัน เพราะการให้ GSP ถึงจะเป็นกฎหมายแต่ก็ไม่ใช่กฎหมายถาวร มีวันหมดอายุและต้องต่ออายุไปเป็นระยะ ๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นระบบนี้อยู่

ใครที่อยากอ่านรายละเอียดและหลักเกณฑ์เรื่องนี้แบบบรรทัดต่อบรรทัด สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่

 

เด้งกันเพราะอะไร?

วกกลับมาเข้าเหตุการณ์วันนี้ที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมสหรัฐฯ ถึงยกเลิก GSP เราบ้าง เหตุผลข้อนี้เราขอไม่พูดถึงเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของ Trade War ไม่ว่ามันจะเกี่ยวหรือไม่ หรือเรื่องที่ประเทศเราออกตัวแบนสารพิษ 3 ตัวแล้วเขาอาจจะไม่พอใจ (หรือเปล่า) แต่พูดถึงเหตุผลที่สมเหตุสมผลพอที่เขาสามารถยกมาอ้างในการยกเลิก GSP กับเราอย่างเรื่อง “ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล (The Country Had Not Taken Steps To Afford Workers In Thailand Internationally Recognized Worker Rights)”

หลายคนอาจจะเล็งเรื่องสิทธิแรงงานไทยจากเรื่อง “ประมง” ซึ่งครั้งหนึ่งคนส่วนใหญ่คงจะเห็นว่าเราเคยโดนใบเหลืองเรื่องนี้มาก่อนจากสาเหตุทำประมงผิดกฎหมายและหนึ่งใน GSP ที่โดนถอดออกเป็นสินค้าจากอุตสาหกรรมประมง แต่การปรับปรุงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้มาตรฐานอุตสาหกรรมประมงของเราดีขึ้นตามลำดับ แถมตอนนี้เราโดนปลดออกจากใบเหลืองของ EU แล้ว ดังนั้น หากจะมานับเรื่องประมงมันก็ยังเป็นข้อสงสัยว่า มิติไหนกันแน่ที่สหรัฐฯ เขาเอามาเล่นเรา เรื่องนี้เราคงต้องรอรายละเอียดที่แน่ชัดต่อไป

แต่ผลจากการวิเคราะห์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ในบทความ The Standard พูดเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจหลายประเด็น เช่น สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้ไทย หรือไทยมีศักยภาพแข่งขันโดยไม่จำเป็นต้องพึ่ง GSP แล้ว (อ้างอิงจากไทยเคยโดนตัด GSP จากยุโรป ทว่ายังสามารถเจาะเข้าไปขยายตัวได้ต่อเนื่องจนไทยส่งออกอันดับอาหารทะเลเป็นอันดับ 3 ของยุโรป) ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่เราจะเดินหน้าต่อโดยไม่ต้องโน้มตาม GSP ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

เรื่องการตัด GSP ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับไทยและไม่ใช่ประเทศแรกที่เคยพบกับเรื่องนี้ เราจึงไม่ต้องตื่นตูมหรือตกใจขนาดนั้น แต่ตัวเลขต่างหากที่ทำให้เราต้องจับตามอง เพราะความเสียหายจากการเซ็นกริ๊กเดียวครั้งนี้คิดเป็นเลขกลม ๆ ยอดสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

สุดท้ายไม่ว่าผลจะจบที่การง้อหรือไม่ก็ตาม แต่ภายใน 3 วันที่ข่าวนี้เริ่มเผยแพร่กระจายออกไป หุ้นส่งออกของไทยก็โดนฉุดร่วงทันทีช่วงเช้านี้ และอาจจะยังอยู่ในสภาวะกดดันชั่วคราวจนกว่าผลการบังคับใช้มาตรการนี้จะมาถึง คือเริ่มหลังจากลงนามและประกาศ 6 เดือน แปลว่าปีหน้าหลังวันที่ 25 เมษายน ประเทศไทยถึงจะได้รับผลกระทบนี้แบบเต็มเต็งนั่นเอง

ส่วนตอนนี้ถึงเวลามาลองคิดเล่น ๆ ว่าจากลิสต์รายการนำเข้าจากสหรัฐฯ อะไรบ้างที่เราเอาออกได้และอะไรที่สุดท้ายเรายังคงต้องใช้งานอยู่ดี แต่ส่วนตัวเรามองแล้วว่า Adobe, Microsoft office, Mac นี่เหมือนลมหายใจเลย ตราบเท่าที่งานยังต้องการโปรแกรมเหล่านี้รองรับอยู่ นี่ยังไม่รวมพวกช่องทางโซเชียลหลัก ๆ ที่เราใช้ประจำทั้ง Twiiter, Facebook และ Youtube

คุณล่ะคิดเหมือนกันไหม?

 

Source: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

 

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line