Life

“ทำไมขาดเขาแล้วเหมือนจะตาย”  รู้จัก ‘Codependency’ นิสัยชอบเอาใจคนอื่นมากไป

By: unlockmen October 1, 2020

คนมีคู่เคยเคยรู้สึกไหมว่า “ทำไมการอยู่กับแฟนทำให้รู้สึกไม่สบายใจจัง?” รู้สึกเหมือนเราต้องเอาอกเอาใจเขาตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะทำตัวแย่แค่ไหน เราก็ต้องให้อภัยเขาอยู่เสมอ หากมีความรู้สึกประมาณนี้ อาจเป็นไปได้ว่า คุณกำลังติดนิสัย ‘codependency’ ซึ่งเป็นนิสัยแบบที่ไม่ได้ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์เลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เดี๋ยว UNLOCKMEN จะอธิบายให้ทุกคนฟัง

อะไร คือ ‘codependency’

ก่อนอื่นเราอยากพูดถึงความหมายก่อน codependency หมายถึง บุคลิกภาพแบบที่พึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการหรือคุณค่าของตัวเองมากเกินไป คนที่มีนิสัยแบบนี้มักจะตามใจคนอื่นมาก ถ้าเป็นในความสัมพันธ์แบบคู่รัก คือ คนที่มักตอบรับคำขอของอีกฝ่ายโดยไม่กล้าปฏิเสธ และมีความกังวลอย่างมากต่อการสูญเสียอีกฝ่าย codependency ยังมีอีกความหมาย คือ พฤติกรรมที่อนุญาตให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ไม่รับผิดชอบ เสพติดสุรา ไม่ยอมทำงานทำการ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า codependency หมายถึง นิสัยที่ยอมอีกฝ่ายทุกอย่าง เนื่องจากโหยหาการยอมรับจากอีกฝ่ายอย่างหนัก และกังวลมากว่าอีกฝ่ายจะทอดทิ้งตนไปเมื่อขัดใจ ซึ่งเราอาจรับนิสัยนี้มาจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีปัญหา (dysfunctional family) หรือ พ่อแม่ป่วยไข้ ซึ่งงานวิจัยระบุว่า มนุษย์เรียนรู้นิสัย codependency ผ่านการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมสมาชิกในครอบครัว กล่าวคือ ถ้าเราอยู่ในครอบครัวที่เคร่งเรื่องระเบียบในบ้าน พออยู่ข้างนอก เราก็อาจกลายเป็นคนที่ชอบเอาอกเอาใจคนอื่นได้ (เพราะต้องทำตามที่ผู้ใหญ่ในบ้านบอกตลอดเวลาจนติดเป็นนิสัย)

สำหรับนิสัย codependency ค่อนข้างสร้างปัญหาให้กับความสัมพันธ์มากมายทีเดียว เพราะมันทำให้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์มิสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ต้องตอบสนองความต้องการของคนอื่นตลอดเวลา ส่งผลให้คนกลุ่มนี้รู้สึกไม่สบายใจเวลาอยู่ร่วมกับคนรัก และสุดท้ายความสัมพันธ์ก็ล้มเหลวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม codependency ก็ไม่ใช่ความผิดปกติทางด้านบุคลิกภาพเหมือนกับ dependent personality disorder (DPD) และ borderline personality disorder (BPD) เพราะลักษณะของ codependency จะเป็นการพึ่งพาคนอื่นแบบเฉพาะบางคน เช่น แฟน พ่อแม่ เป็นต้น ในขณะที่ DPD จะพึ่งพาทุกคน ส่วน BPD ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการพึ่งพาคนอื่น codependency จึงเป็นแค่แนวคิดทางด้านจิตวิทยาเท่านั้น และสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเราเอง


วิธีการเลิกเอาใจคนอื่นและเป็นตัวของตัวเอง

กล่าวได้ว่า คนจำนวนไม่น้อยน่าจะมีนิสัย  codependency โดยเฉพาะชาวเอเชีย เพราะครอบครัวชาวเอเชียมักให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มากกว่าคนในสังคมตะวันตกที่เคารพความเป็นปักเจก แต่ดูเหมือนว่า ฝั่งตะวันตกก็มีคนแบบนี้เยอะเหมือนกัน (มีการประเมินกันว่า ชาวอเมริกันกว่า 90% มีนิสัย codependency) แต่ใครที่มีนิสัย codependency ก็ไม่ต้องกังวลไป! เพราะเรามีคำแนะนำที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามนิสัยนี้ไปได้ รับรองว่าหากทำตามนี้แล้ว คุณจะมีความสุขกับความสัมพันธ์มากขึ้นอย่างแน่นอน!

 

เริ่มจากรักตัวเองก่อน

ถ้าเราอยากเลิก codependency ก่อนอื่นเลย เราต้องรักตัวเองให้ได้ก่อน เพราะคนที่ไม่รักตัวเองมักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า พวกเขาเลยต้องเอาอกเอาใจคนอื่นอย่างหนัก เพื่อให้คนอื่นเห็นคุณค่าในตัวพวกเขา แบบนี้แย่ เพราะหากอีกฝ่ายเกิดจากไป มันก็จะกระทบกระเทือนจิตใจพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เราเลยอยากแนะนำ ให้ทุกคนเริ่มรักตัวเอง โดยการทำสิ่งต่างๆ เช่น พูดในสิ่งที่ดีต่อตัวเอง เวลามีปัญหาอะไรก็กล้าพูดกับอีกฝ่ายตรงๆ ค้นหาคุณค่าในตัวเอง เป็นต้น เมื่อเรารักตัวเองมากขึ้น เราก็จะเลิกอยู่ในความสัมพันธ์แบบโหยหาความรักจากคนอื่นได้ (ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ประเภทที่ไม่ยั่งยืนเอาซะเลย แถมทำให้เราเจ็บปวดอีกด้วย) และเราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น

 

กำหนดขอบเขตกับอีกฝ่าย

ปัญหาของคนที่มีนิสัย codependency คือ พวกเขามักไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่รู้ว่าควรตอบสนองคนอื่นแค่ไหนถึงจะพอ พวกเขาจึงเป็นทุกข์เมื่อไม่เสียสละเพื่อคนอื่น เพราะกังวลว่าจะทุ่มให้คนอื่นน้อยเกินไป สำหรับเรา เราเชื่อว่า ความสัมพันธ์ที่ดีจำเป็นต้องมีการกำหนดขอบเขต (setting boundaries) เพราะทุกคนต่างมีความต้องการของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน และไม่มีใครสามารถทำตามความต้องการของคนอื่นได้ทุกเรื่อง! ต้องมีการกำหนดขอบเขตให้เกิดความพอดีกันระหว่างความต้องการของตัวเองและความต้องการของอีกฝ่าย ซึ่งการกำหนดขอบเขต ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้พยายามตีตัวออกห่างจากอีกฝ่ายนะ! แต่ให้สร้างความเข้าใจร่วมกันต่างหาก! เมื่อแต่ละฝ่ายที่อยู่ในความสัมพันธ์ต่างรู้ว่าเรื่องไหนอีกฝ่ายรับได้ เรื่องไหนรับไม่ได้ ก็จะสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละฝ่ายได้อย่างเหมาะสม (ไม่มาก หรือ น้อยเกินไป) ก็จะเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น

 

เข้าใจตัวเอง

ครอบครัวเป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่มเพาะนิสัย codependency ให้กับเรา เพราะบางครอบครัวใช้ความกลัวในการควบคุมคนในบ้าน ทำให้เด็กบางคนต้องเก็บซ่อนความรู้สึกของตัวเองไว้ โดยกลัวว่า หากแสดงความไม่พึงพอใจจะออกมา อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเองได้ เช่น โดนทำโทษ และก็รับนิสัยแบบ codependency มา และเมื่อโตขึ้น พวกเขาก็เอานิสัยนี้ไปใช้กับคนอื่นด้วย เพราะเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กว่าเป็นวิธีเดียวที่ทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่นรอด ซึ่งไม่จริง เพราะนิสัย codependency ทำให้เราเกิดความเครียดและความวิตกกังวลจนเสียสุขภาพจิต ส่งผลให้การใช้ชีวิตคู่ไม่มีความสุข และอาจต้องร้างรากันไปในที่สุด! ดังนั้น คนที่มีนิสัย codependency ต้องกล้าเป็นตัวของตัวเอง และทำตามใจตัวเองบ้าง!

 

มองโลกตามความเป็นจริง

คนที่มีนิสัย codependency มักคิดลบ เช่น ชอบคิดว่าคนรอบข้างจะจากไป ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าใดๆ เมื่ออยู่คนเดียว เป็นต้น ซึ่งความคิดประเภทนี้เป็นภาระต่อจิตใจอย่างมาก เพราะทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล ดังนั้น เพื่อให้สุขภาพจิตดีขึ้น คนที่มีนิสัย codependency จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่จากมองโลกในแง่ลบ ให้มองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการมองโลกที่จะทำให้เกิดความสุขในระยะยาวมากกว่า (อ่านบทความเกี่ยวกับ Realists ได้ที่นี่: https://www.unlockmen.com/realist-has-long-term-happiness/)

 

หากรู้สึกว่านิสัย codependency เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก และไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เราแนะนำว่าให้ควรเริ่มปรึกษาคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอาจเริ่มจากการปรึกษาคู่รักของตัวเอง เพื่อหาว่าควรเริ่มต้นแก้ไขจากตรงไหน หรือ อาจใช้บริการนักจิตวิทยา เพื่อให้ได้คำแนะนำที่เป็นเชิงวิชาการมากขึ้นก็ได้

 


Appendix: 1 / 2 /3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line