Life

ไร้ความสามารถ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ “ภาวะรู้สึกแย่กับตัวเอง”ที่ทำให้คิดว่าเราไม่มีดีเลย

By: TOIISAN April 22, 2019

บ่อยครั้งที่ความไม่มั่นใจในตัวเองเวลาที่ได้รับมอบหมายงานอาจทำให้เราเครียดและท้อ แต่สำหรับบางคนอาจเครียดหนักกว่าหลายเท่า และคิดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากเพียงพอที่จะทำงานใหญ่ (หรือแม้กระทั่งงานทั่วไปด้วยซ้ำ) ความรู้สึกเหล่านี้บางทีไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งจริง ๆ แต่เราอาจกำลังอยู่ในภาวะรู้สึกแย่กับตัวเองอยู่ก็เป็นได้

Imposter Syndrome หรือ Impostor Phenomenon ถูกเรียกด้วยชื่อภาษาไทยหลายชื่อเช่น ภาวะรู้สึกแย่กับตัวเอง อาการที่คิดว่าตัวเองไร้ความสามารถ เป็นคำที่ปรากฏขึ้นเมื่อปี 1978 โดยนักจิตวิทยาสองคนชื่อ Pauline Clance และ Suzanne Imes ในบทความ “The Imposter Phenomenon in High Achieving Intervention” ที่บันทึกผลวิจัยจากการสัมภาษณ์หญิงสาวที่ประสบความสำเร็จจำนวน 150 คน ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลที่มีความสามารถ ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพที่มีคะแนนสอบสูงที่สุดแต่ละสาขา

Agent Carter

จากการนั่งพูดคุยกันระหว่างนักจิตวิทยากับหญิงสาวกลุ่มตัวอย่างพบว่า พวกเธอส่วนใหญ่คิดว่าความสำเร็จของเธอไม่ได้มาจากความสามารถของตัวเองจริง ๆ แต่เป็นปัจจัยอื่นต่างหากที่ทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ เช่น โชค หรือจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ภาวะรู้สึกแย่กับตัวเองหรืออาการไม่มั่นใจในตัวเองทางการแพทย์ยังไม่เรียกอาการนี้ว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่เป็นภาวะทางจิตชนิดหนึ่ง โดยคนที่อยู่ในภาวะดังกล่าวจะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำสิ่งต่าง ๆ  บางครั้งก็วิตกกังวลว่าคนจะรู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ซึ่งทั้งหมดแพทย์ต่างลงความเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการคิดไปเองมากกว่าการยืนยันว่าบุคคลเหล่านี้ไร้ความสามารถ

 

สำรวจตัวเองว่าเรากำลังเป็น Imposter Syndrome หรือไม่

Research Digest

คนส่วนใหญ่ที่เป็น Imposter Syndrome ภายนอกมักเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง แต่กลับกันเมื่ออยู่คนเดียวจะไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถแบบที่คนนอกมอง มุมมองคุณค่าในตัวเองเริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อย โดยเฉพาะกับตัวแปรสำคัญที่เรียกว่าความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะเป็นฐานะ หน้าที่การงาน ตำแหน่งสำคัญ ๆ ยศ

ภาวะไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองจะมีอาการแตกต่างกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พวกเขามักกระตือรือร้นอยู่เสมอเพื่อคอยเต็มเติมสิ่งที่คิดว่าขาดหายไป ถ้าคิดว่าตัวเองไม่เก่งเพราะไม่รู้ก็จะพยายามศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ทำให้คนอื่นเห็นว่ามีความสามารถ

ส่วนใหญ่เวลาสงสัยอะไรมักจะเก็บไว้ในใจ เพราะคนที่อยู่ในภาวะ Imposter Syndrome คิดว่าการถามคนอื่นจะแสดงให้เห็นว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ต่างกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะอ่อนแรงไม่อยากทำอะไร แต่ทั้งสองเกิดจากความวิตกกังวลและความเครียดเหมือนกัน

Agent Carter

คนที่มีความเครียดประเภทนี้มักเป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบหรือที่เรียกกันว่า Perfectionist ซึ่งการชื่นชอบความสมบูรณ์แบบจะมาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงกว่าปกติและการกลัวความผิดพลาดมากกว่าคนทั่วไป ทำให้บางครั้งไม่สามารถทำตามความคาดหวังของตัวเองได้จะรู้สึกผิดหวังรุนแรง โดยความผิดพลาดก็จะกลายเป็นความผิดติดตัวและมองความสามารถของตัวเองเปลี่ยนไป

นอกจากนี้งานวิจัยยังเสริมด้วยว่ากลุ่มคนที่อยู่ในภาวะ Imposter Syndrome บางส่วนจะเปลี่ยนงานบ่อย เพราะสิ่งเดิมที่เคยทำได้วันหนึ่งกลับทำไม่ได้เหมือนเดิมพาลให้คิดว่ารีบเปลี่ยนงานดีกว่าเพราะกลัวเพื่อนที่ทำงานรู้ว่าตัวเองไม่เก่งจริง (ส่วนใหญ่มักจะกังวลไปเอง) 

The New York Times

ปัจจัยทั้งหมดจะส่งผลต่อตัวเองทำให้นานวันเข้าอาจเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน เพราะเหนื่อยล้ากับการทำให้ตัวเองต้องเป็นคนเก่งอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขในชีวิต และทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า รวมถึงมีโอกาสติดสารเสพติดง่ายขึ้นเพราะความเครียดไม่ได้รับการจัดที่ถูกวิธี 

 

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็น Imposter Syndrome

philly

กลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงจะเป็น Imposter Syndrome แต่เดิมมักเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะในยุคที่สังคมชายเป็นใหญ่กำลังเข้มข้น แต่ในปัจจุบันได้พบสิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับคนที่เป็นอาการดังกล่าว เพราะพวกเขามักเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูงและเป็นคนมีชื่อเสียง เช่น นักกีฬาชื่อดัง นักวิชาการ ศิลปิน นักเรียนผลการเรียนดีเยี่ยม แต่ปัจจุบัน Imposter Syndrome ก็กระจายไปยังกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ คนเพิ่งเปลี่ยนงานรวมถึงคนทั่วไป เท่ากับว่าตอนนี้ใคร ๆ ก็มีความเสี่ยงพอกัน

เหล่าคนดังในวงการฮอลลีวูดหลายคนเคยบอกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ว่าตัวเองเคยรู้สึกว่าเป็นคนไม่มีความสามารถ เช่น นักแสดงหญิงที่โด่งดังจากภาพยนตร์ชุดเรื่อง Harry Potter อย่าง Emma Watson เธอเคยเล่าผ่านนิตยสาร Vogue ว่าบ่อยครั้งมากที่เธอรู้สึกอึดอัดกับตัวเอง วิตกกังวล และหวาดกลัวเมื่อทบทวนบทสุนทรพจน์ที่ต้องพูดในสำนักงานใหญ่ UN เพราะคิดว่าตัวเองไม่สมควรที่ได้รับเกียรตินี้

grammarly

นอกจากนี้พระเอกหนุ่มสุดกวนอย่าง Ryan Reynolds ก็เคยพูดถึงอาการ Imposter Syndrome ที่เกิดกับตัวเองเมื่อต้องไปงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Deadpool ผ่าน Men’s Health เดือนกันยายน เขาเล่าว่าไม่มั่นใจเมื่อสวมใส่ทักซิโด้และต้องมีภาพลักษณ์ที่โตและเท่อยู่ตลอดเวลา ขณะที่ตัวเองไม่รู้สึกแบบนั้นเลยแต่ต้องแกล้งทำเหมือนว่าตัวเองเป็นคนที่มั่นใจ 

Tom Hanks คือคนดังอีกหนึ่งคนที่พูดถึงอาการดังกล่าวด้วยเช่นกันใน podcast Fresh Air ปี 2016 กับการเฝ้าถามตัวเองว่าชีวิตมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และกังวลว่าผู้คนจะรู้ว่าเขาไม่มีความสามารถแบบที่คนอื่นเห็นจริง ๆ 

 

จัดการกับความคิดแง่ลบที่กัดกินใจด้วยการจัดระบบตัวเองใหม่

แพทย์และนักจิตวิทยาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสำหรับคนที่อยู่ในภาวะรู้สึกไร้ความสามารถไว้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ต้องหมั่นจดบันทึกเกี่ยวกับผลงานที่ทำ เพราะการกดดันตัวเองแต่ละวันอาจทำให้หลงลืมไปว่าเราทำผลงานที่ประสบความสำเร็จอะไรบ้าง

การเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งที่ต้องกล้าทำให้ได้ เพราะในบางครั้งตัวเองอาจมองผลงานได้ไม่เหมือนคนอื่นเวลามองเข้ามา ดังนั้นการพูดคุยเพื่อรับมุมมองใหม่ ๆ รับรู้ข้อดีข้อด้อยจากคนอื่นบ้างก็จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาถูกจุดมากขึ้น 

Immersion Recovery Center

สิ่งต่อมาเมื่อจดบันทึกและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นคือการวางเป้าหมายอนาคต เช่น คิดว่าอยากให้ตัวเองอีก 5 ปี ข้างหน้าจะเป็นแบบไหน แล้วอีก 5 ปีถัดไปอีกจะเป็นอย่างไรต่อ แต่อย่างไรก็ตามการวางเป้าหมายต้องอยู่กับความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่วางเป้าหมายในสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหากทำไม่สำเร็จจะทำให้เฟลหนักและทำให้เครียดกว่าเดิม

นอกจากนี้การออกไปหาประสบการณ์ใหม่อย่างการไปเที่ยวสำหรับคนบ้างานหรือคนที่เป็นหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่การไม่จดจ่ออยู่กับงานและความสำเร็จแวะพาตัวเองไปทำกิจกรรมใหม่ ๆ บ้างก็จะสามารถผ่อนคลายความกดดันของตัวเอง

Research Digest

อย่างไรก็ตามแผนชีวิตของตัวเองสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ดังนั้นการตั้งเป้าไว้และไม่เปลี่ยนจะเป็นการกดดันตัวเอง คาดหวังเรื่องที่สามารถเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการตั้งใจทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตั้งเป้าไว้ให้ดี และลดการโทษตัวเองให้น้อยลงเพราะใคร ๆ ก็ผิดพลาดกันได้

 

SOURCE1 SOURCE2 SOURCE3

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line