Life

ศาสตร์และศิลป์การทวงเงินลูกหนี้ ทำไมทวงแล้วโดนเหวี่ยงใส่ รับมือยังไงกับพวกทวงยากทวงเย็น

By: Chaipohn August 9, 2018

สัจธรรมของโลกมนุษย์ใบนี้กล่าวไว้ข้อนึงว่า “รักใคร อย่าให้ยืมเงิน” หรือแม้แต่ฝรั่งก็ยังสอนไว้เหมือนกันว่า “Don’t lend money to friends in the first place” ไม่รู้ว่าอัจฉริยะท่านไหนเป็นคนคิดค้น แต่มันเป็นคำพูดที่มีมานานแสนนาน และมันพิสูจน์ได้ว่าการให้คนสนิทยืมเงินมักจะตามมาด้วยปัญหานั้น เป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนมาจนถึงยุคปัจจุบัน มันจึงไม่เกี่ยวกับปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของ Generation มันอยู่ที่ DNA ของลูกหนี้

ถ้าสังเกตดูให้ดี จะเห็นว่าปัญหาการทวงเงินนั้นมี Pattern ที่คล้ายกันอยู่ เริ่มจาก “พูดดีเมื่อถึงเวลายืม ทำลืมเมื่อถึงเวลาใช้ เป็นไข้เวลาโดนทวงเงิน”

เพราะมูลค่าเงินในหัวของเราต่างกัน

เหตุผลที่ลูกหนี้รู้สึกลำบากใจเวลาต้องควักเงินในกระเป๋าคืนให้เจ้าหนี้นั้น เป็นเพราะการยืมเงินคนรู้จัก ต่างจากการยืมเงินจากธนาคาร จากเหล่าเจ้าหนี้เถื่อน หรือการได้เงินจากโรงรับจำนำ นั่นคือการไม่มี ‘Collateral’ หรือไม่มีอะไรต้องเสีย เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขในการคืน ไม่ต้องวางหลักประกันในการได้มาซึ่งเงิน ไม่มีผลเสียใด ๆ ตามมา จึงไม่รู้สึกเดือดร้อน ไม่รู้สึกจำเป็นในการคืนเงิน ในขณะที่การยืมจากธนาคารเสี่ยงต่อการเสียเครดิต โดนยึดบ้าน ยืมจากคนปล่อยเงินกู้ ก็มีความกลัวจากอันตราย

เมื่อไม่ต้องเสียอะไร ไม่มีความกลัวคอยกดดัน การได้เงินมาจากคนรู้จักนั้น แม้จะเริ่มด้วยความรู้สึกเกรงใจ หรือความรู้สึกมั่นใจว่าจะคืนเงินอย่างแน่นอน แต่อะไรที่ได้มาง่ายมักจะไม่เห็นความสำคัญ หลังจากใช้เงินไปจดหมด Perception ของคนยืมคือความง่ายจากเงินที่ไม่ต้องเหนื่อยในการได้มา ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ต้องเสียแรงเลยแม้แต่นิดเดียว ‘มันจึงเป็นเงินที่ไม่มีต้นทุน’

ในทางกลับกัน เจ้าหนี้เป็นคนควักเงินที่แลกกับแรงกายแรงใจ เป็นเงินที่มีต้นทุนสูง อารมณ์ความเป็น Ownership ของเงินจึงต่างกัน เมื่อฝ่ายเจ้าหนี้ทวง ฝ่ายลูกหนี้จึงมักจะรู้สึกไม่พอใจ อาจจะด้วยความไม่มีเงินจริง ๆ หรือเป็นความเห็นแก่ตัว ไม่อยากจะสูญเสียทรัพย์สินที่มีต้นทุนของตัวเอง และมักจะเป็น Unconcious Behavior หรือพฤติกรรมที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว (เช่น คิดว่าคืนแน่นอน แต่เมื่อถึงเวลา ในสมองกลับหาข้ออ้างเช่น อีกชั่วโมงนึงค่อยโอน เดี๋ยวกินข้าวเสร็จค่อยโอน สุดท้ายก็ไม่ได้โอนสักที) ซึ่งคนประเภทหลังยินดีที่จะใช้เงินเพื่อความสุขของตัวเองในฐานะ Reward ชีวิต แต่ไม่ยินดีที่จะใช้มันชำระหนี้คนใกล้ตัว เพราะรู้สึกเสียดายเงินที่หามาด้วยความยากลำบาก

ทำไมทวงเงินแล้วโดนเหวี่ยงใส่

เมื่อลูกหนี้ไม่อยากคืนเงิน จึงเป็นเหตุผลที่เจ้าหนี้มักจะโดนเหวี่ยงใส่เมื่อเอ่ยปากทวง เพราะอารมณ์โกรธนั้น เป็น Emotional Tactic แสดงความไม่พอใจเพื่อปกป้องตัวเองของลูกหนี้ เป็นการส่งสัญญาณให้เราต้องหยุดและถอยออกมา ซึ่งเป็นตัวเลือกความรู้สึกที่ง่ายและได้ผลกว่าความรู้สึกอับอายหรือยอมรับว่าไม่มีหรือไม่อยากจ่าย แน่นอนว่าคนเรามักจะไม่ชอบความรู้สึกต่ำต้อย การโดนทวงเงินนั้นทำให้ลูกหนี้รู้สึกว่าเราไม่เชื่อใจ มองว่าเค้าไม่มีความสามารถชำระหนี้ และไม่อยากเสียเงินที่ตัวเองมีต้นทุนในการได้มา

จุดหนี้เจ้าหนี้ควรระวังให้ดี ถ้าลูกหนี้รู้สึกว่าการแสดงอารมณ์โกรธเพื่อปฏิเสธการจ่ายหนี้ได้ผล ก็จะเข้าทฤษฎี Pavlov’s Dogs ทันที นั่นแปลว่าทุกครั้งที่เราเอ่ยปากทวง ลูกหนี้ก็จะแสดงอารมณ์โกรธใส่เพราะรู้ว่าทำแล้วจะไม่ต้องเสียเงินนั่นเอง

 

ถ้าเจอคนยืมเงินจะทำยังไงดี

สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่า ‘ใครเป็นคนยืม’ ถ้าเครดิตดี มีบุญคุญ ไว้ใจได้ ก็ให้ยืมได้ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ในทางกลับกัน ถ้าผู้ยืมไม่ใช่เพื่อนสนิท หรือคนที่น่าเชื่อถือ และเราให้ยืมแน่นอนไม่ว่าเหตุผลอะไร หรือกลัวจะรู้สึกไม่สบายใจ ถ้าเป็นคนใจแข็ง กล้าพูด เราแนะนำให้ปฏิเสธไปตรง ๆ จะดีกว่า เพราะถ้าเราถามเหตุผลในการขอยืมเงิน เป็นการสร้างความหวังให้คนยืม และมันเป็นเรื่องที่ฟังดูรุนแรง (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) การปฏิเสธจะทำได้ยากกว่า ทำให้ผู้ยืมผิดหวังรุนแรงกว่า และเราจะรู้สึกผิด ไม่สบายใจถ้าไม่ให้ยืม

แต่ในกรณีที่มีเงินเหลือเฟือสามารถให้ยืมได้ เหตุผลของคนยืมฟังดูคอขาดบาดตาย ส่วนเรื่องเครดิตไม่ค่อยชัวร์ และเป็นคนที่เราไม่อยากตัดขาด แต่ไม่อยากจะเสียเงินทั้งหมดไปพร้อมกับมิตรภาพ เราแนะนำให้ทำตามประโยคที่ว่า  “Lend only the amount of money you can afford to lose.” หรือให้ยืมเงินเพียงจำนวนหนึ่งที่เราคิดว่าตัดเป็นหนี้สูญได้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย เราเองก็ไม่ต้องคอยทวงเมื่อถึงเวลา ถ้าไม่คืนก็ถือว่าเสียเงินพิสูจน์คน แต่ถ้าลูกหนี้คืนมา ก็ถือว่าเราโชคดีและได้ค้นพบคนที่ไว้ใจได้เพิ่มอีกหนึ่งคน ซึ่งในเคสนี้หลายคนอาจจะเคยโดนเพื่อนในอดีตโทรมาขอยืมเงินเพื่อรักษาพ่อแม่ที่ป่วยใกล้ตาย แน่นอนว่าตัวผู้เขียนเองก็ให้ยืมไปหลายแสนบาท สุดท้ายมาพบว่าพ่อแม่เค้าสบายดี แน่นอนว่าเราไม่ทวงให้เสียเวลา เพราะคนตั้งต้นมาด้วยการโกหก คงไม่ต้องหวังเรื่องคืนเงินเป็นแน่แท้

ส่วนกรณีของคนที่ให้ยืมไปเรียบร้อยแล้ว และยังพอมีความหวัง อยากจะทวงเงินให้ได้ผลต้องทำยังไง เรามีวิธีดี ๆ ที่เหมาะกับบรรยากาศการทวงเงินของคนไทยมาแนะนำ

ทวงต่อหน้าในบรรยากาศที่ดี อย่า Text อย่าโทร อย่า Comment การทวงเงินแบบไม่เห็นหน้านั้น มีโอกาสผิดใจกันสูงมาก เพราะอย่างที่บอกว่าการถูกทวงเงินทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูก Offend ทำให้โกรธได้ง่าย ยิ่งเป็นการทวงผ่านข้อความตัวหนังสือ ยิ่งเสี่ยงต่อการเข้าใจอารมณ์ผู้ทวงผิดจนรู้สึกโกรธได้สูงมาก แนะนำให้นัดออกไปทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น จิบเบียร์คุยกันชิว ๆ รอให้บรรยากาศกรึ่ม ๆ กำลังดี แล้วค่อยพูดถึงเรื่องเงินจะดีกว่า นั่นเป็นจังหวะที่คน

ใช้ความจำเป็นของเราเข้าสู้ แทนที่จะเริ่มบทสนทนาด้วยการทวงเงิน การเล่าถึงสถานการณ์ความจำเป็นที่เราต้องใช้เงินด่วน เป็นการเตือนลูกหนี้ได้ทางอ้อม และยังเป็นการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความจำเป็นที่เราต้องการเงินคืน แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่มีทีท่าอะไร อย่างในกรณีคุณครูที่ติดหนี้ กยศ ออกข่าวไปทั่วประเทศ ถ้านักเรียนยังคงเงียบหายหัว โอกาศได้คืนนั้นน้อยแสนน้อย แนะนำว่าตัดเป็นหนี้สูญจะสบายใจกว่า

ใช้มุขส่งเลขบัญชีไปให้ ต้องยอมรับว่าการทวงเงิน ไม่ว่าจะเตือนก่อนถึงเวลาหรือพูดตรง ๆ มันมีโอกาสผิดใจกันค่อนข้างสูง ถ้าการบอกความจำเป็นที่ต้องใช้เงินของเราไปแล้วก็ยังนิ่ง ไม่หือไม่อือ ทางสุดท้ายที่แนะนำคือ ใช้มุขส่งเลขบัญชีไปให้ แกล้งทำเป็นว่าลืมบอกเลขบัญชีไปเลย หรือเปลี่ยนมาใช้แบงค์นี้ เพื่อส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราไม่ได้ลืมนะ และมันใกล้จะถึงเวลาคืนเงินแล้วนะ แม้จะไม่ได้พูดตรง ๆ ก็ตาม

ถ้าใช้ทั้ง 3 วิธีนี้แล้วยังไม่ได้ผล คงต้องยอมทำใจและตัดเป็นหนี้สูญไปได้เลย เพราะการตามทวงลูกหนี้ที่ไม่คิดจะจ่าย คนที่เครียดและไม่สบายใจก็คงจะเป็นตัวเรามากกว่า คิดซะว่าเราเสียเงินเพื่อคัดกรองคนแย่ ๆ ให้หายไปจากชีวิต ก็นับเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ามากเลยนะครับ

 

 

Image Credit: Nameless Gangster Series

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line