Life

เหมือนสมองไม่จำ ทำผิดเรื่องเดิมซ้ำซาก เรามีวิธีช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงตัวเอง

By: unlockmen November 2, 2020

คนทำงานอย่างเราต้องมีบ้างที่เคยทำงานพลาด เช่น ทำเอกสารไม่ครบถ้วน มาไม่ทันเวลานัด เขียนผิด ส่งของผิดบ้าน ฯลฯ  แต่ถ้าทำผิดพลาดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการทำงานสักเท่าไหร่ เพราะจะทำให้เสียการเสียงานเอาได้ แถมการโดนตำหนิบ่อยๆ อาจทำให้เราเสียกำลังใจในการทำงานได้ด้วย

ถ้าคุณกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทำผิดซ้ำซากในที่ทำงาน UNLOCKMEN อยากให้คุณอ่านบทความนี้ เพราะเราจะมาเล่าให้ฟังว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เราทำผิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ และจะแก้ไขอย่างไรดี

 

ไม่พยายามแก้ปัญหาจนสำเร็จ

หลายคนเวลาทำอะไรผิดพลาด อาจปล่อยผ่าน เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกช้ำใจจากปัญหา พร้อมๆ กับ คิดว่าตัวเองคงได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และความผิดพลาดแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นอีก

แต่การทำแบบนี้อาจส่งผลเสีย และทำให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำได้ เพราะงานวิจัยบอกว่า สมองของเราอาจไม่ได้เรียนรู้จากความ ‘ล้มเหลว’ แต่เรียนรู้จาก ‘ความสำเร็จ’ มากกว่า

งานวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้ทำการทดลองกับลิง และพบว่า หลังจากที่ลิงประสบความสำเร็จในการทำอะไรบางอย่าง สัญญาณประสาทของมันจะทำงานจนกว่าจะเกิดการกระทำใหม่ ในขณะที่ หากมันทำผิดพลาด ระบบประสาทของมันจะไม่ค่อยทำงาน แถมไม่มีพัฒนาการในการกระทำครั้งต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นงานวิจัยในลิง แต่ทีมวิจัยก็บอกว่า สมองของคนและสัตว์มีฟังก์ชั่นนี้เหมือนกัน ดังนั้น มันจึงมีโอกาสสูงที่ปรากฎการณ์เดียวกันจะเกิดขึ้นในสมองของมนุษย์

ผลการวิจัยจึงชี้ว่า สมองสามารถเก็บข้อมูลความสำเร็จและล้มเหลวในช่วงที่เกิดการเรียนรู้ และเราจะทำผลงานได้ดีขึ้น หลังจากที่ลองผิดลองถูกจนพบวิธีการที่ถูกต้อง มากกว่า ดังนั้น ตอนที่ยังทำผิดพลาดอยู่ ก็ให้จำไว้ว่า “practices make perfect” อย่าหยุดที่จะลองผิดลองถูก จนกว่าจะเจอหนทางที่ใช่ แล้วจะมีพัฒนาการมากขึ้นตามมาเอง


ชอบโทษอย่างอื่น

บางครั้งเวลาเราทำพลาด เราอาจไปโทษอย่างอื่นมากกว่าตัวเอง ส่งผลให้เราเพิกเฉย และไม่สนใจที่จะปรับเปลี่ยนการกระทำของตัวเอง ความผิดพลาดแบบเดิมจึงเกิดซ้ำเรื่อย ๆ

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2014) ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง 500 คน เกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อการก่ออาชญากรรม และมีการติดตามพวกเขา หลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกมาด้วย เพื่อดูว่า พวกเขาจะกระทำความผิดคล้ายเดิมอีกไหม

นักวิจัยได้แบ่งผู้ต้องขังออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รู้สึกผิด (guilt) และ กลุ่มที่รู้สึกละอายใจ (shame) ซึ่งผลการทดลองพบว่า คนที่รู้สึกผิดมักจะมีพฤติกรรมหลังถูกปล่อยตัวที่ดี คือ เปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ให้แตกต่างจากเดิม

ส่วนคนที่รู้สึกละอายใจมักจะโทษสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อปกป้อง คุณค่าในตัวเอง (self-esteem) เองไว้ ซึ่งปรากฎการณ์นี่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตทั่วไป และการก่ออาชญากรรมส่งผลให้พวกเขามักไม่หยุดก่ออาชญากรรม และใช้ชีวิตอยู่ในห้องขัง

ดังนั้น เราจึงไม่ควรโทษนู้น โทษนี้ ว่าทำให้เราทำผิดพลาด แต่หันมารับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ แล้วเราจะเลิกผิดพลาดได้เอง


พึ่งพาประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป

ความทรงจำในอดีตก็อาจทำให้เรามีความมั่นใจมากเกินไป จนกระทำผิดพลาดได้เช่นกัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2015) ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยของผู้บริโภค โดย ทีมวิจัยได้ให้คนกลุ่มหนึ่งนึกถึงเวลาที่พวกเขาประสบความสำเร็จในการควบคุมตัวเองไม่ให้ซื้อของ และอีกกลุ่มนึกถึงเวลาที่ล้มเหลว ซึ่งบางคนได้ถูกขอให้จำ 2 เหตุการณ์

ทีมวิจัยสรุปผลการทดลองว่า เมื่อความสำเร็จง่ายต่อการระลึกถึง คนจะสามารถควบคุมตัวเองได้มากกว่าคนที่ระลึกถึงความสำเร็จไม่ค่อยได้ แต่การระลึกถึงความล้มเหลว ทำให้คนรู้สึกแย่ จนปล่อยตัวปล่อยใจใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย

ในขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็พบว่า คนที่ระลึกถึงความสำเร็จในอดีตได้มากกว่า จะยอมมีหนี้บัตรเครดิตมากกว่าคนที่ระลึกถึงความสำเร็จได้น้อยกว่าถึง 21% ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองประสบความสำเร็จมาเยอะแล้ว การประสบความสำเร็จครั้งต่อไปคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร จึงควบคุมตัวเองน้อยลง และปล่อยตัวปล่อยใจในที่สุด

ดังนั้น เราจึงไม่ควรยึดติดกับประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป แต่ลองตั้งเป้าหมายดูว่า เราจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และจะได้อะไรจากการทำสิ่งนี้ รวมถึง ใช้เหตุผล ข้อมูล ฯลฯ ในการตัดสินใจและแก้ปัญหามากขึ้น แล้ววงจรการทำผิดพลาดซ้ำ ๆ ก็จะจบลงได้

 

อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บป่วยทางจิตก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของเราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ ดังนั้น ถ้าใครที่มีอาการเหล่านี้ก็ควรไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ ส่วนคนที่สุขภาพดีอยู่ ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพใจของตัวเองด้วย


 

Appendixs: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line