Entertainment

5 TED TALKS ระเบิดศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในวันต้องทำงานผ่านทางไกล

By: anonymK April 16, 2020

วันนี้ “ทุกอย่างต้อง from home” แต่ตอนนี้เราก็ยังรู้สึกว่าตัวเองปรับตัวไม่ค่อยได้ เราเหงา เรารู้สึกไม่พร้อม เราไม่มีใจจะทำงานให้จบเลย นั่นอาจเป็นเพราะยังไม่มีรุ่นพี่มาคอยบอกเราจริง ๆ ว่า “เฮ้ย! วิธีนี้มันเวิร์กกว่าที่คิด และต้องทำแบบนี้”

UNLOCKMEN อยากให้ทุกคนมีไฟแต่ต้องมีวิธีแก้ไขติดตัวให้ทำได้มาด้วย จึงขอแนะนำเทคนิคจากชาว TED TALK ที่เขาผ่านน้ำร้อนมาก่อน ว่าสิ่งไหนเราควรทำ ไม่ควรทำ และพวกเขาควบคุมงานผ่านห้องนั่งเล่นยังไง

ทำงานอยู่บ้าน ดีกับธุรกิจจะตาย!

ถึงแม้จะมีธุรกิจหลายประเภทต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันถึงจะทำได้ แต่การทำงานทางไกลสำหรับหลายธุรกิจก็อาจจะเหมาะสมกว่าอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เรื่องนี้ขึ้นทอล์กโดย Matt Mullenweg ซีอีโอจากบริษัท Automattic บริษัทที่ทำงานอยู่เบื้องหลังบริษัทชั้นนำทั้ง wordpress.com, Jetpack และ WooCommerce

เขาทำงานร่วมกับพนักงานถึง 900 คนผ่านระบบทางไกลจากต่างสถานที่มานาน และทำมันได้เวิร์กสุด ๆ แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าวิธีการทำงานของเขา Step by Step เป็นอย่างไร แนะนำว่าไม่ควรพลาด เพราะบางอย่างที่ได้เรียนรู้จากคลิปนี้อาจเป็นสิ่งที่องค์กรของคุณกำลังตามหา

10 วิธีสร้างการสนทนาไกลให้เหมือนใกล้

การทำงานต่างสถานที่ ปัญหาน่ากลัวกว่างานไม่เดินคือคนไม่คุยกัน เพราะวันนี้ต่างฝ่ายต่างอยู่บ้าน แถมการพิมพ์และการพูดคุยผ่านช่องทางนี้อาจทำให้การสื่อสารผิดพลาด

Celeste Headlee ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะการสื่อสารทางไกลและดำเนินรายการสัมภาษณ์มาแล้วกว่า 1000 สื่อจากประสบการณ์หลายปีในฐานะนักจัดรายการวิทยุ บอกเคล็ดลับส่วนตัวของเธอว่าทำอย่างไร เราถึงจะคุยและสื่อสารให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ยิ่งช่วงนี้ที่การพูดคุยและทำงานของเราต้องคุยผ่าน zoom ด้วยแล้ว การฟัง TEDx Talk คลิปนี้บอกเลยว่ามีประโยชน์มาก ๆ

อยู่บ้านงานไม่เดิน ผัดผ่อนเวลาส่งไปเรื่อย ๆ

การทำงานที่บ้านมันไม่ได้เวิร์กสำหรับทุกคน คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเวิร์ก แต่ 100 ทั้ง 100 ถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแชร์ร่วมกับคนอื่น อาการผัดวันประกันพรุ่งจะเกิดขึ้นบ่อยแน่นอน เพราะสภาพแวดล้อมมันชวนให้สันหลังยาวสุด ๆ

Tim Urban บล็อกเกอร์อารมณ์ดีหาวิธีแก้อาการเลื่อนงานแล้วไปบีบเวลาช่วงท้าย ที่ทำให้เราเสียสุขภาพ โดยบอกวิธีรับมือกึ่งคอมเมดี้ เข้าใจง่ายให้เราฟัง และความน่าสนใจของการฟังคลิปนี้คือเขาเอาเรื่องจริงมาพูด บอกความรู้สึกจริงมาบอกแบบหมดเปลือก ไม่ต้องเท่หรือโปรดักทีฟจนดูไกลตัวอย่างที่เคยฟังมาจากคลิปไหน ๆ ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ขี้เกียจ มันไม่แปลกอะไร แต่จงหาวิธีรับมือกับมันเสีย จะได้ไม่เหนื่อยมากเวลาต่อให้ทำงานจากที่ไหนก็ตาม

ห่างไกล วิธีรักษาทางไกลคือเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ

บทเรียนจากวิกฤตคือกุญแจสำคัญของการแก้วิกฤต และสิ่งที่หลายคนจินตนาการไม่ออกว่าเราจะสามารถหยุดสถานการณ์เลวร้ายนี้ได้ยังไงอยู่ที่การทำงานผ่านทางไกล

Pardis Sabeti นักชีววิทยาจาก Harvard กล่าวถึงบทเรียนจากประสบการณ์จริงที่ผ่านมาเมื่อทีมงานและตัวเธอแก้ไขปัญหาโรคระบาดร้ายแรงผ่านการทำ Team Remote ในวันที่หลายพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ข้อมูลและงานวิจัยโรคเปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าเพื่อให้ทุกพื้นที่ที่ยังไม่ได้ผลกระทบสามารถเตรียมตัวรับมือก่อนได้ ความสูญเสียจึงต่ำลง

การเชื่อมต่อ ซิงก์และช่วยเหลือกันคือกุญแจสำคัญของการหยุดโรคระบาดครั้งนี้ และอาจเป็นกุญแจสำคัญให้คุณสามารถรอดพ้นจากวิกฤตนี้เช่นกัน

คำสารภาพของคนเป็น Micromanagment และวิธีการปรับตัว

เป็นเจ้านายคนมันไม่ง่าย แถมช่วงนี้ ภาวะนอยด์รับประทานเพราะทุกวินาทีการทำงานรับเงินเดือนควรคุ้มค่าที่สุดอาจทำให้ผู้นำองค์กร หรือคนระดับหัวหน้าอย่างคุณแผ่รังสีพิฆาตลูกน้องไม่รู้ตัว

แต่เหตุการณ์นี้มันไม่แปลก ผิดทางไม่เป็นไร ไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นไรอีกเหมือนกัน เพราะคลิปนี้เป็นคำสารภาพของ Chieh Huang ซีอีโอที่เปิดโอกาสให้ทุกคนลองเช็กพฤติกรรมตัวเองว่ากำลังเป็นบอสแบบนั้นอยู่หรือเปล่า เนื่องจากเขาเคยทำแบบนั้นมาเหมือนกัน (แต่ตอนนี้แก้ไขได้แล้ว)

จำไว้ว่าความนอยด์ของหัวหน้าและการเสพติดการจี้งาน เพื่อรีดประสิทธิภาพของทีมในภาวะแบบนี้อาจส่งผลให้ทีมพังโดยไม่รู้ตัว เราลองมาฟังวิธีสอนวิธีเคียงบ่าเคียงไหล่พนักงานเพื่อก้าวข้ามวิกฤตดีกว่า นาทีนี้ “เราต่างเป็นครอบครัวเดียวกัน และสถานการณ์นี้เราไม่อยากทิ้งใครไว้กลางทางหรือถูกใครทิ้ง ดังนั้นมาพยายามประคองมันให้ดีที่สุดด้วยกันเถอะ”

ทั้งหมดนี้คือ 5 TED Talks ที่ไม่ได้ให้แค่แรงบันดาลใจ แต่ชวนให้เราทุกคนเห็นว่าการทำงานทางไกลมันดีจะตาย และยังคายเทคนิคบอกหนทางเพื่อปรับใช้ได้ด้วย ที่สำคัญเวลาเฉลี่ยต่อคลิปก็ไม่นาน เบรกซีรีส์มาดูหรือฟังอาจจะเปลี่ยนมุมมองการทำงานที่บ้านของคุณจากนี้ไปชั่วชีวิตเลยก็ได้

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line