

Business
รับมือกับ Presenteeism ภาวะที่ลูกน้องทำงานได้แย่ลงเนื่องจากอาการเจ็บป่วย
By: unlockmen September 10, 2021 205506
เวลาป่วยหลายคนอาจไม่กล้าที่จะลางานด้วยหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาด้านการเงิน ภาระงานที่กองเป็นภูเขา หรือ การอยู่ในสังคมที่มองคนลาหยุดไม่ดี สุดท้ายพวกเขาก็พยายามพาตัวเองมาทำงานในสภาพที่ไม่พร้อมเต็มที่ และทำผิดพลาดได้บ่อยขึ้นในที่สุด ปัญหาเรื่องพนักงานไม่ยอมลาหยุดงาน และมาทำงานตอนป่วย หรือ บาดเจ็บ เราเรียกกันว่า ‘Presenteeism’ ซึ่งสามารถทำลาย Productivity ในการทำงานของคนได้มากถึง 1 ใน 3
แถมปัญหานี้ยังอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดด้วย มีคนทำงานชาวไทยจำนวนมากที่ไม่ยอมลาป่วย และมาทำงานในสภาพที่ไม่พร้อม ส่งผลให้พวกเขาทำงานได้ไม่เต็มที่ อ้างอิงจาก การสำรวจของบริษัทประกันซิกน่า (2018) พบว่า คนไทยราว 89% ยังคงไปทำงานแม้ตัวเองจะป่วย หรือ มีสภาพจิตใจที่ไม่พร้อม ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาลดลงเหลือเพียง 74% เท่านั้น
นอกจากจะทำให้งานเสียแล้ว ปัญหานี้อาจนำไปสู่ปัญหาหนักข้ออื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้าของพนักงาน หรือ ปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้นอย่างการแพร่ระบาดของโรคในออฟฟิศ Presenteeism จึงเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจอย่างมาก และคนระดับผู้นำไม่ควรมองข้ามปัญหานี้
ภาระงานที่มากเกินไป นโยบายที่กระตุ้นให้พนักงานลาหยุดน้อยลง วัฒนธรรมที่สนับสนุนการทำงานหนัก จนถึง มุมมองที่มีต่อการลาหยุดว่าเป็นเรื่องเลวร้าย ล้วนกระตุ้นให้เกิด Presenteeism ได้ทั้งนั้น เพราะพวกมันสร้างความกลัวให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานไม่กล้าลาหยุดเมื่อตัวเองป่วย และพยายามลากสังขารมาทำงานให้ได้
การระบุ Presenteeism ในองค์กร มักเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะพนักงานอาจมีความสามารถในการปิดบังอาการป่วย หรือ ปัญหาทางใจได้อย่างแนบเนียน ภายนอกอาจดูเหมือนพวกเขายังคงมาทำงานปกติ และทำตัวเหมือนปกติ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ สภาพจิตใจและวิธีการทำงานของพวกเขา
ความท้าทายยังมากขึ้นไปอีก เมื่อหลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงาน work from home เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด การทำงานอยู่แต่หน้าคอม หรือ การประชุมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนในบริษัทเจอหน้ากันน้อยลง และสังเกตอาการป่วยของกันและกันได้ยากขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นปัญหานี้ง่ายขึ้น เราจึงอยากแนะนำวิธีการสังเกตอาการของ Presenteeism ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
การแก้ไขปัญหา Presenteeism เริ่มต้นได้จากการรับรู้ปัญหาที่ทำลายสุขภาพของพนักงาน เช่น ถ้าพนักงานของเราส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง พวกเธออาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชาย พนักงานอาจเครียดจากปัญหาเรื่องเงิน หรือ ปัญหาเรื่องการทำงานที่ออฟฟิศ เป็นต้น
เมื่อหัวหน้ารับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว ต่อมาก็ควรคิดและออกมาตรการป้องกันปัญหาเหล่านั้นได้ให้ได้มากที่สุด เช่น ถ้าเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต ก็ควรกำหนดสวัสดิการเรื่องการนัดพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ รวมไปถึง การให้ความรู้เรื่องการควบคุมความเครียดแก่พนักงาน เป็นต้น
ต่อมา คือ การสร้างวัฒนธรรมที่ป้องกันการเกิด Presenteeism มากขึ้น เช่น การอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ การลดภาระงานของพนักงาน รวมไปถึงการบังคับใช้นโยบายที่ช่วยให้พนักงานสามารถดูแลตัวเองได้ และกล้าที่จะหยุดเมื่อตัวเองป่วยมากขึ้น
ผู้นำหลายคนอาจกลัวว่า ถ้าพนักงานกล้าลาหยุดมากขึ้น จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น คุณควรระลึกไว้เสมอว่า พนักงานที่มีความสุข และแข็งแรง จะมีความพร้อมในการทำงานมากกว่าคนป่วยอยู่แล้ว และที่สำคัญ คือ คุณควรหาทางป้องกันการป่วยการเมือง หรือ การลาป่วยเป็นประจำโดยไม่มีเหตุผลอันควร (absenteeism) ด้วย เพราะปัญหานี้ก็ส่งผลเสียต่อองค์กรได้ร้ายแรงไม่แพ้กัน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการที่หัวหน้าสามารถทำได้เพื่อป้องกัน Presenteeism หากนำไปปรับใช้แล้ว เราเชื่อว่าพนักงานของคุณจะมีความพร้อมในการทำงานอยู่เสมอ และงานของพวกเขาจะไม่ค่อยเกิดข้อผิดพลาดบ่อยนัก