Life

ทำไมความสุขถึงเจ็บปวด ? 5 วิธีที่ความสุขจะทำลายเราได้

By: unlockmen September 20, 2021

ในชีวิตนี้เราคงผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เรามีความสุขมามากมาย เช่น ตอนที่ได้ของขวัญวันเกิด ตอนที่ได้รางวัลใหญ่ ตอนที่จีบสาวติด หรือ ตอนที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ เหตุการณ์เหล่านั้นคงทำให้หลายคนเกิดอาการดีใจเบิกบาน ร่าเริง และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตไปอีกหลายวัน

แม้ความสุขดูจะเป็นสิ่งที่ดีจนทำให้หลายคนพยายามตามหามัน แต่วิทยาศาสตร์กลับบอกเราว่า การให้ความสำคัญกับความสุขมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อเราได้ในหลายด้านเหมือนกัน เช่น ทำให้เราเผชิญหน้ากับปัญหาได้แย่ลง ทำให้เราไม่มีความสุข ร้ายที่สุดมันอาจทำให้เราตายไวขึ้นด้วย

 

ความสุขที่มากเกินไปอาจไม่ดีต่อหัวใจ

ความสุขที่มากเกินไปอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจของเราอ่อนแรงลงได้ไม่ต่างจากคนอกหัก ทีมวิจัยจาก University Hospital Zurich พบว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขอาจทำให้เราเกิด ภาวะใจแหลกสลาย (Takotsubo syndrome) หรือ ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงแบบเฉียบพลันได้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย Takotsubo syndrome จำนวน 485 ราย แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยจำนวนกว่า 96% มีเหตุการณ์เศร้าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ ส่วนอีก 4% มีอาการจากเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขาดีใจสุดขีด งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ความเศร้าที่เป็นภัยต่อหัวใจ แต่ความสุขก็ทำให้ชีวิตตกอยู่ในอันตรายได้เหมือนกัน


ความสุขที่มากเกินไปอาจทำให้เราแก้ปัญหาได้แย่ลง

แม้ความปิติยินดีจะเป็นแรงผลักดันให้เราใช้ชีวิต และทำให้เราทำอะไรหลายอย่างได้ดีขึ้น แต่ถ้าเราถูกครอบงำด้วยความสุขมากเกินไป ผลที่เกิดขึ้นอาจมีร้ายมากกว่าดี งานวิจัยเมื่อปี 2008 ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ คือ เมื่อคนรู้สึกมีความสุขที่มากล้นจนเกินไป พวกเขาไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นเหมือนตอนที่พวกเขามีความสุขแบบพอประมาณ ยิ่งถ้าเราอยู่ในภาวะเมเนีย เราจะไม่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เลย นอกจากนี้นักจิตวิทยายังบอกด้วยว่า การมีอารมณ์ด้านบวกมากเกินไป และมีอารมณ์ด้านลบน้อยเกินไป ทำให้เราไม่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ด้วย กล่าวคือ เราอาจจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แย่ลงเมื่อมีความสุขสุดขีดนั่นเอง


ความสุขแบบไม่รู้เวลาทำลายชีวิตเราได้เหมือนกัน

แม้อารมณ์ลบ เช่น ความกลัว ความโกรธ หรือ ความเกลียดชัง จะทำให้เรารู้สึกไม่ดี และกระตุ้นให้เราลงมือทำสิ่งแย่ ๆ อยู่เสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังคงต้องการอารมณ์เหล่านั้นอยู่ เพราะทุกอารมณ์มีหน้าที่ช่วยเราปรับตัวต่อปัญหาหรือเหตุการณ์ใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิตแต่ละวันของเรา อย่างความโกรธก็ช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมืออุปสรรคได้อย่างรวดเร็ว หรือ ความเศร้าก็ช่วยให้เราตามหาสิ่งขาดหายไปจากชีวิต ความสุขจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะมีต่อเวลา เช่น ในตอนที่เราแข่งขันกับคนอื่น ความสุขอาจทำให้เรารู้สึกสบายใจเกินไป จนเราเกิดอาการคิดช้า ลงมือทำข้อสอบช้า สุดท้ายก็มีผลสอบที่แย่กว่า คู่แข่งที่เคร่งเครียด หรือ เอาจริงเอาจังกับการทำข้อสอบมากกว่า งานวิจัยที่ทำโดยนักวิจัย Maya Tamir ยังพบว่า คนอารมณ์ดีจะเล่นเกมแข่งขัน (competitive) บนคอมได้ห่วยกว่าคนที่กำลังโกรธอยู่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรมีความสุขตลอดเวลา


ความสุขบางประเภทอาจทำให้เรากลายเป็นคนแย่ ๆ ได้

ความภาคภูมิใจ ความบันเทิงเริงใจ ความตื่นเต้น ความรัก หรือ การมองโลกในแง่บวก ล้วนเป็นความรู้สึกที่เราเรียกว่าความสุข เพราะมันทำให้เรารู้สึกดีเหมือนกัน แต่บางครั้งความสุขเหล่านี้ก็ทำให้เราใช้ชีวิตได้แย่ลงเหมือนกัน อย่างความภาคภูมิใจ ถ้าเรามีความภาคภูมิใจในตัวเองมากเกินไปจนไร้คุณธรรม เราอาจจะรับฟังคนอื่นน้อยลง ทำตัวขวางโลกมากขึ้น และก้าวร้าวกับคนอื่นมากขึ้นได้ นอกจากนี้มันอาจทำให้เราไร้ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจ หรือ ไร้ความสามารถในการคิดจากมุมมองของคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน


ความสุขยิ่งวิ่งตามหายิ่งเป็นทุกข์

ความสุขดูเป็นสิ่งที่มีค่ามากพอที่จะทำให้หลายคนพยายามไขว่คว้ามันในทุกช่วงเวลา แต่ในความเป็นจริงการวิ่งตามหาความสุข อาจทำให้นักวิ่งเจ็บปวดรวดร้าวหนักกว่าเดิม เพราะพวกเขามีความคาดหวังกับความสุขสูงเกินไป จนพวกเขาไม่สามารถได้รับความสุขตามที่พวกเขาคาดหวังไว้ได้ สุดท้าบเมื่อไปไม่ถึงความคาดหวังนั้น พวกเขาก็จะเจ็บปวดและทรมานจากความผิดหวังหลายครั้ง และอาจแย่จนเกิดเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต ความสุขจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่เราควรวิ่งตามหามัน แต่เป็นสิ่งเราควรรอให้มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า


แล้วเราควรมีความสุขแค่ไหนกันแน่

เมื่อความสุขที่มากเกินไปไม่ดี และความสุขที่น้อยเกินไปก็เสี่ยงต่อการล่มสลายของจิตใจ หลายคนคงเกิดความสับสนและมีคำถามว่า “แล้วควรมีความสุขเท่าไหร่ถึงจะพอ” UNLOCKMEN จึงอยากมาแนะนำวิธีการบริหารความสุข เพื่อสร้างความ balance ในการใช้ชีวิต และป้องกันไม่ให้ความสุขทำลายชีวิตของเราจนพังยับเยิน

  • เริ่มจากการหาความสุขที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง เพราะความสุขที่มากเกินไป หรือ น้อยเกินไป ทำร้ายเราได้ไม่ต่างกัน ขอบเขตที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่เราต้องหาให้เจอ
  • สังเกตอยู่เสมอว่าสถานการณ์ที่เราอยู่เหมาะกับความสุขหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเวลาไหนควรมีความสุขหรือไม่ควรมี เราจะเสี่ยงทำตัวขายหน้าคนอื่นมากขึ้นกว่าคนที่รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว
  • พยายามควบคุมการแสดงอารมณ์ของตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ เพราะถ้าเราไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง เช่น ยิ้มแย้มหรือหัวเราะในเวลาที่แสนตรึงเครียด เราอาจถูกคนอื่นมองในแง่ลบได้
  • สุดท้ายเราควรมีเหตุผลที่ดีในการมีความสุข เพราะถ้าเราพยายามไล่ตามมันแบบไม่สนใจอะไร เราอาจจะเจ็บปวดมากกว่ารู้สึกยินดีกับมันก็ได้

อย่างไรก็ตาม ความสุขก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ละคนนิยามความสุขแตกต่างกันออกไป บางคนอาจมีความสุขเวลาได้ดูซีรีส์เกาหลี หรือ บางคนอาจมีความสุขเวลาได้เล่นเกมกับเพื่อน ฯลฯ แต่ไม่ว่าคุณจะนิยามความสุขว่าเป็นแบบไหน สิ่งที่สำคัญ คือ การเอาใจใส่ความรู้สึกของตัวคุณเองเป็นหลัก และคนอื่นเป็นรอง เพราะถ้าเรายังทำตัวเองให้รู้สึกดีไม่ได้ มันคงเป็นเรื่องยากที่เราจะทำให้คนอื่นมีความสุข


Appendix: 1 / 2 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line