World

‘ทุนนิยม’สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งที่จะแย่งทุกอย่างไปจากมนุษยชาติภายในปี 2050

By: PERLE March 1, 2019

ถึงอยากจะหนีเท่าไรก็หนีไม่พ้น เพราะมันอยู่ในทุกที่ ทุกเวลา และทุกมิติของการใช้ชีวิต ใช่ เรากำลังหมายถึง ‘ทุนนิยม’ ระบบเศรษฐกิจที่เปรียบเสมือนกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกใบนี้

สำหรับบางคนระบบนี้คือขนมหวานที่สร้างสรรค์ชีวิตสวยหรูให้ แต่สำหรับบางคนมันคือยาขมที่ต้องพยายามกระเสือกกระสนให้อยู่รอด อย่างไรก็ตามภายใต้เปลือกนอกที่เหมือนจะดูดี น้อยคนที่จะตระหนักว่ามันกำลังทำลายโลกใบนี้อย่างช้า ๆ ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างเราเอง

The Truth You Should Know
  • จากรายงานของ Center for Health and the Global Environment at Harvard Medical School เผยว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้นกว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อนถึง 1,000 เท่า
  • จากรายงานของ The 2010 Assessment by the Food and Agricultural Organization of the UN เผยว่าตลอดทุกปีจะมีพื้นที่ป่าถูกทำลายถึง 6 ล้านเฮกตาร์ และโดยรวมพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปแล้วกว่า  14,826,322 เอเคอร์
  • แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีประชากรกว่า 15% ที่มีฐานะอยู่ในเกณฑ์ยากจน และสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีอัตราดังกล่าวพุ่งสูงถึง 20% จากรายงานของ U.S. Census
  • จำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2050 จากรายงานของ United Nations’ Projections
Human, World, And Resources

ประชากรจะเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคน แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับลดน้อยลงทุกวัน แล้วมนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร? นี่คือคำถามที่ต้องหาคำตอบ

ตัวอย่างกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลโดยตรงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตคือการเกษตรเชิงพาณิชย์, การสกัดไม้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสังคม เพราะกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

บริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่ต่างกำลังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและแรงกดดันจาก Wall Street โดยในเรื่องนี้ Christopher Wright และ Daniel Nyberg ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้ตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างทุนนิยมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมาโดยมีใจความสำคัญว่า

“หนังสือของเราแสดงให้เห็นว่าบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ได้แสดงออกถึงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ความจริงคือพวกเขากำลังปิดบังความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สิ้นสุดและการทำลายสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น”

ในขณะเดียวกัน Justin Farrell นักสังคมวิทยาจาก Yale ใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมาศึกษาเรื่องการระดมทุนขององค์กรและพบว่าบริษัทต่าง ๆ ใช้ความมั่งคั่งเพื่อปกปิดความจริงดังกล่าว พวกเขามุ่งมั่นที่จะแสวงหาการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งแม้ว่ามันจะทำลายล้างโลกและคุกคามสวัสดิภาพของมนุษย์

เราจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ ระบบที่สมดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์

ข่าวดีคือเหล่าบริษัทรุ่นใหม่กำลังตื่นตัวในแนวทางดังกล่าว พวกเขาผสมผสานแนวคิดทุนนิยมเข้ากับแนวคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะการดูแลพนักงานและการจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Distributed Ownership And Governance

ผู้จัดการกองทุนของสถาบันการเงินทั่วโลกเป็นเจ้าของหุ้นส่วนใหญ่ (กว่า 70%) ในตลาดหลักทรัพย์สาธารณะ อย่างไรก็ตามพวกเขากลับไม่มีส่วนได้เสียในการบริหารงาน ยิ่งไปกว่านั้นสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่ควบคุมโดยฝ่ายบริหารก็ยังคงอยู่ในมือของ CEO ไม่กี่คน

ในทางกลับกันบริษัทรุ่นใหม่ยินดีที่จะแจกจ่ายหุ้นให้กับพนักงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาบริษัทไปในทางที่ดียิ่งขึ้น

อ้างอิงจากรายงานของ The Economist พบว่าบริษัท Startup รุ่นใหม่สร้างความกระตือรือร้นแก่พนักงานด้วยการให้ความรู้สึกว่าพวกเขาเองก็เป็นเจ้าของบริษัทนี้เช่นกัน

“ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่การเป็นเจ้าของ ในขณะที่บริษัทรุ่นเก่าไม่ได้สร้างความเป็นเจ้าของแก่พนักงาน บริษัทรุ่นใหม่พยายามอย่างเต็มที่ในการทำสิ่งที่แตกต่าง ถึงแม้ว่าผู้ก่อตั้งกลุ่มแรกจะยังถือหุ้นใหญ่ แต่พวกเขาก็สร้างแรงจูงใจให้พนักงานกลุ่มใหม่โดยการมอบความเป็นเจ้าของให้เป็นการตอบแทนผลงานอันยอดเยี่ยม

นี่คือวิถีแห่ง Startup ซึ่งทุกวันนี้สิทธิและรายละเอียดต่าง ๆ ได้ถูกกำหนดไว้อย่างพิถีพิถันในสัญญาที่ร่างขึ้นโดยนักกฎหมาย สิ่งนี้สอดคล้องกับการสร้างวัฒนธรรมของการทำงานหนักและความสนิทสนมภายในองค์กร เนื่องจาก Startup มีขนาดเล็กกว่าบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ ดังนั้นสิ่งบ่งชี้คุณภาพของแต่ละคนคือประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ใช่รายละเอียดทางบัญชี”

แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การบริหารแบบให้พนักงานมีส่วนร่วมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกับเจ้าของกิจการตัวจริงในการออกเสียงโหวตเรื่องต่าง ๆ ของบริษัท

Mondragon (บริษัทสหภาพแรงงานยักษ์ใหญ่ในประเทศสเปน) คือตัวอย่างที่ดีของแนวคิดดังกล่าว บริษัทแห่งนี้ให้สิทธิพนักงานในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่สำคัญ

สรุปคือบริษัทที่ประสบความสำเร็จภายใต้ระบบทุนนิยมรูปแบบใหม่นี้จะมีโครงสร้างความเป็นเจ้าของที่มีการกระจายตัว ซึ่งประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แค่ในแง่ผลกำไร แต่รวมถึงแง่สังคมในองค์กรด้วย

Joint Ownership Will Lead To Collaborative Management

การบริหารงานแบบองค์กรรุ่นใหม่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของพนักงานอย่างสมบูรณ์แบบ จนในท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าคนไหนคือพนักงาน คนไหนคือเจ้าของกิจการ ซึ่งแน่นอนว่าการบริหารงานแบบนี้ข้อดีของมันคือความคล่องตัวและยืดหยุ่น

ตัวอย่างเช่นบริษัท ใหม่ ๆ กำลังทดลองกับรูปแบบการจัดการทางเลือกที่พยายามเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานมากกว่าการบริหารแบบเดิม

Holacracy คือหนึ่งในรูปแบบการบริหารที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นมา มันคือโครงสร้างที่จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในที่ทำงานจาก ‘เจ้านาย-ลูกน้อง’ เป็น ‘เพื่อน-เพื่อน’

แล้วสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไง?

อย่างที่บอกไปว่าตัวการสำคัญที่จะนำไปสู่การล่มสลายของมนุษยชาติคือระบบทุนนิยมและการบริหารงานแบบเน้นแค่ผลกำไรของเหล่า CEO ในบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่การบริหารรูปแบบใหม่นี้จะทำให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการองค์กร ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือนโยบายการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น เพราะไม่ว่ายังไงทุกคนก็เป็นผู้อยู่อาศัยในโลกใบนี้ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากทำลายบ้านตัวเอง

หวังว่า 2050 จะเป็นปีที่ดี

SOURCE1

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line