Life

“อยู่คนเดียวปลอดภัยกว่า” รู้จัก Counter-dependency เมื่อเรากลัวเจ็บจากความสัมพันธ์

By: unlockmen April 26, 2021

หลายคนอาจรู้สึกคุ้น ๆ กับ ‘Co-dependency‘ หรือ การพึงพาอีกฝ่ายมากเกินไป ซึ่งเป็นนิสัยที่ทำลายความสัมพันธ์หนักพอสมควร ในบทความนี้เราอยากมาพูดถึงอาการที่อยู่ตรงข้ามกับ Co-dependency เรียกว่า ‘Counter-dependency’ ซึ่งคนที่มีอาการนี้จะไม่ยอมมีความสัมพันธ์กับใครลึกซึ้งในทุกรูปแบบ (เหมือนเป็น “หมาป่าเดียวดาย”) แถมยังเจอกับปัญหาหนักได้ไม่แพ้คนที่เป็น Co-dependency  เราเลยอยากพูดถึงวิธีรับมือกับอาการนี้ให้อยู่หมัดกัน


ผลเสียของ Counter-dependency

หลายคนคงนิยมชมชอบคนที่ดูจะ “อยู่ได้ด้วยตัวเอง” เพราะคนเหล่านี้มักดูเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “คูล” ในสายตาของคนรอบข้างเสมอมา แต่ในความเป็นจริง บางคนที่ชอบพูดว่า “ฉันไม่ต้องการใคร” หรือ ชอบอยู่คนเดียว อาจเปราะบางมากกว่าที่หลายคนคิดก็เป็นได้ เพราะพวกเขาอาจเป็นคนที่กลัวความสัมพันธ์อย่างหนัก เช่น กลัวถูกทอดทิ้ง หรือ เกิดความกังวลหนักเมื่อเริ่มลึกซึ้งกับคนอื่น ส่งผลให้พวกเขาปลีกตัวออกมาอยู่คนเดียว สร้างกำแพงในใจ หรือ แม้กระทั่งพยายามผลักคนรอบตัวให้ออกไปจากชีวิตพวกเขา

คนประเภทนี้ถูกเรียกว่าเป็น ‘Counter-dependent’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัญหาในวัยเด็ก เช่น การถูกทารุณกรรม การถูกทอดทิ้ง หรือ การถูกคาดหวังสูงจากคนในครอบครัว เป็นต้น เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ความต้องการของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนอง ต้องทำตามคนอื่นตลอดเวลา และไม่สามารถมีปากมีเสียงกับคนในครอบครัวได้ พอโตขึ้น พวกเขาก็เอาสิ่งที่เจอในวัยเด็กมาเป็นกรอบในการใช้ชีวิต กลายเป็นคนที่ไม่กล้าเปิดเผยความต้องการของตัวเอง หรือ กลัวการมีความสัมพันธ์เชิงลึกกลับคนอื่น

ปัญหาใหญ่ของ Counter-dependent คือ ไม่สามารถเชื่อหรือไว้วางใจในตัวใครได้ พวกเขาจึงมักเจออุปสรรค์ในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถมีความสุขกับความสัมพันธ์ได้ เข้าใจคนอื่นผิดได้บ่อย ไม่รับฟังในสิ่งที่คนอื่นพูด หรือ หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนอื่น ฯลฯ ดังนั้น มันเลยเป็นเรื่องที่ดี ถ้า Counter-dependent สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้


วิธีรับมือกับ Counter-dependency

เมื่อ Counter-dependent อาจเจออุปสรรค์ในชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการรับมือ Counter-dependency เพื่อให้ทุกคนกลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้ และมีความสุขกับการอยู่ในสังคมมากขึ้น

เริ่มจาก รู้ตัวก่อนว่า Counter-dependency ทำลายชีวิตของเราได้มากแค้ไหน เพราะมันจะช่วยให้เราเกิดแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นไหมลองเช็คดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่ ไม่สามารถสนิทกับใครได้ อยากเป็นคนที่ถูกต้องในทุกสถานการณ์ มีความเห็นแก่ตัว หรือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางตลอดเวลา ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากใครเลย คาดหวังสูงกับตัวเองและคนอื่น รู้สึกไม่สบายใจเมื่อรู้สึกว่าตัวเองดูอ่อนแอ รวมไปถึง ไม่สามารถผ่อนคลายตัวเองได้ และเสพติดงานหรือกิจกรรมบางอย่าง เช่น การออกกำลังกาย

ต่อมา คือ ลองเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อความสัมพันธ์ใหม่ เพราะถ้าเรามองว่าความสัมพันธ์ต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหา หรือ ความยากลำบาก พอเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ความสัมพันธ์มันก็จะไม่ยั่งยืน หากเรามองว่าปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ จะช่วยให้เรากลัวความสัมพันธ์น้อยลง และมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับคนอื่นมากขึ้นด้วย

เราจำเป็นต้องพัฒนานิสัยแบบ ‘Interdependency’ หรือ การเปิดใจให้กับคนอื่นมากขึ้น ขอความช่วยเหลือคนอื่นในบางเรื่องที่จำเป็น รวมถึง สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในเวลาที่ไม่ได่รับความช่วยเหลือตามที่หวังไว้ แบบนี้จะช่วยให้เรามีความสุขได้มากขึ้น เพราะเราจะกลัวคนอื่นน้อยลง เหนื่อยน้อยลง พึ่งพาคนอื่นได้มากขึ้น อีกทั้ง การได้พูดคุยและแชร์ประสบการณ์กับคนรอบข้าง ก็ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมีความพอใจในชีวิตของตัวเองมากขึ้นได้

สุดท้าย หากคุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ การมีสกิลพูดคุยกับคนที่คุณรักก็สำคัญเหมือนกัน เพราะความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการตอบสนองความต้องการของคนทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ถ้าคู่รักไม่คุยกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คู่รักเลยจำเป็นต้องเปิดเผยความต้องการของตัวเองให้แต่ละฝ่ายรับรู้ เพื่อหาจุดตรงกลางที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขได้ ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนตามมา

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณเอาชนะอาการ Counter-dependency และกลับมามีความสุขกับความสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่ ลองนำไปปรับใช้กันดู รับรองว่าคุณจะมั่นใจ และกล้ามีความสัมพันธ์มากขึ้นอย่างแน่นอน


Appendix: 1 / 2 / 3 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line