Life

‘ไอติม-พริษฐ์’การเมืองกับคนรุ่นใหม่ วัดที่ผลงานไม่ใช่ที่หน้าตาหรือการเป็นหลานใคร

By: PSYCAT March 11, 2019

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ถือเป็นเรื่องชวนให้หัวใจผู้ชายอย่างเราเต้นแรงในหลากหลายเหตุผล บางหัวใจเต้นแรงเพราะนี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต บางหัวใจเต้นแรงเพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ในขณะที่บางหัวใจก็เต้นแรงเพราะสมรภูมิการเมืองครั้งนี้มีเรื่องชวนให้ขบคิดและน่าสนใจกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

“คนรุ่นใหม่” คืออีกกุญแจสำคัญที่ทำให้หัวใจผู้ชายหลายคนเต้นแรง การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่วิธีคิดเดิม ๆ ว่ามีแต่คนมีอายุเท่านั้นที่จะทำงานการเมืองได้ถูกปัดตกไป เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคเลือกชูคนรุ่นใหม่มาเป็นอีกทางเลือกในสนามการเมืองครั้งนี้

“ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” เองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถ้าพูดถึงการเมืองกับคนรุ่นใหม่แล้ว คงขาดเขาไปไม่ได้ บางคนจดจำเขาในฐานะชายหนุ่มที่มีศักยภาพพร้อมทำงานการเมืองเต็มเปี่ยม บางคนนึกถึงเขาในฐานะคนหนุ่มฐานะดี การศึกษาพร้อม แต่สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์ และไม่ว่าจะพยายามหนีอย่างไรก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคนเห็นเขาเป็นหลายชายหนุ่มรูปหล่อของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

การเป็นลูกหลานคนดัง บางคนมองเห็นเป็นบันได ถีบไต่ตัวเองขึ้นสูงกว่าเดิมได้ แต่บางคนก็เห็นเป็นหลุมพราง ล่อลวงให้คนที่ยังไม่ทันรู้จักเขาดีตกไปในหลุมแห่งความชอบหรือไม่ชอบได้ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นอย่างหลัง

ก่อนที่คุณจะตัดสินเขาจากหน้าตาหรือการเป็นหลานชายของใคร UNLOCKMEN อยากชวนมารู้จักตัวตนของเขาไปพร้อม ๆ กัน หลังจากบทสนทนานี้จบลงแล้ว ค่อยตัดสินเขาก็ยังไม่สาย แต่ที่แน่ ๆ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม New Dem และผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางกะปิ – วังทองหลาง (แขวงพลับพลา) คนนี้ประกาศชัดเจนว่า “สำหรับผมแล้วผมต้องการพิสูจน์ สิ่งที่ผมเคยทำมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะผมเป็นลูกหลานใครและผมจะมุ่งมั่นต่อไป”

มาพิสูจน์ตัวตนและทัศนคติของเขา ผ่านบทสนทนานี้ไปพร้อม ๆ กัน …

ตั้งแต่ตัดสินใจทำงานการเมือง ไลฟ์สไตล์การแบ่งเวลา เราเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ?

ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตล่าสุดก็คือตอนทำงานบริษัทเอกชน เวลาการทำงานจันทร์ถึงศุกร์ก็พอ ๆ กัน เพราะว่าสมัยก่อนตอนทำอยู่ที่บริษัทถือว่างานหนักมาก บางทีทำงานถึงตีสองตื่นแปดโมงก็มี แต่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ตอนทำงานบริษัท เราได้พัก

แต่ตอนนี้ทำงานเจ็ดวันต่ออาทิตย์ เพราะฉะนั้นงานก็หนักกว่าเดิม แต่ถามว่ามันเป็นอะไรที่เราไม่สนุกไหมก็ไม่ใช่ เพราะว่าผมก็สนใจงานทางการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเราก็มีโอกาสไปฝึกงานและเคยอยู่ในทีมหาเสียงของผู้สมัครฯ เราเคยเห็นว่างานทางการเมืองมันต้องทำยังไงบ้าง

คนในพรรคประชาธิปัตย์จะถูกสอนมาเสมอ ผู้สมัครฯ ถูกคนจะถูกสอนเสมอว่านักการเมืองไม่มีวันหยุด เพราะฉะนั้นเรารู้ตรงนี้อยู่แล้วก่อนที่เราจะกระโดดเข้ามา เพราะฉะนั้นเหนื่อยแค่ไหน มันเหนื่อยกาย แต่พอเป็นอะไรที่เราชอบ และเราตั้งใจจะทำมันไม่เหนื่อยใจ

ในเมื่องานภาคเอกชนดูไปได้ดีมาก ๆ อยู่แล้ว อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้สนใจอยากทำงานทางการเมือง ?

ผมอยากทำงานการเมืองตั้งแต่เด็ก เคยไปฝึกงานที่พรรคประชาธิปัตย์ ตอนอายุประมาณ 15-16 ผมจะพูดเสมอว่าการที่เราชอบทำอาชีพอะไร อธิบายด้วยเหตุผลยาก ต้องอธิบายด้วยอารมณ์ เด็กที่อยากเป็นทหาร อยากเป็นหมอ ถามว่าอธิบายด้วยเหตุผลได้ไหม ได้ในระดับหนึ่ง แต่มันไม่สุด

เพราะความชอบมันเริ่มจากอารมณ์ จากความรู้สึก จากความหลงใหลใช่ไหม ?

ผมชอบเป็นตัวแทน ตั้งแต่เด็กผมเป็นมาหมด ทั้งหัวหน้าห้อง ทั้งหัวหน้ากลุ่มลูกเสือ ผมทำประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับกลุ่มคนที่ผมเป็นตัวแทนให้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมีแรง ไม่ได้รู้สึกเป็นภาระที่ทำให้ผมเหนื่อย ยกตัวอย่างเช่นสมัยเป็นหัวหน้าห้อง แค่ได้พยายามจัดสรรให้ตารางการลบกระดานดำออกมามีความยุติธรรมมากขึ้น แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว หรือว่าสมัยก่อนต้องเป็นตัวแทนของห้องขึ้นปราศรัยให้กระทงห้องเราชนะการประกวดแค่นี้ก็สนุก เหมือนผมชอบเป็นตัวแทนมาตลอด จนไปถึงระดับมหาวิทยาลัยก็ลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานสมาคมนักศึกษาอ็อกฟอร์ด ยูเนี่ยน

แต่อีกความรู้สึกคือความขี้สงสัย ตั้งแต่ได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษผมก็เป็นเด็กที่ใช้เวลาครึ่งนึงเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ครึ่งนึงอยู่ที่ประเทศไทยช่วงปิดเทอม ผมเลยเริ่มเปรียบเทียบ สองประเทศนี้มีหลายอย่างที่คล้ายกันด้วยประวัติศาสตร์ ด้วยการปกครองรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยจำนวนประชากร 60-70 ล้านคน

ในขณะที่หลายอย่างก็แตกต่างกันมาก ประเทศไทยดีกว่าเรื่องอาหารที่อร่อยกว่า คนก็เป็นมิตรกว่า ยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่า แต่อย่างหนึ่งที่เขาไปไกลกว่าเราคือความเหลื่อมล้ำเขาน้อยกว่า

ถ้าเราไปถามพ่อแม่ที่อังกฤษว่าเขาส่งลูกไปเรียนโรงเรียนไหน คำตอบคือเขาจะส่งไปโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด ตายายไม่สบายไปรักษาที่ไหนคำตอบคือไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน

แต่ประเทศไทย แม้แต่ในกรุงเทพฯ ความเหลื่อมล้ำยังสูงมาก เวลาโรงเรียนมีชื่อเสียงเปิด คนก็แห่เข้ามาสมัคร หรือเวลาผมไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เจอหลายคนมากที่ยอมเสียค่าเดินทางเยอะมากเพื่อมารักษาที่นี่ เพราะเขาเชื่อจริง ๆ ว่าถ้าไม่รักษาที่นี่เขาจะไม่หาย

เพราะฉะนั้นคุณภาพของโรงเรียนและโรงพยาบาลทั่วประเทศยังไม่เท่ากันนี่ก็เป็นอีกแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้ผมอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่ผมสั่งสมมาจากที่อังกฤษกลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทย

ในเมื่อเรามีแพสชั่นกับการทำงานการเมืองตั้งแต่ยังเด็ก ทำไมเรียนจบแล้วถึงเลือกทำงานในบริษัทเอกชนก่อนเลือกทำงานการเมือง ?

ถ้าพูดตรง ๆ ก็คือตอนนั้นมีรัฐประหารเกิดขึ้น งานด้านการเมืองจึงไม่มั่นคง ผมก็ต้องทำมาหากิน เราก็เลยไปทำงานที่บริษัท McKinsey & Company ซึ่งเป็น Strategy and Management  Consult ก็คือเป็นบริษัทที่บริษัทเอกชนหรือรัฐบาลในระดับนานาชาติจ้างให้ไปช่วยให้คำปรึกษาช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นบริษัทเอกชนต้องการจะขยายกิจการไปต่างประเทศก็จะจ้าง McKinsey มาวิเคราะห์ว่าควรไปประเทศไหน หรือรัฐบาล อย่างโปรเจกต์แรกของผมคือรัฐบาลประเทศหนึ่งอยากรณรงค์ให้คนหันมาใช้รถเมล์มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหารถติดในเมืองหลวง เขาก็จ้าง McKinsey เข้าไปวิเคราะห์ว่าควรทำยังไงให้คนหันมาใช้รถเมล์มากขึ้น

ผมก็เลยชอบตรงนี้เพราะว่าในมุมนึง McKinsey เป็นบริษัทเอกชนทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานที่รวดเร็ว แต่ในอีกมุมผมก็รู้สึกว่าผมเปลี่ยนโปรเจกต์ไปเรื่อย ๆ ทุกสองสามเดือนผมจะเปลี่ยนอุตสาหกรรม เปลี่ยนประเทศ ทำเรื่องท่องเที่ยวบ้าง ศึกษาเรื่องรถเมล์ เรื่องขนส่งมวลชน ทำให้ผมได้เก็บประสบการณ์ที่หลากหลายซึ่งนำมาพัฒนาประเทศเราได้ เพราะแบบนั้นก็เลยตัดสินใจไปหลาย ๆ ที่

พอทำมางานมาสามปีประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงระบอบประชาธิปไตย ถึงเวลาแล้วที่เราจะนำความรู้ประสบการณ์มาช่วยประเทศ

เมื่อตัดสินใจมาทำงานการเมือง สิ่งหนึ่งที่เราหนีได้ยากในสังคมนี้ คือการเป็นลูกหรือหลานใคร การเป็นหลานของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือเป็นข้อดีหรือข้อเสียยังไง ?

ชีวิตผมที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาสนใจเรื่องนี้เลย สมัยเรียนก็ไม่มีใครรู้ สมัยทำงานที่ McKinsey ก็ไม่มีใครสนใจ ตอนที่ผมเข้ามาทำเรื่องการเมืองนี่เองที่คนเริ่มเข้ามาตัดสิน

ผมไม่พูดถึงคุณอภิสิทธิ์แล้วกัน ผมพูดถึงลูกหลานนักการเมืองที่มาจากครอบครัวที่ทำงานการเมือง คือต้องยืนยันก่อนซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องจริงที่คุณอภิสิทธิ์ก็พูดเหมือนกันว่า

เรื่องการเมืองของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณอภิสิทธิ์

ผมยังชอบประโยคนึงเลย ซึ่งผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าช่วงที่ผมจบใหม่ก็มีคนรอบตัวคุณอภิสิทธิ์หลายคนในพรรคพูดทำนองว่าทำไมไม่ดึงไอติมมาทำงานเขาดูสนใจการเมืองนะ คุณอภิสิทธิ์บอกว่าผมจะไม่มีวันไปบอกเขา ถ้าเขาอยากมาเดี๋ยวเขาติดต่อมาเอง ผมก็ยังนับถือการเคารพต่อการตัดสินใจที่คุณอภิสิทธิ์ให้ผมตัดสินใจด้วยตัวเอง

ทีนี้การเป็นลูกหลานนักการเมืองมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง? ผมว่าก็เหมือนกับอาชีพอื่น ข้อดีคือมีโอกาสเรียนรู้เรื่องนั้นเร็วกว่า คุณพ่อคุณแม่ผมเป็นหมอ ผมก็จะรู้ว่าอาชีพหมอเป็นยังไงมากกว่ารู้เรื่องอาชีพนักธุรกิจ

แต่ความท้าทายของการเป็นลูกหลานนักการเมืองคือบางทีคนก็ตีกรอบว่าเราต้องคิดแบบใดแบบหนึ่ง ยิ่งหน้าตาเหมือนยิ่งมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

ผมพูดเสมอว่าการเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ทำให้คนรักผมหรือไม่ชอบผมเร็วเกินไป แต่สำหรับผมแล้วผมต้องการพิสูจน์ สิ่งที่ผมเคยทำมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะผมเป็นลูกหลานใครและผมจะมุ่งมั่นต่อไป

ตั้งแต่ลงพื้นที่หาเสียง ตั้งแต่ลงสมัครในเขตบางกะปิกับวังทองหลาง ผมกำชับทีมผมด้วยซ้ำว่าอย่าแนะนำผมกับใครว่าเป็นลูกหลานใคร อย่าไปมองว่านี่คือไอติมหลานอภิสิทธิ์นะ

สนใจทำงานการเมือง ในไทยเองก็มีหลาย ๆ พรรคให้เลือก เพราะอะไรถึงเลือกทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ?

หลายเหตุผลนะครับอย่างแรกเนี่ยคือเรื่องของอุดมการณ์ ผมพูดครั้งแรกที่เปิดตัวสมัครสมาชิกเข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์ช่วงประมาณปีที่แล้ว

ผมพูดเสมอว่าผมอยากเข้ามาร่วมสร้างประชาธิปัตย์ยุคใหม่

ผมไม่ได้เห็นด้วยกับทุกการตัดสินใจของพรรคที่ผ่านมา

พร้อมกับอยากเห็นพรรคสร้างโอกาสใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ อยากเห็นประชาธิปัตย์หนักแน่นในการเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ที่เรียกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย นั่นคือประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง ให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิมในการเปิดให้สมาชิกนั้นมีส่วนร่วม

ตอนที่ผมนั้นได้เข้ามาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเป็นพรรคแรกที่เปิดให้สมาชิกทั่วประเทศลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง ณ ปัจจุบันก็ยังเป็นพรรคเดียวอยู่ ผมก็ตื่นเต้นกับโครงการตรงนี้ท้ายที่สุดก็ได้เข้ามาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นคณะกรรมการนโยบายพรรคก็มีส่วนร่วมในการร่างนโยบายใหม่

ต้องยอมรับว่าผ่านไป 7 ปี ปัญหาใหม่ ๆ ในประเทศมีเยอะมาก ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ประเทศกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมสูงวัย เทคโนโลยีเข้ามาใหม่เยอะมากซึ่งเพิ่มความท้าทายใหม่ การมีโอกาสร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์สร้างนโยบายที่ออกจากกรอบเดิม ๆ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นนั่น นี่คือเหตุผลหลักในอุดมการณ์ที่ผมอยากเข้ามาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

แต่อีกแง่ในฐานะคนที่สมัครงาน ผมก็ต้องการเข้ามาในองค์กรที่ไม่ได้มีเจ้าของ เพราะผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เปิดโอกาสให้กับคนที่อยากเข้ามาทำงานทางการเมืองจริง ๆ

พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่ที่ไม่มีเจ้าของ ถ้าเราสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นได้ด้วยผลงาน เราก็สามารถก้าวหน้าไปได้เหมือนกับว่าเราไปสมัครงานที่เป็นบริษัทครอบครัว ธุรกิจครอบครัว ในที่สุดแล้วธุรกิจนั้นก็จะถูกนำด้วยครอบครัวนั้นอยู่ดี ไม่ว่าเราจะพิสูจน์ด้วยผลงานแค่ไหน มันก็มีเหมือนกับเพดานของมันอยู่โดยธรรมชาติ

แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีเพดาน ถ้าเราพิสูจน์ด้วยความสามารถแล้ว ถ้าเราได้ใจสมาชิกทั่วประเทศ สักวันนึงเราก็อาจจะก้าวขึ้นมานำพรรคได้

คุณบอกว่าคุณไม่ได้เห็นด้วยกับทั้งหมดของพรรคประชาธิปัตย์ มีอะไรบ้างที่คุณไม่เห็นด้วย ?

10 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์หมดไปกับการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน ผมไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ เพราะผมก็เชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สำคัญ ถือเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยยังติดกับดัก

การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหลักทำให้ประชาธิปัตย์เสียตัวตนบางอย่างไป ทำให้เราไปหนักแน่นอยู่กับแค่ว่าเราต่อสู้กับอะไร แต่อาจไม่ได้มีพื้นที่เพียงพอให้แสดงความหนักแน่นว่าเราอยากสร้างอะไรให้กับประเทศ

ผมคิดว่าวันนี้เราต้องการยืนหยัดยืนยันให้ชัดเจนขึ้นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเข้ามาสร้างประเทศที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดูแลคนตั้งแต่เกิดจนแก่ ผมจึงคิดว่าอยากเข้ามาทำให้พรรคประชาธิปัตย์หนักแน่นขึ้นว่าเราจะสร้างอะไรให้กับประเทศ ไม่ใช่แค่ใช้เวลาไปกับการต่อสู้ทุจริตคอร์รัปชัน

คุณเน้นย้ำเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตยบ่อย ๆ เสรีนิยมประชาธิปไตยในทัศนคติของคุณคืออะไร ?

สิบปีที่ผ่านมามันมีภัยคุกคาม 2 อย่างที่ทำให้ประเทศไปไม่ถึงเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างแรกคือความคิดที่เชื่อว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรู้ดีกว่าประชาชนพูดง่าย ๆ คือคนที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย หรืออาจจะเห็นด้วยกับการปกครองที่มีคนกลุ่มใดกลุ่มนึงที่เข้ามาบริหารประเทศ

แต่ความคิดที่เป็นภัยคุกคามอีกแบบคือภัยคุกคามที่มองว่าประชาธิปไตยมีแค่การเลือกตั้งก็เพียงพอแล้ว ยกตัวอย่างสมมุติประเทศมีคน 100 คน ภาคตะวันตก 60 คน ภาคตะวันออก 40 คน ถ้า 60 คนในภาคตะวันตกมารวมตัวกันแล้วจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก แล้วก็เข้ามาบริหารให้ทุกอย่างมันลงแค่ภาคตะวันตก

ถามว่านี่เป็นประชาธิปไตยไหม ? มีการเลือกตั้งไหม ? มีรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากไหม ? มี แต่มันไม่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของประชาธิปไตย

เพราะว่าคุณค่าของประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่กระบวนการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ระบบที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในประเทศ

เพราะฉะนั้นเสรีนิยมประชาธิปไตยคือการสร้างระบอบประชาธิปไตย ผมเปรียบเหมือนเก้าอี้ 4 ขา แน่นอนขาแรกต้องมีการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม ต้องเคารพเสียงข้างมาก ข้างที่ 2 ต้องมีการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิของคนทุกวัย ทุกเพศ ทุกศาสนา ข้างที่ 3 ประชาธิปไตยจะเป็นเสรีนิยมต้องมีการกระจายอำนาจ ท้ายที่สุดนี้ประชาธิปไตยจะเป็นเสรีนิยมได้ต้องมีการตรวจสอบสมดุลอำนาจที่เข้มแข็ง นี่คือระบอบประชาธิปไตยที่เสรีนิยม

คุณคิดอย่างไรกับการรัฐประหาร ?

ไม่โอเคนะครับ ในฐานะนักประชาธิปไตย เราไม่โอเคอยู่แล้วที่อำนาจไม่ได้อยู่กับประชาชน ทีนี้เราก็ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาเนี่ย อะไรที่ทำให้เกิดรัฐประหาร

ผมไม่เคยคิดว่าเราควรแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยรัฐประหาร เพราะหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาทุจริตคือระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง

ตราบใดที่รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ตรงนั้นจะเป็นทางตันของการที่มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่เราก็เห็นว่าที่ผ่านมาพอมีปัญหาทุจริตเข้ามาทำให้บางกลุ่มสามารถเข้ามายึดอำนาจได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะนำพาประเทศไปข้างหน้า ระบอบประชาธิปไตยที่เราได้กลับคืนมา เราต้องทำทุกวิถีทางให้กำจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ สร้างประชาธิปไตยที่สุจริตเพื่อให้ประชาธิปไตยนั้นยั่งยืน นั่นคือทางออก

คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐไหม ?

การที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองใด ผมว่ามันขึ้นอยู่กับสองปัจจัยนะครับ ปัจจัยแรกคือความชัดเจนว่าถ้าไปร่วมกับใคร ร่วมในเงื่อนไขอะไร ?  นโยบายอะไรจะถูกผลักดัน ? นโยบายอะไรจะไม่ถูกผลักดัน ? นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ถ้าเราเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองใดก็ตามที่มีโอกาสไปเป็นรัฐบาล แต่เราไม่สามารถผลักดันนโยบายที่เราได้สัญญาไว้กับประชาชนหรืออุดมการณ์ที่เราได้สะท้อนไว้กับประชาชนมันก็ไปข้างหน้าไม่ได้และไม่ใช่เป้าหมายของเรา

เป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่การเป็นรัฐบาล เป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์คือการผลักดันนโยบายที่เราเชื่อว่าจะตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทย เพราะฉะนั้นสิ่งแรกปัจจัยแรกที่สำคัญว่าจะไปร่วมหรือไม่ร่วมกับใครคือไปร่วมแล้วประชาชนได้อะไร ? นโยบายเราถูกผลักดันไหม ?

ปัจจัยที่สองเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมก็อยากแสวงหาความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกัน สมมุติว่ามีการเลือกตั้งเสร็จแล้วเราเห็นแล้วว่าพรรคการเมืองใดมี ส.ส. กี่คนในสภา ก็อยากเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อช่วยตัดสินว่าอยากเห็นใครจับขั้วกับใครจัดตั้งรัฐบาล

ตัวอย่างคือประเทศอิตาลีโดยก่อนที่สองพรรคการเมืองจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เขาทำประชามติ  อย่างน้อยที่สุดคือประชาพิจารณ์กับประชาชน รวมถึงสมาชิกพรรคว่าเห็นด้วยไหมกับการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคนี้พรรคนั้น

นี่คือสองหลักการที่ผมยึดถือคือจะร่วมกับใครต้องผลักดันนโยบายเราได้ และอย่างที่สองคือต้องมีการถามประชาชนแล้วก็สมาชิกพรรค

ถ้าวันหนึ่งสิ่งที่คุณเชื่อหรือยึดถืออย่างเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ตรงกับท่าทีหรือหลักการของพรรคประชาธิปัตย์จะจัดการอย่างไร ?

พรรคประชาธิปัตย์เรายืนหยัดว่าอุดมการณ์เราคือ เสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นก็หวังว่าจะไม่มีวันนั้น แต่ถ้าวันนั้นมาถึงจริง สมมติอุดมการณ์ผมเปลี่ยนแล้วพรรคยังยืนหยัดเหมือนเดิม มันก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องเดินออกมาจากตรงนั้น หรือถ้าอุดมการณ์ของผมเหมือนเดิม แล้วแกนนำของพรรคมีท่าทีเปลี่ยน มันก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องเดินออกมา หรือว่าพยายามจะต่อสู้เพื่อยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของพรรคนั่นก็คืออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย

ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ตอบคำถามนี้ได้ง่ายที่สุด ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คือหัวหน้าพรรคของเรามาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นตราบใดที่สมาชิกพรรคเรายังยืนหยัดในอุดมการณ์ของพรรค อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่มีทางที่ใครจะสามารถมาครอบงำและเปลี่ยนอุดมการณ์นั้นได้ เพราะเขาจะไม่มีสิทธิ์ที่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคได้ผ่านการเลือกตั้ง

ย้อนกลับไป  ก่อนจะตัดสินใจทำงานการเมือง ทำไมคุณถึงเลือกเกณฑ์ทหาร ?

ความจริงตัวเลือกก็มีไม่เยอะมากนะครับ เพราะว่าผมไม่ได้เรียนรด. ตอนอยู่มัธยม ผมได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ ดังนั้นมีสองทาง ทางแรกคือจับใบดำใบแดงเสี่ยงโชคเอา อย่างที่สองคือสมัครไปเลยหกเดือน ผมตัดสินใจสมัครไปเลยด้วยหลายเหตุผล

อย่างแรกคือผมต้องการความชัดเจน ผมรู้สึกว่าแนวทางที่ผมเลือกไม่สามารถมีใครมาตั้งข้อครหาได้ว่าผมไม่ได้เลือกทางที่ชัดเจนและโปร่งใสที่สุด  เพราะก็ต้องยอมรับว่าหลายคนที่ได้ใบดำในระบบปัจจุบันก็ไม่ได้ได้เพราะว่าโชค

แต่อย่างที่สอง ผมก็ต้องการศึกษาระบบการเกณฑ์ทหารเหมือนกัน ผมคิดว่าก่อนที่ผมจะประกาศว่าผมอยากเห็นระบบการเกณฑ์ทหารเป็นอย่างไรซึ่งความจริงก็มีอยู่ในใจแล้วก่อนเข้าไป ก็รู้สึกว่าอยากลองไปศึกษาดูด้วยตัวเองว่าอะไรที่มันเป็นปัญหาจริง มันยังมีข้อดีหลงเหลืออยู่บ้างไหม แล้วระบบที่เราอยากสร้างในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร

ผมเลยใช้หกเดือนนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ไปด้วย เพื่อที่ว่านโยบายอะไรที่เราออกมาผลักดันเกี่ยวกับเรื่องระบบการเกณฑ์ทหารจะตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้จริง ๆ

พอได้เป็นทหารเกณฑ์แล้วคุณเห็นอะไร ?

ผมว่าปัญหาการเกณฑ์ทหารปัจจุบันมีสามอย่าง อย่างแรกคือ

สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ภาระการรับราชการทหารตอนนี้ตกอยู่กับคนที่มีโอกาสน้อยในชีวิต

เพื่อนผมส่วนมากเป็นคนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา ไม่มีโอกาสไปเรียนในระดับมัธยมก็เลยไม่ได้เรียน รด. มีความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงที่ว่าภาระตรงนี้ไปตกอยู่กับคนที่มีโอกาสน้อยในชีวิตอยู่แล้ว

อย่างที่สองคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องของการเกณฑ์ไม่เกณฑ์ด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าคุณจะโดนเกณฑ์หรือว่าคุณสมัครเข้าไป ความรุนแรงในค่าย การเสียชีวิตจากการฝึก ก็ควรจะถูกกำจัดออกไป

ท้ายสุดนี้เรื่องของเกณฑ์ทหาร ก็เป็นเรื่องของปากท้องเหมือนกัน เพราะผมก็มีเพื่อนหลายคนที่สูญเสียหลาย ๆ อย่างในชีวิตเขาไปกับการที่ต้องเข้ามาเป็นทหารสองปี มีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งรายได้เขาลดลงมากหลังจากเข้ามาเป็นทหาร ทำให้เขาไม่มีเงินพอจ่ายค่านมให้กับลูกเขา มีอีกคนหนึ่งก็คิดถึงแฟนทุกวันนะครับ สิบอาทิตย์คือนอนร้องไห้คิดถึงแฟนทุกวันพอออกไปคือภรรยาไปมีสามีใหม่เพราะว่าภรรยาเขาต้องการเสาหลักของครอบครัว

ถ้าถามว่าเพื่อนผมสองคนนี้เขายอมที่จะสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปไหม ถ้าเกิดว่าประเทศชาติต้องการเขาจริง ถ้าเกิดว่าเขาไม่เข้ามาแล้วประเทศชาติจะไม่มั่นคง ผมคิดว่าเขายอมนะ แต่ว่าอย่างที่เราได้เห็นคือมันยังมีการใช้ทรัพยากรพลทหารหลายแห่งไปกับเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเลย

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมต้องการสร้างระบบทางสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่ประเทศนี้ยังมั่นคงอยู่ โดยยังไม่ต้องมีการเกณฑ์ซึ่งมันควบคู่ไปกับการลดกำลังพล ตอนนี้กองทัพต้องการหนึ่งแสนคนต่อปี  ผมคิดว่าเราสามารถลดได้ ดูจากตัวเลขแล้วลดลงได้ประมาณ 30-40 % โดยที่ทำให้ประเทศนั้นไม่เสียความมั่นคงไป

อันหนึ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือการกำจัดพลทหารรับใช้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับความมั่นคง นอกเหนือจากนั้นเป็นการลดไขมันองค์กรซึ่งต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในทุกหน่วยงานราชการ  การปรับกองทัพให้เข้าสู่โลกยุคใหม่มากขึ้น เพราะภัยคุกคามประเทศอาจจะไม่ได้เป็นในรูปแบบของต้องการกำลังพลมาในสนามรบแล้ว แต่เป็นภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจ ภัยคุกคามทางด้านนิวเคลียร์

ทั้งหมดนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพลทหาร เพื่อให้คนทั่วไปมีแรงจูงใจหรือมีความต้องการที่อยากจะสมัครเป็นทหารมากขึ้น ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าเราไปถามเด็กเล็ก ๆ หลายคนอยากเป็นทหาร เขาชอบการที่มารับใช้ชาติ การที่มาทำประโยชน์รักษาความมั่นคงของชาติไว้ แต่ว่าตอนนี้คุณภาพชีวิตของพลทหารมันอาจจะยังดีไม่พอ  อย่างแรกเลยรายได้อาจจะยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ รายได้ทั้งหมดอยู่ที่หนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนและยังโดนหักค่าอาหารอีก

อย่างที่สองคือเรื่องของสวัสดิการ ถ้าเราดูยอดสมัครที่ผ่านมาเนี่ย ปีที่มีการนำการศึกษานอกระบบเข้ามาในค่ายทหารเนี่ย ยอดสมัครสูงขึ้นมาก นอกเหนือจากสวัสดิการการศึกษาแล้ว ผมคิดว่าโลกปัจจุบันเราอาจจะต้องขยายสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมแค่เฉพาะตัวพลทหาร แต่ไม่ครอบคลุมครอบครัวเขา ทั้งที่ความจริงพลทหารหลายคน เข้ามาก็มีภาระการรักษาพยาบาลของคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายอยู่ที่บ้าน

แต่สิ่งที่สำคัญสุด เราต้องกำจัดความรุนแรงจากค่ายทหารให้ได้ เพราะตราบใดที่ความรุนแรงไม่หายไป ผมคิดว่านี่เป็นอุปสรรคของที่ทำให้หลายคนไม่อยากสมัครเข้ามาเป็นทหาร

เราก็ต้องเพิ่มความโปร่งใสมากขึ้นในการฝึก อาจจะทำให้มีการสื่อสารได้มากขึ้น มีห้วงเวลาการใช้เครื่องมือการสื่อสารมากขึ้น เพื่อที่ว่าลดการที่ใครอาจจะต้องการใช้ความรุนแรงกับพลทหาร รวมถึงการเปิดให้ตัวแทนภาคประชาชนสามารถเข้าไปสังเกตการณ์ หรือว่ารับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงกับพลทหารได้

คุณดูจริงจังกับสิ่งที่จะทำมาก เวลาที่ผู้ใหญ่บางคน มองว่าเด็กรุ่นใหม่-คนรุ่นใหม่ไม่ต้องมายุ่งกับการเมืองหรอก ยังไร้เดียงสาอยู่ ยังหาเงินเองไม่ได้หรือไม่จริงจัง คิดยังไงกับทัศนคตินี้ ?

คนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร เราเจอสิ่งหนึ่งที่เราเปลี่ยนไม่ได้แน่นอน ก็คือไม่มีทางที่ประสบการณ์เราจะมากกว่าคนรุ่นก่อนและไม่มีทางว่าจำนวนปีของการทำงานเราจะมากกว่าคนรุ่นก่อน

แต่คำถามทำนองนี้ผมก็เคยเจอในบริษัทเก่าของผม ตอนอยู่บริษัทเอกชนเพราะว่ารูปแบบของบริษัท คือเขาจะเอาเด็กจบใหม่ไปทำงานเป็นทีมที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนอื่น ๆ หรือว่ารัฐบาล เพราะฉะนั้นวันแรกที่เราเข้าไปคือเราทำงานร่วมกับข้าราชการระดับสูง ทำงานร่วมกับผู้บริหารสูง ๆ ในบริษัท สิ่งที่เขามองกลับมาในวันนั้นคือคุณเป็นเด็กคุณจะมารู้อะไราให้คำปรึกษาอะไรกับเรา

ผมว่าสิ่งที่เราต้องพยายามแสดงให้เขาเห็นในทุก ๆ โปรเจกต์ เราอาจจะไม่รู้เนื้อหาอุตสาหกรรมนั้นเท่ากับคุณเพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะประสบการณ์เราไม่มากเท่ากับคุณ แต่เราอาจจะช่วยหามุมมองใหม่ ๆ มาช่วยจัดลำดับความสำคัญ มาช่วยจัดกระบวนการคิดของคุณ เพิ่มมูลค่าได้โดยที่เราไม่ต้องมีประสบการณ์มากกว่า นี่ก็เป็นอุดมคติหรือว่าทัศนคติที่ผมดึงมาใช้ในงานทางการเมืองเหมือนกัน

ถึงแม้ผมอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์มากเท่ากับคนอื่น ๆ ที่มีอายุมากกว่า แต่ผมก็สามารถเสนอมุมมองอะไรใหม่ ๆ ได้เหมือนกัน

แต่นอกเหนือจากตรงนี้ ผมคิดว่าโลกสมัยใหม่เนี่ย มันต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในการเมืองมากขึ้น เพราะว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ในโลกมันเกิดขึ้นเร็วขึ้น เดี๋ยวนี้การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือว่าการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เนี่ย มันเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าสมัยก่อน เพราะฉะนั้นคนตกรุ่นเร็วมาก สังคมก็คาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะเข้ามาเป็นแกนนำในการผลักดันบางประเด็น บางประเด็นเฉพาะที่อาจจะต้องการความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี บางประเด็นเฉพาะที่คนรุ่นใหม่อาจจะให้ความสนใจมากกว่า เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อมบ้าง เรื่องของสุขภาพจิตบ้าง เรื่องของเกณฑ์ทหารบ้าง

เพราะฉะนั้นมันมีพื้นที่ที่สังคมคาดหวังให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นแกนนำ นั่นก็คือเหตุผลที่ทำไมผมคิดว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ในระดับพรรคการเมือง ถึงเกิดเปิดโอกาสให้กับผมแล้วก็คนรุ่นใหม่ในพรรค ก่อตั้ง New Dem และก็ผลักดันนโยบายเฉพาะต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มนโยบายหลักของพรรคให้มันสมบูรณ์แบบมากขึ้น

คิดว่าหน้าตาเราหรือความหล่อเป็นอุปสรรคในการทำงานไหม มันทำให้คนโฟกัสที่ความหล่อของเรามากกว่างานของเราหรือเปล่า ?

ผมคิดว่าไม่นะ ตั้งแต่เรียนจบมาแล้วทำงาน หน้าตาไม่ได้เป็นตัวช่วย เพราะตอนได้ทุนไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ เขาก็ไม่ได้วัดที่หน้าตาอยู่แล้ว พอจบมาทำงานบริษัทเอกชน 3-4 ปี หน้าตายิ่งไม่ได้เป็นปัจจัย ไม่เคยมีใครในที่ทำงานมาบอกว่าผมหน้าตาดี

ณ เวลานี้มันก็มีกระแสมองนักการเมืองเรื่องหน้าตา แต่ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้วตัวนักการเมืองเองก็อยากพิสูจน์ด้วยผลงาน พิสูจน์ด้วยความสามารถ ผมเชื่อว่าประชาชนแล้วเขาอาจจะคิดว่าคนนี้หน้าตาดีหน้าตาไม่ดีแต่ในที่สุดแล้วเขาก็เลือกกันที่นโยบาย  ประชาชนอาจจะชอบความหล่อความสวยของคนหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้วเขาก็ไปเลือกอีกคนหนึ่งมันเป็นเรื่องปกติ

แสดงว่าเราไม่ได้มองว่ากระแสฟ้ารักพ่อ กระแสหมอเอ้กหรือกระแสนักการเมืองหล่อหรือสวย มันจะมีผลกระทบอะไรขนาดนั้น ?

คิดว่าไม่ได้กระทบต่อประชาธิปไตย ไม่ว่าที่สุดแล้วคนจะชอบรูปร่างหน้าตารูปลักษณ์ของใคร แต่การเข้าคูหาแล้วตัดสินใจคือการตัดสินเรื่องของอนาคตและเรื่องของประเทศซึ่งยึดเกี่ยวกับตัวนโยบายของนักการเมืองกับบุคลิกที่ผู้แทนคนนั้นสะท้อนออกมาสู่สังคม น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า

ถ้าเกิดว่ากระแสเหล่านี้ทำให้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เริ่มต้นเข้ามาอาจจะเพราะเห็นกระแส แล้วจากนั้นก็ศึกษาเรื่องการเมืองมากขึ้นผมว่าดี

นิยามความสำเร็จของตัวเองว่า ชีวิตแบบไหนหรือหน้าที่การงานแบบไหนที่เราเรียกว่าประสบความสำเร็จ ?

สำหรับผมความสำเร็จคือการที่เราไม่มีความรู้สึกเสียดายอยู่ สมมติว่าผมแก่แล้ว หกสิบเจ็ดสิบแปดสิบแล้ว มองกลับมา แล้วไม่รู้สึกว่าเสียดายที่ไม่ได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ สำหรับผมนั่นคือความสำเร็จ

มองตัวเองในอีกสิบปีข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง ?

ในเวลานี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน อยากทำงานการเมือง ก็หวังว่าจะได้รับโอกาส และยังได้รับโอกาสจากประชาชนให้เข้ามาทำงานการเมืองต่อ

ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ก็หวังว่าสิบปีจะมีผลงานที่เป็นรูปธรรมแล้วว่าเราได้พัฒนาประเทศไทยในด้านไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแสดงให้เห็นแล้วว่าเราได้ปรับช่วยมีส่วนร่วมในการช่วยปรับระบบการศึกษาให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการปรับระบบการเกณฑ์ทหาร ให้เป็นระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์

หวังว่าภายในสิบปีจะมีผลงานที่สามารถชี้ให้เห็นได้ ว่าเราทำให้ประเทศดีขึ้นมายังไงบ้าง

สุดท้ายอยากให้ฝากถึงทุกคนที่รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว หรือการเมืองเป็นเรื่องสกปรกมาก อยากให้ทุกคนไปเลือกตั้ง หรือบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันสำคัญยังไง ?

ถ้าผมถามว่าใครสนใจการเมืองบ้าง ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนไม่ยกมือ ผมเคยถามคำถามนี้กับเพื่อนทหารเกณฑ์ของผมในกองร้อย เจ็ดสิบคนไม่มีคนยกมือสักคน

แต่ถ้าผมถามว่าใครอยากเห็นการศึกษาที่ดีขึ้นบ้าง ทุกคนยกมือ ถ้าถามว่าใครอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเกณฑ์ทหาร ทุกคนยกมือ ถ้าถามว่าใครอยากเห็นสภาวะเศรษฐกิจที่จบจากทหารไปแล้วมีงานทำแน่นอน ทุกคนยกมือ

เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องสนใจการเมืองนะครับ สนใจการเมืองไม่ได้แปลว่าอยากจะเข้ามาทำงานการเมืองหรือว่ารู้รายละเอียดทุกอย่าง แต่ตราบใดที่คุณสนใจประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อคุณจริง ๆ ประเด็นที่มันใกล้ตัวคุณจริง ๆ สิ่งที่คุณสามารถทำได้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง คือการออกมาใช้สิทธิ์วันที่ 24 มีนาคมนี้นะครับ

ศึกษาดูดี ๆ ว่าแต่ละพรรคมีแนวทางในการแก้ไขแต่ละปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณ อย่างไรบ้าง และก็เลือกพรรคที่คุณมั่นใจที่สุดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ และนำพาประเทศไปข้างหน้า อย่านอนหลับทับสิทธิ์  24 มีนาคมนี้ออกมาใช้สิทธิ์กันให้หมด

สำหรับผมแล้วผมต้องการพิสูจน์ สิ่งที่ผมเคยทำมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะผมเป็นลูกหลานใครและผมจะมุ่งมั่นต่อไป” ประโยคนี้ของเขาก้องอยู่ในหัวเราซ้ำไปซ้ำมาหลังบทสนทนาจบลง โชคดีที่โลกทุกวันนี้มีอินเทอร์เน็ต อีกสิบปีข้างหน้า เราพร้อมเฝ้าดูการเติบโตของเขาบนเส้นทางการเมืองไทยต่อไปว่าเขาจะพิสูจน์ตัวเองด้วยความมุ่งมั่นในรูปแบบไหน และอย่างน้อยบทสนทนานี้ก็จะอยู่คอยย้ำเตือนเขา ใช่ รวมถึงคำสัญญาที่นักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่คนนี้ได้ให้ไว้กับประชาชนด้วย

เพราะเรารอตัดสินเขาที่วิธีคิดและผลงาน ไม่ใช่หน้าตาหรือว่าการเป็นลูกหลานใคร …

ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ: กาแฟกับผัก by HEY! Coffee

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line