

Business
5 เหตุผลที่คุณต้องฝึกเป็นผู้นำหรือหัวหน้าเวลาทำงาน บอกลาการเป็น PASSIVE EMPLOYEE
By: unlockmen September 21, 2020 189023
ตอนนี้หลายคนอาจกำลังเป็น “Passive Employee” คือเป็นพนักงานบริษัทที่ทำงานไปวันๆ และไม่มีความทะเยอทะยานใดๆ ในหน้าที่การงาน ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากภาวะผู้นำในองค์กรที่ไม่ดี ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ไม่มีความสุขในการทำงาน หรือ คุณภาพของงานที่ทำตกต่ำ ซึ่งเราเห็นว่าการอยู่ในสถานะของผู้นำจะช่วยทุกคนแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่ง UNLOCKMEN จะอธิบายต่อไป
from The Gangster, the Cop, the Devil
คนที่พยายามเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เสนอไอเดียใหม่ๆ หรือ ผู้ดูแลโปรเจคใหญ่ของบริษัทหรือองค์กร แสดงให้เห็นว่ามีความทะเยอทะยาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาเติบโตและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน นอกจากนี้คนที่มีความทะเยอะทะยานจะมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มีความทะเยอทะยานด้วย
ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบคนสองกลุ่ม ได้แก่ 1.คนที่ตั้งเป้าหมายแบบทะเยอทะยาน (ambitious goals) และ 2.คนที่ตั้งเป้าหมายแบบเซฟตัวเอง (conservative goals) และพบว่า คนที่ตั้งเป้าแบบทะเยอทะยานจะมีความสุขในระยะยาวมากกว่าคนอีกกลุ่ม
งานวิจัยชิ้นนี้ทำการทดลอง 2 ครั้ง โดย ครั้งแรกจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเล่นเกมเลือกหุ้น (stock-picking) และการทดลองครั้งสุดท้ายจะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองแก้ไขปริศนา (puzzles) ในการทดลองแรก ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 134 ราย จะต้องกำหนดอัตราผลตอบแทน (target rate of return) ที่ตัวเองอยากได้โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 6 – 20% ซึ่งทีมวิจัยได้นิยามว่า คนที่ตั้งเป้าไว้ที่ 14% หรือต่ำกว่า เป็นคนที่ตั้งเป้าต่ำ (หรือตั้งเป้าแบบเซฟตัวเอง) ส่วนคนที่ตั้งเป้าสูงกว่า 14% จะเป็นคนตั้งเป้าสูง (หรือตั้งเป้าแบบทะเยอทะยาน)
จากนั้นทีมวิจัยจะขอให้ผู้เข้าร่วมการทดลองบริหารเงินทุน 5,400 เหรียญฯ โดยการเลือกเล่น ‘หุ้นจำลอง’ จำนวน 3 หุ้น จากทั้งหมด 20 หุ้น และหลังจากนั้นเป็นเวลา 10 นาที พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนจากหุ้นจำลองที่พวกเขาเลือกเล่น (ซึ่งผลตอบแทนก็ได้ตรงตามที่แต่ละคนตั้งไว้ และพวกเขาถูกทำให้เชื่อด้วยว่าจะได้รับผลตอบแทนจริงๆ ด้วย) จากนั้นทีมวิจัยจะถามพวกเขาว่ารู้สึกพอใจแค่ไหนกับผลตอบแทนที่ได้รับกลับมา
การทดลองแรก และการทดลองที่สอง ให้ผลการทดลองไปในทางเดียวกัน คือ ผู้ที่ตั้งเป้าไว้สูง (ambitious goals) จะมีความสุขในระยะยาวมากกว่า คนที่ตั้งเป้าต่ำ (conservative goals) ซึ่งนักวิจัยได้อธิบายผลการทดลองว่า การตั้งเป้าแบบปลอดภัย (safe bets) มักไม่ค่อยมีคุณค่า ดังนั้น เมื่อเราทำเป้าหมายง่ายๆ สำเร็จ จึงเป็นธรรมชาติที่เราจะรู้สึกพึงพอใจกับมันน้อยกว่า
ตอนนี้หลายคนอาจกำลังบ่นว่า “งานที่ทำอยู่ช่างน่าเบื่อเหลือกเกิน” หรือ “รู้สึกไม่มีแพสชั่นในการทำงานเลย” บางทีที่รู้สึกแบบนี้อาจเป็นเพราะเรามีหัวหน้างานที่ไม่ดีก็ได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘แพสชั่นในการทำงานของหัวหน้า’ และ ‘แพสชั่นในการทำงานของลูกน้อง’ จากการรวบรวมข้อมูลพนักงานทั้งหมด 364 คน และหัวหน้าของพวกเขา
ซึ่งผลการวิจัยพบว่า แพสชั่นในการทำงานของหัวหน้า อาจส่งต่อมายัง ลูกน้องได้ ผ่านการติดต่อทางอารมณ์ (emotional contagion) และกระบวนการติดต่อทางอารมณ์ถูกควบคุมด้วยความสอดคล้องกันในเป้าหมายของหัวหน้าและลูกน้อง กล่าวคือ ถ้าหัวหน้ามีแพสชั่นในการทำงาน และเป้าหมายในการทำงานของหัวหน้าและลูกน้องตรงกัน ลูกน้องก็อาจมีการแพสชั่นในการทำงานตามหัวหน้าได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากรักษาแพสชั่นในการทำงานของเราให้อยู่กับเราไปนานๆ เราอาจจำเป็นต้องรับงานในตำแหน่งหัวหน้า แต่ก็ไม่ใช่แค่เป็นหัวหน้าธรรมดา แต่ต้องเป็นหัวหน้าที่ดีและเข้าใจลูกน้องด้วย (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำที่ดี ได้ที่: https://www.unlockmen.com/6-personality-traits-of-a-great-leader/)
ถ้าเราอยู่ในตำแหน่งของผู้นำ ในการทำงานเราก็จะมีอิสระมากกว่าอยู่ในตำแหน่งผู้ตาม เพราะตำแหน่งนี้มีทั้งอำนาจและตัวเลือกมากกว่า ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการใช้ชีวิตของเราด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่ง พยายามหาคำตอบว่า หากขาดความสามารถในการควบคุมไปอย่างหนึ่ง จะทำให้เราโหยหาอีกแหล่งหนึ่งมากขึ้นหรือไม่ (เช่น ถ้าเราไม่มีตัวเลือกมาก เราจะต้องการอำนาจมากขึ้นหรือไม่) โดยนักวิจัยได้ใช้วิธีการทำการทดลองหลายๆ ครั้ง เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้
ในการทดลองหนึ่ง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับหัวหน้า หรือ นายจ้าง และต้องจินตนาการว่าหากตัวเองได้รับหน้าที่นั้นจะรู้สึกอย่างไร ? (เป็นการควบคุมให้ผู้เข้าร่วมการทดลองบางกลุ่มรู้สึกไร้อำนาจ และบางกลุ่มรู้สึกมีอำนาจ ) จากนั้นทีมวิจัยจะให้สิทธิผู้เข้าร่วมการทดลองในการซื้อแว่นตา หรือ ไอศกรีม จากร้านค้าที่มีสินค้าให้เลือก 3 อย่าง หรือ ร้านค้าซึ่งมีสินค้าให้เลือก 15 อย่าง
ผลการทดลองพบว่า คนที่รู้สึกไร้อำนาจ จะเต็มใจไปยังร้านที่มีตัวเลือกมากกว่า แม้จะต้องขับรถไปไกลขึ้น หรือ ต้องรอนานขึ้นก็ตาม ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ความไร้อำนาจทำให้คนโหยหาตัวเลือกที่มากขึ้น และในการทดลองอีกชุดหนึ่งพบว่า เมื่อคนไม่มีตัวเลือก พวกเขาจะโหยหาอำนาจมากขึ้น เช่น ปราถนาในตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีอำนาจ และงานวิจัยยังพบด้วยว่า คนสามารถพอใจในอำนาจ หรือ ตัวเลือก หรือ พอใจทั้งคู่ได้ แต่ไม่สามารถพึงพอใจได้เลย หากไม่มีทั้ง 2 อย่าง
พอเราเป็นเจ้าคนนายคนแล้ว เวลาทำอะไรจะได้รับการเคารพจากคนอื่นๆ มากขึ้น และไม่ค่อยเจออุปสรรค์ในการทำงานร่วมกับคนอื่นมาก เพราะไม่ค่อยมีใครกล้าหือกับเรา! แต่แน่นอนว่า ยิ่งเรามีอำนาจมากขึ้นเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นเช่นกัน (with great power comes great responsibility) เพราะหากหัวหน้าตัดสินใจผิดพลาด ก็อาจทำให้บริษัทหรือองค์กรเสียหายได้มากกว่าคนอื่น ดังนั้น ถึงแม้เราจะเป็นหัวหน้าแล้วก็ตาม เราก็ไม่สามารถทำงานแบบขอไปทีได้ แต่ต้องตั้งใจทำงานให้ถึงที่สุด อีกทั้งต้องรับฟังลูกน้องในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาที่พบเจอในการทำงาน หรือ ปัญหาส่วนตัว เพื่อให้เกิดทีมเวิร์ก และ ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ตำแหน่งที่ต้องใช้ภาวะผู้นำ อาทิ ผู้บริหารระดับสูง ได้รับเงินเดือนสูงกว่าตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งหากเราอยู่ในตำแหน่งนั้น เราก็อาจมีความพึงพอใจในรายได้ของตัวเองมากขึ้นด้วย พอมีรายได้มากขึ้น เราก็อาจเกิดความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นด้วย เพราะงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าพนักงานที่พอใจในรายได้ของตัวเองจะมีแรงจูงในใจและความโปรดักทีฟในการทำงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น