Work

ปากแบบนี้ใครจะอยากคุยด้วย? “5 ข้อผิดพลาดในวงสนทนา”ที่มืออาชีพเขาไม่ทำกัน

By: PSYCAT October 8, 2018

แม้การสื่อสารพูดคุยจะเป็นพฤติกรรมธรรมชาติในการเข้าสังคมหนึ่งของมนุษย์ แต่แค่พูดได้ ไม่ได้แปลว่าพูดดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่มนุษย์บางคนคุยกับคนอื่นในวงสนทนาก็พอคุยได้ แต่พอคุยไปสักพักคนก็ค่อย ๆ ทยอยออกจากวงไปทีละคนสองคนจนเกิดสภาวะวง (สนทนา) แตกในที่สุด นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่างที่บางทีเราเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เราคิดว่าแค่ชวนคุยหรือนิ่งฟังก็น่าจะเพียงพอต่อการยืดอายุบทสนทนาแล้ว แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ และ 5 ข้อผิดพลาดเหล่านี้เองที่เป็นชนวนความเบื่อหน่ายจนไม่มีใครอยากคุยกับเราในที่สุด

“ใช่ครับ เรื่องนี้นี่เหมือนผมเลย แต่ของผมเป็นแบบนี้ครับ …”

ฟังเผิน ๆ นี่เหมือนจะเป็นประโยคที่เราคิดว่าเป็นการหาจุดเหมือนระหว่างเรากับคู่สนทนาด้วยการบอกว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานี่ช่างตรงกับเรื่องราวของเราเป๊ะ ๆ เราพูดเพราะเราหวังว่าจะได้ใจเขาที่เราทั้งคู่มีอะไรเหมือน ๆ กัน นอกจากเราจะบอกว่าเรามีเรื่องที่เหมือนกับสิ่งที่เขาพูดมาแล้ว เรายังเล่าเรื่องของเราต่อแบบยืดยาวด้วย

ถามว่ามันผิดพลาดขนาดนั้นไหม ? ถ้าแค่ครั้งเดียวและระหว่างการเล่าเรื่องของตัวเอง เราเว้นระยะให้เขาได้คุยเรื่องของเขาเป็นระยะก็คงไม่น่าเกลียดอะไร แต่ถ้าไม่ว่าใครจะเล่าอะไร เราก็โพล่งออกไปว่า “เหมือนกันเลยครับ” แล้วสมทบด้วยการสาธยายเรื่องของตัวเองไปเสียทุกครั้ง มันคือข้อผิดพลาดที่ทำให้ไม่มีใครอยากคุยกับเรา เพราะมันทำให้เราดูไม่ใส่ใจเรื่องของคนอื่น ดูสนใจแต่เรื่องที่เหมือนกับเรื่องของตัวเอง เพื่อรอจังหวะพล่ามเรื่องของตัวเองให้คนอื่นจำใจฟังเท่านั้น ดังนั้นระมัดระวังให้ดี

“แต่ผมว่าอีกอันเจ๋งกว่าเยอะเลยครับ”

การที่เราอยากแนะนำสิ่งที่ดีกว่าให้คู่สนทนาไม่ใช่เรื่องผิด แต่ระวังการใช้คำพูดและจังหวะเวลาให้ดี เพราะถ้าไม่ว่าใครก็ตามในวงสนทนาพูดอะไรออกมาแล้วเราต้องเกทับด้วยการบอกว่าเรื่องนี้เจ๋งกว่า ที่นี่คูลกว่า อันนั้นดีกว่าตลอดแบบทันท่วงทีและไม่มีศิลปะ มันทำให้เราดูเป็นผู้ชายขี้บลัฟ ขี้อวด และไม่มีมารยาทในวงสนทนามากกว่าจะดูเป็นผู้ชายที่หวังดีกับเพื่อน

ถ้าอยากแนะนำอะไรใคร เช่น ถ้าเขาบอกว่าเขาชอบหนังเรื่องนี้มาก โคตรสนุกเลย แทนที่จะพูดโต้ง ๆ ว่า “เรื่องนั้นผมว่าห่วย อีกเรื่องเจ๋งกว่าเยอะ” ลองเป็นการหยั่งเชิงแทน เช่น “ชอบหนังแอ็คชั่นหรอครับ ถ้างั้นสนใจหนังแอคชั่นผสมดราม่ามั้ย ผมมีเรื่องนึง คุณน่าจะชอบนะ” แค่เปลี่ยนรูปประโยค น้ำเสียง และท่าที เราก็จะดูเป็นคนที่น่าคุยด้วยมากกว่าเดิมได้แบบไม่ยุ่งยาก

“โธ่ คิดว่าจะมีอะไรใหม่ เรื่องนี้ผมรู้มานานแล้วนะ”

ในวงสนทนา ไม่ว่าจะวงเพื่อนใหม่ เพื่อนเก่า หรือวงที่ต้องคุยเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ สารพัดเรื่องราวที่เราต้องรับฟัง มันอาจจะมีหนึ่งเรื่องหรือหลายเรื่องที่เราต้องเคยรู้มาแล้ว หรือบางทีก็รู้มานานแล้ว ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่ติดตามข่าวสารหรือเป็นเนิร์ดตัวจริงในด้านนั้น ๆ การที่ในวงสนทนาจะมีใครพูดอะไรในเรื่องที่เรารู้มาก่อนมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มันจะดูไม่น่าร่วมวงสนทนาด้วยอีกต่อไป ถ้าทุกครั้งที่เราได้ยินเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วแล้วต้องพูดว่า “เรื่องนี้ผมรู้มานานแล้ว”

ลองถามตัวเองดูดี ๆ ว่าที่พูดออกไป นอกจากเป็นการบอกคนอื่นว่าเรารู้ก่อนเขาแล้วมันมีประโยชน์อะไรกับใครอีกไหม ? ถ้าไม่มีก็ยั้งปากไว้ก่อนก็ได้ บางทีเรื่องเดิมที่เราเคยรู้มาแล้ว เมื่อออกมาจากปากคนอื่นมันก็สามารถมีไอเดียต่อยอดหรือมีมุมใหม่ ๆ ให้เรียนรู้อีกมาก อย่าเพิ่งโพล่งออกมาแค่เพราะเราเคยรู้เรื่องนั้นมาก่อนเลย

“เออ ใช่ แต่ผมว่านะ…”

จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใครแล้วตามด้วยการแสดงความคิดเห็นมันไม่ผิด แต่มันผิดพลาดมาก ๆ ก็ต่อเมื่อเขายังพูดไม่จบดี แล้วเราก็ใช่ครับหรือไม่ใช่ครับแทรกพรวดขึ้นมากลางวง การที่อีกฝั่งเงียบไปแล้วปล่อยให้เราพูดไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราทำมันถูกหรือยอมรับได้ แต่มันแปลว่าเขาเอือมระอากับพฤติกรรมแบบนั้น ดังนั้นไม่ต้องรีบแสดงความคิดเห็นทันทีทันใด แต่รอเขาพูดจบหรือรอเขาหันมาถามความคิดเห็นเราจะเป็นการต่อบทสนทนาที่ดีกว่าการพูดแทรกขึ้นไปกลางคัน

“อ่อ ครับ หรอครับ อืม”

ผู้เชี่ยวชาญคนไหน ๆ ก็มักแนะนำว่าให้เราพยักเพยิดหรือพูดอะไรเพื่อแสดงให้คู่สนทนารับรู้ว่าเราสนใจและรับฟัง แต่อะไรที่มันไม่จริงใจ ไม่เนียน มันก็ดูออก ไอ้คำพูดแสดงความสนใจประเภทอ่อ ครับ อื้อหือ ใช่ ถ้าน้ำเสียงมันมาแบบแกน ๆ ไม่ใช่เพราะความสนใจจริง ๆ มันจะดูน่ารำคาญและรบกวนบทสนทนาเป็นอย่างมาก หรือถ้าส่งเสียงแบบนี้ออกมาแต่ไม่สบตาคนพูด มองไปที่อื่น หรือง่วงเหงาหาวนอน ก็สู้ไม่เปล่งเสียงออกมาทำลายบรรยากาศเลยดีกว่า ยิ่งถ้าทำบ่อย ๆ จนใคร ๆ ก็รู้ว่าเราเปล่งเสียงแบบแสร้งทำ มันคือข้อผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยในวงสนทนาจริง ๆ

การสนทนาคือรูปแบบการสื่อสารที่พาเราไปปลดล็อกอะไรใหม่ ๆ ให้ชีวิตได้อีกมาก เราสามารถรู้จักตัวตนคนหนึ่งคนได้มากขึ้นจากบทสนทนา เราสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้จากบทสนทนา เราสามารถติดต่อธุรกิจได้ด้วยบทสนทนา ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองทำอะไรผิดพลาดในวงสนทนาจนทำให้ใคร ๆ ไม่อยากคุยด้วยอีกต่อไป โดยเฉพาะ 5 ข้อที่ UNLOCKMEN บอกไป เลี่ยงให้ไกลที่สุดเป็นดี

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line