GADGETs

“โพธิสัตว์ AI” นวัตกรรมสุดล้ำท้าทายวงการศาสนา ตัวช่วยเผยแผ่คำสอนนอกไตรปิฎก

By: anonymK March 8, 2019

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าวงการที่แทบจะเรียกได้ว่าอยู่ท้ายตารางอย่าง “ศาสนา” วันนี้ก็เจอ disrupt กับเขาเหมือนกัน เทคโนโลยีกับความเชื่อแม้จะดูสวนทาง เพราะความเชื่อมักมากับลุค old fashioned และความเชื่อส่วนใหญ่บล๊อกทุกการตั้งคำถามและปฏิเสธการตอบรับสิ่งใหม่ เนื่องจากศรัทธาที่ปลูกมานานนับศตวรรษแข็งแรงเกินกว่าจะยกลงจากหิ้ง หรือเอาอะไรไปงัดง้าง

Photo via KyodoNews

แต่ข่าวล่าสุดที่ญี่ปุ่นได้นำนวัตกรรมล้ำ ๆ อย่าง AI มาใช้ร่วมกับศาสนา ด้วยการสร้าง Mindra ปัญญาประดิษฐ์ที่ถอดแบบจาก Kannon พระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมเมตตา เข้ามาทำหน้าที่หน้าที่เผยแผ่ศาสนาที่วัด Kodaiji วัดโบราณของเกียวโต

การจำลองรูปพระโพธิสัตว์เพื่อเป็นเครื่องเชื่อมระหว่างศาสนากับมนุษย์ในยุคนี้ ผู้ดูแลวัดกล่าวว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก ประการแรกคือเพื่อสร้างความเข้าใจคำสอนให้กับผู้มาสักการะหรือศึกษา เนื่องจากทุกวันนี้ “วัด” กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวของประเทศ

Mindra ทำหน้าที่กล่าวถึงปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร พระสูตรที่เปรียบดังหัวใจของพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นภาษาญี่ปุ่น ระบบเทคโนโลยีจะแปลข้อความเป็น subtitle ภาษาอังกฤษและภาษาจีนขึ้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องความเข้าใจคลาดเคลื่อน และอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือการมีรูปลักษณ์ที่เรียกศรัทธา เพราะพวกเขาเชื่อว่าวัจนะกับคำสอน ถ้าออกมาจากปากของบุคคลที่ผู้คนเคารพจะเรียกศรัทธาได้มากกว่า

AI กับศาสนา

เท้าความกันก่อนว่า หลายคนที่เพิ่งเห็นข่าวนี้อาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย! เรื่องนี้มันใหม่มาก แต่ความจริงก่อนจะมี AI เข้ามาทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาอย่างที่เห็นนี้ จักรกลก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาก่อนแล้ว แม้ไม่ใช่ทางตรง แต่ก็เข้ามาทางอ้อมเพื่อเครื่องมือสนับสนุนความเชื่อให้ลึกซึ้งขึ้น เช่น การจำลองภาพบาปบุญเวรกรรมในรูปแบบที่หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้ ไม่ว่าจะเหล่ายมทูตที่กำสามง่ามแน่นคอยแทงสัตว์นรก ฯลฯ สร้างภาพจำเรื่องความน่ากลัวสำหรับขีดเส้นแบ่งทางศีลธรรมให้ชัดเจนจนคนอยู่ในกรอบการปฏิบัติ

Pepper ภิกษุ AI : photo via ニッセイエコ via @Press

เรื่องศรัทธาประดิษฐ์อย่าง “Mindra” ที่จำลองภาพพระโพธิสัตว์นี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่นำ AI มาใช้ในฐานะนักเผยแผ่ศาสนา ก่อนหน้านี้ราว 2 ปี เราก็ได้ยินข่าวว่าที่ญี่ปุ่นสร้าง Pepper หรือหุ่นยนต์พระสงฆ์มาก่อนแล้ว แม้หน้าตาของ Pepper จะไม่ได้หล่อเหลาคมคาย แต่เรื่องฟังก์ชันสำคัญอย่างการสวดก็ครบครัน นำมาใช้เพื่อกลบ pain point ของราคาการจัดพิธีทำศพในญี่ปุ่นที่มีราคาแพง และต่อยอดรูปแบบการบริการไปพร้อมกัน

เราขอไม่แตะประเด็นศาสนา เครื่องมือ และการพาณิชย์ เพราะเป็นเรื่องนานาจิตตัง ตั้งใจมาเพื่อขยายความคืบหน้าของวิทยาการที่เกิดขึ้น และเราเคารพทุกความเชื่อที่แต่ละคนยึดถือ ดังนั้น ข้ามไปที่ประเด็นต่อไปเรื่องข้อดีข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำหุ่นยนต์มาใช้เผยแผ่คำสอนกันเลยดีกว่า

หุ่นยนต์เรียนรู้คือผ้าขาว

เริ่มต้นที่ความน่าสนใจจากคุณสมบัติเฉพาะก่อน ต้องยอมรับว่าวันนี้หุ่นยนต์มีหน่วยความจำและความแม่นยำสูงกว่าพวกเรา พื้นที่ความจำที่คลีนขาวเหมือนแฟลชไดร์ฟเพิ่ง Format มา ดังนั้น ข้อดีที่มีและเห็นได้ชัดคือจุดตั้งต้นที่สะอาด ไร้อคติ จะทำให้มันไม่ปนเปื้อนพระธรรม น้อมนำคำสอนแบบตรง ๆ รับมาอย่างไรก็อย่างนั้น ว่าอย่างไรว่าตามนั้นได้เป๊ะ ๆ ตอบคำถามข้อสงสัยได้อย่างไม่บิดพลิ้ว (แต่เรื่องการประยุกต์ตอบคำถามเวลาผู้คนถาม หรือยกตัวอย่างข้อความคงต้องมาจากการเรียนรู้ภายหลัง) ขณะเดียวกันในแง่การประกอบศาสนพิธีก็ทำได้ง่าย ๆ ไม่มีเหนื่อยล้า เพราะไม่มีเรื่องของสภาพร่างกายมาเป็นตัวกำหนดเหมือนที่มีในศาสนิกชน

เอาเป็นว่าโลกหน้าศาสนาจะดำรง แม้ผู้นำจะล้มหายตายจาก หรือกระดาษจะเปื่อยยุ่ยสูญสลาย และเราสามารถเข้าพึ่งพิง AI ได้ทุกเวลาที่ต้องการนั่นเอง

หุ่นยนต์กับความซึมลึกเรื่องศีลธรรม

“อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา” คือหนึ่งในพุทธวจนที่สอนให้เราตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่เปรียบเสมือนต้นกำเนิดความรู้เราอย่างครูอาจารย์ เพื่อให้เราทดสอบว่ามันเป็นจริงด้วยสายตาตัวเอง อย่าสักแต่เชื่อและทำตามโดยไร้เหตุผล

เมื่อนำเรื่องนี้มาผูกโยงกับนวัตกรรม AI ก็น่าสนใจว่า ขนาดครูที่มีชีวิตจิตใจ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกผิดชอบชั่วดียิ่งกว่าหุ่นยนต์ เรียนและคลุกคลีศีลธรรมมาแต่อ้อนแต่ออก เราเองยังต้องตั้งคำถาม แล้วการท่องพระธรรมในรูปแบบจักรกลต่อให้มีใบหน้าละม้ายศาสดาจะโน้มน้าวความรู้สึก หรือเหมาะสมกับหน้าที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพวกเราจริงหรือ น่าจะมีคนที่ตั้งข้อสงสัยกับการยกมือไหว้กันบ้างเพราะความเข้มขลังที่หายไปและคิดว่าการมาถึงของ AI กับสายเคร่งทั้งหลายต้องถูก challenge ด้วยคำถามมากมายอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI อาจมีความเสี่ยงจะโดนศรัทธาเข้าชาร์จในอนาคต เราก็เชื่อว่าทุก “ความเชื่อ” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของศาสนาหรือการอยู่โดยไร้ศาสนา ทุกคนจะใช้วิจารณญาณสนใจที่แก่นของมันมากกว่านำประเด็นเรื่องวัตถุมาโต้แย้งกัน ส่วนใครที่อยากเห็นด้วยตาตัวเอง เขาประกาศมาแล้วว่าจะโชว์ต่อหน้าสาธารณชนตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมถึง 6 พฤษภาคม ช่วงนี้ถ้าเดินทางไปญี่ปุ่นก็ลองปักวัด Kodaiji ไว้ใน route การเดินทางกันได้

ปุจฉา วิสัชชนา

SOURCE: 1 / 2

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line