Business

TREND ดนตรี ELECTRONIC กำลังทำให้ GIBSON เสี่ยงล้มละลายแค่ปลายเอื้อม

By: Chaipohn April 4, 2018

สำหรับคนที่เกิดในยุค 70’s – 80’s เป็นต้นมา น่าจะเติบโตพร้อมกับภาพความเท่ของมือกีตาร์วง Rock and Roll ที่ถือว่าหล่อกินเรียบกว่าใครในวง เป็นอาชีพที่เท่สุดยอดกว่าอาชีพใด ทำรายได้ถล่มทลาย สาววิ่งกรี๊ดตามรถตู้เพราะอยากจะโยนตัวเองเอาใส่บรรดามือกีตาร์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความคูลของ Slash กับกีตาร์ Gibson คู่ใจ หรือความเท่ของ The legendary Jimi Hendrix กับกีตาร์​ Fender ข้างกาย แต่ใครจะไปคาดคิดว่าปัจจุบัน บริษัทกีตาร์ระดับขึ้นหิ้งทั้ง 2 แบรนด์ กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เป็นหนี้ก้อนใหญ่มหาศาลและไม่มีทีท่าว่าจะหมุนมาจ่ายทัน เสี่ยงต่อการล้มละลายอย่างสูง

ดูเหมือนยุคสมัยนี้จะเป็นยุคแห่งเก้าอี้ดนตรี ใครปรับตัวไม่ทัน ก็มีโอกาสล้มพับได้ทุกราย ไม่ว่าจะเคยยิ่งใหญ่มาแค่ไหน เอาง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่เราเห็นจากวงการ Magazine ที่ปิดเล่มล้มกองกันจนเกือบหมดแผง จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่เว้นแม้แต่ในอุตสาหกรรมกีตาร์ที่มี Big Player หลัก ๆ อยู่แค่ 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับ Iconic อย่าง Gibson และ Fender ซึ่งมีรายงานว่าขณะนี้ Gibson มีหนี้สะสมมากถึง $519 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 17,000,000,000 (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านบาท) และโดนลดระดับความน่าเชื่อถือจาก Standard & Poor’s ไปอยู่ที่ CCC- ซึ่งถือว่าต่ำมาก และเป็นระดับที่ชี้ว่า พร้อมจะล้มละลายได้ในพริบตา เช่นเดียวกับ Fender ที่มีหนี้ก้อนใหญ่ แม้จะไม่มากเท่า Gibson ก็ตาม

อ่านถึงตรงนี้ บรรดามือกีตาร์หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อ แต่ถ้าดูจากแนวเพลงที่ฮิตมากในชาร์ตอันดับเพลงต่าง ๆ ก็ล้วนถูกยึดพื้นที่โดยเพลงแนว Electornic เกือบทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่นอันดับ 100 best-selling albums ในอเมริกาปี 2017 ที่ผ่านมา มีเพียง 18 อัลบั้มที่มีเครื่องกีตาร์เป็นพระเอก ได้แก่  Metallica, Linkin Park and Imagine Dragons, Harry Styles หรือ Ed Sheeran นอกนั้นก็เป็นเพลงแนว Country เกือบทั้งหมด ในขณะที่อัลบั้มฮิตส่วนใหญ่ตกเป็นของนักดนตรีแนว Hip-Hop, R&B ที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง Kendrick Lamar, The Weeknd, Drake, Post Malone, Migos ซึ่งใช้กีตาร์เป็นเสียงสังเคราะห์ประกอบเท่านั้น ทุกวันนี้เราแทบจะห่างหายจากเสียงกีตาร์ Solo สุดมันส์ไปอย่างสิ้นเชิง

มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ธุรกิจของ Gibson อาการหนักกว่า Fender นั้น มาจาก 2 สาเหตุหลัก สิ่งแรกคือโทนเสียง Freddie Cowan มือกีตาร์จากวง Vaccines เคยให้สัมภาษณ์ว่า แหล่งกำเนิดเสียงจากการสั่นของสาย กลายไปเป็นคลื่นไฟฟ้าส่งไปขยายที่ amplifier ก่อนจะออกทางลำโพงของ Gibson นั้นเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าให้โทนเสียงหนักแน่น เหมาะกับดนตรี Rock ทำให้ดัดแปลงใช้งานผ่าน effects pedals ค่อนข้างยาก ย่านเสียงใช้ได้ไม่ครอบคลุมเท่าของฝั่ง Fender

อีกเหตุผลคือการทำตลาดที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนักของ Gibson โดยเฉพาะในตลาดอเมริกา เช่นการเอากีตาร์รุ่นคลาสสิคไป remake จนหมดความขลัง ใส่เทคโนโลยี auto-tune เข้าไปเอาใจตลาด Mass ทำให้มือกีตาร์ตัวจริงส่วนใหญ่เสื่อมศรัทธาถึงขั้นเลิกนิยมไป รวมถึงการไปชี้นิ้วบังคับให้ร้านค้ากักตุนกีตาร์บางรุ่นเอาไว้ แทนที่จะปล่อยให้เจ้าของร้านเป็นคนตัดสินใจ แน่นอนว่าเจ้าของร้านย่อมไม่ค่อยจะพอใจมากนัก

นอกจากนั้นยังตอกย้ำด้วยการโตขึ้นของตลาดซื้อขายกีตาร์มือสองซึ่งคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมาก เพราะปัจจุบันหาได้ง่ายจากทุกมุมโลก แถมราคาก็ดี ทำให้นักดนตรีมือใหม่หันไปเริ่มต้นจาก Segment นี้กันมากขึ้น แถมยังซวยซ้ำอีกดอกด้วยการเจอกับกฎหมายคุมเข้มเรื่องการนำเข้าไม้ Rosewood อย่างผิดกฎหมายจาก Madagascar และ India ที่เพิ่งจะจ่ายค่าปรับไปหมาด ๆ

ไม่น่าเชื่อเลยว่าแม้แต่แบรนด์ที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ดนตรีมาตั้งแต่เรายังเล็กระดับนี้ ยังมีปัญหากับการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมได้ ถ้าเรานั่ง Time-Machine ย้อนไปบอกคนสมัยก่อนว่า จะมีวันที่แบรนด์ระดับโลกอย่าง Gibson ประสบปัญหาถึงขั้นเสี่ยงต่อการล้มละลาย คงโดนนักดนตรีในยุคนั้นหัวเราะใส่หน้าเป็นแน่แท้ วันนี้เราคงได้เห็นแล้วว่า การ Disruptive ในไลฟ์สไตล์ของคนนั้นมีอิทธิพลมากแค่ไหน ยังไงเราก็ขอเอาใจช่วยให้ Gibson หา Investor เพื่อทำการ Refinance และฟื้นตัวได้โดยไว และหวังว่าจะมีการกลับมาของยุค Rock นิยมอีกครั้งในเร็ววันนี้

 

Reference:
Money.Cnn.com
Ajc.com
1843Magazine.com

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line