Business

ZERO TO HERO: เข้มข้นกว่าขวดเดิม คือรสชาติชีวิตและความคิด คุยกับบอม-เติ้ง ผู้ก่อตั้ง CASTOWN

By: anonymK January 22, 2019

ทำไมเราถึงต่อราคาทุกสิ่งที่เราอยากเป็นเจ้าของ
แล้วทำไมเราถึงต้องลดราคาให้กับคุณภาพที่ดีที่สุดเพื่อจะขายมัน?
ทางออกของระบบกลไกเศรษฐกิจที่น่าจะยั่งยืนคืออะไร

ไม่น่าเชื่อว่าเราดันมาได้คำตอบของคำถามเหล่านี้จากการพูดคุยระหว่างจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ ในช่วงบ่ายวันหนึ่ง คำตอบที่เราไม่คาดหวังว่าจะได้ยินจากพวกเขา แต่คาดหวังว่าจะมีใครสักคนพูดถึงเรื่องนี้ และสิ่งนี้คือนวัตกรรมเหนือความอร่อยของ Castown เครื่องดื่มคราฟต์โซดาแห่งแรกในไทยที่ได้ 2 หนุ่มคู่หูเพื่อนซี้อารมณ์ดีอย่าง บอม-รัฐศรัณย์ พีรพงศ์เดชา และเติ้ง – พนัญไชย กล่ำกล่อมจิตต์ เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการมาจนสำเร็จ

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นหน้าค่าตาของ Castown แล้ว และบางคนน่าจะเคยได้ชิมมันด้วยตามบาร์บางแห่งหรือร้านกาแฟบางที่ ความแปลกของเครื่องดื่มมีฟองเย็น ๆ ทำขึ้นจากเปลือกกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะตัว แทนที่จะเลือกใช้ผลกาแฟตากคั่วเข้ม ๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากองค์กรเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นด้วยคนจำนวนไม่กี่คน ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งที่เริ่มต้นจากของเหลวในขวดสีชาเหล่านี้ พาพวกเขามารับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2560

“ก็คิดว่าเปลือกมันก็เป็นปุ๋ยได้ แต่พอขึ้นไปเห็นจริงมันเยอะกว่าที่จะเอามาเป็นปุ๋ย มันเยอะเกินไปจนทำให้น้ำก็เน่า ดินก็เสีย มันเลยกลายเป็นว่านี่มันเป็นปัญหาของคนบนนั้นที่คนข้างล่างสร้างให้เขาแล้ว”

บอมหวนพูดถึงจุดเริ่มต้นของ Castown สมัยที่เขายังเป็นบาริสต้าเปิดร้านกาแฟแล้วชวนเติ้งขึ้นดอยเพื่อสัมผัสบรรยากาศสวยงามของโฮมสเตย์ในไร่กาแฟ แต่สิ่งที่พวกเขาทั้งคู่พบกลับเป็นกองเปลือกผลกาแฟจำนวนมหาศาล กลิ่นเหม็นเน่า ที่ล้างความคิดเดิมอย่างการเอาเปลือกไปทำปุ๋ยเพราะปริมาณที่มากเกินไป บวกกับแนวโน้มของการดื่มกาแฟที่นับวันจะเพิ่มขึ้นจึงทำให้เขาฉุกคิดว่า “ที่เรากินกาแฟกันไปทุกวันนี้ เราทิ้งขยะไว้บนนี้นี่หว่า แล้วเราไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันมีขยะทิ้งไว้ให้เกษตรกรเยอะขนาดนี้เลย ก่อนหน้านี้ก็ไม่รู้ ทั้งที่ขายกาแฟมาเป็นสิบปี” เขาทั้งคู่จึงจับมือกัน หาข้อมูล ทำโซดาคราฟต์ หยิบเปลือกกาแฟมาสร้างประโยชน์ นำมาตากแห้ง ปรุงรส ใส่ CO2 ให้กลายเป็นเครื่องดื่มสุดพิเศษดับกระหายขึ้น

“จุดเริ่มต้นเราไม่ได้คิดว่าจะไปเป็นซุปเปอร์แมนไปแก้ปัญหานะ คิดแค่ว่ามันน่าจะกินได้ว่ะ มันคิดแค่นั้นก่อน ก็เลยเอามาต้มชา บอมมีความรู้เรื่อง Sparkling ทำโซดา ทำเบียร์ ก็เลยลองเอามาทำ นั่นแหละถึงรู้ว่าเวลามันมีฟองแม่งอร่อย”

แน่นอนว่าเมื่อเขาลงมือทำได้สำเร็จ Sparkling อย่าง Castown ก็สร้างมูลค่าให้กับเปลือกกาแฟที่เคยเป็นขยะให้กลับมามีมูลค่าและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อมาไม่นานด้วยรสชาติกลมกล่อมที่พัฒนามาหลายสิบรสชาติจนคนถูกอกถูกใจก็ดึงดูดให้คนจำนวนมากโหมเข้ามา เข้ามาเพื่อบอกว่าพวกเขาควรโตได้กว่านี้ พวกเขาควรใช้เครื่องจักรแทนที่แรงงานคน พวกเขาควรส่งออกคราฟต์โซดา ฯลฯ แต่อาณาจักรของ Castown กลับไม่เลือกเรื่องการเติบโต ทว่าเลือกเดินไปเคียงข้างนักดื่มและเกษตรกร และสำหรับหนึ่งคำถามที่เราถามเขาว่าถ้าใช้เครื่องจักรแทนคนอาจจะทำให้เกษตรกรได้ผลิตมากขึ้นก็ได้ เขาคิดว่าวิธีนี้ต่างกันไหม ทั้งคู่ตอบอย่างชัดเจนว่า

“ต่างสิครับ แล้วใครจะซื้อของของผมหมดล่ะเนี่ย” 

“ถ้าผมมีความคิดแต่ว่าผมจะลดแรงงาน ลดแรงงาน ๆ เราไปตัดรายได้ของคนลง แล้วกำลังซื้อที่มันอยู่ในระบบเศรษฐกิจ มันจะเพิ่มขึ้นมาได้ยังไง มีแต่คนตกงาน เราเอาคนออก เอาเครื่องจักรเข้า ขวดเรามีเยอะขึ้น แต่เราไปลดคนซื้อลงเพราะคนไม่มีรายได้ คนจะเอาเงินมาใช้หมุนเวียนในระบบอย่างไร”

ธุรกิจกับธรรมชาติ ธุรกิจแบบธรรมชาติ

เราเชื่อว่าพวกเขามีความสุขจริง ๆ กับสิ่งที่ลงมือทำ ยืนยันจากคำพูดและแววตาดิบ ๆ พร้อมเสียงหัวเราะกับความคิดมันส์  ๆ ที่ตอกย้ำว่า Mindset การลงมือทำทุกอย่างแบบไม่กลัวเจ๊ง ไม่กังวลต่ออุปสรรคที่เกิดเพราะนั่นคือธรรมชาติของการสร้างธุรกิจ ทำไปให้ยั่งยืนแต่ไม่คาดหวังความยั่งยืน คือกุญแจสำคัญง่าย ๆ ที่ต่างจากคนทั่วไป

“ยากมีตลอดแหละครับ ดีมานด์มันสูงแล้ว เราต้องพยายามตอบสนองมันให้ทันใช่ไหม แต่ผมโดนด่าได้ไง ทุกวันนี้ก็มีครับ บางทีของตกหล่นก็มี ของไปถึงไม่ครบก็มี ของขึ้นรถไปไปแตก แล้วก็ไม่ไปถึงลูกค้ามันเกิดขึ้นได้หมดแหละครับ เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบนะ แต่มันไม่ใช่เรื่องแรกของโลกหรือเปล่าที่เรากำลังเจออยู่ เราก็เลยมองไปข้างหน้าได้ว่า เออก็เดินต่อ

คนน่ะรักษาสุขภาพแทบตายยังไม่สบายเลย แล้วเราโทษวิทยาศาสตร์ได้ไหม แม่งไหนบอกว่าออกกำลังกายแล้วไม่เป็นอะไรวะ ไปตรวจอีกทีเป็นมะเร็ง ชิบหายแล้ว มันเป็นธรรมชาติ มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นแก้ที่ตัวเราดีกว่า ผมว่างานที่ประสบความสำเร็จเนี่ยไม่ใช่เรื่องที่ขายดี แต่ตัวเราทำแล้วมันได้อะไร มันคือเนื้องานที่ขัดเกลาให้เราเข้าใจมากกว่าว่าความหมายของการใช้ชีวิตคืออะไร

นอกจากนี้ ด้านเทคนิคการทำธุรกิจให้สำเร็จสไตล์ Castown เองก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะการทำตามความฝันมันต้องชัด และไม่หลงทาง

“ผมว่าคนที่อยากทำธุรกิจน่ะครับ คุยกับตัวเองเยอะ ๆ ว่าที่อยากน่ะ อยากจะทำธุรกิจหรืออยากจะมีธุรกิจ ถ้าอยากจะมีธุรกิจคือ ผมยกตัวอย่างนะ ผมอยากมีร้านกาแฟ ผมก็ก่อสร้างร้านกาแฟขึ้นมา วันที่ผมติดป้าย open ไว้ที่ประตูน่ะธุรกิจผมสำเร็จแล้วเพราะผมมีแล้ว แต่ถ้าคุณอยากจะทำร้านกาแฟ คุณไม่มีวันหยุดนะ คุณต้องแก้ปัญหา คุณต้องทำอะไรใหม่ ๆ นะ คุณต้องมีความไม่พอใจ คุณจะต้องคุยกับตัวเองเยอะ ๆ ว่าอยากจะทำจริงไหม ถ้าอยากทำก็หาทางทำให้มันได้ตามความอยาก โดยที่ไม่เจอกับสิ่งที่มันจะทำให้เราหยุด แต่ถ้าอยากจะมีง่ายมากครับ”

 

ไม่ MASS คือจุดสร้างนวัตกรรม

ทำอะไรแบบเดิมก็ได้ผลลัพธ์เดิม ๆ แต่การเลือกทำสิ่งที่ต่างออกไปคือจุดเร่ิมต้นของการสร้างนวัตกรรมที่ดีกว่า เราเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยวันนี้สงสัยว่าทำไมคราฟต์โซดาของ Castown ถึงราคาสูงแถมไม่ยอมลดราคาขาย ทำไมไม่ง้อลูกค้า แต่นี่คือจุดเล็ก ๆ ที่หลายคนไม่ควรมองข้ามจากการทำธุรกิจ เพราะมันคือสิ่งที่พวกเขาสั่งสมมาได้จากการทำ Castown ใน 365 วันที่ผ่านมา ทั้งมุมมองที่เคยคิดว่าตัวเองเคยช่วยเกษตรกร แต่ความจริงแล้วเกษตรกรต่างหากคือคนที่ช่วยเรา รวมทั้งสะท้อนปัญหาของระบบเศรษฐกิจในวันนี้ว่า อะไรคือต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้น รัฐบาล การเมือง หรือตัวเราเองที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้กันแน่ ฉุกคิดกันหมดทั้งคนถามและคนตอบ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคบอกซื้อเยอะก็ต้องลดลงสิ อีกอย่างคนไทยก็กลัวด้วย การจะขายอะไรแต่ละอย่าง กลัวไม่มีคนซื้อ กลัวแพง ขาดความมั่นใจในสิ่งที่เราแม่งมีอยู่แล้ว

แต่ถ้าเราตอบแทนเขาดี เขาก็จะมาตอบแทนสังคมดี เขาก็จะเป็นผู้บริโภคที่ดี เป็นวงจร เขามีกำลังซื้อมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจมันดีขึ้น เราคิดอย่างนี้ แต่ผมไม่ได้มาแก้ไขเศรษฐกิจนะครับ ผมแค่ทำ Castown มาหนึ่งปี แล้วสิ่งที่ผมได้จากธุรกิจนี้ นอกเหนือจากเงินเดือน กำไร ผมได้คิดว่าเราเคยคิดผิด จะไปช่วยเกษตรกร วันนี้เราคิดใหม่ เราต้องให้เกษตรกรมาช่วยเรา 1 ปีที่ผ่านมาถ้าเขาไม่เก็บกาแฟมาให้เรา แล้วทีมงานทั้งหมด 10 คนล่ะ จะเอาเงินเดือนที่ไหน จะเอาอะไรส่งไปขาย”

“คนดื่มมาดื่ม เขาอุดหนุนเรา เรามีคำว่าลูกค้าผู้มีอุปการะคุณถูกไหม ส่วนลูกค้า วันนี้ถ้าทุกคนคิดเหมือนที่เราคิดกับเกษตรกร ว่าเขาก็สร้างวัตถุดิบมาปรุงเครื่องดื่มให้เราดื่มนะ เราก็จะดื่มเขาอย่างแฟร์ ทุกคนจะเสมอกับหมด เราอุปการะซึ่งกันและกัน”

เสียงซ่าของคาร์บอนไดออกไซด์สงบลง กับการจิบอึกสุดท้ายที่หลงเหลือรสชาติให้ติดปลายความคิด หวดเราให้กลับมามองภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป เราร่ำลาเขาทั้งคู่ด้วยแสงทไวไลต์ยามเย็น เสียงปิดประตูร้าน พร้อมคำตอบของคำถามต้นทางที่ไม่ได้ตั้งใจมาถาม

ทำไมเราถึงต่อราคาทุกสิ่งที่เราอยากเป็นเจ้าของ
แล้วทำไมเราถึงต้องลดราคาให้กับคุณภาพที่ดีที่สุดเพื่อจะขายมัน?
ทางออกของระบบกลไกเศรษฐกิจที่น่าจะยั่งยืนคืออะไร

สนใจเครื่องดื่ม Non-Alcohol ที่ให้มากกว่ารสชาติ สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ CASTOWN

เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายทำจากร้าน Organic Supply

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line