DESIGN

รัวหมัดบนผ้าใบ PAINTING เก๋าสไตล์ ‘USHIO SHINOHARA’ โอจีซังโมฮอว์กจากแดนอาทิตย์อุทัย

By: anonymK April 17, 2018

คนที่มีศิลปะในหัวใจ จะละเลงงานศิลป์จากปลายปากกาหรือปลายพู่กันมันก็ไม่ใช่ปัญหาตราบเท่าที่หัวใจยังคงเปี่ยมความเป็นศิลปิน เช่นเดียวกับ Bro รุ่นปู่จากแดนอาทิตย์อุทัยผมทรงโมฮอว์กคนนี้ที่กำหมัดจุ่มนวมในถังสี รัวใส่ผืนผ้าใบหรือกระดาษแบบไม่ยั้งจงกลายเป็นงานศิลปะที่ไปติดตามแกลอรี่ดังขึ้นชื่อมากมาย หลายคนสงสัยว่าชายชราฟิตปั๋งผมขาวคนนี้เป็นใคร นักมวยเก่าหรือไม่ ? เราตอบได้ตรงนี้เลยว่า “ไม่” เพราะปู่เขาขึ้นแค่สังเวียนผ้าใบเท่านั้นจนเกิดเป็น signature ประจำตัวของเขาที่ใครก็เรียกว่า “Boxing painting”

Ushio Shinohara คือหนุ่มโมฮอว์กโชว์แผงอกตำแหน่งกลางรูป

วิญญาณศิลปินนักสู้ก่อนสวมนวม!

Ushio Shinohara มีชื่อเล่นที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า Gyu-chan เกิดที่โตเกียวในปี 1932 เรียนศิลปะในเมเจอร์จิตรกรรมสีน้ำมันที่ Tokyo Art University ก่อนจะออกมาเดินทางมุทะลุเสาะแสวงหาจิตวิญญาณและตั้งรกรากใหม่ทำมาหากินไกลบ้านจากแดนตะวันออกสู่ตะวันตกที่ “นิวยอร์ก” เมืองแห่งการเสาะหาอิสรภาพทางความคิดและชีวิต มาถึงตอนนี้ปู่ก็มีอายุยาวนานกว่า 8 ทศวรรษของการใช้ชีวิตแล้ว เพราะอายุ 85 ปีเข้าไปแล้ว ถือเป็นบิ๊กบอยรุ่นใหญ่ที่เก๋าเรื่องการใช้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าไฟฝันจากวันวานที่ยังลุกโชติช่วงถึงตอนนี้ที่ยังคงฟิตฟุตเวิร์กได้ย่อมทำให้ปู่เป็นหนึ่งในตำนานมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการบุกเบิกทางศิลปะพอสมควร

Credit photo: pinterest.com

หนึ่งในความคูลของปู่ที่หลายคนอาจจะไม่รู้คือเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Neo-Dada movement หรือกลุ่มการเคลื่อนไหวของศิลปะดาด้าใหม่ในช่วงปี 1960 แนวศิลปะที่ว่าด้วยจิตวิญญาณของกลุ่มศิลปินเลือดนักสู้ที่ต้องการต่อกรกับกลุ่มทุนนิยมแบบสันติ โชว์ความเป็นไปของยุคจากการหยิบวัสดุใกล้ตัวทั้งหลายมาสร้างเป็นงานประติมากรรม จนเป็นการก้าวสำคัญที่แปะป้าย “Junk art” หรือศิลปะขยะ ให้กับงานแขนงนี้ หรือจะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานขึ้นมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งงานที่ได้จากการกว้านวัสดุเหลือใช้มาสร้างตอนหลังเราจะเห็นได้ว่าเป็นแนวศิลปะที่มีให้เห็นบ่อยในนิทรรศการยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นพวกงาน installation หรืองานประติมากรรม สำหรับงาน “Junk art” ของปู่เผยสู่สายตาของคนทั่วไปครั้งแรกผ่านการแสดงผลงานศิลปะที่เรียกว่า “Yomiuri Independent Exhibition” นิทรรศการไร้กรอบกำหนดผลงานศิลป์ที่หนังสือพิมพ์ทั้งหลายเป็นผู้ให้การสนับสนุน

แต่ใต้ความคูลก็เต็มไปด้วยความดิ้นรนเกินคาด เพราะสไตล์ Neo-dada และ Junk art อาจไม่ใช่แค่ความครีเอทหรือใจศิลปินจะพาไป แต่เพราะการเป็นศิลปินต่างถิ่นมันไม่ง่าย ค่าครองชีพมันไม่เหมือนกับบ้านเกิด ดังนั้น ช่วงนั้นเพื่อให้เลือดศิลปะในร่างยังไหลต่อเลยเป็นจุดให้หันเหจากการหยิบพู่กันป้ายผ้าใบแคนวาสไปจับอย่างอื่นมาใช้แทนเพื่อประหยัดค่าแคนวาส ทั้งชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ กระดาษลัง สุดแต่สรรหา เรียกได้ว่ากว่าจะดังมาเป็นคลิปเท่สวมนวมต่อยไม่ยั้งจนดังในหน้าสื่อและได้รับการยอมรับก็มีอุปสรรคและอดีตขม ๆ ให้ลิ้มรสมาไม่น้อย

Credit photo: William Klein

ศิลปะแบบลงมือลงแรง performance art

ศิลปะมันไร้ข้อจำกัด สุดท้ายจากวัสดุเดิมที่เคยใช้ซึ่งในยุคนั้นเราก็มองได้ว่าแปลกแล้ว ปู่เขาทวีความแปลกเข้าไปอีกด้วยการสร้างรูปแบบงานศิลปะเฉพาะตัวที่เรียกว่า “Boxing painting” ขึ้นมาเองเสียเลย โดยครั้งแรกมันก็ยังไม่ใช่นวมอย่างที่เห็น แค่เป็นการเอาผ้าชุ่มหมึกมาพันกำปั้นแล้วรัวหมัดใส่กำแพง ท่วงท่าแมน ๆ กับความแปลกมันเลยเป็นจุดประกายที่ทำให้ไปเตะตาช่างภาพและผู้กำกับชื่อดังอย่าง William Klein เข้า จนถ่ายไว้แล้วไปตีพิมพ์ในหนังสือภาพผลงานส่วนตัว Tokyo

แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้ปู่แกดังเป็นพลุแตกเท่ากับการที่ Zachary Heinzerling ผู้กำกับตาถึง ติดต่อไปเพื่อขอถ่ายทำสารคดีชีวิตของแกพร้อมคู่ชีวิตที่สวรรค์ส่งมาแมช เพราะเธอคนนี้เปรี้ยวมากแม้จะผมสีดอกเลาตามกันไปแล้วสำเร็จเป็นเรื่อง Cutie and the Boxer หนังเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัล Best Director จากเทศกาลหนัง Sundance (ใครที่ไม่เคยดูแต่ชอบแนว Documentary และชอบศิลปะเรื่องนี้ถือว่าน่าโดนมาก)

จากวันนั้นถึงวันนี้ปู่โมฮอว์กของเราไม่เคยยอมแพ้ให้กับสิ่งที่รัก และไม่คิดจะแขวนนวมมุ่งมั่นแสดงผลงานเรื่อยมาจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นน้องสัญชาติอื่นอย่าง Bart van Polanen Petel นักมวยชาวดัตช์ที่ย้ายเป้าจากใบหน้าและร่างกายของคู่แข่งมาเป็นการชกสร้างสีสันในวงการศิลปะแทน เฉียบใช่ไหมล่ะ!

 

กระแสความแหวกกับกำแพงฝูงชน

เมื่อลางเนื้อชอบลางยา คนชอบมันก็ชอบแบบอิน ๆ ใช้ใจสัมผัสไม่มีเงื่อนไข ส่วนคนไม่ชอบก็หาว่าให้กูดูศิลปะบ้าอะไร ? งานแบบนี้เรียกว่าศิลปะเหรอ เลยเป็นข้อถกเถียงกันไปมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของทัศนคติและวิจารณญาณที่เราไม่ขอเข้าไปบอกว่าอะไรถูกไม่ถูก แต่เล่าให้มุมของปู่ดีกว่า ปู่เขาคิดว่าศิลปะของเขาเป็นแนว “Pure action” หรือศิลปะบริสุทธิ์ ใช้รูปแบบที่เรียบง่าย ลึกซึ้งตามหลักการเดียวกับงานประเภท abstract เลย ทุกครั้งที่ชก การวาดของวงมือมันเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่เหมือนกัน จังหวะ น้ำหนัก ความสัมพันธ์ของหมึก ผ้าใบ แรงชก นี่แหละที่เป็นเอกลักษณ์งานศิลป์

ไม่ว่าสิ่งที่ปู่สร้างมันจะถูกใจพวกเราชาว UNLOCKMEN หรือไม่ แต่เรามองว่าใจที่เด็ดเดี่ยวของปู่ กับศิลปะแห่งการดิ้นรนเพื่อจะใช้ชีวิตตามฝันของปู่ก็มันเป็นแรงบันดาลใจที่พวกเราเก็บมาส่งต่อถึงกันได้ ที่สำคัญโยกย้ายท่อนแขนต่อยเอาโป้ง ๆ ! แล้วขยับฟุตเวิร์กไปตามความยาวผ้าใบยังเป็นการออกกำลังกายชั้นดีและผ่อนคลายอารมณ์ได้ด้วย ดังนั้น ใครคิดจะใช้วิธีปู่หรืออยากจะเอาความแหวกแนวของปู่ไปใช้ก็ลองดูได้ ไม่แน่มันอาจจะโคตรเวิร์กแล้วเจอทางใหม่ที่สมกับความเป็นเราก็ได้ ใครจะรู้

 

 

Source1    Source2    Source3    Source4

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line