Life

“งานแย่ หมดไฟ ไร้พลัง”อย่าคิดว่าตัวเองห่วย เมื่อทุกสิ่งทำร้ายยิ่งต้องรักและใจดีกับตัวเอง

By: PSYCAT April 10, 2020

ในวันที่ต้องทำงานอยู่กับบ้านมากขึ้น และโลกเต็มไปด้วยบทความหรือวิธีการให้เราเก่งขึ้น โปรดักทีฟขึ้น มีพลังมากขึ้น เราเชื่อว่ามีคนทำได้และสนุกกับการเก่งขึ้นทุกวัน โปรดักทีฟขึ้นทุกวันในสถานการณ์ที่หลายอย่างไม่เอื้ออำนวย

แต่เพราะมนุษย์มีมากกว่าหนึ่งรูปแบบ เราจึงเชื่อว่ามีใครหลายคนที่เผชิญกับสภาวะชวนหดหู่ช่วงนี้ และพยายามยิ่งกว่าที่เคยพยายามมา แต่เหมือนไอเดียจะไม่พลุ่งพล่านเหมือนเดิม พลังในการทำงานก็มอดดับลงเรื่อย ๆ ยิ่งมองเห็นคนรอบตัวทำกับข้าว สร้างงานศิลปะ ออกกำลังกาย หรือทำงานได้ดีกว่าเดิม ใจก็พาลหดหู่ลงและคิดว่า “หรือเราแม่งห่วยเองวะ?”

ในวันที่ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจถูลู่ถูกังพาเราไปในทิศทางไหน ชั่วขณะที่หน้าที่การงานเคยมั่นคงจนเรายึดถือมาตลอด คืนค่ำที่ไม่ได้ออกไปผ่อนคลายได้อย่างที่ทำเป็นปกติ รวมถึงความอันตรายจากโรคภัยที่ไม่รู้จะมาถึงตัวเราเมื่อไร สิ่งเหล่านี้โบยตีและใจร้ายกับเรามากพอแล้ว

มีคนคิดงานออกก็ดีใจกับเขาด้วย แต่การที่เราจะท้อบ้าง คิดงานไม่ออกบ้าง ทำชีวิตให้เป็นเหมือนห้วงเวลาปกติไม่ได้บ้าง ไม่ได้หมายความว่าเราห่วยหรือแย่กว่าคนอื่นแต่อย่างใด UNLOCKMEN เชื่อในความหลากหลายของมนุษย์ เราจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนใคร และเชื่อว่ามันไม่เป็นอะไรเลยถ้าคุณไม่สามารถทำอะไรราบรื่นได้อย่างที่เคย

เรามีสิทธิทุกประการที่จะหงุดหงิด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างใจร้ายกับเรามามากพอแล้ว เราคือคนเดียวที่จะรักและใจดีกับตัวเองได้ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ลองไม่กี่วิธีง่าย ๆ ที่เราอยากชวนคุณมาผ่อนคลาย ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และเผชิญหน้ากับตัวเองในเวอร์ชันใหม่ที่อาจจะพาเราไปสู่ปลายทางที่เราไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้

เมื่อ “ลงมือเขียน” เมื่อนั้นเราได้เผชิญหน้ากับตัวตนของเราเอง

มนุษย์มีวิธีโอบกอดและยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นได้หลายวิธี บางวิธีต้องลงทุนลงแรง ในขณะที่บางวิธีขอแค่มีกระดาษกับปากกาก็เพียงพอแล้ว ใช่ เรากำลังพูดถึงวิธีเยียวยาตัวเองด้วย “การเขียน” วิธีง่าย ๆ ที่เรามักหลงลืมมันไป เพราะไม่คิดว่ามันจะช่วยได้จริง แต่วันที่เราไม่ได้ออกไปไหน และท้อใจเกินกว่าจะทำงาน ลองคว้าปากกาด้ามโปรด และกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วมาเริ่มต้นไปพร้อม ๆ กัน

Putting Feelings Into Words: Affect Labeling Disrupts Amygdala Activity in Response to Affective Stimuli.  งานวิจัยชิ้นนี้ทดลองดูภาพในสมองของมนุษย์เมื่อมนุษย์เกิดความกลัว

นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างเผชิญหน้ากับความรู้สึกกลัวของตัวเอง จากนั้นก็บอกให้พวกเขาค่อย ๆ หยิบกระดาษกับปากกา มาจากนั้นเขียนบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าคือความรู้สึกอะไร ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีครูมาตรวจเรียงความฉบับนี้ คุณแค่ต้องเขียนสิ่งที่คุณกำลังรู้สึก

ระหว่างการทดลอง ผู้เข้าร่วมอาจต้องเจอภาพที่ทำให้พวกเขาหวาดกลัว 10 ภาพ แต่ละภาพพวกเขาก็ต้องเขียนลงไปให้ชัดเจนว่ารู้สึกอะไรกับมันกันแน่

หากตอนนี้คุณกำลังกลัว เครียด สับสน รู้สึกว่าเราช่างห่วยแตกที่คิดงานไม่ออก เราก็อาจจะระบุลงไปว่า นี่คือความกลัวที่มาจากความไม่แน่ใจ กลัวความไม่มั่นคง กลัวทุกสิ่งที่สร้างมาพังทลาย หรือกลัวคนอื่นมองว่าเราเก่งไม่พอ ผลการวิจัยออกมาว่าการที่คนเราระบุลงไปให้ชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองคือความรู้สึกประเภทไหนกันแน่ ช่วยให้ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นลดลงได้จริง

Matthew Lieberman ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้นำงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าสมองส่วน Amygdala ที่ควบคุมความกลัว ความรู้สึกวิตกกังวล ความรู้สึกแย่ ๆ ด้านลบของมนุษย์ทั้งหลาย ทำงานน้อยลง เมื่อเราชำแหละความรู้สึกตัวเองแล้วเขียนลงไปบนกระดาษ

ความรู้สึกแย่ ๆ ด้านลบของมนุษย์ทั้งหลาย ทำงานน้อยลง เมื่อเราชำแหละความรู้สึกตัวเองแล้วเขียนลงไปบนกระดาษ

เราอาจจะงง ๆ ว่าเขียนแค่นี้ความกลัวก็ลดลงได้แล้วจริง ๆ หรือ? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? แน่นอนว่าความรู้สึกแย่ ๆ ไม่สามารถอันตรธานหายไปได้แบบทันที แต่การที่เรายอมรับว่าเรากำลังรู้สึกอะไร และกล้าที่จะชำแหละ พิจารณาความรู้สึกแย่ ๆ ที่ตัวเรากำลังเผชิญนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับความจริง ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของหลักการจิตวิเคราะห์สมัยใหม่

หากเทียบกับการทู่ซี้นั่งโทษตัวเองว่าเราห่วย เราต้องคิดอีก เราต้องฝืนดันทุรังไปต่ออีก ซึ่งแน่นอนว่าก็คงไม่ทำให้เราคิดงานได้มากขึ้น หรือหาทางออกเรื่องอื่น ๆ ได้ดีขึ้น การยอมรับ เขียนลงกระดาษ และเรียนรู้ผ่านอารมณ์ความรู้สึกตัวเองจึงอาจช่วยได้มากกว่า

ความกลัวบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจากการจินตนาการของเรา การที่เรารู้สึกว่าเรากำลังกลัว เศร้า เหงา แย่ ท้อ ห่วย หรืออะไรก็ตามที่เป็นความรู้สึกด้านลบ แล้วเรากล้าที่จะยอมรับ และพิจารณามันด้วยข้อเท็จจริง จะช่วยให้เราเผชิญหน้าความกลัวในฐานะข้อเท็จจริงมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเองจินตนาการแล้วจมกับความรู้สึกเหล่านั้น

นอกจากนี้การที่เราสามารถเขียนระบุได้ว่าเรากำลังรู้สึกอะไร มันเป็นการยอมรับว่าสิ่งที่เรารู้สึกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นบนโลกใบนี้เป็นครั้งแรก แต่เรากำลังเผชิญกับความรู้สึกสากลที่มนุษย์คนไหน ๆ ก็ล้วนแต่ต้องเคยผ่านมันมาแล้ว ความรู้สึกแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็ไม่ได้รู้สึกและพยายามเอาชนะความรู้สึกแย่ ๆ แค่เพียงลำพัง

pexels-photo-29832
นอกจากความแข็งแรง “การออกกำลังกาย” ให้ความแข็งแกร่งด้านจิตใจ

หยุด อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราไม่ได้กำลังชวนคุณไปวิ่งมาราธอน หรือชวนตื่นมาทำโยคะยามเช้าเพื่อโพสต์บอกใคร ๆ ว่าคุณสดชื่นสดใส หรือชวนยกเวตอย่างบ้าคลั่งเพื่อปั้นกล้ามเนื้อได้รูปหลังจบ COVID-19 (แม้จะมีคนทำแบบนั้นแล้วมีความสุข ซึ่งเรายินดีด้วย)

แต่เราก็เชื่อว่ามีอีกหลายคนผลักการออกกำลังกายไปเป็นศัตรูเพราะมองว่าตัวเองไม่ได้อยากจะหุ่นดี ไม่ได้อยากจะแข็งแรง ไม่ได้อยากจะแข่งกับใคร หรืออยากโพสต์อวดใคร

แต่การออกำลังกายก็เหมือนความเป็นมนุษย์อันหลากหลาย มันมีเป้าประสงค์มากเกินจินตนาการ และหนึ่งในนั้นคือการออกกำลังกายเพื่อรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ฝึกจิตใจตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเพื่อแข่งกับใครทั้งสิ้น

pexels-photo-196359

“จงเรียนรู้ที่จะรู้สึกสบายจากความไม่สบายที่เกิดขึ้น” นี่เป็นประโยคที่อ่านครั้งแรกแล้วอาจจะงง ๆ ว่าตกลงแล้วมันจะสบายหรือไม่สบายกันแน่ แต่นี่แหละคือประโยคที่เราจะได้ทำความเข้าใจมันจากการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องในรูปแบบใหม่

เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น? เพราะการออกกำลังกายคือการที่เราออกคำสั่งให้ตัวเราเดินออกนอกกรอบ ออกจากความคุ้นชินที่เราเคยทำเป็นประจำ ในขณะที่ออกกำลังกายและร่างกายเรากำลังประท้วงว่าไม่ไหวแล้ว แต่สมองเรายังสั่งการให้เราขับเคลื่อนร่างกายฝ่าความเมื่อยล้า ฝ่าความเจ็บปวดส่วนต่าง ๆ ฝ่าลมหายใจหอบถี่ต่อไป นั่นจะช่วยฝึกให้เราอดทนกับทุกสิ่งรอบกาย และรับมือกับความยากลำบากที่เกิดขึ้นได้ต่างจากที่เคย

Lifehack

ถ้าเป็นห้วงเวลาปกติบทสนทนากับคนที่เรารู้สึกว่าไม่อยากคุยด้วยเลยจะลื่นไหลขึ้น เดดไลน์ที่ใกล้เข้ามาจะดูเป็นเรื่องสงบมากกว่าเดิม เมื่อเราเคยเผชิญกับการต่อสู้กัน ระหว่างการอยากนอนพักผ่อนสบาย ๆ กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แต่ในสถานการณ์ COVID-19 การพาร่างกายออกจากคอมฟอร์ตโซนด้วยการออกกำลังกาย จะทำให้เราได้เรียนรู้ขีดจำกัดใหม่ ๆ ของตัวเอง ทำให้เราเผชิญกับความรู้สึกขุ่นมัวรูปแบบต่าง ๆ ได้สงบมากยิ่งขึ้น

The effect of a single aerobic training session on cognitive flexibility in late middle-aged adults.  คืองานวิจัยที่พูดถึงการออกกำลังกายว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง แม้แต่ในวันที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย

ไม่เพียงเท่านั้นการออกกำลังกายจะช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความเครียดด้วยความอดทนอดกลั้นได้มากขึ้น และเป็นโอกาสอันดีที่จะฝึกความอดทนในวันที่โลกเต็มใบนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายอย่างที่เราคุ้นเคย

จากเดิมเราตามใจตัวเองได้ทุกอย่าง เดินไปปากซอยก็ขี้เกียจ นั่งมอเตอร์ไซค์วินง่ายกว่า ลุกไปเปิดทีวีก็ไม่ต้อง นั่งกดรีโมทชิลกว่า ไม่อยากออกไปกินอาหารนอกบ้าน สั่งให้มาส่งถึงที่ดีกว่า อยากพักผ่อน เรียกแกรบไปไหนก็ได้ หรือจะขับรถไปพักผ่อนหย่อนใจที่ไหนก็ได้หมด

การออกกำลังกายจะช่วยฝึกร่างกายและจิตใจให้เข้าใจว่า เราไม่ได้ได้ทุกอย่างอย่างที่เราคิด

แต่เมื่อเราต้องเผชิญสถานการณ์ COVID-19 ที่เรารู้สึกเหมือนจิตใจโดนกักขัง ไม่สามารถทำอะไรอิสระเสรีอย่างใจคิด “การออกกำลังกาย” จึงเป็นกุญแจสำคัญทีจะฝึกเราให้ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่ได้ง่ายดายอย่างใจคิดได้มากขึ้น เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนี่เองที่จะเป็นตัวฝึกร่างกายของเราให้เผชิญกับความลำบาก ฝึกร่างกายและจิตใจให้เข้าใจว่า เราไม่ได้ได้ทุกอย่างอย่างที่เราคิด

ยิ่งกว่านั้นงานวิจัยที่ชื่อ Longitudinal gains in self-regulation from regular physical exercise. ยังมีข้อสรุปว่านักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่ถูกกำหนดให้ออกกำลังกายเป็นประจำ พวกเขารับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น สูบบุหรี่น้อยลง บริโภคแอลกอฮอล์และคาเฟอีนน้อยลง กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น และควบคุมใจตัวเองได้มากกว่าที่เคย

ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าการออกกำลังกายช่วยให้เรากล้าที่จะบอกตัวเองว่า “ต้องทำ” ในขณะที่ร่างกายและจิตใจกำลังปฏิเสธอย่างรุนแรงว่า “อย่าทำเลย” ดังนั้นการออกกำลังกายของนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจึงช่วยให้พวกเขาเผชิญหน้ากับหลายสิ่งในชีวิตอย่างมีสติได้กว่าการไม่ออกกำลังกาย

อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าเราต้องทำอะไรยิ่งใหญ่อย่างการวิ่งมาราธอน หรือบังคับตัวเองออกไปวิ่งเช้าวิ่งเย็นทุกวัน หรือยกน้ำหนักโหด ๆ แค่ลุกออกมาเอาชนะความอยากพักของตัวเองให้ได้ เริ่มต้นจากออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้าน

อุปกรณ์ก็หาเอาจากสิ่งของใกล้ตัว (หรือจะลองหาวิธีการเพิ่มเติมได้ที่ HOME GYM WORKOUT: 4 มุมเรียกความฟิตและ 10 ท่าออกกำลังให้ทุกคนเสริมแกร่งด้วยตัวเองที่บ้าน) ก่อนจะก้าวไปสู่ความท้าทายที่มากขึ้น ๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นการฝึกจิตใจตัวเองให้รับมือกับความกดดัน และความยากลำบากแบบเราไม่เคยฝืนตัวเองมาก่อนได้แล้ว

คงมีน้อยคนบนโลกนี้ที่จะมารักและใจดีกับเราได้ตลอดเวลา การคาดหวังเอาจากคนอื่นนั้นจึงยากและสุ่มเสี่ยงที่ต้องเจ็บปวดจากความผิดหวัง แต่มนุษย์หนึ่งคนบนโลกนี้ที่พร้อมจะรักและใจดีกับเราได้เสมอ ก็คือตัวเราเอง ในวันที่ COVID-19 พังหลายสิ่งหลายอย่างของเราจนเกินพอ อย่าปล่อยให้ตัวเราต้องทำร้ายตัวเราเพิ่มไปอีก

ยังคิดงานไม่ออก ยังปรับตัวไม่ได้ หรือโปรดักทีฟไม่เท่าคนอื่นก็ไม่เห็นเป็นไร ลองเริ่มใช้วิธีง่าย ๆ มายอมรับสิ่งที่เราเป็นและรู้สึก อย่าโทษตัวเอง อย่าเทียบกับใคร UNLOCKMEN เป็นกำลังใจให้คุณเสมอ

SOURCE: 1, 234

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line