Life

คุณคิดยังไง? “ทหารเกณฑ์ควรบังคับหรือสมัครใจ?” พร้อมดูวิธีเกณฑ์ทหารประเทศอื่น

By: PSYCAT April 4, 2019

ทันทีที่เดือนเมษายนมาถึง นอกจากวันหยุดยาวสะใจ อากาศร้อน กิจกรรมกลางแจ้งสุดระห่ำและสาว ๆ ในชุดเซ็กซี่ท้าแดดลมริมทะเล อีกอย่างหนึ่งที่ชายไทยอย่างเรา ๆ คงอดนึกถึงไม่ได้ คือเรื่องสำคัญอย่างวันคัดเลือกทหารกองประจำการ หรือ “การเกณฑ์ทหาร” ที่เราเรียก ๆ กันนั่นเอง

17-04-04-conscription-006

การเกณฑ์ชายไทยมาเป็นทหารรับใช้ชาติอย่างเป็นกิจจะลักษณะเริ่มต้นตอนรัตนโกสิทร์ศก 124 (พ.ศ.2448) หรือเมื่อ 114 ปีก่อน โดยได้รับอิทธิพลเรื่องการเป็นทหารมืออาชีพมาจากชาติตะวันตก เพราะก่อนหน้านี้เราเกณฑ์ผู้ชายไปรบด้วยระบบไพร่ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกระบบไพร่และทาสนั่นเอง

UNLOCKMEN เลยอาสาพาไปสำรวจประเทศอื่นกันบ้างว่าเขามีการเกณฑ์ทหารเหมือนบ้านเราไหม? หรือเขาบังคับทุกคนเป็นทหารกันหมดโดยไม่ต้องจับใบดำใบแดงกันเลย? แล้วถ้าเขาไม่เกณฑ์ทหารเขาหาคนไปเป็นทหารกันอย่างไร?

เกาหลีใต้: เมื่อผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร

เริ่มด้วยประเทศแถบเอเชียอย่างเกาหลีใต้กันก่อนเลย ถ้าเราเคยแอบฟังสาว ๆ ผู้ประกาศตนเป็นติ่งเกาหลีคุยกันอยู่บ้าง เราคงเคยได้ยินมาว่านักร้องหนุ่มขวัญใจพวกเธอคนนั้นคนนี้ต้องตบเท้าเข้ากรมไปเป็นทหาร นอกจากจะทำให้พวกเธอต้องเสียน้ำตาไปหลายหยด เราก็อาจอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมนักร้องหนุ่มเกาหลีนี่ต้องโดนทหารไปซะทุกคน เขาเกณฑ์เฉพาะดาราหรือเปล่า? คำตอบก็ไม่ยากเกินคาดเดา ก็เกาหลีใต้ไม่มีจับใบดำใบแดงให้เสียเวลา เพราะผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร!

กฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลีบทที่ 2 มาตรา 39 ซึ่งตราขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ชายเกาหลีอายุระหว่าง 18-35 ปีจะต้องเป็นทหารกองประจำการ

เราอาจยังสงสัยว่าทำไมช่วงอายุถึงได้กว้างขนาดนั้น? นั่นเป็นเพราะรัฐอนุญาตให้ผู้ชายสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าเป็นทหารกองประจำการตอนไหน บางคนอาจจะรอเรียนจบก่อน บางคนก็เป็นทหารก่อนเสียเลยแล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่ ในขณะที่บางคนอาจจะทำงานเก็บเงิน สร้างเนื้อสร้างตัวให้สบายใจแล้วค่อยเข้าไปเป็นทหารในวัย 30

หน้าที่ก็ไม่ได้จบแค่เข้าประจำการณ์ตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น เพราะหลังออกจากกรมแล้ว ผู้ชายเกาหลียังต้องเข้ากรมเพื่อฝึกทบทวนยุทธวิธีอีกปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน และทำอย่างนี้อยู่เป็นเวลา 6 ปี

ทหารเกณฑ์สไตล์เกาหลีใต้จึงมีครบทุกอาชีพ ทุกระดับรายได้ และวัยที่หลากหลาย ไม่ต้องกังวลว่าเป็นดารา เป็นคนดัง เป็นคนรวย หรือเรียนรด.แล้วจะได้รับการยกเว้น

สหรัฐอเมริกา: สมัครใจเป็นทหาร ฟรีสวัสดิการและโอกาส

อิทธิพลจากหนัง Hollywood จำนวนมากที่ฉายภาพทหารอเมริกันที่มีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ ฝึกอย่างทรหดอดทน จริงจังกับยุทธวิธีและแข็งขันในการเป็นทหารกองประจำการมาก (โอเค ส่วนหนึ่งก็เพราะการพยายามโฆษณาชวนเชื่อผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย) แต่ชีวิตจริงของหนุ่ม ๆ อเมริกันก็ไม่ได้ต่างจากนั้นมากนัก เพราะทหารกองประจำการทุกคนเดินเท้าเข้ากองทัพด้วยความสมัครใจทุกคน!

ถ้าหนุ่มเกาหลีใต้ต้องเป็นทหารกองประจำการเหมือนกันหมด สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกรูปแบบที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะที่นี่เขาให้หนุ่ม ๆ สมัครเป็นทหารเอาจากความเต็มใจ เราอาจแอบสงสัยว่า โห ถ้ารอให้คนอยากเป็นทหาร ไปฝึกโหด ๆ ใครจะอยากเป็นล่ะ?

ในสหรัฐอเมริกาแม้จะไม่มีการจับใบดำใบแดงให้ต้องลุ้นเหมือนเรา แต่ก็มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ (อ่านไม่ผิดหรอก แม้แต่สาว ๆ ในสหรัฐอเมริกาบางคนก็อยากเป็นทหารกับเขาด้วย) เนื่องจากมีแรงจูงใจเป็นระบบสวัสดิการ ทุนการศึกษา และอีกสารพัดโอกาสที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

17-04-04-conscription-003

หนุ่มไทยบางคนที่โอดครวญกับการต้องเป็นทหารนอกจากเรื่องฝึกหนักแล้ว เรื่องการเสียโอกาสในหน้าที่การงาน การเสียรายได้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราต้องเบือนหน้าหนี (แม้ว่าใจอยากรับใช้ชาติมากก็ตาม)

ปัญหานี้จะหมดไปเพราะกองทัพสหรัฐฯ เขาให้ทหารมีโอกาสได้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยพลเรือน (นึกภาพตามง่าย ๆ ว่าถ้าเราสมัครเป็นทหารไทยแล้วเขาให้ทุนเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีใช่ไหมล่ะ) พอเรียนจบทำงานใช้ทุน แล้วสามารถลาออกไปทำงานเอกชนได้ แต่ถ้าเปลี่ยนใจอยากกลับมาเป็นทหาร ก็กลับมาได้อีก! หรือถ้าเป็นทหารกองประจำการแล้วติดใจจะรับราชการเป็นทหารต่อไปเพื่อรับสวัสดิการดี ๆ ไปตลอดชีวิตก็ยังได้ อย่างไรก็ตามหากเกิดภาวะสงครามที่รัฐต้องการคน สหรัฐอเมริกาก็ยังมีกฏหมายที่ว่าด้วยกำลังพลเรียกชายหนุ่มมารับใช้ชาติได้อยู่

แต่สุดท้ายสวัสดิการที่ดี โอกาสและคุณภาพชีวิต ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จบดราม่าการเกณฑ์ทหารไปได้สนิทใจ ถ้าไทยเราทำบ้างถึงตอนนั้นคงแย่งกันเป็นทหารจนกองทัพต้องโบกมือบอกว่าพอก่อนนะพี่น้องชาวไทย

สิงคโปร์: เป็นทหารทุกคน รับใช้ชาติเข้มข้นจนอายุ 40 ปี

 

ย้อนกลับมาที่ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ห่างจากเรามาก สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผู้ชายทุกคนต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘National service’ ซึ่งอาจไม่เหมือนกับเกาหลีใต้เสียทีเดียว เพราะ National service ไม่ได้หมายถึงแค่การเป็นทหารเท่านั้น

National service ของสิงคโปร์แบ่งการรับใช้ชาติใน 3 ลักษณะ คือ Singapore Armed Forces (SAF), Singapore Police Force (SPF), Singapore Civil Defence Force (SCDF) ถ้าแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือเป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นราชการพลเรือน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้เป็นทหารนั่นเอง)

ระยะเวลารับใช้ชาติแบบเต็มที่ก็ 2 ปี ความแตกต่างก็คือการฝึกของเขาไม่ต้องประจำการอยู่ตามกรมกอง กิน นอน อยู่ 24 ชั่วโมงเหมือนของไทยเรา แต่เป็นลักษณะเหมือนการทำงานคือไปทำงานตอนเช้า ตกเย็นก็กลับบ้านตามปกติ หรือบางหน่วยอาจต้องอยู่ประจำช่วงจันทร์ถึงศุกร์ แต่เสาร์อาทิตย์ก็กลับบ้านได้ตามปกติ (ยกเว้นช่วงที่ต้องไปฝึกยุทธวิธี) มีวันลาปีละ 14 วันได้เงินเดือนราว ๆ 27,500 บาทไทย (เงินเดือนอาจแตกต่างไปตามลักษณะงาน)

17-04-04-conscription-005

ชายไทยอย่างเรา ๆ อ่านแล้วอาจรู้สึกว่าแบบนี้ก็ดีไปอีกทางเหมือนกัน ทำงานจริงจัง ได้ค่าตอบแทนจริงจัง แถมตอนฝึกก็ฝึกกันจริงจังด้วย เพราะเวลาเขาไปฝึกยุทธวิธีกันหนุ่มสิงคโปร์ก็จะบินลัดฟ้าไปฝึกกันตามประเทศต่าง ๆ (ที่ไทยเขาก็มาฝึกนะ) ส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ในสิงคโปร์ และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐต้องการให้ทหารกองประจำการของเขาได้ฝึกจากผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดนั่นเอง

ทหารเกณฑ์สิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากทหารเกณ์เกาหลีใต้มากนักตรงที่เมื่อปลดประจำการจากการเป็นทหารแบบ full time มาแล้วยังต้องกลับเข้าไปฝึกในเบสแคมป์อีกปีละครั้งจนกระทั่งอายุ 40 ปี อ้อ แต่ระหว่างนั้นบริษัทที่เราทำงานอยู่ก็จ่ายเงินให้ตามปกตินะ ก็นับเป็นอีกวิธีรับใช้ชาติที่ดูเข้มข้น แต่ก็ได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลอยู่เหมือนกัน

ฝรั่งเศส: ไม่เกณฑ์แค่คนในชาติ แต่รับคนต่างชาติด้วย

ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ฟัง ๆ ดูก็อาจรู้สึกว่า แล้วไง? แล้วเด่นตรงไหน? ต่างกับสหรัฐอเมริกาหรืออีกหลายสิบประเทศทั่วโลกที่ไม่มีการเกณฑ์ผู้ชายมาเป็นทหารอย่างไร? ความโดดเด่นของทหารกองประจำการฝรั่งเศสคือการเปิดรับคนจากทั่วโลกมารับใช้ชาติฝรั่งเศส

เราอาจเคยคิดว่าถ้าจะรับใช้ชาติ ใคร ๆ ก็คงอยากรับใช้แค่ชาติของตัวเอง แต่ ‘French Foreign Legion’ กองกำลังฝรั่งเศสที่เปิดโอกาสให้คนจากทุกชาติศาสนามาทำงานให้กองทัพฝรั่งเศสอาจทำให้คุณต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่

ผู้คนจากทั่วโลกต่างหลั่งใหลมาเพื่อเป็นกองกำลังให้กับกองทัพฝรั่งเศส ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคนอาจมาเพราะค่าตอบแทนที่เทียบกับค่าเงินในประเทศตัวเองแล้วถือว่าสูง (พลทหารได้ค่าตอบแทน 35,689 บาทต่อเดือน และมากขึ้นตามยศ ยังไม่รวมสวัสดิการอื่น ๆ)

17-04-04-conscription-009

นอกจากค่าตอบแทนที่ดึงดูดใจแล้ว ผู้ชายที่อยากมาเป็นส่วนหนึ่งกับกองทัพฝรั่งเศส ให้เหตุผลว่าพวกเขาใฝ่ฝันจะเป็นทหารและต้องการฝึกยุทธวิธีกับกองทัพที่มีประสิทธิภาพระดับโลก ต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการทหารสมัยใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพในประเทศบ้านเกิดของพวกเขาให้ไม่ได้

ส่วนประสิทธิภาพกองทัพรับจ้างสไตล์ฝรั่งเศสก็ไม่ต้องห่วง ไม่ใช่ใครมาสมัครก็จะเป็นได้เลย แต่ต้องผ่านการทดสอบทั้งทางร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงประวัติอาชญากรรม (ระหว่างทดสอบกองทัพฝรั่งเศสออกค่าใช้จ่ายให้) ถ้าไม่ผ่านการทดสอบก็ต้องโบกมือลา แต่ถ้าผ่านการทดสอบก็จะได้เป็นทหารในกองทัพระดับโลกอย่างที่ฝันไว้ ระหว่างนั้นก็จะได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ควบคู่ไปกับการฝึกยุทธวิธี และได้เป็นพลเมืองฝรั่งเศสหลังปลดประจำการอีกด้วย ที่สำคัญได้เรียนรู้วัฒนธรรมจากเพื่อนหลายเชื้อชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพฝรั่งเศสมองว่าหากมีสงครามขึ้นมาจริง ๆ การปรับตัวเข้ากับความหลากหลายได้จะเป็นเรื่องจำเป็นมาก

อิสราเอล: ทั้งหญิงทั้งชาย ได้เป็นทหารเหมือนกันหมด

อิสราเอลเป็นประเทศขนาดเล็ก ในตะวันออกกลาง มีจำนวนประชากร 8 ล้านคน แต่ต้องเผชิญกับภาวะสงครามจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอด การทหารจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับประเทศในตะวันออกกลางแห่งนี้

ไม่ใช่แค่ผู้ชายทุกคนต้องเกณฑ์ทหารเท่านั้น ที่อิสราเอลผู้หญิงก็ต้องเป็นทหารเช่นกัน แต่การฝึกของอิสราเอลเป็นการฝึกที่ออกแบบมาเพื่อรองรับให้ทุกคนออกรบได้จริง (ก็แน่ล่ะ สงครามระอุขนาดนั้น) ดังนั้นในสายตาคนหนุ่มสาว การเกณฑ์ทหารจึงกลายเป็นโอกาสการเข้าถึงความรู้และได้พัฒนาทักษะแบบที่หาที่อื่นไม่ได้

17-04-04-conscription-010

ถ้ายังนึกไม่ภาพไม่ออก UNLOCKMEN ขอยกตัวอย่างเรื่องการฝึกด้านเทคโนโลยี ซึ่ง Ruwi Kitov ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tufin Technologies ซึ่งเป็น บริษัท ซอฟต์แวร์ของอิสราเอลกล่าวว่าการฝึกทหารของหนุ่มสาวอิสราเอลจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเขากล้าพูดเลยว่าไม่ต่างกับคนที่เรียนปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์เลย

การเกณฑ์ทหารของอิสราเอลจึงไม่ใช่แค่ฝึกคนเพื่อพร้อมรบเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรบุคคลในชาติควบคู่กันไปด้วย

ไม่น่าเชื่อเลยว่าการรับใช้ชาติ ไม่ว่าจะในรูปแบบทหารกองประจำการหรือรูปแบบอื่น ๆ ก็มีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันไป แล้วคุณล่ะชอบการเป็นทหารกองประจำการแบบประเทศไหนกันบ้าง? มาแชร์กันเถอะ

 

SOURCE1SOURCE2SOURCE3SOURCE4SOURCE5SOURCE6SOURCE7SOURCE8SOURCE9

สุรชาติ บำรุงสุข. “สงคราม: จากยุคบุพกาลสู่ศตวรรษที่ 21”. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2541.

อัญชลี สุสายัณห์ . “ไพร่สมัย ร.5: ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line