Entertainment

CONVERSATION WITH ‘บิ๊ก-ศุภวิชญ์’FOLEY ARTIST ผู้สร้างเสียงแห่งโลกภาพยนตร์และเติมชีวิตให้เรื่องเล่า

By: PERLE December 4, 2018

หลังจากที่ภาพยนตร์จบลง คุณเคยตั้งใจนั่งดูรายชื่อเครดิตผู้มีส่วนร่วมที่ไหลผ่านหน้าจอหรือเปล่า? ถ้าคุณไม่เคย (เราก็เช่นเดียวกัน ยกเว้นภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวหลัง End Credit) นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณจะไม่รู้จักอาชีพ ‘Foley Artist’ มาก่อน เพราะเราเองก็เพิ่งรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่บนโลก

Foley Artist คืออะไร? มีส่วนร่วมยังไงในหนังหนึ่งเรื่อง? มีวิธีการทำงานยังไง? คนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนที่ทำอาชีพนี้อยู่จริง ๆ เราจึงไม่รอช้า ตัดสินใจติดต่อพูดคุยกับ ‘บิ๊ก-ศุภวิชญ์ โพธิ์วิจิตร’ หนุ่มวัย 27 ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับอาชีพ Foley Artist เต็มที่

เมื่อถึงเวลานัดหมาย พวกเราบุกไปหาเขาถึงห้องทำงาน แค่เห็นห้องทำงานเราก็รู้สึกทึ่งแล้ว เพราะมันเต็มไปด้วยอุปกรณ์นับไม่ถ้วน เราจินตนาการไม่ออกเลยว่าสิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับการสร้างเสียงยังไง

 

ก่อนอื่นเลย ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ

“ชื่อศุภวิชญ์ โพธิ์วิจิตร ชื่อเล่นชื่อบิ๊กครับ ตอนนี้เป็น Foley Artist อยู่ที่ Kantana Sound Studio ครับ”

Foley Artist?

“Foley Artist ก็คือคนที่ทำ Foley ครับ ซึ่งก็คือองค์ประกอบหนึ่งในเสียงของภาพยนตร์ โดยในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องก็จะมีทั้งเสียงไดอะล็อก, บรรยากาศ, เสียงดนตรี และ Foley ซึ่งมันก็คือเสียงประเภทหนึ่ง คล้าย ๆ Sound Effect คนทั่วไปก็จะงง ๆ ว่ามันต่างกันยังไง (หัวเราะ)”

สำหรับคนที่ไม่เคยผ่านกระบวนการภาพยนตร์มาก่อนเหมือนเรา คงยังไม่หายสงสัยว่าทำไมเสียง Foley ถึงต้องมาแยกทำต่างหาก ไม่ใช้เสียงที่อัดผ่านไมค์ตอนถ่ายทำจริง

“ในขณะถ่ายทำจะเน้นให้เสียงไดอะล็อกชัดที่สุด เพราะว่าการที่จะมาซ่อมใหม่ ต้องเรียกนักแสดงมาใหม่ ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการที่จะให้เขาแสดงด้วยอารมณ์ แววตาแบบเดิม มันเป็นเรื่องที่ยาก แต่การที่เน้นเสียงพูดของนักแสดงให้ชัด เสียงบรรยากาศรอบข้างก็จะเบา ซึ่งเมื่อมาอยู่ในหนังก็จะดูแปลก ๆ เราก็เลยต้องทำเสียงรอบข้างใหม่อีกรอบหนึ่งครับ”

จุดเริ่มต้นสู่ Foley Artist อาชีพที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก?

“เราเรียนด้านภาพยนตร์มาอยู่แล้ว แต่ตอนแรกไม่ได้สนใจด้านเสียงเลย เพียงแค่ตัวเองเล่นดนตรีเป็น รุ่นพี่เลยชวนมาทำละครเวที อยู่ทีมเสียง เราก็เลยได้เรียนรู้เรื่องการทำ Score (เพลงประกอบภาพ) จากนั้นก็เป็นเรื่อง Sound Effect, Sound Design แล้วก็มาถึง Foley

ตอนนั้นเราอยู่ปี 1 เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักว่า Foley คืออะไร เริ่มเรียนรู้มันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 3-4 แต่ตอนนั้นก็ยังอยากเป็น Sound Effect อยู่ จนเราได้ฝึกงาน ก็ได้ฝึกส่วน Sound Effect, Sound Design ทีนี้เรารู้สึกว่าเรามีเสียงอยู่ในหัว แต่เราหาเสียงนั้นใน Library ไม่เจอ แต่พอเราเอาสิ่งของในชีวิตจริงมาอัดแค่ครั้งเดียวมันก็ได้แล้ว ทำให้เราเริ่มคิดว่าหรือจริง ๆ เราชอบ Foley ตอนเรียนจบก็เลยลองมาสมัคร Foley Artist ที่กันตนา พอได้ลองทำแล้วก็สนุกดีครับ”

ความคิดเห็นและมุมมองต่ออาชีพตัวเองที่เป็นคนเบื้องหลัง เคยรู้สึกน้อยใจมั้ยที่ชื่อตัวเองเป็นแค่ตัวอักษรสีขาวเล็ก ๆ วิ่งผ่านบนจอตอนหนังจบ?

“เราไม่เคยเบื่อที่ต้องมานั่งอธิบายว่าตัวเองทำอะไร มันสนุกดีครับ สนุกที่ได้เห็นรีแอคชั่นคนตอนเราอธิบาย เพราะคนทั่วไปจะรู้สึกว่า โอ้โห ต้องขนาดนี้เลยเหรอ (หัวเราะ) ส่วนถามว่าน้อยใจมั้ย ตอนแรกก็มีคิดบ้างครับ แต่หลัง ๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรแล้วครับ เรารู้ดีว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังมันเสร็จ

ทุกหน้าที่ในหนังสำคัญเท่ากัน การที่หนังหนึ่งเรื่องออกมาสมบูรณ์ก็เพราะทุกคนช่วยกันทำงานครับ

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเป็น Foley Artist?

“ยากที่สุดคงเป็นการที่ทำให้คนดูเชื่อว่าเสียงบรรยากาศรอบข้างมันไม่ได้ทำมาใหม่ มันเกิดในช่วงเวลานั้นจริง ๆ นี่คือยากที่สุดแล้ว”

วันแรกกับการเป็น Foley Artist ในห้องที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่แค่เรามองก็งงแล้ว?

“พอเข้ามาในห้อง เห็นของทั้งหมดก็รู้สึกว้าว ตื่นเต้นว่านี่เราจะได้เจออะไรวะเนี่ย อยากที่จะทำ อยากที่จะหยิบนู่นหยิบนี่มาลอง เราไม่รู้สึกว่ามันยากอะไรเลย”

สำหรับนักสร้างเสียง เสียงไหนในที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต?

“(นิ่งคิดไปพักนึง) จริง ๆ ก็ภูมิใจทุกเสียงนะครับ แต่ที่ภูมิใจมากที่สุดก็คงเป็นตอนที่เราได้ร่วมงานกับหว่องกาไว (ผู้กำกับชื่อดังชาวฮ่องกง) เขาเป็นคนดูงานส่วนนี้ด้วยตัวเอง เสียงที่เขาอยากได้ก็เป็นเสียงน้ำแข็งธรรมดานี่แหละครับ เพียงแต่ว่ามันดูเป็นเสียงที่ดูเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างขึ้น

เราลองเอาน้ำแข็งทุกประเภท เอาทุกอย่างที่คิดว่ามันจะทำให้เกิดเสียงน้ำแข็งมาใส่ในแก้วแล้วคนให้เขาฟัง แต่เขาบอกว่าอยากได้เสียงที่ใสกว่านี้ เราก็เริ่มตัน ไม่มีไอเดียแล้ว บวกกับอารมณ์โมโหหน่อย ๆ (หัวเราะ) ประมาณว่าอยากได้ใส ๆ ใช่มั้ยก็เลยเอาเศษแก้วเล็ก ๆ ใส่ลงไปในแก้ว แล้วก็ลองคน ๆ ดู ปรากฏว่าเขาชอบ ผ่านเฉยเลย”

ทักษะที่จำเป็นสำหรับ Foley Artist?

“ทักษะความซนครับ คือต้องเป็นคนที่หยิบจับนู่นนี่ตลอดเวลา จดจำว่าของแต่ละอย่างมีเสียงยังไง โดยรวมก็คือต้องเป็นคนช่างสังเกตครับ”

อนาคตและความฝันของ Foley Artist ชื่อบิ๊ก

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำหนังฮอลลีวูดสักเรื่องหนึ่งครับ

ตอนนี้ก็พยายามหาอยู่ครับว่ามันพอจะมีทางไหนที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้บ้าง”

ข้อความจากผู้สร้างเสียงในภาพยนตร์ถึงผู้อ่านและคนดูหนังทุกคน

“ฝากเรื่องการวิจารณ์หนังละกันครับ คือบางคนติดอ่านรีวิว ตามเพจหรือเว็บต่าง ๆ หรือบางคนก็อคติกับหนังไทยบางเรื่องหรือผู้กำกับบางคนไปแล้ว คือมันอาจจะออกมาแย่สำหรับคุณก็จริง แต่ในหนังเรื่องนั้นมันก็ยังมีกลุ่มคนที่ตั้งใจทำงานอยู่ เรารู้สึกว่าบางทีคำวิจารณ์จากแค่คน ๆ เดียวมันตัดสินหนังทั้งเรื่องไม่ได้ อยากให้ลองไปดูเองและตัดสินด้วยตัวเองดีกว่าว่าชอบหรือไม่ชอบ คืออย่างเรา เราไม่วิจารณ์หนังเรื่องไหนเลย ถ้าเราไม่ชอบเราก็จะบอกว่าหนังเรื่องนี้เราไม่ชอบนะ แต่ไปลองดูเองละกัน”

สำหรับเราที่เป็นคนนอก ไม่ได้มีความรู้ในศาสตร์ด้านการทำภาพยนตร์เลย เป็นแค่คน ๆ หนึ่งที่ชอบดูหนัง เรารู้สึกทั้งทึ่งและชื่นชมคุณบิ๊กกับอาชีพของเขา นี่คืออาชีพของคนเบื้องหลังที่ต้องอาศัยความรักที่มีต่อสิ่งที่ทำอย่างมากทีเดียว แพสชั่นของเขาเอ่อล้นออกมาจนเราสัมผัสได้ นอกจากนั้นความอดทนและพยายามคือสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลย สำหรับใครที่อยากเห็นวิธีการทำงานของคุณบิ๊กสามารถตามไปดูในวิดิโอของเราได้ตามลิงก์นี้เลย

CONVERSATION WIN FOLEY ARTIST

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line