Life

ซีไรต์ที่รัก: 7 หนังสือซีไรต์ที่ UNLOCKMEN อยากแนะนำเพราะรัก ไม่ใช่เพราะได้รางวัล

By: PSYCAT October 10, 2018

หนุ่ม ๆ คนไหนที่หลงใหลหนังสือและการอ่านอาจพอได้ยินข่าวการประกาศผลหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2561 ไปหมาด ๆ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนผู้ชายคนไหนไม่ได้ติดตามการประกาศรางวัลนี้เป็นพิเศษก็ไม่ถือว่าพลาดอะไรไป เพราะขึ้นชื่อว่าหนังสือ ต่อให้ไม่มีรางวัลอะไรการันตี ถ้าเรารัก เราชอบ เราถูกใจ อ่านเล่มไหนก็ดีทั้งนั้น วันนี้ UNLOCKMEN เลยอยากนำเสนอหนังสือ 7 เล่มที่เรารัก (และได้รางวัลซีไรต์ด้วย) พูดง่าย ๆ ว่าที่เลือกมาเพราะใจรัก ส่วนซีไรต์ที่ได้ถือเป็นส่วนเสริมเท่านั้น ต่อให้ไม่ได้ซีไรต์เราก็รักอยู่ดี

รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้แก่ผลงานประเภทต่าง ๆ สำหรับในไทยก็จะสลับกันไปในแต่ละปีระหว่าง รวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และนวนิยาย

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ : จเด็จ กำจรเดช

“ตอนที่หยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ไม่รู้จักนักเขียน ไม่รู้ว่าเป็นหนังสือรางวัลอะไรเลย แต่สะดุดตากับชื่อหนังสือเลยหยิบขึ้นมา ยืนอ่านคร่าว ๆ ไม่ถึงนาทีก็ตัดสินใจเอาเล่มนี้เลย เพราะชอบสำนวนการเขียน การประชดประชัน เสียดสี ที่ต้องอาศัยความตั้งใจในการตีความด้วย ถึงจะได้ความหมาย อารมณ์ ที่อยู่เบื้องหลัง

แต่นั่นก็เป็นข้อเสียเหมือนกัน ปกติจะชอบอ่านหนังสือแบบรวดเดียวจบ แต่รู้สึกว่าเนื้อหาข้างในมัน Emotional มากจนอ่านทีเดียวจบไม่ได้” – ครีม Content Creator

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟคือซีไรต์ประจำปี 2554 เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ครีม Content Creator ของเราหลงรัก ด้วยความที่ทั้งซับซ้อน อ่านแล้วต้องเว้นระยะเป็นช่วง ๆ แต่ก็เสียดสี ประชดประชันได้อย่างมีเสน่ห์จนต้องตามอ่านให้จบ ยิ่งถ้าเป็นผู้ชายที่หลงใหลสัญญะ การตีความ ไม่ควรพลาดเล่มนี้จริง ๆ

ลูกอีสาน : คำพูน บุญทวี

“สำหรับผมลูกอีสานเป็นหนังสือที่มีภาษาและการเล่าเรื่องที่สามารถสร้างภาพในจินตนาการได้ชัดเจนมาก มาพร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่หลากหลาย สร้างสถานการณ์ให้เราคิดภาพตามว่าถ้าเป็นตัวเองจะสนุกสนานแค่ไหนหรือแก้ปัญหาด้วยวิธีอะไร เรียกว่าครบรสชาติ” – โอม Content Creator

ลูกอีสานเป็นหนังสือนวนิยายของคำพูน บุญทวี ได้รางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2522 โอม Content Creator ของเรา แอบกระซิบเพิ่มเติมมาว่าเขาเองเป็นคนบ้านเดียวกับนักเขียนรางวัลซีไรต์คนนี้ด้วย ดังนั้นทุกเรื่องราวในหนังสือเรื่องลูกอีสานจึงโลดแล่นในจินตนาการของเขาอย่างแจ่มชัด และทำให้คอยครุ่นคิดตลอดเรื่องว่าถ้าตัวเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับในหนังสือจะเป็นอย่างไร โดยลูกอีกสานนำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์จริงที่ผู้เขียนพบเห็นถ่ายทอดออกมาในรูปแบบนวนิยาย เราจะได้เห็นขนบ ธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิตในท้องถิ่น แบบที่คนเมืองไม่สามารถหาเสพได้จากที่ไหนง่าย ๆ

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน : วินทร์ เลียววาริณ

“เหมือนได้อ่านประวัติเส้นทางประชาธิปไตยไทยฉบับย่อ นับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ผ่านรูปแบบการเขียนเชิงนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่อ่านเพลินกว่าไปไล่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์แบบจริงจัง ถึงแม้ว่าบางข้อมูลในเรื่องจะไม่สามารถฟันธงเรื่องความถูกต้องได้ชัดเจนขนาดนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน

แต่หลาย ๆ เหตุการณ์ในอดีต ที่ถูกบอกเล่าผ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ช่วยทำให้เราเข้าใจถึงภาพใหญ่ของประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ในปัจจุบัน” – ท็อป Sponsor Content Editor

ประชาธิปไตยบนเส้นขนานเป็นหนังสือนิยายของ วินทร์ เลียววาริณ ได้รางวัลซีไรต์ประจำปี 2540 เรากล้าพูดเลยว่าหนังสือเล่มนี้กลายเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่ทำให้หลาย ๆ คนสนใจเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง เนื่องจากประชาธิปไตยบนเส้นขนานจำลองภาพเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลัง 2475 มาอยู่ในรูปแบบนวนิยายที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน แม้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะเป็นสิ่งที่นักอ่านอย่างเรา ๆ ต้องไปค้นคว้าหาคำยืนยันเพิ่มเติมเอง แต่ใครที่อยากเริ่มต้นเรียนรู้การเมืองไทย เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่ไม่ใช่ยาขมเกินไปนัก

เวลา : ชาติ กอบจิตติ

“ชอบวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เคยอ่านมา ภาษาที่ใช้ก็เรียบง่าย แต่อ่านแล้วชวนให้ฉุกคิดอะไรได้มากอย่างคาดไม่ถึง” – เกม Photographer

รางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายประจำปี 2537 ตกเป็นของหนังสือเรื่องเวลาของชาติ กอบจิตติ เกม Photographer ของ UNLOCKMEN หลงรักเล่มนี้ด้วยความเรียบง่ายของการใช้ภาษา แถมวิธีเล่าเรื่องก็โดดเด่นไม่เหมือนใคร เนื้อเรื่องเล่าในรูปแบบที่อ่านแล้วเหมือนว่าเรากำลังเข้าชมละครเวที โดยละครเวทีเรื่องนี้มีฉากอยู่ในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ในโรงละครแห่งนี้ ทุกฉาก ทุกตอน คือชีวิตประจำวันที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า น่าเบื่อของคนชราแต่ละคน แต่ไม่น่าเชื่อว่าท่ามกลางความจำเจและภาษาเรียบง่าย จะกระตุกให้เราคิดถึง “เวลา” ได้สมกับชื่อหนังสือจริง ๆ

ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง : อัศศิริ ธรรมโชติ

“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ไม่หนามาก เคยอ่านตอนเรียนสมัยยังเป็นนิสิต ทำให้รู้สึกมีพลัง มีอุดมการณ์ เราชอบหนังสือที่เขียนเหมือนเป็นบทกวี เพราะรู้สึกว่าช่องว่างที่ไม่เชื่อมกันเหมือนร้อยแก้วกับการใช้คำน้อยทำให้จินตนาการได้ลึกขึ้น ใครที่ไม่รู้เรื่องราวเดือนตุลาหรือไม่อินเรื่องการเมืองเลยจะเข้าใจมากขึ้น และเข้าใจว่าทำไมหน้าปกถึงใช้ชื่อว่าขุนทอง…เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” – แก้วใจ Content Creator

ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสางเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ของ อัศศิริ ธรรมโชติเป็นหนังสือรางวัลซีไรต์ประจำปี 2524 เล่าเรื่องราวที่ได้อิทธิพลทางการเมืองอันกำลังเข้มข้นในขณะนั้น โดยเฉพาะเรื่องราวของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศที่นักศึกษา ประชาชนผู้คุกรุ่นไปด้วยอุดมการณ์ถูกกวาดล้างและหนีเข้าป่าไปในที่สุด แม้เนื้อหาจะดูเข้มข้น แต่แก้วใจ Content Creator ของเราบอกมาว่าอ่านได้ราบรื่นราวบทกวี แถมน้อยแต่มาก เพราะเปิดช่องว่างให้เราได้หายใจหายคอและตีความในแบบของเราเองด้วย

ความน่าจะเป็น : ปราบดา หยุ่น

“สำหรับเราความน่าจะเป็นคือหนังสือที่ปฏิวัติมุมมองที่เรามีต่อการใช้ภาษา ปราบดาแสดงความเป็นจอมขบถแห่งภาษาไทยออกมาอย่างชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ ทุกหน้ากระดาษอัดแน่นไปด้วยความพลึกพิลั่นทางไวยากรณ์ อย่างที่ความเห็นของคณะกรรมการท่านหนึ่งเคยให้ไว้ว่าปราบดาคือนักโต้คลื่นทางภาษาตัวจริง” – เพียว Content Creator

ความน่าจะเป็นคือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่คว้ารางวัลซีไรต์ ปี 2545 ไปครอบครอง นอกจากภาษาจะหวือหวาหาตัวจับยากอย่างที่เพียว Content Creator บอกไว้แล้ว เนื้อหายังเข้มข้นไปด้วยแนวคิดอันเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ วิพากษ์ วิจารณ์เสียดสีสังคมได้อย่างมีอารมณ์ขัน ความโดดเด่นทางกลวิธีการเล่าก็หาตัวจับยาก ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงจริง ๆ

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ – วีรพร นิติประภา

“สวย ภาษาโคตรสวย คือไม่เคยเจอใครที่เขียนแล้วเหมือนเสกภาษาให้ร่ายรำได้ขนาดนี้ เล่าร้อยแก้วออกมาแต่ล่องลอยไหลลื่นเหมือนบทกวีขนาดนั้นได้ยังไง ?

แต่ที่รู้สึกว่ามันกระแทกใจคือเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ที่ข้อมูลแน่นมาก แต่คนเขียนกลับเอามาร้อยเรียงให้กลายเป็นเรื่องเล่าความรักของครอบครัวน้ำเน่าร้าวรานเต็มไปด้วยการพลัดพรากแบบเนียน ๆ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วทุกฉาก ทุกเหตุการณ์ทุกตอนมันเต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม มนุษยวิทยา วิถีชีวิตเต็มไปหมด

เล่มนี้มันเลยพร้อมด้วยความงามทางภาษา เรื่องราวที่เล่าออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แทรกมาได้แบบเนียน ๆ ” – ลูกแก้ว Content Creator

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำของวีรพร นิติประภา คือหนังสือนวนิยายที่ครอบครองรางวัลซีไรต์ปีล่าสุด (2561) ไปครอง ความน่าหลงรักของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพราะมันได้ซีไรต์แต่เพราะมันทรงคุณค่าด้วยตัวมันเองแบบไม่มีอะไรปฏิเสธได้ ถ้าอ่านเอาเพลิน ก็จะเพลิดเพลินแบบไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าอ่านเพื่อตีความเอาสัญญะ เอาความหมายทางสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง ก็ไม่ผิดหวังแน่นอน

หนังสือที่ได้รางวัลอาจไม่ใช่หนังสือที่เรารัก และหนังสือที่เรารัก เราชอบ ต่อให้ไม่มีรางวัลไหนมาการันตี เราก็ชอบมันอยู่ดี แต่ถ้าบังเอิญว่าหนังสือที่เรารักบังเอิญได้รางวัลด้วย เราก็อดร่วมแสดงความยินดีกับนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ออกมาให้เราอ่านด้วยไม่ได้ สำหรับผู้ชายคนไหนที่ไม่เคยคว้าหนังสือซีไรต์มาอ่านเพราะกังวลว่าหนังสือรางวัลจะต้องเข้าถึงยาก เราก็อยากบอกว่ามันก็ง่ายยาก สนุก ไม่สนุก ปะปนกันไปตามจริตเรา แต่ถ้าอยากเริ่มชิมลางดูสักเล่ม ก็เลือกจาก 1 ใน 7 เล่มนี้ไป ไม่มีผิดหวังแน่นอน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line