Life

เศร้าหนัก อยากกินคลีนแต่ไม่มีปัญญา ผลสำรวจชี้ว่าคนซื้ออาหารดี ๆ กินไม่ได้ ‘เพราะจนเกินไป’

By: PSYCAT November 29, 2018

มันต้องมีสักเสี้ยววินาทีที่ผู้ชายอย่างเราคิดจะกินคลีน กินเพื่อสุขภาพ กินปราศจากโซเดียม ฯลฯ แต่เมื่อเราริลองจะใช้ชีวิตกับอาหารคลีนเพื่อสุขภาพ เราจะสัมผัสได้เลยว่าราคามันสูงลิ่วเกินกว่าที่เราจะกินคลีนวันละสามมื้อได้ไหว อาทิตย์ละสองสามครั้งอาจพอทน แต่ถ้าต้องกินทุกมื้อ เราก็จำใจต้องกลับไปซบอกร้านป้าอาหารตามสั่งที่หนักผงชูรส หนักน้ำปลา คุณค่าทางอาหารอาจสู้ไม่ได้ แต่ราคาสบายกระเป๋ามากกว่า

ปัญหาเงินในกระเป๋ามีมากไม่พอจ่ายราคาอาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัยจึงเกิดขึ้น และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่บ้านเราเท่านั้นในอังกฤษก็มีปัญหานี้เช่นกัน

รัฐบาลอังกฤษเขาก็ห่วงใยประชาชนของตัวเองจึงมีคำแนะนำอย่างเป็นทางการว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีโภชนาการเหมาะสมคือการรับประทานผักและผลไม้วันละ 5 จาน และรับประทานปลาที่มาจากแหล่งน้ำ (ที่สะอาดและยั่งยืน) ทุกสัปดาห์ แต่ผลปรากฏว่ามีเด็กราว ๆ 3.7 ล้านคนที่ไม่สามารถกินอาหารที่ถูกโภชนาการตามหลักอาหารที่ดีนั้นได้

“เพราะคนจนไม่มีความรู้มากพอไง เลยกินแต่อาหารแย่ ๆ ไม่ดีต่อตัวเอง” ในอดีตคำกล่าวหามักมุ่งไปที่การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการกินอาหารที่ดี แต่จากรายงานของมูลนิธิอาหาร (Food Foundation) แห่งสหราชอาณาจักรพบว่า 20% ของครอบครัวในสหราชอาณาจักรที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,860 ปอนด์ต่อปีจะต้องใช้เงิน 42% ของรายได้หลังจากหักค่าที่อยู่อาศัยเพื่อทำอาหารให้ตอบสนองความต้องการของแนวทาง “Eatwell Guide” ของรัฐบาล

ค่าใช้จ่ายในการกินอาหารถูกโภชนาการสำหรับครอบครัวที่มีผู้ใหญ่สองคนและเด็กสองคน (อายุสี่ถึงแปดปี) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 112.04 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (หรือราว ๆ 46,985 บาทต่อสัปดาห์)

จินตนาการไม่ออกจริง ๆ ว่าถ้าต้องจ่ายเงินเยอะขนาดนี้ เพื่อกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ จนไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่น เราจะยอมจ่ายไหม ?

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือพวกเขารู้ว่าอาหารแบบไหนที่ดี อาหารแบบไหนที่มีโภชนาการเหมาะสม แต่พวกเขาต้องใช้เงินเกือบครึ่งหนึ่งเพื่อกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเหล่านั้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมา การไม่กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพจึงไม่ใช่เพราะความไม่รู้ แต่เพราะค่าอาหารเพื่อสุขภาพตามที่รัฐบาลกำหนดมันสูงเกินกว่าที่จะจ่ายได้ไหว

มูลนิธิอาหารยังประเมินอีกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งหมดในสหราชอาณาจักร (ราว ๆ 14 ล้านคน) ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านโภชนาการได้ ปัญหานี้เป็นเรื่องยากโดยเฉพาะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกลำพัง ซึ่งมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพียง 40.4% เท่านั้นที่มีเงินมากพอจะจ่ายค่าอาหารที่ถูกโภชนาการตามที่รัฐบาลกำหนด

นักวิจัยจึงยืนยันว่าคนรายได้น้อยไม่ได้ขาดความรู้หรือขาดความสนใจที่จะกินอาหารดี ๆ แต่อย่างใด แต่สิ่งที่มันกีดกันพวกเขาออกไปจากการกินอาหารดี ๆ หรือการมีไลฟ์สไตล์สุดเฮลตี้ มันคือการที่พวกเขาแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวต่างหาก ซึ่งปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างมาก

ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ จึงไม่ใช่แค่ช่องว่างทางการเงินที่คนรายได้น้อยกับรายได้สูงมีต่างกัน แต่ยังรวมไปถึงโอกาสที่จะเข้าถึงอาหารดี ๆ และการมีสุขภาพที่ดีด้วย เพราะการที่อาหารดี ๆ มีราคาสูง มันกดดันให้พวกเขาได้กินแต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากนัก (เพื่อมีเงินเหลือไปมีชีวิตในด้านอื่น ๆ ) ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และกลายเป็นความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในที่สุด

มันจึงไม่ใช่ปัญหาชิล ๆ อย่างการไม่มีเงินมากพอที่จะกินอาหารคลีน แต่มันคือปัญหาร้ายแรงต่อสหราชอาณาจักร ต่อให้ประชาชนไม่จ่ายเงินเพื่อกินอาหารคลีนราคาแพง แต่ท้ายที่สุดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนกำลังเพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากโรคอ้วนเพียงอย่างเดียวทำให้ National Health Service (NHS) ในอังกฤษต้องจ่ายเงินมูลค่าประมาณ 6 พันล้านปอนด์ต่อปีและอัตราโรคอ้วนในวัยเด็กเพิ่มขึ้น 20% ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 10-11 ปีเป็นโรคอ้วนและ 14% มีน้ำหนักเกิน

ปัญหาเหล่านี้กำลังหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ต่อจากนี้ปัญหาการผันผวนของค่าเงินปอนด์และความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานที่เกิดจาก Brexit อาจทำให้ครอบครัวขนาดสี่คนต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 158 ปอนด์ต่อปี (6,675 บาท) เพื่อกินอาหารดีต่อสุขภาพตามที่รัฐบาลกำหนด

ย้อนกลับมามองที่บ้านเรา ชะตากรรมผู้ชายไทยอย่างเราก็อาจไม่ต่างกันมากนัก เรามักคิดว่าการกินผักผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่เรื่องยาก หรือไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียเงินแพง ๆ ซื้อ เพราะบ้านเราปลูกอะไรก็ง่าย ใคร ๆ ก็ปลูกผักกินเองได้ แต่ถ้าผู้ชายอย่างเรามองชีวิตตัวเองดี ๆ เราจะพบว่าค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือไลฟ์สไตล์แบบลีน ๆ คลีน ๆ มันไม่ง่ายเลยสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ

จินตนาการถึงการอาศัยอยู่ในคอนโดแคบ ๆ ที่เราไม่มีทางปลูกพืชผักสวนครัวกินเองได้ หรือเวลาการเดินทางในแต่ละวันที่ดูดเวลาการออกกำลังกายหรือการปรุงอาหารด้วยตัวเองไปหมดสิ้น การซื้ออาหารคลีน ๆ แพง ๆ ก็ยิ่งไม่ตอบโจทย์

มันจึงเป็นเรื่องชวนเศร้าที่เรารู้อยู่เต็มอกว่าอะไรดีต่อสุขภาพ แต่เราคว้ามันมาได้ยากเหลือเกิน ด้วยเวลาจำกัด เงินในกระเป๋าที่จำกัดกว่า และราคาข้าวของที่แพงขึ้นทุกวัน ๆ

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line