Survival

“อารมณ์พาไปพัง” รู้จัก ‘amygdala hijack’ เมื่อเราควบคุมตัวเองไม่ได้เพราะความเครียด

By: unlockmen March 10, 2021

หลายคนน่าจะเคยมีช่วงเวลาที่โกรธใครสักคนมาก ๆ แล้วลงมือทำร้ายพวกเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว พอนึกย้อนกลับไปก็อาจจะรู้สึกแย่ และคิดว่าไม่น่าทำอย่างนั้นลงไปเลย เหตุการณ์นี้อาจเป็นตัวอย่างของ amygdala hijack ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถควบคุมตัวเองและใช้เหตุผลได้ ส่งผลให้เราทำอะไรบางอย่างตามอารมณ์ และอาจสร้างปัญหาที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ในภายหลัง


อะไร คือ AMYGDALA HIJACK ?

amygdala hijack เป็นคำที่นิยามโดย แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาผู้โด่งดังเรื่องแนวคิด ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ซึ่งคำนี้ใช้อธิบายถึงปรากฎการณ์ที่สมองเทคโอเวอร์ความสามารถในการตัดสินใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็ว ในเวลาที่เราเจอกับปัญหาที่สร้างความเครียดอย่างหนัก

ซึ่ง amygdala hijack จะเกิดขึ้นจากการทำงานของ อะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นกลุ่มของเซลล์ที่อาศัยอยู่ในด้านข้างสมองสองซีกของเรา ซึ่งสมองส่วนนี้จะทำงานเกี่ยวข้องกับการจดจำ และการให้ความหมายของอารมณ์แต่ละประเภทที่เรามี และมันยังทำหน้าที่ในการจับคู่อารมณ์กับการตอบสนองทางกายที่เฉพาะเจาะจงด้วย เช่น บางคนที่มีนิสัยชอบทำร้ายคนอื่นเวลาโกรธ ก็อาจจะเกิดจากการทำงานของสมองส่วนนี้

amygdala ยังมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองแบบ สู้หรือหนี (fight-or-flight response) อีกด้วย ซึ่งการตอบสนองประเภทนี้เป็นกลไกเอาตัวรอดสำคัญที่มนุษย์ใช้มาอย่างยาวนาน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่จะมาทำร้ายหรือฆ่าพวกเขา เช่น สัตว์ร้าย หรือ ศัตรูฝั่งตรงข้าม

โดยเมื่อเราเจอกับภัยคุกคาม ความรู้สึกที่รุนแรง เช่น ความกลัว วิตกกังวล หรือ ความโกรธ จะกระตุ้นให้ amygdala สั่งร่างกายให้มีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด หรือ คอร์ติซอล ออกมา เพื่อให้เราเข้าสู่โหมด fight-or-flight และแสดงพฤติกรรมการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เช่น วิ่งหนีจากสัตว์ร้ายที่น่ากลัวสุดชีวิต หรือ ชกหน้าเพื่อนที่ทำให้โกรธทันที เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม amygdala hijack ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่เราเจอกับภัยคุกคาม เพราะความรุนแรงของภัยคุกคามส่งผลต่อการเกิด amygdala hijack กล่าวคือ ถ้าเกิดว่าภัยคุกคามไม่รุนแรงมาก (เช่น มีคนเดินชนเรา แล้วรู้สึกเจ็บสะเทือนใจเล็กน้อย) สมองกลีบหน้า (frontal lobe) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผลอาจจะยังคงทำงานได้อยู่

แต่ถ้าเกิดว่าภัยคุกคามมีความอันตรายมาก (เช่น โดนขโมยของ หรือ โดนทำร้าย ) เรามักรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรง และเกิดอารมณ์รุนแรงตามมา เช่น ความกลัว หรือ ความโกรธ อารมณ์ที่เข้มข้นเหล่านี้จะส่งผลให้ amygdala สามารถปิดการทำงานของสมองกลีบหน้าได้ และเทคโอเวอร์ความสามารถในการคิดของเราได้อย่างรวดเร็ว


เราจะป้องกันการเกิด AMYGDALA HIJACK ได้อย่างไรบ้าง  ?

แม้โหมด fight-or-flight ที่เกิดจากการทำงานของอะมิกดาลา จะช่วยให้เราสามารถหลุดพ้นจากความเครียดได้อย่างรวดเร็ว แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการคิดหรือใช้เหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ จนลงมือทำเรื่องที่ทำให้รู้สึกเสียใจ หรือ อับอายในภายหลังได้ ดังนั้น UNLOCKMEN เลยอยากนำเสนอวิธีรับมือกับอาการ amygdala hijack ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ไม่ยาก และช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น

หาให้เจอว่าอะไรทำให้เกิด Amygdala Hijack

เวลาเจอเรื่องแย่ ๆ เรามักโฟกัสที่ตัวเอง และตัดสินใจโดยอ้างอิงจากความรู้สึกของตัวเรา พฤติกรรมนี้ทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยาก ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด amygdala hijack เราเลยจำเป็นที่ต้องระบุให้ได้ว่าอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ พร้อมหาวิธีรับมือกับมัน เช่น ถ้าเกิดว่าเราได้รับงานที่มีเดดไลน์สั้นมาก ๆ แทนที่เราจะระเบิดอารมณ์ใส่คนสั่งงาน เราอาจลองคิดหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเดดไลน์แบบนั้นออกมา เช่น ลูกค้าอาจจะรีบเคลียร์งาน หรือ หัวหน้ารู้สึกว่าจะดีกว่าถ้าทำให้งานนี้ให้เสร็จโดยเร็ว เป็นต้น เมื่อเรารู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาแล้ว เรามักจะคิดวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

หยุดคิดเสียหน่อย

เวลาที่ทุกคนเครียด และกำลังจะสูญเสีบความสามารถในการควบคุมตัวเอง เราขอแนะนำให้ทุกคนลองนับเลขในใจ 1 – 10 ดูจะช่วยป้องกันการเกิด amygdala hijack ได้ เพราะสัญญาณเคมีที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ amygdala มักหายไปในเวลา 6 วินาที การนับเลขจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เวิร์ก

อย่า Judge คนอื่นในเวลาที่ไม่จำเป็น

การตัดสินคนอื่นในทุกที่ทุกเวลา เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ ทำให้เรารับฟังความเห็นต่างน้อยลง และยังทำให้เรารับรู้เกี่ยวกับคนอื่นแบบผิด ๆ อีกด้วย เมื่อเราตัดสินคนอื่นว่าเป็นลบ เราก็จะยิ่งเกิดอารมณ์ลบ ๆ กับคนที่เราตัดสิน และเจอกับ amygdala hijack ได้ง่ายกว่าเดิม ดังนั้น จะดีกว่าถ้าเราโฟกัสตัวเอง และไม่ตัดสินคนอื่นโดยไม่จำเป็น

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) เป็นทักษะที่ช่วยป้องกันการถูกอารมณ์ครอบงำได้ดีเหมือนกัน เพราะเมื่อเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราจะเกิดความรู้สึกแง่ลบกับคนอื่น (เช่น ความโกรธ) น้อยลง และมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการฝึกความเห็นอกเห็นใจสามารถทำได้โดยการตั้งคำถาม และการสวมบทบาทเป็นคนอีกฝ่าย อาจเริ่มจากการลองคิดเรื่องเหล่านี้ดู พวกเขารู้สึกอย่างไรที่ได้ทำแบบนั้นกับเรา ? ทำไมพวกเขาถึงทำแบบนั้น ? ถ้าเราอยู่ในสถานะเดียวกับเขาเราจะทำแบบเดียวกันหรือไม่ ? การตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้อาจช่วยให้่เราพบเหตุผลที่ฟังขึ้น และตัดสินพวกเขาในแง่ลบน้อยลง

ใช้ชีวิต slow มากขึ้น

การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการตัดสินจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล มักไม่ส่งผลดีต่อตัวเรา  เพราะมัน คือ ส่วนหนึ่งของการตอบสนองแบบ flight-or-fight หรือ amygdala hijack จะดีกว่า ถ้าเราลดความเร็วในการตัดสินใจลง พยายามใช้ชีวิตให้ช้าลงเข้าไว้ และเมื่อเราให้เวลาตัวเองคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ แล้ว การระงับการทำงานของ amygdala hijack ก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเราอีกต่อไป

ทั้งหมดนี้ก็ คือ วิธีการเตรียมรับมือกับ amygdala hijack อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้เราสามารถคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้แม้เจอกับสถานการณ์ที่ย้ำแย่ แต่ถ้าใครรู้สึกว่าสติหลุดง่ายเวลาโกรธ อาจมีปัญหาเรื่อง การควบคุมความโกรธ (anger management) ซึ่งถ้ารับรู้แล้ว จะแก้ไขปัญหานี้ได้ง่ายกว่าเดิม


Appendixs: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line