APPS

DIGITAL FOOTPRINT MATTERS วิธีลบร่องรอยข้อมูลส่วนตัว ลดความเสี่ยงโดนล่าตัวตนบนโลกดิจิทัล

By: anonymK February 5, 2018

“เรากำลังฝากชีวิตไว้บนใยแก้ว”

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นเพียงฝุ่นผงในจักรวาลกว้าง ๆ ของเครือข่ายโลกดิจิทัล และคิดว่าในห่วงโซ่สังคมเสมือนนี้เราจะไม่ใช่คนโชคร้ายที่สุด ข้อมูลของเราคงไม่มีใครต้องการ แต่ความจริง Data เล็กน้อยที่คุณกรอกลงไปไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหนก็ตาม มันมีมูลค่า ซื้อขายได้ และเพิ่มความเสี่ยงให้คุณกลายเป็นผู้โชคร้ายตกเป็นเหยื่อทางโจรกรรมชนิดที่พร้อมจะเป็นข่าวหน้าหนึ่งเสมอ

เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ กันไว้ย่อมดีกว่าแก้ ชาว UNLOCKMEN ลองมาเช็กกันดูว่าเรื่องราวเหล่านี้คุณเคยรู้แล้วหรือยัง หากรู้แล้ววิธีป้องกันที่มีอยู่ดีพอหรือเปล่า

ขายใคร ราคาเท่าไร?

 

ข้อมูลของเราเขาเอาไปขายใคร? สำหรับคนที่เคยสงสัย เราขอให้คุณย้อนกลับมาคิดดูว่าคุณเคยรับโทรศัพท์สายแปลกเพื่อเสนอขายประกันบ้างไหม หรือมีหน่วยงานไหนติดตามข้อมูลการเข้าสำรวจเว็บไซต์ของคุณแล้วโทรมาเสนอให้บริจาคในองค์กรและมูลนิธิบ้างหรือเปล่า กระทั่งการรับ SMS ที่ไม่ได้สมัครก็ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการนำข้อมูลของคุณมาหาประโยชน์ บริษัทจอมตื๊อนี่ล่ะที่อยากซื้อข้อมูลของคุณ ส่วนราคาซื้อขายในตลาดก็ถูกมากจนเสียจนอยากจะจ่ายไปวาร์ปหาสาว ๆ เลย

“สำหรับเบอร์ที่ขายกันนั้น จะขายกันทีเป็นร้อย ๆ เบอร์ ราคาเบอร์ที่ได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่า จะซื้อกันในราคาเบอร์ละเท่าไร 1 บาท 5 บาท 10 บาท ถ้าเบอร์ของพวกเศรษฐีมีสตางค์หน่อย ก็จะแพงขึ้นมาอีก”

เผื่อคนที่ยังไม่รู้ ข้อมูลที่คุณไม่ได้ยินยอมส่งต่อ เขาซื้อขายจากแหล่งที่คุณยินยอมพร้อมใจให้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่คุณไปกรอกข้อมูลไว้ หรือการตอบแบบสอบถามที่ไหนสักที่ที่ใช้ของฟรีล่อใจคุณตอบ จากนี้คุณจึงควรอ่านเอกสารให้ละเอียด โดยเฉพาะเมื่อเจอคำที่ระบุในเอกสารว่า “ขออนุญาตเปิดเผยข้อมูล” ก็ให้หยุดอ่านให้ดีอย่าเพิ่งอนุญาตไปสุ่มสี่สุ่มห้า

นอกจากนี้อีกประเภทที่เราต้องระวังคูณสอง คือพวกที่ไม่ได้ตั้งใจมาขายของ แต่มาพร้อมจุดประสงค์ลบเป็นพิเศษ บรรดาแฮคเกอร์หรือพวกอาชญากรรมตัวจริงเขาตั้งใจแฮค password เพื่อ Blackmail Bully หรือหลอกลวงการทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เสียหายโดยไม่มีโอกาสบอกปัดแม้แต่น้อย เราเลยต้องจึงรู้จักวิธีการจัดการและป้องกันให้ถูกวิธี

 

เหนือเมฆกลโกงดิจิทัล เสริมกำแพงความปลอดภัย

เมื่อโลกเสมือนมีผลกับโลกจริง คนเลยเริ่มออกหาวิธีแก้ทางกันด้วยการใช้นวัตกรรมตัดความรำคาญหรือสร้างความยากเพื่อเป็นปราการเจาะรหัส เลยขอแนะนำแอปพลิเคชัน และ Gadget เด็ด ๆ ให้คุณลองไปใช้ดูได้ตามความชอบ รับรองจากนี้ชีวิตจะสบายหูขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้งมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นหมูสนามให้ใครได้มาหลอกเราได้

 

กำแพงด้านข้อความ

1. SECRET CONVERSATION

การตั้งหน้าต่าง Inbox ลับ ๆ ในโปรแกรม Messenger ของ Facebook กับคนที่คุยด้วย อันนี้ไม่ต้อง install อะไรเพิ่ม แค่เปิด Secret Conversation จากปุ่มด้านบนขวา จากนั้นเลือก Secret ตั้งเวลาที่ต้องการลบการสนทนาได้ที่เครื่องหมายนาฬิกา เมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้ข้อมูลจะอันตรธานหายวับไปกับตา

 

2. ENCRYPTED MESSENGER

ตัวนี้คล้าย ๆ กับด้านบน แต่เป็นแอปฯ ที่ต้อง install ซึ่งใช้ได้ทั้ง iOS และ Android ตัวนี้ใช้กับ Social Network หลายประเภท ทั้ง Facebook WhatsApp

 

กำแพงรหัสผ่าน

1. PASSWORD MANAGER


แอปฯ จัดการ Password แบบไม่ปวดหัว ปกติเรามักตั้งรหัสจากเรื่องใกล้ตัวอย่างเลขวันเกิด เลขโทรศัพท์ ชื่อหมาที่บ้าน ของที่ชอบ ฯลฯ แต่เมื่อติดตั้งแอปฯ นี้ มันจะช่วยเราคิด และจดจำรหัสผ่านเหล่านั้น เราจะได้ไม่ต้องปวดหัวและปลอดภัยเสมอทุกครั้งที่ใช้งาน

 

2. USB-STICK CREDENTIALS


อันนี้เสริมความปึ้กเข้าไปอีก ปกติถ้าเราใส่รหัสผ่านแล้วก็ควรจะเข้าได้ แต่ถ้ามีสิ่งนี้ถึงใครมีรหัสผ่านเราก็ยังเข้าไม่ได้ เพราะต้องใช้ Gadget ชิ้นนี้เสียบผ่าน port USB อีกครั้งเพื่อยืนยันตัวเอง เท่ากับเป็นการล็อคซ้ำล็อคซ้อนแต่ปลอดภัยขึ้นอีกระดับของจริง รองรับการใช้รวมกับบัญชีสำคัญ ๆ นับร้อยอย่าง Google, Dropbox, Facebook, Windows และ macOS รวมถึง LastPass และ Dashlane ด้วย สนนราคาอยู่ที่ $40 ใน Amazon ใครอยากใช้ให้อุ่นใจก็ใช้ได้ แต่จุดอ่อนคือไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนขี้ลืม เพราะไม่เช่นนั้นเรานั่นแหละที่จะเข้าไม่ได้

 

กำแพงการรับสาย

1. Whoscall


แอปฯ เพื่อนช่วยเพื่อน ป้องกันบรรดาเหล่าประกันชีวิตได้อยู่หมัด และสามารถใช้บล๊อกได้เป็นอย่างดี เพราะว่าพอมีสายน่าสงสัยโทรมาปุ๊ป หน้าจอเราจะโชว์ทันทีว่าเป็นสายมาจากไหน ที่สำคัญมีฐานเบอร์โทรสแปมมากกว่า 1 ล้านเบอร์และมีการอัปเดตใหม่เสมอ ๆ ใครช่วงนี้มีสายเข้าบ่อย ๆ ลองมาใช้แอปฯ นี้ได้นะ

 

2. กันกวน


แอปพลิเคชัน “กันกวน” เป็นโปรแกรมที่สำนักงาน กสทช. พัฒนาเพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถใช้บล๊อกการโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์จากกลุ่มธุรกิจที่รบกวนผู้ใช้บริการอย่างเรา ๆ และสร้างกลุ่มสังคมออนไลน์ในการร่วมกันดูแล และแลกเปลี่ยนข้อมูลควรบล๊อกทั้งหลาย หลักการก็คล้าย ๆ กับ Whoscall ลองดูหน้าตาแล้วชอบแบบไหนก็เลือกอันนั้นได้เลย

ลบรอยโลกออนไลน์และแนวการป้องกันทั้งหมดแล้ว ก็อย่าลืมใส่รหัสเรื่องคำพูดเพิ่มด้วยอีกทาง เพราะบางครั้งการพูดคุยของเราบางครั้งก็เป็นการแบไต๋ให้กับมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นรหัสชิ้นสุดท้ายที่ฝากชาว UNLOCKMEN ทุกคนไว้ คือเรื่องของ “สติ” เมื่อมีสติแล้ว จะหลอกด้วยวิธีไหนก็ยากแล้วล่ะ

 

SOURCE1   SOURCE2   SOURCE3

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line