EVENT

“อีสานสามัญ” นิทรรศการกลางเมืองเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งเป็นแดนอุดมศิลป์เสรี เฉือนทุกวงการ

By: anonymK March 16, 2018

ถ้าพูดถึงคำว่า “อีสาน” สำหรับผู้บ่าวเมืองหรือคนนอกพื้นที่อาจมองภาพไม่ค่อยออก นอกจากจะเข้าใจว่าเป็น ถิ่นเศรษฐกิจ ยินเสียงแคน แดนส้มตำ และเป็นพื้นที่แห้งแล้งตามที่หน้าบทเรียนบอกไว้ ทั้งที่ในความจริงอีสานมีมากกว่านั้นเยอะ โดยเฉพาะความเข้มข้นทางอุดมการณ์ งานศิลป์ กับวัฒนธรรมแสบ ๆ คัน ๆ เรื่องเพศที่เอามาตีแผ่ผ่านประเพณี เรียกได้ว่าความทะเล้นขี้เล่นเลยไม่เป็นรองใครเหมาะกับผู้บ่าว UNLOCKMEN ที่มีศิลปะความแสบมันส์ ลึก น่าสนใจ ชอบการแสดงความคิดเห็นและมีอารมณ์ดีเป็นที่ตั้งจะได้ไป challenge ประสบการณ์ใหม่ช่วงวันหยุด โดยสามารถเบิ่งเต็มตาได้ที่นิทรรศการ “อีสานสามัญ” นิทรรศการหมุนเวียนที่จัดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ ภายในห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 ของหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ได้ ส่วนใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้ลองดูภาพที่เราไปเก็บมาฝากเพื่อเรียกน้ำย่อยกันก่อน

พุ่งตรงเข้าตะวันออกเฉียงเหนือที่ชั้น 9 เดินขึ้นบันไดเวียนมาตามทาง สิ่งที่เจอจะมีงานศิลปะหลายประเภท ทั้งภาพวาด ภาพถ่าย Installation แล้ววิดีทัศน์ให้เราเดินไปได้ตลอดรายการไม่เบื่อ ที่สำคัญงานไม่ได้ลึกหรือ Abstact เกินกว่าจะเข้าใจ แต่สามารถนั่งมองและอ่านมันได้ยาวๆ หลายนาที

 

ดินแตกบนผืนผ้าใบแลกเรื่องเล่าชาวอีสาน

ภาพแม่เฒ่า พ่อเฒ่า บนผืนผ้าใบที่จัดเรียงตามแนวกำแพงด้วยสีหน้าเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกถูกจับเล่ากับสีโทนน้ำตาลที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความระอุขอแดนอีสาน ขัดกับแอร์คอนดิชั่นเย็น ๆ ที่กำลังงานได้เป็นอย่างดี

ถ้าบอกว่ามันต่างจากภาพวาดของศิลปินคนอื่น ๆ ตรงไหน ก็คงต้องยกให้ความอเมซิ่งของเทคนิกที่ สมภพ บุตรราช ศิลปินเจ้าของผลงานถ่ายทอดความเป็นอีสานได้อย่างน่าเหลือเชื่อ จากการเอาความแห้งแล้งของก้อนดินมาตีความและชีวิตและประวัติศาสตร์ของคนธรรมดานำมาถ่ายทอด จับจุดร่วมรอยแตกของดินแห้ง ๆ มาวางไว้บนผิวหน้าของผู้คนในอีสาน โดยเฉพาะกับพ่อเฒ่า แม่เฒ่าทั้งหลายที่ดวงตาแสดงอารมณ์ไว้ลึก ๆ รับกันกับผิวหน้ามีรอยแยกลึกจากการแตกระแหงของก้อนดินและสี อย่างภาพนี้ยิ่งน่าสนใจทั้งการตั้งชื่อและการสื่อ เพราะภาพชื่อว่า “เกิดแต่ดินอีสาน: ยาไฮ ไขจันทา, 2560” เล่นคำว่าเกิดแต่ดินจากเทคนิกการสร้างภาพว่าใช้ดินทำให้เกิดขึ้นและใช้ความหมายลึกอีกชั้นว่า ยายไฮคนนี้เกิดที่ถิ่นอีสาน

 

“หมอนรถไฟ” รางรถไฟคู่กลืนกินครอบครัวริมทาง

ชิ้นนี้วางยาวเป็นแนวดึงสายตา ที่จริงเรามองออกตั้งแต่แรกแล้วว่ามันคือรางรถไฟ แต่สิ่งที่ดูประหลาดออกไปคือการใช้หมอนลายขิดสี่เหลี่ยมหลายใบที่ทั้งเก่าทั้งมอมมารองรับท่อนเหล็กยาวที่ใช้ทำราง ก่อนทั้งหมดถูกเฉพาะด้วยคำลึกซึ้งดึงอารมณ์สีดำจางเหมือนคราบเขม่าบนผนังด้านข้าง

ความมั่นคงของชาติ ความเจริญของชุมชนมันเจอตีกลับเสียเละเทะด้วยภาพที่เราอาจจะหลงลืมไป เรามักลืมว่าทุกที่ที่ความเจริญเข้าไปเหยียบย่าง มันสร้างรอยแผล และความหวาดกลัวของเจ้าของพื้นที่ที่พวกเขาไม่มีสิทธิร้องขออะไรกลับคืน ถ้าวันนี้ “บ้าน” ที่เราอยู่มาชั่วอายุขัยรุ่นต่อรุ่นต้องกลายเป็นที่ “สัญจร” ของสังคม แล้วเราควรทำอย่างไรต่อไป

 

“ดาวดิน” ปั้นจากดินและโดนทุบทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า

ภาพถ่ายสารคดีสายขาวดำจะถูกจริตพวกเราไหมรู้ แต่มันซื้อใจได้หมดในช็อตเดียวเป็นผลงานของ เริงฤทธิ์ คงเมือง ที่กดชัตเตอร์เก็บนาทีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสารคามที่รวมตัวกันและใช้ชื่อว่า “ดาวดิน” ออกมาคัดค้านพร้อมกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ

กลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่กับคนรักบ้านเกิดที่ต้องรวมพลังกันสู้อำนาจเงิน ถึงจะไม่ดังบนหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนี้เหมือนข่าวอื่น แต่ยังเป็นเรื่องที่ระอุอยู่ต่อเนื่องในเรื่องสิทธิมนุษยชนและทรัพยากร เรื่องบ้านเราที่ถูก “เล่า” แล้วหายไป คนไทยลืมง่ายจริงไหม ? คุณเท่านั้นที่รู้

 

“ลิงเด้า” ประเพณีเพศเสพสุดแต่หยุดแค่ร่มผ้าที่กำลังจะหายไป

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะอีกสิ่งของคนอีสานที่ก็เข้าข่ายเจอบุกรุกจนหายไป ชื่อ “ลิงเด้า” สิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนและเราไม่ได้อุปโลกน์ชื่อเรียกมาจากไหนแต่ อดิศักดิ์ ภูผา เจ้าของผลงานแจงไว้บนป้ายเลยว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์งานประเพณีบุญบั้งไฟช่วงเซิ้ง หุ่นลิงชายหญิงที่ทำขึ้นจากหุ่นไม้ผูกเข้ากับไม้ไผ่ หญิงอยู่ด้านล่างชายอยู่ด้านบนในท่าร่วมเพศที่เคยใช้ได้ดีในสมัยก่อนเพื่อช่วยให้พืชผลงอกออกลูกออกหลาน

ต้องนับถือคนโบราณที่เอากุศโลบายการสมสู่มาเชื่อมกับพืชพรรณ ที่ได้ประโยชน์หลายทาง ทั้งการปลดแอกความรู้สึกผิดและความเครียดจากการพูดถึงเรื่องเพศ เพราะเขาพูดกันด้วยอารมณ์ขันมากกว่าความหื่นกระหาย ที่สำคัญมองข้อดีมันก็เป็นการสอนเรื่องเพศให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วยการเอาเรื่องสามัญมาเล่าสู่และอธิบายกันโต้ง ๆ จะได้ไม่ต้องไปแอบดูที่ไหน

คนที่ไม่ได้มาดูเรากล้าพูดว่าคงต้องรู้สึกเสียดาย เพราะไม่นานนับจากนี้มันจะกลายเป็นแค่ควันหลงหรือภาพถ่ายไม่ใช่ของจริงที่เรามองเห็นอยู่ตรงนี้ เนื่องจากประเพณีแห่บุญบั้งไฟตอนนี้กลายเป็นประเพณีระดับชาติแล้ว ทำให้มรดกพื้นบ้านเรื่องเพศโจ่งแจ้งแบบนี้กลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

นอกจากทั้ง 4 ชิ้น 4 ประเภทงานศิลป์ที่เห็นแล้ว ยังมีงานชิ้นอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายห้องให้ไปลองชมได้อย่างเต็มอิ่ม

เรื่องเล่าของนักแสดงบนเวที ใต้นั่งร้างคือทำเลเหมาะพักและแต่งตัว

สำหรับชาว UNLOCKMEN ที่เป็นทั้งลูกอีสานโดยตรงหรือเป็นคนต่างถิ่น ถ้าวันหยุดหรือช่วงเย็นนี้ว่างไม่ได้เดินทางไปไหน หาจังหวะมาเสพด้านอื่นของถิ่นอีสานแท้ ๆ ให้ลึกกว่าเดิมได้ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ หรือ BACC ในห้องนิทรรศการชั้น 9 จัดแสดงถึงวันที่ 25 มีนาคมนี้เท่านั้น เด้อนางเด่อ!

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line