FASHION

กรณีศึกษา BTS กับประเด็นเสื้อระเบิดฮิโรชิม่า เมื่อแฟชั่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

By: TOIISAN November 15, 2018

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมากลุ่มไอดอลเกาหลีวง BTS ได้โดนถอดรายชื่อออกจากการแสดงในรายการเพลงญี่ปุ่นอย่าง Music Station โดยสถานีโทรทัศน์ชื่อดังอาซาฮี เนื่องจากภาพของสมาชิกในวงที่ใส่เสื้อ Atomic Bomb สกรีนภาพและความคิดเห็นเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เมืองฮิโรชิม่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดดังกล่าวนับแสนคน รวมถึงข้อความบนเสื้อที่เขียนว่า Patriotism, Our history และ Liberation Korea เรื่องการปลดแอกชาวเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ร้อนแรงทั้งสองประเทศ

ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้นั้นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่นานมานี้ ศาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินให้บริษัทอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ชาวเกาหลีใต้เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านวอน หรือตีเป็นเงินไทยราว 3 ล้านบาท จากการบังคับใช้แรงงานในโรงเหล็กช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวก่อให้เกิดข้อพิพาทที่รุนแรงทั้งชาวเกาหลีและชาวญี่ปุ่น รวมถึงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างนายชินโสะ อาเบะ ที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลเกาหลีใต้ เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศและประเด็นดังกล่าวสิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 แต่ทางเกาหลีใต้ยังคงออกมาเรียกร้องค่าเสียหายอยู่

ซึ่งประเด็นเสื้อเจ้าปัญหาของวง BTS อาจเรียกได้ว่าเป็นการโดนหางเลขไปด้วยจากเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว รวมถึงจังหวะที่พอดีเมื่อ BTS ได้ขึ้นแสดงในรายการเพลงของญี่ปุ่นช่วงที่ข้อพิพาทนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ เห็นได้จากการที่สมาชิกของวงได้สวมเสื้อดังกล่าวนานแล้ว แต่ดันพึ่งเป็นประเด็นที่นำมาถูกพูดถึงภายหลัง

ไม่ใช่เพียงแค่ญี่ปุ่นกับเกาหลีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแฟชั่นได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนานแล้ว อย่างเช่นในสังคมอเมริกันช่วงยุค 80s ที่โด่งดังเรื่องแฟชั่นฉีกแนวที่มีไมเคิล แจ๊คสัน และ มาดอนน่า เป็นไอคอนแฟชั่น และเสื้อผ้ามักมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวด้านสังคมการเมืองที่สื่อถึงเงิน อำนาจ และฐานะ

วัยรุ่นช่วงนั้นมองสังคมในกรอบใหม่ ไม่จำเป็นว่าผู้ชายทำงานเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงต้องใส่แต่กระโปรงและเลี้ยงลูกอยู่บ้าน รวมถึงต่อต้านนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในตะวันออกกลาง การแต่งตัวของผู้หญิงยุคนี้จึงเป็นเสื้อผ้าที่มี Shoulder Pad แบบไหล่ตั้ง และสวมใส่กางเกง ฝ่ายชายเองไม่น้อยหน้าจัดเต็มทั้งเสื้อใน เสื้อนอก ทับกันหลายชั้น กางเกงยีนส์ขาด ๆ กับพร็อบสร้อยเส้นยักษ์ ผ้าพันคอ และรองเท้าบู๊ท ที่ฉีกแนวเพื่อบ่งบอกสไตล์ที่แตกต่าง เป็นยุคสมัยที่ทำให้การแบ่งเพศทางแฟชั่นลดน้อยลง

นอกจากนี้แฟชั่นไอเทมที่มีหน้าของ เช เกวารา ผู้นำทางการเมืองจากฝั่งมาร์กซิสที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศโบลิเวีย ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางแฟชั่นที่แสดงถึงความขบถของผู้สวมใส่ทั่วโลก

หรืออย่างการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ผ่านมา เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี แบรนด์แฟชั่นสตรีทชื่อดังอย่าง Supreme ก็ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยการออกคอลเลกชั่นเสื้อสกรีนข้อความแบบเจ็บ ๆ อย่าง

“Why not get together with some friends soon and say No! Say no to racists, to sexist pigs, to authority figures, to religion; say no to television, patriotism, political ideologies, any of the thousand and one ways in which this society keeps you from realizing your own needs and desires. You’ll find the more you do it, the more you’ll like it! Just say “fuck off.” You’ll get a lot of satisfaction.”

ที่สรุปใจความสั้น ๆ ได้ว่า เกลียดแนวคิดทางการเมืองปัจจุบัน เกลียดทุกอย่างในสังคมที่ชอบจะลิดรอนสิทธิและความต้องการ และรัฐจะสนใจฟังเราก็ต่อเมื่อเราตะโกนคำว่า ช่างแม่ง! แบบดัง ๆ แถมเสื้อดังกล่าวยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะข้อความนั้นเป็นเหมือนประโยคแทนใจที่แสดงจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ

และอย่างในประเทศไทยเองก็มีให้เห็นชัดเช่นกัน ว่ากลุ่มผู้มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกันจะแบ่งฝ่ายโดยใช้สีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์และความคิด เพื่อแสดงถึงจุดยืนทางการเมือง

จากเหตุการณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นกับการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างกรณีเสื้อของวง BTS ทางดีไซเนอร์ที่ออกแบบเสื้อได้ออกมากล่าวว่าไม่มีเจตนาจะดูถูกประเทศญี่ปุ่น หรือมีความยินดีที่เมืองฮิโรชิม่าโดนระเบิดนิวเคลียร์ เพียงแค่จะสื่อถึงวันประกาศอิสรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจากการปกครองของญี่ปุ่นในช่วงยุคอาณานิคมเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวานนี้ทางต้นสังกัดของ BTS อย่าง Big Hit Entertainment ได้ออกแถลงว่าเป็นความผิดของบริษัทที่ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนจะมอบเสื้อให้แก่ศิลปินในสังกัดสวมใส่ และไม่เคยมีความตั้งใจที่จะสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมณู ต่อไปนี้ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จะถูกตรวจสอบให้รอบคอบก่อน รวมถึงได้ติดต่อกับสมาคมผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมณูเพื่ออธิบายเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและกล่าวขอโทษแล้ว และย้ำว่าในภายภาคหน้าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ในบางครั้งแฟชั่นก็กลายเป็นเรื่อง sensitive ที่กระทบจิตใจของคนบางกลุ่ม และหลายครั้งแฟชั่นก็ได้ถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเสื้อ Atomic Bomb ของไอดอลหนุ่มถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา แสดงให้เห็นความสำคัญของกาลเทศะในการแต่งกาย เพื่อการคิดอย่างรอบคอบและระมัดระวังเรื่องการแต่งตัวให้กับชาว UNLOCKMEN ได้อย่างน่าสนใจ

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line