Life

CAN’T STAND HOME: นอกบ้านแย่น้อยกว่า ความจริงอีกมุมในวิกฤต บ้านไม่ได้น่าอยู่สำหรับทุกคน

By: anonymK April 27, 2020

เคยรู้สึกไหมว่าบ้านเป็นที่ ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย

ในชีวิตจริงเรามองเห็นหน้าต่างบ้านฝั่งตรงข้าม ไฟเปิดปิดสลับไปมาวันแล้ววันเล่า แต่ไม่มีโอกาสเห็นการใช้ชีวิตข้างใน ส่วนโลกโซเชียลในมือ ต่อให้ไม่ต้องแม้แต่เคาะประตูบ้าน ก็มีคนเปิดให้รู้เรื่องราวชีวิตทุกอย่างช่วงกักกัน

ส่วนใหญ่ก็โชว์แต่โลกที่น่าอิจฉาด้วยกันทั้งนั้น

จนเจอสเตตัสหนึ่งในเฟสบุ๊กของเพื่อนที่พูดว่าบ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนมันเล่าว่าบ้านสำหรับเด็กบางคนน่าเจ็บปวด เป็นฝันร้าย ประสบการณ์ที่หลายคนแชร์ผ่านทวิตเตอร์บอกให้รู้ว่าคนร่วมบ้านอาจไม่ใช่คนที่มอบความสุขให้ได้ แสงสว่างของบางคนคือการออกไปอยู่นอกบ้าน ไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อนและใช้เวลาอยู่ในบ้านให้น้อยที่สุด

การอยู่แต่บ้านเวลานี้ต่างหากที่เป็นวิกฤต

จากสเตตัสที่สะกิดใจ เราตัดสินใจไปลองหาข้อมูลอีกด้านที่ไม่ค่อยมีคนพูดแทนหยุดเชื้อเพื่อชาติ ที่ทำให้หลายคนต้องทรมานมันจะลึกหรือจะแย่สักแค่ไหนกัน แล้วยังจะพอมีทางออกหรือทางเลือกเหลือไว้สำหรับสถานการณ์นี้บ้างไหม

ABUSE บ้านคือพื้นที่ความรุนแรง

ข้อมูลจากองค์การ UNICEF เผยสถิติการก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าเฉพาะในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบเต็ม เป็นแห่งแรก ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากจีนแล้วอีกหลายประเทศล้วนได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน Rola Dashti เลขาธิการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมเอเชียตะวันตกแห่งสหประชาชาติ (ESCWA) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า เหตุผลของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการกักกันที่บีบบังคับให้คนอยู่ร่วมกันท่ามกลางเศรษฐกิจที่แย่ เริ่มจากความเครียด ความกังวล ขาดหนทางเข้าถึงอาหาร ทำให้จิตใจคนเริ่มบิดเบี้ยวตาม

แต่ผลกระทบส่วนใหญ่ระบุว่ามักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่า เพราะผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลบ้านและงานในครอบครัว พอแนวโน้มอาหารไม่พอ ความเครียดสะสม เธอจะเกิดความอ่อนล้าทั้งกายและใจจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคมากขึ้น

HOME = OFFICE ไม่มีจริง

เราเคยเชื่อว่าการทำงานในบ้าน น่าจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น เพราะเราไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารกินเนื่องจากในบ้านมีคนทำกับข้าวให้กินฟรี แต่การแชร์พื้นที่ในบ้านที่มีคนในครอบครัวอยู่ ทำให้ต้องเกรงใจยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้บ้านไม่ได้น่าอยู่ขนาดนั้น

ความตึงเครียดทั้งการชวนคุย การเรียกให้ไปทำกิจกรรมร่วมกัน หรือการรับหน้าที่เพิ่มเพราะต้องดูแลคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านจิตปาถะไปจนถึงการรับหน้าที่เลี้ยงลูกสำหรับคนที่มีครอบครัว เพราะลูกก็ไปโรงเรียนไม่ได้

ทั้งหมดก่อความรู้สึกกังวล เมื่อเรารู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ขาดสมาธิโฟกัสกับงาน ทำให้หลายคนรู้สึกว่าการฝ่า Covid-19 ไปทำงานที่ออฟฟิศดีกว่าการอยู่บ้านด้วยซ้ำไป

CAFE SOMEWHERE ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวที่ปลอดภัยอีกต่อไป

เรื่องที่อยู่อาศัย อาจจะเป็นปัญหาสำหรับคนไร้บ้าน แต่ก็มีอีกมุมที่เราไม่รู้ บางคนพอใจจะใช้ชีวิตอยู่ในเน็ตคาเฟ่ แทนบ้าน แม้ว่ามันจะไม่ใช่ที่อยู่ถาวรที่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ของตัวเอง มีโฉนดหรือสัญญาถือครอง แต่ก็ถือว่ามันเป็นบ้านสำหรับพวกเขา

วัฒนธรรมการกินอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ต เราเห็นได้ชัดในญี่ปุ่น เพราะเป็นร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง ปล่อยให้เช่าพักได้ในราคาไม่แพง หลายแห่งคุณภาพดี มีระบบรักษาความปลอดภัย ห้องน้ำ และอุปกรณ์จำเป็นทั้งแปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ

คนที่เข้ามาพักในร้านอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ มีทั้งคนที่ไร้บ้าน ขณะที่บางคนหน้าที่การงานดี ก็มีเหตุผลส่วนตัว บ้างกลัวความเปลี่ยวเหงา บ้างลี้ออกจากบ้าน

แต่พอมีเรื่องการกักกันเข้ามา ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เหล่านี้จำเป็นต้องยุติการให้บริการ หลายคนที่เคยใช้พื้นที่เป็นที่พักพิงก็กลายเป็นคนไร้บ้านกะทันหันทันที

CRISIS SOLUTION

แม้จะมีด้านที่เรามองไม่เห็น ที่เปิดเผยเพื่อให้รู้ว่าการกักตัวอยู่บ้านไม่ได้ดีสำหรับทุกคนเสมอไป แต่ใช่ว่าด้วยตัวเลขแบบนี้หลายฝ่ายจะนิ่งนอนใจ ไม่แก้ไขปัญหา บางประเทศออกมาตรการมาเพื่อรองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แล้ว เราจะยกตัวอย่างทางออกที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤตมาแบ่งปันกัน

ABUSE SOLUTION: รูปแบบการจัดการปัญหาความรุนแรง ถ้าต้องแก้อย่างถาวรคงต้องบอกว่าทำได้เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลาย คนกลับไปใช้ชีวิตกันได้ตามปกติเท่านั้น แต่ตอนนี้นั่นคงเป็นแผนที่ต้องรอการคิดค้นวัคซีนให้สำเร็จ ส่วนเบื้องต้นประเทศต่าง ออกมาตรการดังนี้

  • แทบทุกประเทศแนะนำให้โทรหาสายด่วน หรือปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ ประเทศไทยมี Call center สำหรับรับปรึกษา สามารถโทรได้ที่เบอร์ 1323 สำหรับตัวเลขปัจจุบันจากข้อมูลการแถลงข่าวของรมช.สาธารณสุข เผยเดือน มี.ค. มีผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตมากถึง 600 สาย (22 เม.ย.2563) ต่อวัน
  • ประเทศฝรั่งเศสเปิดให้ร้านขายยาเป็นจุดรับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้โค้ด Mask 19 แจ้งเพื่อเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจัดการผู้ที่ทำร้ายพวกเขา ขณะเดียวกันก็จัดหาที่พักใหม่และจ่ายค่าโรงแรมให้เป็นที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ได้รับผลกระทบด้านนี้
  • อังกฤษเปิดบริการ Silent Solution เพราะรู้ว่ากรณีโดนคุกคาม เราอาจอยู่ในภาวะไม่สามารถแจ้งหรือพูดโดยตรงผ่านสายด่วนได้ ปลายสายจะแนะนำขั้นตอนเพื่อช่วยเหลือ

WORK SOLUTION: แม้ว่าเราจะไปร้านคาเฟ่และ Co-working Space ไม่ได้อีกต่อไป แถมพื้นที่บ้านก็ไม่ได้เหมาะให้ทำงาน ตอนนี้ภาคเอกชนที่กำลังขาดรายได้จึงเริ่มปรับตัวและให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการ โดยเปิดพื้นที่โรงแรมให้กลายเป็นที่ทำงานสุดปลอดภัยแล้ว ยกตัวอย่างใกล้ตัวในไทยเองก็มีกับเขาเหมือนกัน

พูลแมน คิง เพาเวอร์ ปรับตัวจากที่พักหรูกลายเป็นโลเคชั่นน่าทำงาน แพ็กเกจเป็นแบบรายวัน 8 ชั่วโมง เริ่มต้น 1,190 บาท มีอาหารและฟรีอินเทอร์เน็ตแรง ให้ใช้ แต่เพื่อป้องกันการอยู่รวมกันเป็นหมู่มาก เขาก็มีมาตรการให้เข้าใช้บริการได้จำกัดเพียง 2 คนต่อห้อง ใช้ห้องพัก ใช้บริการได้ตั้งแต่ 8.00-20.00 . จะได้กลับบ้านได้ก่อนเคอร์ฟิว ที่สำคัญยังมีอาหารมาเสิร์ฟให้ถึงห้องด้วย ก็ถือว่าเป็นทางเลือกปรับตัวที่น่าสนใจ ใครสนใจก็ลองไปดูกันได้เพราะเท่าที่เช็กมาตอนนี้ดูเหมือนเขามีโปรโมชั่นถึงสิ้นเดือน ..

CAFE EMERGENCY: คาเฟ่ที่หายไป ทำให้เกิดภาวะคนไร้บ้านข้างนอก เพิ่มอัตราเสี่ยง ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่มีสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมทางสังคมเล็งเห็นปัญหาจึงสร้างโครงการ Net Cafe Refugee ขึ้นเพื่อเป็นที่พักฉุกเฉิน โดยมีบริษัทสถาปนิก Shigeru Ban Architects เป็นผู้ออกแบบ

หน้าตารูปแบบการพักเป็นห้องขึงผ้าสี่เหลี่ยมขนาดหนึ่งคนอยู่ที่มีเฉพาะอุปกรณ์จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ติดตั้งในสนามกีฬาโดยเว้นระยะห่าง แม้จะรองรับคนได้จำนวนไม่มาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนช่วงเวลานี้ได้

บ้านอาจไม่ได้น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับทุกคน และบ้านในความหมายของแต่ละคนอาจจะไม่ได้ตีความตามพจนานุกรมว่าเป็นที่พักอาศัย แต่หมายถึงสถานที่สักแห่งที่ทำให้เราทิ้งตัวได้โดยไม่ต้องกังวล

เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น และถ้าคุณอยู่ในบ้านที่กำลังตึงเครียด คุณจะได้รู้ทันมันและหาหนทางควบคุมอารมณ์ตัวเอง เพราะสิ่งที่ต้องกักกันวันนี้ ไม่ได้มีแค่ความเสี่ยงติดเชื้อ แต่ความเสี่ยงทางอารมณ์ก็ต้องให้ความสำคัญไม่ต่างกัน

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line