Life

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จงระวัง “ซึมเศร้าหลังคลอด” ภาวะอันตรายทางอารมณ์ที่หลายคนมองข้าม

By: TOIISAN December 25, 2018

ปัจจุบันโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงานมากที่สุด ทำให้หลายคนมองข้ามโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่มือใหม่หรือหญิงสาวตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะด้วยความไม่รู้ทำให้สังเกตอาการได้ยาก หากรับมือไม่ทันก็จะสร้างความสูญเสียให้แก่คู่สามีภรรยาที่กำลังจะสร้างครอบครัวเป็นอย่างมาก

สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีลูก สิ่งที่ทั้งคู่มักพุ่งเป้าให้ความสนใจเป็นส่วนใหญ่คือการศึกษาอาการในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งในบางครั้งอาจจะลืมและมองข้ามการศึกษาอาการและผลกระทบต่าง ๆ หลังคลอด อย่างเช่นอาการซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ที่จะถือเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นช่วงเวลาอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวได้มากกว่าที่คิด

อาการซึมเศร้าหลังคลอด เป็นเรื่องที่ต้องหมั่นสังเกตและให้ความใส่ใจกันเป็นอย่างมาก เคยมีกรณีชายหนุ่มที่ต้องสูญเสียภรรยาไปด้วยโรคซึมเศร้าหลังคลอด อย่างเช่นกรณีของ Kim Chen ที่แต่งงานกับแฟนสาวพยาบาล และเมื่อแฟนสาวของเขาตั้งครรภ์ ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีจนถึงขั้นสร้างครอบครัวด้วยกัน กระทั่งเมื่อภรรยาของเขาคลอดลูกก็เริ่มเกิดความเครียด เวลาผ่านไปสองเดือน ภรรยาของเขาได้หายตัวไป Chen โทรแจ้งตำรวจและสุดท้ายก็พบว่าภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลงจากการฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากโรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ดังนั้นการหมั่นดูแลเรื่องอารมณ์ของภรรยาหลังคลอดลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ชายเรามองข้ามไม่ได้เด็ดขาด

โดยอาการซึมเศร้าหลังการคลอดบุตรแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

ระยะที่หนึ่ง ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด หรือ  Postpartum Blue ที่คนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า Baby Blue อาการในระยะแรกถือเป็นอาการปกติที่สามารถเจอได้ทั่วไปสำหรับคุณแม่ที่พึ่งคลอด โดยจะมีความรู้สึกเศร้าซึมประมาณ 3-10 วันหลังจากคลอดบุตร เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างฉับพลัน รวมถึงความเครียดและแรงกดดันจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น เรื่องความสัมพันธ์ของคู่สมรส สุขภาพของทารก การคลอดบุตรก่อนกำหนด รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุผลต่าง ๆ จึงทำให้มีอาการอ่อนเพลีย วิตกกังวล มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และร้องไห้บ่อย แต่เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวจากการคลอดแล้ว สมดุลทางอารมณ์ที่เคยจมดิ่งลึกจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2-3 เดือน

มีงานวิจัยของ Weobong B ในปี ค.ศ. 2013 ได้พยายามหาคำตอบถึงสาเหตุภาวะซึมเศร้าที่พบในคุณแม่ลูกอ่อน จึงได้ทำการค้นคว้าจากหญิงสาวชาวกาน่าจำนวน 13,360 ราย พบว่าผู้หญิงเหล่านี้มีอาการภาวะซึมเศร้าร้อยละ 3.8 จากปัจจัยเรื่องของฤดูกาลที่ตั้งครรภ์ การเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เด็กมีอาการเจ็บป่วยหรือตาย เป็นต้น

ระยะที่สอง โรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Postpartum Depression จากการศึกษาขององค์กรอนามัยโลกหรือ World Health Organization (WHO) ในปีค.ศ. 2015 พบว่าประเทศที่กำลังพัฒนามีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ากับผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 20 โดยในระยะที่สองนี้จะซึมเศร้ายาวนานและลึก หดหู่ หม่นหมองตลอดเวลา ความรู้สึกสนุกในการทำกิจกรรมที่ชอบลดน้อยลง เบื่ออาหารหรือในบางครั้งก็อยากอาหารจนผิดปกติ คนที่เป็นหนักจะเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากดูแลลูก คิดว่าตัวเองไร้ค่า เป็นพ่อแม่ที่ไม่มีค่าพอสำหรับลูกน้อย และเริ่มเกิดความเครียดจนคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าภรรยาของคุณมีอาการเกือบทั้งหมดนี้ ควรรีบพาเธอไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที เพราะความซึมเศร้าในระยะนี้ถือว่าเป็น โรค ที่ต้องรักษาและดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะสามารถหายได้ โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 3-6 เดือน

ระยะที่สาม โรคจิตหลังคลอด หรือ Postpartum Psychosis จากระยะทั้งสาม อาการโรคจิตหลังคลอดถือเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงและมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด โดยมีโอกาสเกิดเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น ที่ถึงจะน้อยแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเป็น โดยสามารถดูได้จากอาการหวาดระแวง ประสาทหลอน มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดผิดปกติ อย่างการทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต มีความก้าวร้าวรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ ในบางครั้งผู้ป่วยที่มาถึงระยะที่สามจะเกิดความคิดว่าลูกน้อยอาจไม่ใช่ลูกของตัวเอง และพยายามทำร้ายลูกรวมทั้งคนรอบข้าง หรือในบางกรณีคุณแม่มือใหม่ก็จำหน้าสามีตัวเองไม่ได้ไปชั่วขณะ

สำหรับใครที่มีอาการมาถึงระยะที่สามนั้นจะไม่สามารถดูแลลูกได้อีกต่อไป เราไม่ควรปล่อยเด็กให้อยู่กับพ่อแม่ในระยะสามตามลำพัง

แม้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักจะถูกตีความว่าน่าจะเกิดกับคุณแม่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนอย่างฉับพลัน แต่อย่างไรก็ตาม สามีผู้ชายอย่างพวกเราก็อาจได้รับผลกระทบจากการคลอดของภรรยาได้เช่นกัน

ผลวิจัยจากสภาวิจัยการแพทย์ของอังกฤษหรือ National Research Council of United Kingdom โดย PhD. Irwin Nazareth ได้เก็บข้อมูลสถิติข้อมูลของครอบครัวชาวอังกฤษกว่า 89,000 ครัวเรือน ที่เคยเข้ารับการรักษาโรคทางจิตกับทางโรงพยาบาลระหว่างปี ค.ศ. 1993-2007 เพื่อหาข้อมูลของผู้ชายที่มีครอบครัวและเกิดภาวะซึมเศร้า ผลที่ได้คือร้อยละ 21 เคยเป็นภาวะซึมเศร้า ทั้งในระยะแรกและระยะที่สอง ที่เริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อคลอดลูกไปจนถึงเมื่อลูกอายุ 12 ปี และคุณพ่อลูกอ่อนส่วนมากมักจะไม่ยอมพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาหรือรับการรักษาจากอาการซึมเศร้าหลังคลอด โดยมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปอย่างเรื่องความอับอายที่จะให้ใครรู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไม่รู้ตัว หรือรู้แต่ไม่มีเวลาว่างเพราะต้องทำงาน

จากการศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่เกิดกับผู้ชายของ Will Courtenay ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ SadDaddy ได้กล่าวถึงอาการนี้ว่า ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อมือใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคุณพ่อหลายคนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับการดูแลบุตร รวมถึงความเครียดที่คิดว่าตัวเองอาจทำได้ไม่ดีพอ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเช่นกัน โดยฮอร์โมนของคุณพ่อจะมีความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ภรรยาตั้งครรภ์และหลังคลอด ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีความสำพันธ์กับระบบสืบพันธุ์จะลดลง และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนของผู้หญิงจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมักพบในคุณพ่อลูกอ่อนมักมีความ Sensitive มากจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า

Christina Hibbert ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตกล่าวว่า สังเกตคุณพ่อลูกอ่อนที่มีความเสี่ยงอาการนี้ได้จากการมีกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป อย่างการอดนอน ต้องดูแลภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงความวิตกกังวลเรื่องเงินและสภาพแวดล้อม แต่ถ้าคุณพ่อมือใหม่ยังมีอาการอยู่ในระยะแรกอาจจะหายไปได้เองโดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ไปสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน แต่ทางแก้นี้จะใช้ไม่ได้กับผู้ที่อาการรุนแรงไปถึงระยะที่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

นอกจากนี้การสำรวจในครอบครัวบางกลุ่มก็ยังพบอีกหนึ่งสาเหตุที่ผู้ชายสามารถเป็นโรคซึมเศร้าหลังภรรยาคลอดบุตรนั้นเกิดจากความวิตกกังวลลึก ๆ ว่าลูกจะมาแย่งความรักจากภรรยา และให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยลง วิธีแก้คือการให้เวลาคุณพ่อลูกอ่อนได้อยู่กับลูกมากขึ้น ทำกิจกรรมกับลูกอย่างการเปลี่ยนผ้าอ้อม พาออกไปเข็นรถเล่นรอบหมู่บ้าน ให้พ่อลูกได้อยู่ด้วยกันตามลำพัง ก็จะสร้างความผูกพันได้มากขึ้น และจะทำให้คุณพ่อลูกอ่อนเกิดความภูมิใจว่าเขาสามารถเลี้ยงลูกได้เป็นอย่างดี

เมื่อคุณแม่และคุณพ่อลูกอ่อนพบว่าตัวเองหรือคู่รักของตนนั้นมีอาการเข้าข่ายไม่ว่าจะเป็นในระยะไหนก็ตาม การฟื้นฟูความเครียดในครอบครัวเบื้องต้นสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องถึงขั้นพบแพทย์ อย่างเช่นการให้ความสำคัญใส่ใจกันและกันมากขึ้น อดทนให้มากกว่าเดิมในบางครั้งอาจทำพลาด เผลอทำให้ลูกร้องไห้ก็ไม่ควรตำหนิกันรุนแรง ไม่โทษกันไปมา และผลัดเปลี่ยนกันดูแลลูกน้อย เพื่อให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ได้ผลัดกันพักผ่อนจากการดูแลลูก ลดปัญหาอาการนอนไม่พอที่เป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเครียดได้ รวมไปถึงการวางแผนชีวิตให้ดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดูแลลูกไปจนถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพราะในปัจจุบันปัจจัยด้านการเงินมีผลอย่างมากต่อผู้คนในครอบครัว

นอกจากนี้การทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการดูแลลูกน้อยอย่างเดียวสามารถช่วยให้ภาวะทางอารมณ์ที่แปรปรวนดีขึ้นได้ เช่น การออกกำลังกายอย่างการเล่นโยคะ เดินเล่นในสวนสาธารณะตอนเย็นกับลูกจะช่วยลดความเครียดได้ นอกจากนี้การออกไปเดินเล่นในสวนบางครั้งจะทำให้ได้พบเจอกับครับครัวอื่นที่มีลูกอ่อน ก็สามารถถามไถ่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลตัวเองและดูแลลูกเล็กได้ รวมถึงในบางครั้งควรออกไปทานข้าวเย็นนอกบ้าน และกินอาหารที่มีประโยชน์ตรงตามโภชนาการ เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในร่างกายลดลง เพราะการได้ทานอาหารดี ๆ จะช่วยให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เมื่อเราได้พัฒนาความรับผิดชอบเป็นพ่อคนแม่คน การให้ความสนใจและใส่ใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ขอให้อย่ามองข้าม เพราะการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งและอบอุ่นเพื่อต้อนรับลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกนั้น เป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดีทุกคนสามารถทำได้ มันไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่ามนุษย์เราจะทำได้อย่างแน่นอนครับ

 

 

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line