Life

COVID-19 PREVENTION: ป้องกันนอกบ้านอย่างดี รู้ไหมว่าทำความสะอาดบ้านอย่างไรให้ปลอดเชื้อ

By: anonymK March 13, 2020

หลังจากครั้งที่แล้วที่เราทำคอนเทนต์บอกวิธีทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งให้ถูกวิธีไปคราวที่แล้ว ครั้งนี้ก็เป็นอีกปัญหาที่ UNLOCKMEN สงสัยอย่างเรื่องการป้องกันโรคด้วยการทำความสะอาดบ้าน เพราะหน้ากากอนามัยอาจจะใช้แล้วทิ้ง แต่พวกข้าวของที่ออกไปนอกบ้านพร้อมกับเราล่ะ ใช้แล้วจะทำอย่างไร

แปลว่าต่อให้เราคิดว่าในบ้านเรามันปลอดเชื้อแค่ไหนเพราะไม่มีสมาชิกคนไหนติดเชื้อ แต่สุดท้ายโอกาสที่เราหรือคนอื่น ๆ จะนำไวรัสกลับมาอยู่ที่บ้านก็ยังมีอยู่ดี บ้านที่น่าจะปลอดภัยจึงอาจกลายเป็นสถานที่อันตรายที่สุดได้หากไม่หมั่นทำความสะอาด แต่เอาเป็นว่าก่อนจะไปกำจัดมัน ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจมันก่อน

COVID-19 ปัจจุบัน เชื้อที่แค่ถูกน้ำสบู่ก็ตายแล้ว ?

แม้จะสามารถติดเชื้อระหว่างบุคคลได้ง่าย ทำให้ระบาดจนกลายเป็นเชื้อไวรัสที่หลายประเทศจับตาเฝ้าระวัง แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องรู้คือ มันแพร่ง่ายมันก็ตายง่ายด้วยเช่นกัน เพราะตามข้อมูลที่แพทย์และกระทรวงสาธารณสุขเผยตรงกันคือเราสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ด้วยน้ำสบู่วัสดุราคาถูกที่อยู่ใกล้มือ

Facebook ดร. แกง

หน้ากากอนามัยหนึ่งชิ้นอาจจะแพงกว่าสบู่ก้อนเดียวที่เราใช้ได้หลายครั้งเสียอีก ความจริงเรื่องนี้มาจากเหตุผลที่ ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ ดร. แกง อธิบายไว้สรุปการฆ่าเชื้อด้วยน้ำสบู่ดังนี้

  1. ไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต อยู่ลำพังไม่ได้ แต่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิต (Host) เป็นตัวจับเพื่อผลิตชิ้นส่วนชีวิต การเพิ่มจำนวน และเดินทางออกจากเซลล์พักพิงไปสำรวจเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ
  2. ตัวไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ตอนนี้เป็นไวรัสประเภทมีเยื่อหุ้ม (Envelope) และเยื่อหุ้มของมันประกอบด้วยสารไขมันและโปรตีนเป็นส่วนประกอบเลยยิ่งง่ายต่อการถูกทำลายเมื่อเจอน้ำสบู่
    ทั้งหมดเกิดจากโมเลกุลสบู่มีส่วนประกอบ 2 ส่วนคือส่วนหัวกับส่วนหาง ส่วนหัวชอบน้ำแต่ส่วนหางไม่ชอบน้ำ ดังนั้นเวลาล้างมือส่วนหางของโมเลกุลที่ไม่ชอบน้ำจึงไปจับไขมันในเยื่อหุ้มไวรัส จากนั้นเมื่อไขมันโดนแย่งออกจากเยื่อหุ้มไวรัส เยื่อหุ้มก็โดนทำลาย ทำให้ไวรัสอยู่ไม่ได้จึงต้องตายไปในที่สุด

 

แล้วเราต้องล้างมือด้วยสบู่กี่รอบต่อวัน ?

เป็นคำถามโลกแตกที่ฟังดูไม่น่าถาม แต่เชื่อว่าหลายคนสงสัย ซึ่งเรื่องจำนวนความถี่เราคงพูดไม่ได้ว่าต้องล้างมือกี่ครั้งต่อวัน แต่ก็สามารถสังเกตได้จากสถานการณ์จำเป็น ถ้าเรากำลังอยู่ในภาวะเหล่านี้ ยังไงก็ต้องล้างมือ ต่อให้เกิดขึ้นกี่รอบต่อวันก็ตาม

  1. ออกไปที่ทำงานกับช่วงกลับบ้าน
  2. หลังสั่งน้ำมูก ไอ จาม
  3. ก่อนรับประทานและสัมผัสอาหาร

หลังจากเรื่องความเข้าใจด้านสุขลักษณะแล้ว ถึงเวลาเข้าบ้านแบบคลีน เพื่อทำความสะอาดกับเขาสักที เริ่มจากเมื่อเข้าบ้านแล้วให้ล้างมือ อาบน้ำให้สะอาด และเมื่ออยู่บ้านก็เตรียมอุปกรณ์ฆ่าเชื้อทั้งหลายเพื่อความสะอาดอย่างเหมาะสม

 

น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาด

ตัวอย่างภาพประกอบอุปกรณ์สำหรับผสมน้ำยาฆ่าเชื้อจากคลอรีน

“น้ำยาฆ่าเชื้อ” เครื่องมือหลักที่เราเอาไว้ปราบไวรัส ปัจจุบันมีหลายแบบให้เลือกและใช้งานด้วยการผสมตามสัดส่วนที่พอเหมาะ สำหรับพื้นที่และวัสดุที่แตกต่างกัน

  1. แอลกอฮอล์
    – ความเข้มข้น 70% ขึ้นไปเพื่อทำความสะอาดพื้นผิวที่เป็นโลหะ
  2.  น้ำยาฟอกขาว (Sodium hypochloride)
    ความเข้มข้น 0.05% ผสมน้ำยากับน้ำในสัดส่วน 1:99 เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป
    – ความเข้มข้น 0.5% ผสมน้ำยากับน้ำในสัดส่วน 1:9 เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวที่มีสารคัดหลั่ง ราดทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที
  3. ผงซักฟอกทั่วไป ผสมผงซักฟอกกับน้ำร้อนเกิน 70-80 องศาเซลเซียส ใช้กับวัสดุที่เป็นผ้า
  4. Dettol
    – ความเข้มข้น 2.5% ผสมน้ำยากับน้ำด้วยสัดส่วน 1:39 เพื่อซักเสื้อผ้าและเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว
    ความเข้มข้น 5% ผสมน้ำยากับแอลกอฮอล์ 70% ด้วยสัดส่วน 1:19 เพื่อทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน
  5. คลอรีนน้ำ
    – ความเข้มข้น 5% ผสมคลอรีนน้ำกับน้ำเปล่าสัดส่วน 8 มิลลิลิตร: น้ำ 2 ลิตร เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวและเสื้อผ้าก่อนซัก (ผสมแล้วจะได้คลอรีน 0.02%)

 

แนวทางการทำความสะอาด

UNLOCKMEN เลือกรวบรวมข้อมูลที่แนะนำจากสื่อของสำนักงานควบคุมโรคราชบุรีและผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคติดต่อจาก Tohoku Medical & Pharmaceutical University ที่ให้ข้อแนะนำไว้สำหรับการทำความสะอาดในพื้นที่ทั่วไปกับการทำความสะอาดพื้นที่ติดเชื้อ (กรณีที่ใครกักกันตัวเองอยู่บ้านเพราะสัมพันธ์กับพื้นที่เสี่ยงหรือใครที่ดูแลผู้ติดเชื้ออยู่อาจจะใช้วิธีนี้ได้)

การทำความสะอาดบ้านที่มีพื้นที่ติดเชื้อ

กรณีนี้อาจมีอุปกรณ์ใช้เสริมเข้ามา เพื่อป้องกันตัวเองระหว่างทำความสะอาด ได้แก่ หมวกคลุมผม แว่นใสขนาดใหญ่เพื่อกันลม หน้ากากอนามัย ผ้าพลาสติกกันเปื้อน ถุงมือยางชนิดยาว และรองเท้าบู๊ต

วิธีการทำความสะอาด

  1. ควรปิดกั้นบริเวณพื้นที่ปนเปื้อนเชื้อก่อนลงมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
  2. ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนตัวที่เหมาะสมสำหรับทำความสะอาด
  3. เลือกใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีด้ามจับ ป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับพื้นผิวหรือสัมผัสให้น้อยที่สุด
  4. เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเท
  5. ทำความสะอาดพื้นด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อ
  6. เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย และพื้นผิวทั้งหมดที่อาจปนเปื้อน
  7. ซักทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนอน ด้วยผงซักฟอกในน้ำที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 25 นาที
  8. ทิ้งอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทำจากผ้าและวัสดุดูดซับหลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแต่ละพื้นที่ โดยสวมถุงมือ และนำอุปกรณ์ทิ้งใส่ถุงขยะติดเชื้อ รัดปากถุงให้มิดชิด
  9. ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดที่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่
  10. ทำความสะอาดพื้นผิว ด้วยผ้าชุดหมาด  ไม่ควรพ่นด้วยสเปรย์โดยตรงลงบริเวณพื้นที่เหล่านั้น เนื่องจากอาจสร้างละอองทำให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่ตกอยู่บนพื้นผิวฟุ้งกระจายขึ้นมาได้ (แต่ถ้าฉีดใส่ผ้าสะอาดก่อนเช็ดพื้นผิวโดยไม่ให้กระเด็น กันเปลืองอันนี้ส่วนตัวเราก็คิดว่าไม่มีปัญหา)
  11. กำจัดขยะติดเชื้ออย่างเหมาะสม
การทำความสะอาดบ้านทั่วไป

แน่นอนว่าวันนี้จำนวนของคนที่ยังไม่ติดเชื้อมีมากกว่า ระดับความเคร่งครัดเรื่องการดูแลความสะอาดภายในบ้านสำหรับคนที่ยังแข็งแรงปกติย่อมแผ่วกว่าแบบแรกที่นำมาจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค โดยเรานำข้อมูลนี้มาจากคำแนะนำของ มิทสึโอะ คาคุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคติดต่อจาก Tohoku Medical & Pharmaceutical University ตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. เช็ดสิ่งของหรือพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมไว้

นำน้ำยาจากขวดสเปรย์ใส่ผ้าโดยตรง หรือชุบผ้ากับน้ำยาทำความสะอาด จากนั้นเช็ดบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาด โดยเฉพาะบริเวณมือจับหรือพื้นผิวต่าง ๆ ที่เราสัมผัสเป็นประจำ สำหรับใครที่กังวลกาาสัมผัสผ้าด้วยมือโดยตรงสามารถใส่ถุงมือก่อนสัมผัสได้ ส่วนใครที่ไม่สวมถุงมือ เมื่อทำความสะอาดทั้งบ้านและเครื่องมือเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

2. เปิดประตูหน้าต่างให้ถ่ายเท วันละ 2-3 ชั่วโมง
3. ซักเสื้อผ้า เครื่องนอน

นำเสื้อผ้าของผู้ป่วยนำมาแช่น้ำร้อนตั้งแต่ประมาณ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไปหรือแช่คลอรีนความเข้มข้น 0.02 เปอร์เซ็นต์แทนเป็นเวลา 10 นาที ก่อนซักกับเสื้อผ้าของคนอื่น ๆ (กรณีโดนใครจามใส่จะใช้วิธีนี้ซักเสื้อผ้าเพื่อความปลอดภัยก็ได้)

4. แยกอุปกรณ์รับประทานอาหารส่วนตัว ไม่ใช้ปะปนร่วมกับผู้อื่น

ทุกครั้งที่ทานอาหารควรช้อนใช้กลางและชุดอาหารส่วนตัวไม่ปะปนกับผู้อื่น เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เราต้องใช้เป็นประจำ

5. เข้าห้องน้ำต้องสะอาดก่อนและหลังใช้

ห้องน้ำคือห้องแห่งความเสี่ยงเพราะทั้งอับชื้นและเป็นที่รวบรวมของสารคัดหลั่ง ดังนั้นควรทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นนิสัย

  • เช็ดฆ่าเชื้อบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น สวิตช์ ที่กดชักโครก โถส้วมด้วยแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หรือคลอรีนน้ำความเข้มข้น 0.02 เปอร์เซ็นต์
  • ใช้ห้องน้ำเรียบร้อยให้ปิดฝาก่อนกดชักโครกทุกครั้ง
  • เปิดพัดลมถ่ายเทอากาศในห้องน้ำ
  • ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

ข้อมูลทั้งหมดนี้แม้อาจจะเปลี่ยนแปลงความถี่หรือเพิ่มขั้นตอนการทำความสะอาดอยู่บ้างจากกิจวัตรเดิม แต่เท่าที่ประเมินด้วยอุปกรณ์และวิธีการมันก็ไม่ได้ยากเกินไป วัสดุก็ยังสามารถหาอย่างอื่นมาใช้ทดแทนได้ กรณีที่บางคนอาจจะหาแอลกอฮอล์มาใช้ไม่ได้

สำหรับใครที่อ่านเยอะแล้วยังรู้สึกเบลอ ๆ จำไม่ได้ ลองฝึกจำเป็นสูตรคีย์เวิร์ดง่าย ด้านล่างอีกทีก่อนนำไปใช้

เข้าบ้าน ถอดรองเท้า ล้างมือ อาบน้ำ

เช็ดซักทุกสิ่งสุ่มเสี่ยง

ปิดฝาก่อนกดเปิดพัดลมระบายอากาศและล้างมือให้เป็นนิสัย

UNLOCKMEN เชื่อว่าโควิด-19 ไม่ได้น่ากลัวหากเราเข้าใจและป้องกันอย่างถูกวิธีตามขั้นตอน เพราะความกลัวเกิดจากความไม่รู้แต่ในเมื่อเรารู้และป้องกันได้ เรื่องเดิมจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป

 

SOURCE: 1 / 2 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line