World

นักวิจัยเปิดตัว “ประเทศที่ขี้เกียจที่สุดในโลก” ลุ้นกันไหมว่าคนไทยติดอันดับหรือเปล่า?

By: PSYCAT July 18, 2017

“ความขี้เกียจ” เหมือนจะเป็นสิ่งที่ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด ขึ้นอยู่กับว่าขี้เกียจมาก ขี้เกียจน้อย หรือใช้เกณฑ์อะไรเป็นเกณฑ์ในการวัดความขี้เกียจกันแน่?

คราวนี้นักวิจัยจาก Stanford เขาวัดเอาจากปริมาณการเคลื่อนไหวด้วยการเดินของผู้คนในประเทศนั้น ๆ ว่าเดินมากหรือเดินน้อย ประเทศที่เดินทางด้วยการเดินเป็นหลักถูกมองว่ามีความแอคทีฟมากในหนึ่งวัน ในขณะที่ประเทศที่เฉลี่ยออกมาแล้วว่าผู้คนในประเทศเดินเฉลี่ยต่อวันน้อยเหลือเกินก็ถูกมองว่าอุ้ยอ้ายและขี้เกียจไปโดยปริยาย

ก่อนจะดราม่าไปกว่านี้ว่าตกลงการเดินสัมพันธ์กับความขี้เกียจจริงหรือเปล่า UNLOCKMEN ขอชวนคุณมาทำความเข้าใจงานวิจัยชิ้นนี้ไปพร้อม ๆ กันก่อน

งานวิจัยครั้งนี้นับเป็นการสำรวจพฤติกรรมทางสุขภาพที่ยิ่งใหญ่จนต้องร้องว้าวมากที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจมา เพราะมีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 717,000 คน จาก 111 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจครั้งนี้ใช้เครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟนเข้าช่วยในการสำรวจว่าในวัน ๆ หนึ่งคนในประเทศนั้น เขาเดินกันวันละกี่ก้าวกันแน่

ผลการสำรวจออกมาว่าฮ่องกงคือประเทศที่แอคทีฟมากที่สุดด้วยการเดินเฉลี่ยต่อคน 6,880 ก้าว ในหนึ่งวัน ในขณะที่ประเทศที่เดินน้อยที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งเดินเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 3,513 ก้าว

มาดูประเทศใหญ่ ๆ อื่น ๆ กันบ้าง โดยจีนอยู่ที่ 6,189 ก้าวต่อคนต่อวัน ญี่ปุ่น 6,010 ก้าว สหราชอาณาจักร 5,444 และสหรัฐอเมริกาค่าเฉลี่ยต่อคนต่อวัน คือ 4,774 ก้าว ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของไทยเราก็อยู่ในช่วง 4,200-4,600 มากกว่าอินโดนีเซียที่เดินน้อยที่สุดพอสมควร แต่ก็ห่างไกลจากประเทศที่แอคทีฟอยู่เยอะทีเดียว

การวัดระดับความแอคทีฟจากการเดินนี้ช่วยได้มากในการศึกษาพฤติกรรมทางสุขภาพของคนทั่วโลก อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าค่าเฉลี่ยการเดินมีความสัมพันธ์กับความสะดวกของเมืองในการเดินด้วย

ถ้านึกภาพไม่ออก UNLOCKMEN อยากให้ลองนึกถึงสภาพฟุตปาธที่เต็มไปด้วยกระเบื้องน้ำขัง ต้นไม้ที่ปลูกทะลุขึ้นมากลางทางเดินแบบงง ๆ หรือหาบเร่ แผงลอยที่เบียดเสียดจนไม่มีทางเดินของบ้านเรา หรือระบบขนส่งมวลชนที่ไปไม่ถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่ สภาพเมืองที่ไม่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้าก็มีผลทำให้คนเดินน้อยลงด้วย ไม่ใช่แค่เพราะความขี้เกียจอย่างเดียว

ที่สำคัญความขี้เกียจในที่นี้ก็หมายถึงความขี้เกียจเดิน แต่ไม่ได้หมายถึงความขี้เกียจทำงาน หรือความขี้เกียจด้านอื่น ๆ ซึ่งก็ไม่รู้เลยว่าถ้าสามารถวัดความขี้เกียจด้านการทำงานได้ด้วยเราจะอยู่ลำดับไหนของโลก

อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าค่าเฉลี่ยปริมาณการเดินที่น้อยของประชากรนั้นสัมพันธ์กับการเป็นโรคอ้วนของคนในประเทศด้วย ดังนั้นก็อย่าขี้เกียจเกินไป ถ้าซอยไม่ลึกมาก เป้าหมายที่อยากไปไม่ไกลมาก ก็ลองเดินดูบ้าง สุขภาพจะได้แข็งแรง ๆ ขึ้นด้วย

SOURCE1SOURCE2SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line