

GADGETs
เจาะชีวิตบุรุษผู้เป็นคนคิดค้นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลก Martin Cooper
By: unlockmen July 8, 2015 9329
ถ้าก่อนหน้านี้ ใครมาเดินมาถามเราว่า “รู้ไหมว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ทุกวัน ใครเป็นคนประดิษฐ์” เราก็คงจะตอบไม่ได้ จนกระทั่งเราได้มาทำการศึกษา และรู้จักเรื่องของชายคนนี้ ชายผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็น “Father of the cell phone” หรือ บิดาแห่งโทรศัพท์มือถือ ชายคนนี้เป็นผู้ริเริ่มโครงการหลายอย่างให้แก่บริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ชื่อดัง อีกทั้งยังนั่งแท่นเป็นผู้คิดค้นต้นแบบโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกให้กับบริษัทนั้นด้วย ไม่เพียงเท่านี้ เขายังเป็นผู้ริเริ่มค้นคว้าวิจัยถึงสิ่งที่เรียกว่า “Wireless” (อุปกรณ์ไร้สาย) สิ่งประดิษฐ์นี้ที่เขาคิดค้นขึ้น เป็นต้นแบบให้กับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ตามมามากมาย รวมทั้ง Wifi ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน จนกระทั่งเขาเปิดบริษัทด้าน Wireless เป็นของตัวเอง และมีชื่อเสียงจนกระทั่งภรรยาของเขาถูกขนานนามว่า “first lady of Wireless” ขนาดนี้คงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมเขาถึงได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากมาย คนที่เรากำลังพูดถึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเขาคนนี้ ชายผู้มีชื่อว่า Martin Cooper
Martin Cooper เกิดเมื่อปี 1928 ที่เมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจบการศึกษาจากสถาบัน Illinois Institute of Technology ในปี 1950 เมื่อจบการศึกษาเขาได้ไปสมัครเป็นทหารสำรอง ประจำหน้าที่ในเรือดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐเพื่อรับใช้ชาติในสงครามเกาหลี เมื่อเขาปลดประจำการจากสงครามเกาหลี จึงได้กลับมาเรียนต่อปริญญาโท ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และจบการศึกษา ในปี 1957
ในช่วงระยะเวลาระหว่างเรียนปริญญาโท เขาได้ทำการลาออกจากบริษัทเก่าอย่าง Teletype เพื่อมา รับหน้าที่เป็น วิศวกรรมอาวุโสด้านการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสาร ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Motorola โดยเขาได้ทำการพัฒนาอุปกรณ์ทางด้านการสื่อสารออกมามากมาย รวมทั้ง เครื่องมือสื่อสารต้นแบบสำหรับมือถือด้วย เจ้าสิ่งนั้นก็คือ วิทยุเคลื่อนที่แบบตำรวจพกพานั่นเอง โดยหลังจากนั้น ในปี 1967 เจ้าวิทยุเคลื่อนที่นี้เอง ก็ได้กลายเป็นวิทยุเคลื่อนที่ ที่ตำรวจในรัฐชิคาโก้ใช้ในที่สุด
ในราวปี 1970 คูเปอร์ได้เป็นหัวหอกให้ Motorola มุ่งค้นคว้าวิจัยระบบสื่อสาร จนกระทั่งเขาสามารถคิดค้นมือถือได้เป็นเครื่องแรกของโลกในปี 1973 แต่ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าจะสามารถนำเจ้ามือถือเครื่องนี้เข้าสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลานั้นก็เป็นช่วงยุคมืดของเครื่องมือสื่อสารพอดี เพราะตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา เครื่องมือสื่อสารแบบ “Car Phone” ถูกรัฐบาลจำกัดจำนวนผู้ใช้ในเมืองใหญ่ๆ ทำให้มือถือสื่อสารที่คูเปอร์คิดค้นขึ้น เรียกเสียงฮือฮาให้วงการได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งรูปแบบที่เป็นมือถือส่วนตัว ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันสั้น โดยคูเปอร์มีแนวคิดส่วนตัวว่า “ประชาชนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารได้ทุกเวลาตามที่เขาต้องการ”
อีกทั้งแนวคิดความหมายของโทรศัพท์มือถือที่คูเปอร์เคยให้ไว้ก็คือ “โทรศัพท์มือถือเป็นของส่วนตัว เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นทุกคนสมควรที่จะกำหนดเบอร์เป็นของตัวเองได้ ไม่ใช่เป็นเบอร์สถานที่ ไม่ใช่เป็นเบอร์บ้าน ไม่ใช่เบอร์โต๊ะทำงาน แต่เป็นเบอร์ของคุณ”
มติของฝ่ายบริหาร Motorola ลงความเห็นสนับสนุนนโยบายรูปแบบโทรศัพท์มือถือของคูเปอร์ทันที โดยทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราวๆ 3,300 ล้านบาท ไปในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1973 – 1993 เมื่อได้งบแล้วคูเปอร์ก็ทำการรวบรวมทีมของเขาขึ้น โดยเป้าหมายเดียวก็คือ เพื่อผลิตในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ซึ่งเขาก็สามารถพิสูจน์คำพูดของเขาได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเขา และทีมใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 90 วัน ในการผลิตโทรศัพท์มือถือออกมาสู่ท้องตลอด โดยมือถือรุ่นนั้นก็คือ Motorola_DynaTAC นั่นเอง
ไม่นานมือถือรุ่นที่คนๆ หนึ่งสามารถต่อสายผ่านเบอร์ไปถึงคนอีกคนหนึ่งได้ ก็เป็นที่แพร่หลายในที่สุด โดยคูเปอร์ได้ทำการลบล้างทฤษก่อนหน้านั้นจนหมดสิ้น ย้อนไปในอดีตจากวันแรกที่วิทยุสื่อสารเริ่มแพร่หลายสำหรับคนทั่วไป ในปี 1947 บริษัท Bell labs ยืนกรานว่าโทรศัพท์ควรจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่โทรเข้าถึงสถานที่เท่านั้น แต่ มาร์ติน คูเปอร์ คือชายผู้ที่ลบล้างคำนี้ได้อย่างไม่มีข้อกังขา
ในวันที่ 3 เมษายน 1973 วันที่โทรศัพท์มือถือรุ่น DynaTAC จะทำการโทรออกเป็นครั้งแรก โดยมีสื่อต่างๆ มารุมทำข่าวกันมากมาย คูเปอร์ได้เลือกที่จะโทรไปหาหัวหอกของบริษัท Bell labs อย่าง Dr. Joel S. Engel เมื่อต่อสายได้แล้ว คูเปอร์ก็ได้กล่าวว่า “โจเอล, นี่มาร์ตี้นะ ฉันกำลังโทรหานายด้วยโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ที่เป็นมือ’ถือ’ จริงๆ”
มาร์ติน คูเปอร์ ทำงานให้บริษัท Motorola เป็นระยะเวลายาวนานถึง 29 ปี เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวทางธุรกิจให้บริษัทหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น Paging (เพจจิ้ง), โทรศัพท์มือถือ, trunked mobile radio, quartz crystals, oscillators, liquid crystal displays, piezo-electric components รวมทั้งระบบวิทยุ AM ของ Motorola ด้วย ก่อนที่เขาจะลาออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองกับภรรยา โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1984-2014 คูเปอร์ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากกว่า 20 รางวัล รวมทั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ในสมาคมด้านการสื่อสารหลายแห่ง
ในปี 2004 คูเปอร์ได้รับประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ในระดับด๊อกเตอร์ จากสถาบัน Illinois Institute of Technology ในฐานะสร้างชื่อเสียงให้สถาบัน
เป็นไงกันบ้างครับ อ่านเรื่องของเขาคนนี้กันแล้ว รู้สึกไหมครับว่าการคิดอะไรที่แตกต่างมักมาพร้อมกับความสำเร็จเสมอ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ก็คือ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ ความแตกต่างก็ถือเป็นอีกหนึ่งประตูที่จะพาคุณไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน
Source : Hypebeast.com