

Life
รับมือกับ Empathy Gap เมื่อคนไร้ประสบการณ์ร่วมไม่เข้าใจคนที่ผ่านเรื่องเลวร้ายมา
By: unlockmen October 25, 2021 207650
บางครั้งการขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาส่วนตัวจากเพื่อนสนิท คนในครอบครัว หรือ แฟน ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกโล่งใจกว่าเดิม กลับกันมันยิ่งพาเราดาวน์หนักกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป เพราะผู้ให้คำปรึกษาดันไม่คิดถึงอารมณ์และความรู้สึกของเราเวลาเจอกับปัญหา แถมยังให้คำแนะนำที่ทำให้เราดูเป็น ‘ไอ้โง่’ ด้วยอีก
แม้มันจะเป็นคำแนะนำที่สมเหตุสมผล และควรทำตามเมื่อเจอกับปัญหาจริง แต่ในสถานการณ์จริง เรามักทำตามคำแนะนำเหล่านี้ไม่ได้ เพราะความเครียด ความกังวล หรือ ความตื่นตระหนก มันทำให้เราไม่สามารถคิดและตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้เต็มที่ และอาจตัดสินใจทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป
ลองจินตนาการดูว่าเวลาเจอคนเป็นลมหมดสติโดยบังเอิญ เราจะ react อย่างไรบ้าง เรามักได้รับคำแนะนำมาว่าให้รีบทำ CPR โทรเรียกรถฉุกเฉิน หรือ พาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลในทันที แต่ในสถานการณ์จริง เรามักจะเกิดความกังวลหลายอย่างจนเป็นคำถามในใจ เช่น เราจะปฐมพยาบาลเขาได้ดีพอรึเปล่านะ หรือ ถ้าเราพลาดเราจะซวยแค่ไหนกัน เป็นต้น จนสุดท้ายเราอาจทำในสิ่งที่ต่างออกไป เช่น เพิกเฉย หรือ เดินหนีออกมาจากสถานการณ์นั้น
การละเลยดีเทลตรงนี้เองที่ทำให้การปรึกษามักต้องเจอกับความล้มเหลวอยู่เสมอ จนหลายคนที่ขอคำปรึกษารู้สึกเสียใจภายหลัง และไม่กล้าเปิดใจให้ใครไปนาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลย เพราะการเก็บปัญหาไว้กับตัวเองเพียงผู้เดียว มักทำให้เกิดความเครียดสะสมและอาการเก็บกดที่ทำสุขภาพจิตเสื่อมลงทุกวัน จึงดีกว่าถ้าทุกคนสามารถรับมือกับมันได้ โดยเริ่มจากการเข้าใจปัญหาที่เรียกว่า ‘Empathy Gap’
ในทางจิตวิทยามีคำว่า Empathy Gap หรือ ช่องว่างของความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งอธิบายปรากฎการณ์ที่มนุษย์ตัดสินใจทำตามอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนั้น โดยไม่สนใจอิทธิพลของสภาพจิตใจของตัวเองและคนอื่น
ทฤษฏีนี้ได้แบ่งสภาพจิตใจของเราออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ ใจร้อน (Hot) หรือ สภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากอารมณ์และความต้องการที่รุนแรง เช่น ความหิวโหย ความต้องการทางเพศ ความกลัว ความโกรธ ความเหนื่อยล้า ฯลฯ ส่งผลให้เราไม่สามารถคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้เหมือนตอน ใจเย็น (Cold) หรือ สภาพจิตใจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอารมณ์ที่รุนแรง
ความใจเย็นหรือใจร้อน ส่งผลให้เราคาดเดาพฤติกรรมของตัวเองผิดพลาด และไม่สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้อย่างเหมาะสมเท่าที่ควร โดยในเหตุการณ์หนึ่ง เราอาจเชื่อว่าตัวเองจะใช้ตรรกะได้มากกว่าคนอื่น ในขณะที่อีกคนซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้วอาจเชื่อว่าทุกคนจะต้องหัวร้อนเหมือนกันหมดเมื่อเจอกับเหตุการณ์เดียวกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่เคยมีประสบการณ์แย่ ๆ กับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ จึงคุยกันไม่รู้เรื่องและมักทะเลาะกันอยู่เสมอ
หากคุณเคยเจอกับ Empathy Gap และรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ เราอยากบอกว่าไม่ต้องกังวลไป !! เพราะปรากฎการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ได้รับการยืนยันแล้วจากงานวิจัยหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น
Empathy Gap ยังเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เพียงแค่เรารู้ถึงผลกระทบของมัน พร้อมปรับปรุงวิธีคิดของตัวเองให้เหมาะสมกับความเป็นจริงมากขึ้น เช่น หากเมื่อก่อนเราไม่เคยคิดถึงอารมณ์และความรู้สึกของคนอื่น ก็ลองคิดถึงมันมากขึ้น หรือ ถ้าเมื่อก่อนเราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะรู้สึกยังไงเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา ก็ลองให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น เป็นต้น เพียงแค่นี้เราก็จะป้องกันความผิดเข้าใจผิดได้ระดับหนึ่งแล้ว
ถ้าเราพบว่า คนรอบข้างกำลังใช้อารมณ์มากเกินไป การรับฟังสิ่งเขาพูดอย่างตั้งใจ โดยไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ พร้อมปลอบประโลมให้เขาใจเย็น ก็ช่วยให้เราหลีกเลี่ยวความขัดแย้งได้ หรือ ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองกำลังขาดสติก็ลองสูดลมหายใจเข้าแล้วกลั้นหายใจนับ 1 -4 พร้อมหายใจออกแล้วนับ 1 -4 จนรู้สึกผ่อนคลาย จะช่วยให้เราสามารถตั้งสติได้ง่ายขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Empathy Gap ที่เราอยากแชร์ ซึ่งเราหวังว่ามันจะทำให้ผู้ชายทุกคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นมากขึ้น และใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในทุกวันมากกว่าเดิม