Life

ใจบางต้องจ่าย ส่องเหตุผลทางจิตวิทยา “ทำไมเราอยากใช้เงินเยียวยาเวลารู้สึกแย่”

By: anonymK December 27, 2018

ของบางชิ้นเราซื้อไปก็ไม่รู้ว่าทำอะไร แต่พอซื้อมาแล้วมันรู้สึกดีกว่าไม่ซื้อ และแม้หลายคนจะบอกว่ามึงมันบ้าวัตถุเราก็ยังยินดีจะซื้อต่อไปมากกว่าอยู่ดี ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่ทุ่มทุนจ่ายเงินเพื่ออะไรสักอย่างไม่สิ้นสุดโดยไม่รู้ตัวว่าทำไมถึงทำ ก่อนจะโหมซื้อของให้รางวัลตัวเองจนกระเป๋าแฟบ ลองอ่านบทความนี้อีกทีเพราะมันอาจจะทำให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้นและบางทีอาจเปลี่ยนทัศนคติให้คุณเก็บเงินเพิ่มในปีนี้ได้ด้วย

ผลงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Psychology เผยว่าคนใจบางหรือรู้สึกไม่มั่นคงต่อสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตมักใช้วิธีซื้ออะไรบางอย่างถมหลุมความรู้สึกของตัวเอง เพราะเขาคิดว่าการซื้อวัตถุสักชิ้นมาครอบครองจะสร้างความมั่นคงทดแทนช่องว่างในใจได้

ของยิ่งเยอะ ใจยิ่งร้าวราน?

ที่มาของการทดลองนี้เริ่มต้นจากความคิดตั้งต้นเรื่องการช้อปบำบัดว่ามีผลมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงทางใจของนักซื้อทั้งหลาย และความรู้สึกอยากครอบครองนี้คาดว่ามาจากความไม่มั่นคงทางใจ ซึ่งน่าจะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่ไม่ดีนัก เรียกง่าย ๆ ว่าไม่สมหวังในความรัก ไม่สามารถครอบครองความรักก็หันมาครอบครองของแทน เพราะอกหักไปของก็ยังอยู่กับเราเป็นความสัมพันธ์ที่มั่นคงถาวร หรือคนขาดความอบอุ่นในครอบครัวก็มีแนวโน้มที่จะหันมาซื้อของทดแทนความรู้สึกนั้นแทน ของที่ไม่เคยได้ในวัยเด็กกลายเป็นอะไรที่ต้องพิชิตในวันที่มีเงินซื้อ

Ying Sun และเพื่อนร่วมงานจาก Beijing Key Laboratory of Experimental Psychology จึงทำการทดลองพิสูจน์สมมุติฐานนี้ โดยทำการทดลองกับคนจำนวน 237 คน ถามคำถามเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนรอบข้าง และคนรัก แล้วนำมาเปรียบเทียบกับคำถามที่ว่าด้วยสิ่งสำคัญในชีวิตที่มีตัวแปรเป็นทั้งสิ่งที่ชี้ว่าเป็นเราเป็นคนประเภทวัตถุนิยมและไม่ใช่วัตถุนิยม

ตัวอย่างคำถามบางส่วนที่อยู่ในแบบทดสอบเหล่านี้ พวกเราคิดคำตอบไว้ในใจดูก่อนไปดูผลวิจัยได้

  • “เรารู้สึกกังวลว่าคู่รักของเราไม่แคร์เราเท่าที่เราแคร์เขา”
  • “เรารู้สึกกังวลเวลาคู่รักเข้าใกล้”
  • “เราชอบใช้ของหรูหรามีระดับ”
  • “ชีวิตของเราจะดีขึ้นเมื่อได้เป็นเจ้าของบางอย่างที่เราไม่มี

เมื่อตอบคำถามเหล่านี้เสร็จผู้วิจัยจะเริ่มวัดความเป็น “วัตถุนิยม” ในตัวของผู้ทดสอบด้วยการโชว์ชุดคำบางอย่างบนจอคอมพิวเตอร์อย่างคำว่า “เงิน” “ท้องฟ้า” รวมทั้งคำที่ไร้ความหมายอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกดคำที่เขาคิดว่ามีความหมายกับชีวิตและกดเลือกคำที่คิดว่าไม่มีความหมายอะไร

ผลการทดลองชี้ชัดว่าใครที่มีอ่อนไหวกับเรื่องความสัมพันธ์มักให้ความสำคัญกับสิ่งของที่เป็นวัตถุมากกว่า ขณะที่คนที่มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งจะใช้เวลาตัดสินใจตอบคำถามอย่างไตร่ตรอง แม้จะตอบเหมือนกันก็ใช้เวลามากกว่าก่อนจะเลือก

อย่างไรก็ตามอีกแง่หนึ่งที่พบจากการทดลองคือคนที่ไม่ชอบสุงสิงกับคนอื่น หรือกังวลเรื่องการเข้าสังคมก็ให้คำตอบที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้คลั่งไคล้การซื้อของเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น สำหรับใครที่คิดว่าคนที่จ่ายเงินซื้อสิ่งของมาสุมทุมไว้เต็มบ้านจะเป็นคนที่มีปัญหาครอบครัวหรืออกหักก็อย่าเพิ่งไปตัดสินอย่างนั้น

 

ซื้อเยอะก็เลิกได้ ซื้อเยอะไม่ได้แปลว่าบกพร่องความสัมพันธ์

จากการทดลองน้ีถ้าสรุปออกมาจะเห็นได้ 2 ประเด็นหลักจากการซื้อหรือปริมาณของที่กองเยอะ ๆ ในบ้านดังน้ี

  1. คนที่ซื้อของเยอะ มีแนวโน้มที่ครอบครัวหรือความสัมพันธ์กับคู่รักจะไม่ดี เพราะเมื่อเกิดความรู้สึกขาด ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้ครอบครองจะทำให้อยากซื้อของเป็นชิ้นเป็นอันมาตอบสนองเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของอะไรสักอย่างจริง ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจ

  2. คนไม่ซื้อของหรือบ้านโล่งไม่ได้แปลว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับครอบครัว คนรักหรือคนรอบข้างราบรื่นเสียทั้งหมด แต่อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้อยากสุงสิงกับใครเลยและไม่ชอบเข้าสังคมด้วย จำไว้ว่าผลลัพธ์ปลายทางที่เหมือนกันบางครั้งอาจมาจากต้นทางที่ต่างกัน ดังนั้นอย่าไปตัดสินใครเพียงเพราะว่าเขาซื้อของเยอะเลยดีกว่า

สุดท้ายเรื่องการซื้อของเพื่อสนองความต้องการของตัวเองมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบเท่าที่เราไม่เดือดร้อนชีวิตเพื่อให้ได้มันมา และสำหรับคนที่ซื้อของบำบัดจากประเด็นแรก อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการถาวรแต่มันจะค่อย ๆ เลือนหายไปได้เมื่อรู้สึกมั่นคง อย่าไปพารานอยด์กับเรื่องนี้ให้มาก แค่รู้ตัวและหาทางปรับพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ ปีนี้ก็จะเป็นปีที่สดใสมีเงินเหลืออย่างแน่นอน

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line