DESIGN

“อาลัย” ได้ “อะไร” กว่าที่คิด: “หรีดหนังสือ”ทางเลือกใหม่เปลี่ยนเศร้าเป็นสุขทั้งผู้รับ-ผู้ให้-ผู้วายชนม์

By: anonymK November 28, 2018

เรานั่งสนทนากันในวันที่แสงแดดดี ไม่มีกลิ่นอายความเศร้า แต่เอ่ยถึง “ความตาย” กันเหมือนเรื่องปกติสามัญเรื่องหนึ่งไม่ต่างจากเรื่องเล่าข่าวเช้า หรือเรื่องเล่าพูดคุยธรรมดาช่วงบ่าย

พี่ที่คุ้นเคยกันคนหน่ึงกล่าวว่าช่วง 25-35 คือวัยที่เราทยอยไปงานแต่งอย่างบ้าคลั่ง แต่หลังจาก 40 เป็นต้นไป งานศพจะเป็นงานที่เราไปบ่อยที่สุด คนที่เรารักจะทยอยจากไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การพบ พราก จาก ลา และแสดงความอาลัยต่อสิ่งที่จากคือธรรมดาของโลก

สิ่งที่น่าสนใจคือในทุกงานศพมักมีวัฒนธรรมการแสดงความอาลัยต่อเจ้าของงานอย่างการมอบพวงหรีดดอกไม้ที่เรารู้สึกเคยชินกับการให้ แต่ไม่เคยมองว่าปลายทางของมันจะจบลงอย่างไร

จนกระทั่งได้พบกับรูปแบบหรีดใหม่อย่าง “หรีดหนังสือ” ที่ช่วยกระตุกต่อมคิด เราจึงพบว่าแท้จริงแล้วความเศร้ามันสามารถส่งต่ออะไรให้กับคนอื่นได้มากมาย ทั้งผู้วายชนม์ คนที่ยังอยู่ และสังคม

แถมหรีดนี้ยังได้รับการดีไซน์ออกมาสไตล์มินิมัลสมเกียรติ เหมาะแก่การส่งต่ออีกด้วย เพื่อติดตามเบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์นี้ UNLOCKMEN จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คิดโครงการและผู้เกี่ยวข้องกับหรีดหนังสือเหล่านี้

 

ดอกไม้สด ลูปความเศร้าที่จบไม่สวย

ถ้าพูดถึงหรีดงานศพ “ดอกไม้สด” จะเป็นสิ่งแรกที่เราคิดถึง ธรรมดาแล้วเรามักจะคิดว่าเป็นวัสดุธรรมชาติเดี๋ยวก็คงย่อยได้ แต่จากสถิติปลายปีที่แล้วเฉพาะเทศกาลลอยกระทงบริเวณลุ่มน้ำปิงพบว่ามีขยะกระทงจำนวนถึง 120 ตันภายในวันเดียว

แล้วสำหรับงานศพที่เกิดขึ้นทุกวัน เฉลี่ยทั่วประเทศวันละ 1,200 งาน คงไม่ต้องบอกว่าเราจะพบกองหรีดเป็นพะเนินขนาดไหน บวกการสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์ปริมาณสูงถึง 359 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ยังไม่นับรวมฟอร์มาลีนที่นำมาฉีดเพื่อคงความสดให้พวกเราต้องสูดเข้าไปซึ่งจะสร้างอันตรายอีกมากมาย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ริเริ่มดำเนินการโครงการอย่างจริงจัง รวมทั้งเชิญชวนสำนักพิมพ์และร้านดอกไม้กว่า 15 แห่ง ให้นำรูปแบบหรีดหนังสือไปใช้หรือดัดแปลงโดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นทางเลือกใหม่ในการส่งความอาลัยให้กับผู้วายชนม์ พร้อมทั้งผูกพันธมิตรร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง ทีเคปาร์ค มูลนิธิกระจกเงา และหน่วยงานกว่า 200 แห่งที่สามารถส่งต่อหนังสือจากโครงการไปบริการนักอ่านในพื้นที่ขาดแคลน ส่วนบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมดเพราะผลิตจากกระดาษ

เศร้า “สูญ” หรือ “สร้างสรรค์” ทางเลือกบั้นปลายจากหรีด

“2 สร้าง 1 ลด” คือคอนเซ็ปต์ที่มาพร้อมกับหรีดหนังสือ เพราะในหรีดพวงเดียวจะสามารถสร้างกุศลให้กับผู้วายชนม์ครั้งสุดท้าย สร้างปัญญาให้กับผู้รับได้ และลดปริมาณขยะไปได้พร้อมกัน จึงเรียกได้ว่าครอบคลุมรอบด้าน

ทว่าไม่ใช่เพียงคุณค่าภายในเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึง แต่เพื่อปิด pain point ที่ทำให้ในอดีตหรีดหนังสือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

คุณสุชาดาได้บอกแนวการโฟกัสเบื้องหลังการพัฒนาแบบสุดมินิมัลว่าเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า “จะออกแบบหรีดหนังสืออย่างไรให้สวยเท่ากับหรีดดอกไม้สด น่าภาคภูมิใจต่อการมอบและการรับ” จึงเป็นเหตุให้มีการเชิญนักออกแบบมืออาชีพเข้ามาระดมความคิดและสร้างสรรค์ผลงานอย่างจริงจัง

ด้านหนังสือที่อยู่ภายในได้รับการคัดสรรไม่ต่างจากด้านนอก ผู้สั่งซื้อหรีดทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือตามประเภทที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเด็ก วรรณกรรม ฯลฯ โดยสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมต้องคัดเลือกหนังสือตามเงื่อนไขที่สมาคมผู้จัดพิมพ์กำหนดไว้ ได้แก่ หนังสือต้องเป็นหนังสือใหม่สภาพดี ไม่มีภาพและข้อความลามกอนาจารหรือเป็นหนังสือผิดกฎหมาย

ที่สำคัญคือทุกเล่มที่จัดในหรีดต้องผ่านการประทับตราของสมาคมเพื่อไม่ให้ผู้รับสามารถนำไปซื้อ – ขายต่อได้ นอกจากนี้เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับหนังสือแล้วจะส่งภาพการรับมอบกลับมายังผู้ส่งด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าหนังสือทุกเล่มจะส่งไปถึงปลายทางที่ต้องการอย่างแน่นอน

“อย่าบริจาคหนังสือเลย ต่อให้หนังสือเยอะแค่ไหน แต่เด็กก็ยังไม่มีหนังสืออ่าน”

คือหนึ่งในประโยคสะกิดใจเราที่คุณสุชาดาเอ่ยขึ้นระหว่างการพูดคุยพร้อมบอกเหตุผลที่ทำให้เราสนใจสนับสนุนพวงหรีดหนังสือยิ่งขึ้น โดยเธออธิบายว่าเบื้องหลังการบริจาคหนังสือทุกวันนี้ หนังสือจำนวนกว่า 70% คือหนังสือที่ต้องคัดทิ้งเนื่องจากสภาพไม่ดี เนื้อหาล้าสมัย หรืออาจจะส่งไปยังกลุ่มผู้อ่านที่ไม่สนใจ เช่น ส่งนิยายไปยังโรงเรียนชุมชนที่ต้องการหนังสือเด็ก หรือส่งหนังสือการเล่นหุ้นไปทัณฑสถานหญิงจึงทำให้หนังสือไปกองโดยไม่มีคนหยิบอ่าน

รางวัล Thai Print Award 2018 Smart Transform ครั้งที่ 13 ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการออกแบบหรีดหนังสือ

โครงการหรีดอาลัยได้คำนึงถึงปัญหานี้จึงคัดประเภทหนังสือและมอบให้กับภาคีที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งระบุประเภทหนังสือที่ขาดแคลนทำให้หนังสือทุกเล่มได้รับการเติมเต็มได้อย่างถูกจุด

นอกจากนี้การจัดส่งในระบบไปรษณีย์ที่ปัจจุบันสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่หนังสือที่พร้อมจ่าหน้าจัดส่งทันที โดยร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยทำให้ตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2562 ผู้ส่งหนังสือในโครงการหรีดอาลัยสามารถจัดส่งได้ในราคาเพียงจัดส่งที่ถูกลงจ่ายเพียง 50% ของราคาจัดส่งเท่านั้น เรียกได้ว่าระบบการจัดการครบวงจร ง่ายไม่ยุ่งยาก น่าสนใจจริง ๆ

 

ดีไซน์ความเศร้าฉบับมินิมัลที่ตอบโจทย์

ด้านความสวยงามของพวงหรีดหนังสือทั้ง 2 แบบที่เราเห็นในตอนนี้ ได้รับการออกแบบจากนักออกแบบมืออาชีพ 2 ท่าน คือคุณ ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล จาก MOHO Studio และ คุณดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา จาก บริษัทศูนย์สองสตูดิโอ จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์งานออกแบบที่เรียบหรู สงบ แต่เต็มเปี่ยมด้วยความหมายจากหรีดหนังสือทั้ง 2 แบบที่เราเห็นคือหรีดทรงเหลี่ยมและทรงกลมสไตล์ออริกามิ

งานที่ต้องละเมียดจับความรู้สึกทั้งผู้ให้และผู้รับเหล่านี้ ตั้งโจทย์มาทั้งเรื่องวัสดุ การจัดส่ง ซึ่งกว่าจะเป็นทั้ง 2 แบบที่ขึ้นรูปจริงนี้ แน่นอนว่าเบื้องหลังก็มีหลายชิ้นที่ต้องพับโครงการไป ซึ่งทั้ง 2 ท่านเผยความรู้สึกของแรงบันดาลใจในการออกแบบและความรู้สึกประทับใจที่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้

“ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ เรารู้สึกว่าโปรเจ็กต์นี้คือพื้นที่แสดงความคิดได้ ตอนแรกที่ฟังไอเดียเรื่องพวงหรีดกระดาษ เราตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปยอมรับความเป็นพวงหรีดกระดาษได้ เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะมองว่ากระดาษเป็นแค่กระดาษ เราจึงต้องคิดว่าเราจะสร้างมูลค่าจากกระดาษได้อย่างไร

ด้วยความที่ต้องการให้หรีดมีรูปทรงคล้ายกับพวงหรีดดั้งเดิมที่ผู้คนนิยม เราจึงออกแบบให้กางประกอบแล้วเป็นรูปร่างกลมจากการพับของออริกามิ ส่วนตำแหน่งตรงกลางเป็นทรงเรขาคณิตฉลุสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายที่ดี อย่างที่เห็นคือสัญลักษณ์เงื่อนมงคลที่แสดงความรักและความสามัคคี ส่วนวัสดุก็เน้นที่คงทนเหมาะแก่การประกอบและการจัดส่ง เพราะเราคำถึงเรื่องการจัดส่งว่าต้องทำได้ง่ายประกอบได้หน้างานโดยไม่เสียหายครับ คนที่นำไปใช้สามารถติดตั้งได้เองไม่ยุ่งยาก” ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล

 

“สำหรับผมเริ่มต้นการออกแบบโดยกำหนดว่าอยากจะทำให้มีรูปแบบแตกต่างกันระหว่างหรีดดอกไม้กับหรีดหนังสือชัดเจน ขณะเดียวกันก็มองเรื่องขนาดที่ต้องการปรับให้มันมีขนาดทัดเทียมกับหรีดอื่นที่วางหน้างานด้วย เพื่อให้วางหน้างานแล้วยังเห็นหรีดของเรา เราจึงออกแบบมาให้เห็นความเป็นรูปร่างของหนังสือชัดเจนที่สุด อะไรที่แตกต่างได้เราก็ทำให้แตกต่าง ส่วนสิ่งที่สนับสนุนข้อดีของเราได้ก็ถือเป็นข้อดีของเรา

ประกอบกับเราคิดว่าหรีดหนังสือน่าจะให้ข้อความบางอย่าง หรือแง่คิดบางอย่างได้ต่างจากหรีดดอกไม้จึงอยากจะใส่ข้อความบางอย่างติดอยู่ในหรีด คำว่า ‘ด้วยรักและอาลัย’ ถือว่าเป็นคำกลาง ๆ ที่เราเลือกไว้เป็นข้อความแรกเพื่อแสดงความรู้สึกของผู้ให้และความสูญเสียซึ่งอาจจะมีการพัฒนารูปแบบคำอื่นมาใช้เป็นข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียให้เลือกเพิ่มเติม ส่วนเรื่องการฉลุให้เห็นด้านในบางส่วนแทนที่การเปิดเผยให้เห็นหนังสือด้านทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเรื่องคุมโทนสีหนังสือหลังจากที่เคยทดลองทำแบบอื่นไปแล้วเพื่อให้ยังคงความสวยงามครับ” – คุณดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา

 

สั่งเสีย เพื่อส่งต่อสู่ 128,320 เล่มในปีนี้

ใครที่สนใจ แต่ยังไม่รู้ช่องทางการสั่งซื้อพวงหรีดหนังสือสามารถติดตามเข้าไปทางร้านหรีดที่เข้าร่วมในโครงการ หรือสอบถามผ่านเฟซบุ๊กของหรีดหนังสือได้ทันที ทางร้านที่เข้าร่วมในโครงการจะสอบถามเราทุกครั้งว่าเราต้องการให้ร้านเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งหนังสือแทนเราหรือไม่ หรือเราจะนำไปที่งานเพื่อให้เจ้าภาพเป็นผู้รับหนังสือเหล่านั้นไว้ และยังไม่ต้องกังวลหากสุดท้ายแล้วหนังสือยังคงค้างอยู่ที่วัด เพราะหรีดทุกชิ้นจะให้เบอร์ติดต่อกำกับไว้เพื่อให้ทางวัดสามารถโทรติดต่อให้มูลนิธิกระจกเงานำรถเข้าไปรับโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเมื่อปริมาณหนังสือมากในระดับหนึ่ง

คงดีกว่า…ถ้าเราทุกคนหันมาให้ความสำคัญด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการแสดงความอาลัยด้วยการฟื้นฟูสังคมให้ดียิ่งขึ้น เพราะงบประมาณในการพัฒนาประเทศของเราจะย้ายจากกองพะเนินที่ทำร้ายโลกไปสู่การรักษ์โลกยิ่งขึ้น

ที่สำคัญปริมาณถ้าคุณคิดและทำในวันนี้ ค่าประมาณจากการมอบพวงหรีดเพียง 1 พวงต่อ 1 ศาลา จากค่าเฉลี่ยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 456 วัด (ข้อมูลจากกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำปี 2560) วันหนึ่งสวดศพคิดเฉลี่ยเพียง 2 ศาลา จะทำให้มีหรีดหนังสือถึง 912 พวง ปีละ 128,320 พวง เท่ากับปีหนึ่งจะมีหนังสือใหม่หมุนเวียนในระบบถึงเด็กและเยาวชนมากถึง ถึง 128,320 โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐ!

สุดท้ายแรงบันดาลใจจากอักษรในหนังสือ คือสิ่งหล่อหลอมเราทุกคน แม้ในยุคดิจิทัลที่เราใช้งานและผ่านอ่านจอสัมผัส เพราะเสน่ห์จากการหยิบจับ พลิกเรื่องราวที่ต้องการจะยังคงกับเราอยู่เสมอแม้ในพื้นที่ไร้สัญญาณหรือไฟฟ้าและทะนุถนอมดวงตาของเราให้มองเห็นโลกกว้างพร้อมที่จะสร้างสิ่งที่ดีให้กับตนเองและผู้คนรอบข้างต่อไป

 

เชื่อว่าสิ่งนี้คงทำให้เราหวนระลึกได้ว่าสาส์นสุดท้ายที่มอบไว้หน้าหีบศพผ่านการปักธูปคืออะไร “เราพูดอะไรกับคนที่จากไป และทำอะไรให้คนที่ยังเหลืออยู่”

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line