Entertainment

40 ปี A Clockwork Orange : ขบถหัวรุนแรง และสีแสงของแฟชั่นเหนือกาลเวลา

By: unlockmen July 2, 2021

มีหนังมากมาย ที่ยามออกฉาย ได้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคม จนทำให้หนังเรื่องนั้นยืนยงและยืนหยัดเหนือกาลเวลา บางเรื่องก็ล้ำสมัยจนคนดูรับไม่ได้ บางเรื่องเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนหน้าอนาคตของสังคมไปตลอดกาล

มาทำความรู้จักกับ A Clockwork Orange หนังเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อสังคม แฟชั่น และพลิกหน้าประวัติศาสตร์สู่สังคมสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยความโหด และความรุนแรงแบบเต็มข้อเต็มอารมณ์ แม้อายุของหนังจะครบ 40 ขวบปีแล้วก็ตาม

 


Dystopia ในโลกแห่งความรุนแรง

A Clockwork Orange เล่าเรื่องราวของอังกฤษในโลกอนาคตที่ผู้คนวิปริตบิดเบี้ยวทางศีลธรรมขั้นสูงสุด

Alex DeLarge หัวหน้าแก๊ง Droogs ที่ในแต่ละวันเขาและชาวแก๊งมักจะใช้เวลาหมดลงไปกับการยกพวกตีกับแก๊งคู่อริและคนไร้บ้าน ทำลายข้าวของ รวมไปถึงข่มขืนข่มเหงหญิงสาวที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่สนว่าสิ่งที่เขาทำจะผิดถูกครรลองคลองธรรมอย่างไร

การปล้น ฆ่า ข่มขืน คือสิ่งชอบธรรมที่เป็นกิจวัตรไม่ต่างกับการกินข้าว กินนม แล้วก็นอน กระทั่งวันหนึ่งเขาเผลอฆ่าคนตาย และถูกเพื่อนในแก๊งหักหลังจนถูกตำรวจจับ เขาถูกพาเข้าโครงการบำบัดเปลี่ยนคนชั่วให้กลายเป็นคนดี Alex ยอมทำตามแต่โดยดี หารู้ไม่ว่าการยัดเยียดความดีภายใต้สังคมที่เลวทรามนั้น มันหดหู่และบีบคั้นเขาขนาดไหน

เมื่อเขาออกจากคุกโดยถูกล้างสมองจนกลายเป็นคนละคนสำเร็จแล้ว แต่เหมือนสังคมจะไม่พอใจ กลับเอาคืนด้วยการซ้ำเติมความเลวร้ายให้ต้องบอบช้ำและหนักข้อยิ่งกว่าเดิม


เอาคืนความรุนแรง ด้วยความรุนแรงยิ่งกว่า

หนัง A Clockwork Orange สร้างจากนิยายที่ประพันธ์โดย Anthony Burgess นักเขียนชาวอังกฤษ ในช่วงสมัยวัยรุ่นเขามีความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่อยากรับใช้ชาติ จนได้ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่อาชีพทหารที่เขาใฝ่ฝันกลับทำร้ายเขาอย่างรุนแรง เมื่อสมรภูมิรบเต็มไปด้วยความตายและความทรมาน

เมื่อกลับมาบ้าน เขาก็พบภรรยาที่รักของเขาแท้งลูกเพราะถูกทหารรุมข่มขืนทำร้าย ความเจ็บแค้นสังคมค่อย ๆ ถาโถมเข้าใส่ และในยุคทศวรรษที่ 60s โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย มีวัยรุ่นเริ่มทำตัวเป็นขบถ นักเลงหัวไม้ Burgess เริ่มรู้สึกว่าโลกกำลังขยับไปในทางที่แย่ลงจนเลวทราม เขาจึงบรรจงเขียนนิยายเพื่อย้ำเตือนเล่าถึงอนาคตอันโหดร้าย และไม่ประณีประนอมต่อความรุนแรง โดยระบายความอัดอั้นผ่านนิยายหนา 192 หน้า ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์

A Clockwork Orange ฉบับนิยายในปี 1962 บรรยายโลกของความโหดร้ายและโสมมได้อย่างเห็นภาพชัดเจน มันคือการเอาคืนสังคมเมื่อโลกลงมือทำร้ายเขาจนแทบไม่เหลือที่ให้ยืนได้ต่อไป

แม้เขาจะบรรเลงความโหดเหี้ยมผ่านนิยาย แต่เขากลับได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นจนสามารถกวาดรางวัล ติดอันดับ 1 ใน 100 Best English-Language Books จากการจัดอันดับของนิตยสาร Time ถึงกระนั้น Burgess ก็สารภาพในภายหลังว่าเขาไม่ชอบที่นิยายเรื่องนี้มันโด่งดังหรือได้รับการยกย่องเลย เพราะเหมือนเขากำลังสนับสนุนให้โลกนี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และเขาไม่อยากเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนนิยายที่สนับสนุนความโหดร้าย

แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นงานมาสเตอร์พีซที่โด่งดังที่สุดของเขา และมันก็ถูกส่งต่อความรุนแรงในรูปแบบของหนังจากฝีมือการกำกับของคนทำหนังชั้นครู Stanley Kubrick ในกาลต่อมา


Kubrick ผู้เปลี่ยนนิยายให้เห็นภาพความรุนแรงแบบเต็มขั้น

หลังจากที่ Stanley Kubrick ทำคนทั้งโลกเหวอไปกับไหน Sci-Fi Psychedelic ล้ำอนาคตอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) ไปแล้ว เขากำลังมองหาโปรเจกต์ใหม่ ในตอนแรกนิยายถูกขายลิขสิทธิ์ให้กับ Ken Russell และตั้งใจให้ Mick Jagger แห่ง The Rolling Stones มารับบทนำ แต่สุดท้ายบทก็เปลี่ยนมือมาอยู่กับ Kubrick ที่อ่านบทนี้แล้วก็ชอบมาก

“ผมรู้สึกตื่นเต้นกับทุกสิ่งทุกอย่างในนิยายเรื่องนี้ ทั้งโครงเรื่อง, ไอเดีย, คาแรคเตอร์ รวมถึงถ้อยคำในการบรรยาย เรื่องราวในนิยายมันเวิร์คได้ในหลายระดับ: ทั้งการเมือง, สังคมวิทยา, ปรัชญา และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของจิตวิทยา”

โดย Kubrick ทำหนังซื่อตรงกับนิยายอย่างน่าประหลาดใจ จากปกติเหมือนเขาเอานิยายมาขีดฆ่าแล้วเขียนมันลงไปใหม่ แต่กับนิยายเรื่องนี้ เขาว่ามันสมบูรณ์แบบแล้ว

หลังจากถลุงเงินไปกับการดีไซน์โลกอวกาศในหนังเรื่องก่อน เขาอยากกลับมาทำหนังในสเกลที่ไม่ใหญ่มาก แต่ยังคงไว้ซึ่งความทะเยอทะยาน จนจบที่งบ 2 ล้านเหรียญ แต่หนังก็เกือบจะไม่ได้ถูกสร้าง หากนักแสดงที่มารับบทนำไม่ใช่ Malcolm McDowell ซึ่งเขาถูกชะตาตอนรับบทบาทในหนังเรื่อง If… (1968) หากเขาปฏิเสธก็บ้าแล้ว

โดย McDowell มารับบทเป็น Alex DeLarge ที่สะท้อนภาพทั้งในฐานะเหยื่อ และผู้ถูกกระทำได้อย่างยอดเยี่ยม รวมไปถึงการแสดงแบบเสี่ยงตายหลายฉากจนเขาตาหวิดบอดจากฉากแหกตาในตำนาน แถมยังซี่โครงหักจากอุบัติเหตุในกองถ่าย รวมไปถึงการกระทำที่น่าอับอายในหลายฉาก แต่มันก็คุ้มแสนคุ้มเมื่อเขาถูกยกย่องจากหมู่คนยุคใหม่ในฐานะ Icon แห่งยุคสมัย เป็นวายร้ายที่โลกต้องคารวะ


Art Direction สุดเพี้ยนชวนเหวอ

แม้หนังจะเล่าถึงโลกอนาคต แต่ Kubrick ก็ไม่อยากสร้างอนาคตในแบบไฮเทคแบบหนังเรื่องอื่น ๆ เขาจึงบอกกับโปรดัคชั่นดีไซน์เนอร์ให้ออกแบบเหล่าข้าวของเครื่องใช้ในหนังให้เป็นของล้ำยุคที่ไม่ห่างจากยุคปัจจุบันมากนัก แต่ไม่วายยังใส่ความเพี้ยนและความวิปริตเข้าไปในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้รูปหญิงสาวทำท่าสะพานโค้ง / เครื่องทำน้ำนมที่เป็นรูปหน้าอกผู้หญิง ไปจนถึงการฆ่าเหยื่อหญิงสาวด้วยการเอารูปปั้นรูปอวัยวะเพศชายทุบหัวจนตาย

ทั้งหมดเพื่อสื่อให้เห็นว่าความรุนแรงส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการยั่วยุทางกามารมณ์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง Modern Art กับความเสื่อมถอยและความอนาจาร

ในส่วนของการแต่งกาย โดยเฉพาะชุดชาวแก๊ง Droogs นั้นเป็นไอเดียมาจาก Malcolm McDowell พระเอกของเราเอง ที่ได้แรงบันดาลใจจากชุดแข่งคริกเกต แต่เอากระจับที่ใช้กันการกระแทกของลับใส่ไว้ข้างนอก รวมไปถึงหมวกทรงกะลา และขนตาปลอมที่จัดวางไว้ที่ขอบตาด้านล่างเพียงข้างเดียว โดยชุดนี้สะท้อนภาพของคนชนชั้นสูง รวมไปถึงคนมีอำนาจที่ถือไม้เท้าเป็นอาวุธในมือเพื่อใช้ทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่า และกระจับที่ใส่ไว้ด้านนอกให้เห็นความโหนกนูนของอวัยวะเพศ ก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจใหญ่โตของความเป็นชายเพื่อบ่งบอกถึงความตื่นตัวและพร้อมคุกคามทางเพศหญิงสาวได้เสมอ


หนังเรท X ในตำนาน

เมื่อหนังออกฉาย A Clockwork Orange กลายเป็นที่ถกเถียงและแบ่งขั้วออกเป็น 2 ฝั่งอย่างรุนแรง

ฝ่ายแรกคือชาวอนุรักษ์นิยม ที่แทบจะเป็นลมเมื่อหนังประเคนภาพความรุนแรงและเซ็กซ์ ทั้งแบบเต็ม ๆ ตา และทั้งสื่อผ่านสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการรุมกระทืบคนไร้บ้าน / ข่มขืนหญิงสาว ไปจนถึงการทำร้ายกันแบบให้เห็นจะจะตา ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็หวาดกลัวว่ามันจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับวัยรุ่น จึงมอบเรท X ที่ห้ามเด็กดู จน Kubrick ต้องเล็มฉากที่รุนแรงบางซีนออกเพื่อให้หนังได้เรท R ส่วนชาวคาธอลิคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบนหนังเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า “เซ็กซ์และความรุนแรงในหนังสร้างความเสื่อมเสียต่อคุณธรรมชั้นร้ายแรง”

ในประเทศอังกฤษ หนังเรื่องนี้อื้อฉาวจากการถูกนำไปเลียนพฤติกรรมถ่อยนอกจอ หนุ่มชราไร้บ้านถูกเด็กอายุ 16 รุมกระทืบจนตาย โดยอ้างว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้ ขณะเดียวกันฉากข่มขืนที่พระเอกฮัมเพลง Singin’ in the Rain เพลงฮิตจากหนังเพลงชื่อดัง ก็ถูกแปลงเป็น Singin’ in the Rape สร้างความเกลียดชังจน Kubrick และครอบครัวถูกข่มขู่ถึงขั้นประท้วง ทำให้โรงหนังบางโรงจำต้องถอดหนังเรื่องนี้ออกจากโปรแกรม

หนังถูกแบนจากหลายประเทศทั้งไอซ์แลนด์ / เกาหลีใต้ / บราซิล / แอฟริกาใต้ และสิงค์โปร์ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ หนังได้ถูกห้ามฉายยาวนานถึง 30 ปี

ในขณะเดียวกันฝ่ายสนับสนุนและชื่นชมหนังเรื่องนี้ก็มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่รับหนังเรื่องนี้ได้ในฐานะหนังสะท้อนความรุนแรงอย่างสุดขั้ว เพื่อบอกว่าสังคมในยุคปัจจุบันนั้นฟอนเฟะไม่ต่างจากหนัง รวมไปถึงการกระทำของภาครัฐที่ตั้งใจจะล้างสมองคน

สาเหตุจากยุคนั้นเป็นยุคเดียวกันกับที่รัฐบาลสหรัฐส่งเด็กหนุ่มไปทำสงครามที่เวียดนาม ตัว Anthony Burgess ก็ไม่ต่างกับเด็กหนุ่มที่ถูกรัฐล้างสมองและหลอกให้ไปตาย มันจึงเป็นสาสน์ที่ส่งถึงคนมีอำนาจให้หยุดยั้งการกระทำในนามของความดี ที่ทั้งจริงแล้วเจตนาของคุณนั้นมันช่างฟอนเฟะและเลือดเย็นไม่ต่างกุ๊ยแก๊ง Droogs เลย


แรงบันดาลใจที่ส่งต่อให้เสียงเพลง

“David Bowie”

หนัง A Clockwork Orange ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้แวดวงศิลปะ โดยเฉพาะวงการดนตรีที่ศิลปินหลายยุคหลายสมัย ต่างยกให้หนังเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ของโลกยุคใหม่

ในช่วงเวลาที่หนังออกฉาย Bowie ที่คลั่งไคล้มาตั้งแต่ฉบับนิยายก็แปลงโฉมของเขาในยุค Ziggy Stardust (1972) ที่ธีมแฟชั่นและคอนเสิร์ตมักจะอ้างอิงจากหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลง ‘Ninth Symphony’ ของ Beethoven เป็นอินโทรในคอนเสิร์ตอยู่เสมอ

“Blur – The Universal” 

MV เพลง The Universal ของ Blur ในอัลบั้มชุด The Great Escape คือการแสดงออกถึงการเคารพหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ชุดที่ศิลปินทั้ง 4 สวมใส่ อายไลเนอร์และขนตาปลอมของ Damon Albarn รวมไปถึงท่าทีแสยะยิ้ม คือตัวตนของ Alex และแก๊ง Droogs อย่างไม่ต้องสงสัย

https://youtu.be/BrbxWOMpwfs

“Rihanna – You Da One”

เช่นเดียวกันกับ MV ของ You Da One ของ Rihanna ที่แม่ห่านมาในชุดคอสตูมและเมคอัพเดียวกัน เพื่อเป็นการคารวะถึงคอสตูมสั่นสะเทือนวงการแฟชั่นนี้

https://youtu.be/b3HeLs8Yosw

“My Chemical Romance”

ใครๆต่างก็รู้ว่า Gerard Way ฟรอนท์แมนของวงนั้นคลั่งไคล้บูชา A Clockwork Orange ขนาดไหน เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “เมื่อคุณเป็นวัยรุ่น และคุณค้นพบเพลงพังค์ครั้งแรก หนังเรื่องแรกที่คุณนึกถึงก็คือ A Clockwork Orange” โดยเขากล่าวว่าอัลบั้ม Danger Days: The True Lives of the Fabulous Killjoys นั้นคืออัลบั้มที่ตั้งใจทำเพื่อบูชาหนังเรื่องนี้โดยตรง

 

แม้ว่าหนังจะอุดมไปด้วยความรุนแรงและความวิปริตวิปลาส แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า A Clockwork Orange ได้สร้างแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ให้กับวงการศิลปะ แฟชั่น รวมถึงดนตรี และหนังก็เผยความยอดเยี่ยมเหนือกาลเวลาหลังผ่านพ้นไป 4 ทศวรรษ ประเด็นในการเล่ารวมไปถึงความรุนแรงของสังคมนั้นยังคงมีอยู่ และมันอาจจะล้ำหน้าเกินหนังไปไกล อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้ย้ำเตือนเราว่า “เราไม่สามารถหยุดความรุนแรงได้ หากสังคมยังเต็มไปด้วยความฟอนเฟะ และถูกกดขี่โดยคนบ้าอำนาจ”

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line