Life

เช้าแล้วแต่เศร้าจนอยากไม่อยากลุกจากที่นอนหรือเปล่า? ถ้าใช่ ลองวิธีต่อไปนี้

By: TOIISAN January 14, 2019

ในบางครั้งเราอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและคิดว่ามีเพียงแค่เราเท่านั้นที่ไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกแย่และผิดหวังให้ออกไปจากใจได้ แต่แท้จริงแล้วในโลกใบนี้มีคนมากกมายกำลังเผชิญกับความรู้สึกด้านลบและพยายามกำลังจัดความรู้สึกแย่ ๆ ออกไปอยู่เช่นกัน ดังนั้น UNLOCKMEN จึงอยากตบบ่าแนะนำวิธีที่จะทำให้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความเครียด ความเศร้าและความรู้สึกแย่ ๆ ให้สามารถผ่านมันไปให้ได้

เพราะโลกไม่ได้มีเพียงเราแค่คนเดียวที่กำลังเครียด จากการสำรวจในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าชาวอเมริกันจำนวนกว่า 16 ล้านคน ไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกแย่ ๆ ได้ และจากความเครียดที่ต้องเผชิญจึงทำให้โรคซึมเศร้ากลายเป็นอาการทางจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐ ฯ

บุคคลที่ทางการแพทย์ให้คำนิยามว่าเป็น โรคซึมเศร้า จะมีอาการหลายอย่างที่แสดงออกมาอย่างเช่น ความเครียด ความเศร้า ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก หรือลดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ ไม่อยากอาหาร รวมถึงนอนหลับไม่สนิท

บางคนอาจจะยังไปไม่ถึงคำว่าโรคซึมเศร้า หากมีความเครียดอยู่ในหัวตลอดไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม การใช้ชีวิตในแต่ละวันจะมีความยากลำบากมากขึ้น อย่างเช่นการสะบัดผ้าห่มแล้วลุกออกจากเตียงอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และความเครียดจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่าไม่พร้อมก้าวออกจากเตียงเพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน

เพราะมวลความเครียดที่กระจายอยู่ทั่ว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตหลายคนจึงได้แบ่งปันเคล็ดลับที่จะทำให้ผู้ที่มีความเครียดหรือความกังวลใจสามารถเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างราบรื่น

 

วางแผนล่วงหน้าก่อนลุกจากเตียง

หากวันไหนเริ่มรู้สึกว่ากลุ่มก้อนความสิ้นหวังกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ การสำรวจอารมณ์ของตัวเองในตอนเช้ารวมถึงวางแผนเตรียมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเจอเมื่อลุกจากเตียงคือการเริ่มต้นที่ดี เช่น การตั้งปลุกล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนที่จะตื่นขึ้นจริง ปกติเราอาจตื่นตอน 8 โมงเช้า ก็ให้เปลี่ยนไปตั้งปลุกเป็น 7 โมง และลุกออกจากเตียงอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง

Harben Bradford นักจิตวิทยาในรัฐจอร์เจียกล่าวว่า การตั้งเวลาตื่นล่วงหน้าหนึ่งชั่วโมงจะทำให้เรามีเวลาในการสร้างความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เพราะหากตื่นตามเวลาปกติทุกอย่างจะต้องรีบเร่งเหมือนเคย ต้องรีบอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ออกเดินทางไปเรียนหรือทำงาน ความยุ่งเหยิงตั้งแต่เช้าจะทำให้อารมณ์ขุ่นมัวไปทั้งวันได้อย่างง่ายดาย และนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะระดับความเครียดจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว

การตื่นเช้าก่อนเวลาที่ตื่นเป็นปกติอาจจะเป็นเรื่องที่ดูทำได้ยากและไม่น่าจะลดความเครียดได้ แต่นักจิตวิทยาก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าวิธีนี้สามารถสร้างแต้มต่อทางอารมณ์ที่ดีในแต่ละวันได้จริง

 

บางครั้งการใจดีกับตัวเองบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

เมื่อเวลาล้มตัวลงนอน ในบางครั้งอาจเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวเองได้ คิดว่าตัวเองนั้นควรจะได้อะไรดี ๆ กับเขาบ้าง หากวันไหนล้มตัวลงนอนแล้วเกิดความรู้สึกแบบนี้นั้นคือสัญญาณที่ดี

Barbara Markway นักจิตวิทยาจาก St. Louis และผู้เขียนหนังสือการสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเองอย่าง The Self-Confidence Workbook: A Guide to Overcome Self-Doubt กล่าวว่า เธอเข้าใจว่ามันยากแค่ไหนที่จะลุกจากเตียงในแต่ละวัน แต่ก็ไม่อยากให้ใครต้องหดหู่ หนึ่งสิ่งที่จะช่วยกำจัดความรู้สึกแย่ได้คือการรู้สึกภูมิใจในตัวเอง บอกกับตัวเองว่าเราทำดีแล้วและครั้งต่อไปมันจะต้องดีแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และเลิกโทษตัวเอง

รวมถึงการให้รางวัลกับตัวเองบ้างในบางครั้งสามารถสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้ อย่างเช่นการให้รางวัลตัวเองด้วยการออกไปทานอาหารร้านโปรด ซื้อของหัวตัวเอง ถึงแม้จะต้องเสียเงินแต่ความรู้สึกที่ได้สิ่งที่ต้องการจะช่วยทำให้ลดความเครียดลงได้ เพราะการมีน้ำใจต่อตัวเองเพียงเล็กน้อยนั้นต้องดีกว่าการกล่าวโทษตัวเองอย่างแน่นอน

 

คิดในแง่บวก

แน่นอนว่าเมื่อได้อ่านข้อความที่เขียนว่าให้คนที่เจอกับความเครียดคิดในแง่บวก ก็อาจจะเกิดความรู้สึกติดลบและคิดว่ามันเป็นสิ่งที่พูดง่ายทำยาก แต่ถ้าหากอยากพาตัวเองออกจากความเครียดและความผิดหวังแล้วล่ะก็ ไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือการคิดบวกนี่แหละ

การสร้างความรู้สึกในเชิงบวกสามารถทำได้โดยการจดบันทึกและทำสมาธิ (ที่ฟังดูน่าเบื่อแต่ใช้ได้จริง) เพราะการจดบันทึกและทำสมาธิคือวิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงอารมณ์ของตัวเอง Arille Schwarz นักจิตวิทยาในรัฐโคโลราโดกล่าวว่า ในบางครั้งสมองจะสั่งการให้จดจำเรื่องราวที่น่าเศร้าได้ง่ายกว่าจดจำเรื่องราวดี ๆ

แต่เราก็สามารถดึงความทรงจำดี ๆ ออกมาได้และเมื่อเราจดบันทึกเกี่ยวกับความทรงจำที่ดีรวมถึงทำสมาธิ การดึงความทรงจำเรื่องราวที่น่าประทับใจในวันเก่าก่อนก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นเรื่อย ๆ  และสามารถช่วยยกระดับอารมณ์ได้

 

ออกกำลังกายสลายความเครียด

หลากหลายงานวิจัยเขียนไปในทิศทางเดียวกันว่าการออกกำลังกายสามารถลดความเครียดและช่วยรักษาอาการโรคซึมเศร้าได้จริง แต่ถ้าอยู่ ๆ จะให้ลุกจากเตียงแล้วไปวิ่งลู่อย่างดุเดือดก็คงจะไม่ดีนัก Shawna Murray นักจิตอายุรเวทและแพทย์ด้านจิตเวชในบัลติมอร์ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า ให้ลองเริ่มจากอะไรง่าย ๆ อย่างการออกไปเดินเลย หรือเสริมด้วยการเปิดเพลงโปรดที่มีจังหวะเร็ว ๆ  จะทำให้เราสามารถรู้สึกดีได้

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่การทำสมาธิรวมทั้งการเคลื่อนไหวสามารถยกระดับจิตวิญญาณจากการขยับร่างกายให้สอดคล้องตามจังหวะเพลง การบังคับพลังงานและอารมณ์ของตัวเองไปในทิศทางที่ถูกต้องสามารถทำให้เห็นมุมมองของโลกใบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น หากในวันหยุดไม่มีแพลนจะทำอะไร แทนที่จะนอนติดเตียงด้วยอารมณ์ขุ่นมัว ลองลุกมาออกกำลังกายดูก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

 

รู้ว่าเวลาไหนควรคุยกับใครสักคน หรือควรที่จะอยู่คนเดียว

ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักจิตวิทยาหรือแพทย์เท่านั้น แต่คนที่มีความเครียดสามารถเริ่มต้นพูดคุยด้วยการโทรหาคนที่มอบพลังงานบวกให้กับคุณในตอนเช้าก็จะสร้างแรงกระตุ้นที่ดีได้ แต่นอกจากจะพูดคุยแล้วในบางครั้งการอยู่คนเดียวก็จะช่วยปรับระดับอารมณ์ของเราได้เช่นกัน

Calla Jo นักจิตวิเคราะห์และนักสังคมสงเคราะห์ในนิวยอร์กกล่าวว่าการมีคนคอยฟังและอยู่ข้าง ๆ สามารถทำให้เราและคนรอบข้างสามารถตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึกของกันและกันได้

แต่การอยู่คนเดียวก็สามารถสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้เช่นกัน เพราะบางครั้งความเครียดก็อาจเกิดจากคนรอบตัว (ครอบครัวหรือเพื่อน) ที่ไม่เข้าใจสิ่งที่เรากำลังรู้สึก และคาดหวังให้เราต้องอารมณ์ดีตลอดเวลาซึ่งมันทำไม่ได้ง่าย ๆ เวลาที่คนเริ่มปรึกษากับคนใกล้ชิดจะได้คำตอบกลับมาว่า “สู้ ๆ นะ” หรือ “เดี๋ยวก็หาย” ซึ่งประโยคสั้น ๆ เหล่านี้สร้างความรู้สึกตะขิดตะขวงใจแทนที่จะรู้สึกดี เพราะความรู้สึกด้านลบที่มีอยู่แล้วจะทำให้คิดว่า คนที่บอกให้เราสู้และก้าวต่อไปไม่เข้าใจความเครียดที่เรากำลังเผชิญอยู่เอาเสียเลย

อย่างไรก็ตามการกำจัดความเศร้านั้นในแต่ละคนอาจจะมีวิธีที่แตกต่างกันไป การแบ่งเวลาที่เร่งรีบในแต่ละวันเพื่อลองทำความรู้จักตัวเองอีกครั้งอาจจะได้เห็นความสุขที่เคยมองข้ามไปก็เป็นได้

 

SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line