CARS

‘BMW ART CAR’ จากโมเดลรถยนต์คลาสสิกระดับตำนาน สู่ศิลปะร่วมสมัยความเร็วสูงบนสนามแข่ง

By: unlockmen January 27, 2020

ศิลปะ คือ ความพากเพียรของมนุษย์

ศิลปะ คือ ผลผลิตแห่งความคิดสร้างสรรค์​

ศิลปะ คือ การปลดปล่อยอารมณ์และถ่ายทอดไปยังผู้ชม

ไม่ว่านิยาม ‘ศิลปะ’ ของคุณจะเป็นแบบไหนหรือมีมากมายขนาดไหน คงต้องยอมรับว่าศิลปะนั้นเป็นสิ่งจรรโลงใจที่สามารถแทรกแซงเข้าไปได้ทุกพื้นที่ และสืบเสาะหาศิลปินทุกผู้ทุกนามจนเจอเสมอ แต่ในยุคที่โลกกำลังเดินหน้าและดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดเฉกเช่นตอนนี้ นิยามของศิลปะในอดีตก็อาจถูกเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ผลงานศิลปะบางชิ้นถูกตัดสินว่าเก่าคร่ำครึและค่อนไปทางโบราณ บ้างถูกตีค่าว่าเป็นศิลปะยุคใหม่ที่ไร้ขนบ แล้วเชื่อว่าศิลปะทั้งสองอย่างนี้คงจะเลือนรางและจางหายไปในสักวัน จะมีก็แต่ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ที่คงอยู่จากรุ่นสู่ คงอยู่ท่ามกลางจุดเปลี่ยนของยุคสมัย และอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ๆ มาโดยตลอด

ย้อนไปในปี 1975 นั่นเป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่บริบทของศิลปะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนผืนผ้าใบหรือในพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป หากสอดแทรกอยู่แทบทุกที่รอบตัวเรา แม้แต่บนหลังคา ปีก หรือฝากระโปรงของรถยนต์หรูก็ตาม

BMW ART CAR โปรเจกต์ตำนานที่ผสาน ‘ศิลปะ’ เข้ากับ ‘ความเร็ว’ ของรถยนต์

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์BMW Art Car’ เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ Hervé Poulain นักแข่งรถและนักประมูลรถชาวฝรั่งเศส ที่รวบรวมความรักทั้งสองด้านของเขาเข้าด้วยกัน หนึ่งคือศิลปะที่เขาหลงใหล สองคือความเร็วที่เขาหลงรัก

ในปี 1975 เขาจึงเชิญชวนศิลปินหลากหลายแขนงมาร่วมรังสรรค์ผลงานศิลปะ และถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกลงบนโมเดลรถยนต์ค่าย BMW เนรมิตยานพาหนะเพื่อการขับขี่ให้กลายเป็นผ้าใบผืนใหญ่ เปิดโอกาสให้ศิลปินใช้พื้นที่ว่างสร้างสรรค์งานศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์และตัวตนของพวกเขา

อีกความฝันของ Hervé Poulain คือการนำโมเดลรถศิลปะไปร่วมแข่งในสนาม 24 ชั่วโมง เลอม็อง (24 Hours of Le Mans) อันเป็นสนามแข่งที่ใช้ทดสอบความทนทานของรถยนต์และความอึดของนักแข่ง โดยต้องขับรถด้วยความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเต็ม

ฟังดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่ก็ฝันกลางวันที่ไม่มีทางเป็นจริง แต่ผู้ที่เปลี่ยนความฝันของ Hervé Poulain ให้กลายเป็นความจริงคือ Alexander Calder เพื่อนและศิลปินชาวอเมริกันที่ได้รับมอบหมายให้ดีไซน์ BMW Art Car คันแรกของโลก

เขานำโมเดล BMW 3.0 CSL มาทาสีทั่วคันรถและกระจายมวลสีขนาดใหญ่ไปทั่วปีก ฝากระโปรง รวมทั้งหลังคา ใช้เส้นเว้าเส้นโค้งเข้ามาช่วยให้รถดูสนุกสนานและไม่แข็งกร้าวจนเกินไป ขณะเดียวกันโทนสีที่ดูสดใสร้อนแรงก็ถ่ายทอดกลิ่นอายร่วมสมัยออกมาอย่างไร้ที่ติ

ตั้งแต่วินาทีที่ Alexander Calder BMW 3.0 CSL คันนี้ลงไปโลดแล่นบนสนามแข่ง Le Mans รถยนต์ศิลปะคันแรกของโลกก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แถมยังโดดเด่นสะดุดตาจนขโมยความสนใจของคนในสนามไปอย่างถล่มทลาย

Alexander Calder BMW 3.0 CSL คันนี้เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะชิ้นสุดท้ายก่อนที่ Alexander Calder จะลาจากโลกนี้ไป แต่การตายของเขาหาได้เป็นจุดจบแต่อย่างใด หากเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินคนอื่น ๆ เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทรงคุณค่าบนโมเดลรถ แล้วนี่คือ BMW Art Car ทั้ง 5 คันที่บอกเล่าความร่วมสมัยและศิลปะความเร็วสูงระดับตำนาน

Frank Stella BMW 3.0 CSL, 1976

Frank Stella จิตรกร ประติมากร และช่างพิมพ์ชาวอเมริกัน ผู้โด่งดังจากการสร้างผลงานศิลปะเรียบง่ายแฝงความหมายนามธรรมสุดลึกซึ้ง เขานำตารางสี่เหลี่ยมสีดำขาวมาวางทาบลงบนโมเดลรถคลาสสิก BMW 3.0 CSL

เส้นตารางที่มีช่องว่างแม่นยำชวนให้นึกถึงกระดาษกราฟขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีเส้นสายสีดำหนารอบคันรถช่วยเสริมลวดลายให้ดูเด่นชัดยิ่งขึ้น บรรดาเส้นโค้งหลากที่มาไม่เพียงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ยังหลอกสายตาจนทำให้เราเผลอคิดว่ามันคืองานสามมิติ

แม้นี่จะเป็นผลงานที่ใช้ลายเส้นสีดำและการจัดองค์ประกอบศิลป์เป็นหลัก แต่ก็สอดแทรกความเป็นรถแข่งและความสปอร์ตผ่านหมายเลข 21 และรูปลักษณ์งานดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถแข่ง Coupé

Roy Lichtenstein BMW 320i, 1977

เมื่อ Roy Lichtenstein ต้องการให้ลายเส้นที่วาดเป็นเหมือนภาพท้องถนนที่บอกว่ารถกำลังจะเดินทางไปไหน เขาจึงนำโมเดลรถ BMW 320i มาสร้างสรรค์ BMW Art Car ตามแบบฉบับของตน

เนื่องจาก Roy Lichtenstein เป็นศิลปินป๊อปอาร์ตสัญชาติอเมริกัน ที่โด่งดังมาจากงานศิลปะการ์ตูนล้อเลียนเรื่อง American Way of Life เขาจึงเลือกใช้โอกาสนี้สร้างงานศิลปะสุดกวนอีกครั้ง

แม้ลวดลายรถที่มองเห็นจากระยะไกลจะดูคล้ายกับทัศนียภาพสองข้างทางขณะรถแล่น แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ๆ จะพบว่ามีลาย Benday Dots ถูกประดับตกแต่งตามจุดต่าง ๆ แถมลวดลายสุดกวนโอ๊ยนี้ยังชวนให้นึกถึงภาพเขียนชื่อดังของเขา

Ernst Fuchs BMW 635 CSi, 1982

แม้แต่ Ernst Fuchs ศิลปินชาวออสเตรียก็ขอปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และถ่ายทอดสุนทรียภาพตามมุมมองความคิดของเขาลงบนโมเดลรถ BMW 635 CSi แถมนี่ยังเป็นรถยนต์ศิลปะคันแรกในโปรเจกต์ BMW Art Car ที่ใช้กระบวนการผลิตแบบรถยนต์จริง ๆ

Ernst Fuchs ตั้งชื่อผลงานนี้ว่า Fire Fox on a Hare Hunt ฉายภาพจินตนาการของเขาที่มองเห็นกระต่ายกระโดดข้ามกองไฟที่กำลังลุกโชนในยามค่ำคืน โทนสีของรถคันนี้จึงได้แรงบันดาลใจมาจากเปลวเพลิงร้อนแรงและความกล้าหาญของกระต่าย ทั้งยังสะท้อนความโมเดิร์นและร่วมสมัยในเวลาเดียวกัน

Esther Mahlangu BMW 525i, 1991

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นศิลปะที่พัฒนามาจากภาพวาดแบบดั้งเดิมของชนเผ่า บนรถยนต์ที่สะท้อนถึงอนาคตและโลกยุคใหม่ แต่ศิลปินชาวแอฟริกัน Esther Mahlangu ก็นำโมเดลรถ BMW 525i มาใช้เป็นสื่อกลาง เพื่อบอกเล่าศิลปะดั้งเดิมในชนเผ่าของเธอทั่วคันรถ

เมื่อยนตรกรรมยุคใหม่ผสมผสานกับวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ จึงเกิดเป็น BMW Art Car สไตล์ร่วมสมัย ที่ศิลปินใช้เทคนิคเฉพาะตัวพูดถึงศิลปะ Ndebele อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศแอฟริกา

ผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงทลายกรอบความคิดเดิม ๆ ของงานดีไซน์รถยนต์หรู หากยังเป็นตัวแทนในการเผยแพร่งานศิลปะดั้งเดิมและช่วยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าในแอฟริกาเอาไว้อีกด้วย

Jenny Holzer BMW V12 LMR, 1999

Jenny Holzer ศิลปิน neo-conceptual ของอเมริกา ผู้เชื่อว่าการใช้ภาษานำเสนอเนื้อหานั้นทำให้คนที่ไม่เข้าใจศิลปะเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้ เอกลักษณ์ของงานเธอคือการส่งมอบคำพูดและแนวคิด ซึ่งเธอก็นำเทคนิคเฉพาะตัวมาร่วมวงสร้างสรรค์ในโปรเจกต์ BMW Art Car ด้วย

Jenny Holzer ใช้ตัวอักษรโครเมียมสะท้อนแสงและสีฟลูออเรสเซนต์ประดับตกแต่งบนรถ BMW V12 LMR เพื่อให้แน่ใจว่าสีของ BMW คันนี้จะปรากฏให้เห็นตลอด 24 ชั่วโมงของการแข่งขันในสนาม Le Mans

นอกจากนั้นเธอยังเขียนประโยค “Protect Me From What I Want” ด้วยแผ่นฟอยล์สีใสที่เมื่อสะท้อนกับท้องฟ้าในตอนกลางวัน ตัวแผ่นจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าสุดเท่ที่ผิดจากตอนกลางคืน

นี่เป็นเพียงรถยนต์ 5 คัน จากทั้งหมด 19 คันในโปรเจกต์ BMW Art Car เท่านั้น แต่เราเชื่อว่าศิลปะความเร็วสูงคันอื่น ๆ ของค่าย BMW ยังถูกบันทึกอยู่ในใจของผู้ชายหลายคนเสมอ เพราะไม่เพียงมอบพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ทัศนคติ และแรงบันดาลใจ แต่โปรเจกต์ BMW Art Car ยังเป็นตำนานที่เปลี่ยนนิยามของศิลปะไปตลอดกาล

ปัจจุบัน BMW Art Car ก็ยังถูกคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าค่ายรถใบพัดสีฟ้าค่ายนี้ให้ความสำคัญกับศิลปะและงานดีไซน์ ไม่แพ้สมรรถนะและขุมพลังขับเคลื่อนเครื่องยนต์สุดแกร่งของเขาเลย

ต้องรอดูว่าเร็ว ๆ นี้ BMW จะสร้างปรากฏการณ์อะไรให้เราเห็นอีกบ้าง แต่คาดว่า BMW Art Car คันต่อไปคงขโมยความสนใจของคนทั้งโลกอย่างถล่มทลาย เฉกเช่นรถ Alexander Calder BMW 3.0 CSL ที่เคยจารึกประวัติศาสตร์เมื่อปี 1975 และเป็นตำนานจวบจนทุกวันนี้

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line